คณะทหารหนุ่ม (54) | ศึกนอก-ศึกใน รัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ และกำเนิด “วีรบุรุษตาพระยา”

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

ศึกนอก-ศึกใน

พ.ศ.2522 รัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์…

ระหว่างการรวมตัวของมรสุมร้ายในอีกฟากชายแดนด้านตะวันออกหลังการเข้ายึดครองกัมพูชาของเวียดนาม ระหว่างการต่อสู้แย่งชิงผลประโยชน์และอำนาจทางการเมืองของพรรคการเมืองไทย การสู้รบระหว่างกองทัพแห่งชาติกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยโดยทั่วไปก็ยังคงมีอยู่และรุนแรงยิ่งขึ้นในทุกภาคของประเทศ

เช่น การสู้รบที่ภูหลวง จ.เลย การสู้รบที่ อ.น้ำโสม จ.อุดรธานี การสู้รบที่เทือกเขาภูพาน จ.กาฬสินธุ์ และการสู้รบที่ภูซางใหญ่ จ.อุดรธานี เป็นต้น

เหตุการณ์รุนแรงเหล่านี้ยังคงดำเนินต่อไปจนถึงเดือนมีนาคม พ.ศ.2524 สมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยภาคอีสานได้ยกระดับปฏิบัติการทางทหารรุนแรงขึ้นเป็นลำดับตามเข็มมุ่งเพื่อเข้าสู่ยุทธศาสตร์ขั้นยัน นอกจากโจมตีและเผาที่ว่าการอำเภอวาริชภูมิ จ.สกลนคร แล้วยังเข้าโจมตีและเผาชุดคุ้มครองที่ ต.บ้านชาด อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ เข้าโจมตีสถานีตำรวจและที่ว่าการอำเภอเลิงนกทา จ.ยโสธร ตลอดจนดักซุ่มโจมตีเจ้าหน้าที่ที่บ้านเมืองเก่า ต.คำเขื่อนแก้ว อ.ชานุมาน จ.อุบลราชธานี ด้วย

พื้นที่ภาคเหนือที่ จ.เชียงราย พะเยา ก็ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญเช่นกัน เช่น การรบที่บ้านไฮ้ อ.เทิง จ.เชียงราย ผกค.ระดมยิงขณะเจ้าหน้าที่กำลังออกลาดตระเวนวางแผนคุ้มกันให้กับชุดสร้างทางเมื่อ 17 มีนาคม 2522 ส่งผลให้ผู้บังคับกองร้อยทหารราบที่ 437 และผู้บังคับหมวดกองร้อยทหารราบที่ 437 ซึ่งยิงตรึงไว้จนทำให้กำลังพลทั้งหมดถอนตัวโดยปลอดภัยแต่ต้องเสียชีวิตในที่ปะทะ

 

ที่ห้วยตีนตก อ.เทิง จ.เชียงราย ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์พยายามขัดขวางการสร้างเส้นทางสายยุทธศาสตร์ บ้านปางคำ-บ้านลุง ซึ่งสร้างเข้าไปในพื้นที่อิทธิพลระหว่างดอยยาว ดอยผาหม่น ในเขต อ.เชียงของ อ.เทิง จ.เชียงราย จนการสร้างทางต้องชะงักลงหลังการปะทะเมื่อ 7 มีนาคม 2522 ต่อมาฝ่ายเจ้าหน้าที่ได้พยายามยึดที่หมายกลับคืนจนสำเร็จและเริ่มงานก่อสร้างต่อไปใน 12 พฤษภาคม 2522

11-12 สิงหาคม 2523 กองทัพภาคที่ 3 ได้เปิดยุทธการอิทธิชัย บริเวณดอยม่อนเคอ อ.เชียงของ จ.เชียงราย เนื่องจากผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์เขตงาน 8 ได้พยายามสถาปนาพื้นที่ดอยยาว ดอยผาหม่น ในเขต อ.เชียงของ อ.เทิง ให้เป็นเขตฐานที่มั่นเพื่อสนับสนุนการก่อการร้ายในพื้นที่และขัดขวางการสร้างเส้นทางสายยุทธศาสตร์บ้านป่าปง-บ้านค่า-บ้านลุง รวมทั้งขัดขวางการพัฒนาพื้นที่เพื่อความมั่นคงลุ่มน้ำงาวด้วย ผลการรบครั้งนี้สามารถทำลายสถานที่มั่นและกำลังของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ได้เป็นจำนวนมาก

ในพื้นที่จังหวัดน่าน พ.ศ.2522 กองพลทหารม้าส่วนหน้าได้เปิดยุทธการ “นารายณ์สายฟ้า”ขึ้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ สูญเสียผู้บังคับกองร้อยลาดตระเวนระยะไกลในการรบ และได้ขยายผลโดยเปิดยุทธการ “น่านร่มเย็น” ซึ่งเป็นยุทธการใหญ่ที่สุดในขณะนั้น

ทั้งหมดนี้คือบันทึกบางส่วนเพื่อยืนยันให้เห็นสถานการณ์สงครามกลางเมืองภายในประเทศที่มิได้ลดระดับความรุนแรงลงเลยทั้งในช่วงรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ และ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ “ได้รับมอบหมาย” ให้ทำหน้าที่ต่อ

 

โนนหมากมุ่น

ระหว่างที่สังคมไทยกำลังให้ความสนใจกับประเด็นการต่ออายุราชการของ พล.อ.เปรม ติณสูลานท์ และรายงานข่าวการสู้รบภายในประเทศแทบไม่เว้นวันนั้นก็เกิดเหตุรุนแรงขึ้นที่พรมแดนไทย-กัมพูชา

หลังการเข้ารับหน้าที่นายกรัฐมนตรีของ พล.อ.เปรม เมื่อมีนาคม พ.ศ.2523 และกำลังจะเกษียณจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในเดือนกันยายน คืน 22 มิถุนายน พ.ศ.2523 กองกำลังเวียดนาม และกัมพูชา เฮง สัมริน ได้เปิดฉากการรุกใหญ่ต่อฝ่ายเขมรแดงรวมทั้งบุกโจมตีที่มั่นและค่ายอพยพที่อยู่ในเขตประเทศไทยตามแนวชายแดน อ.อรัญประเทศ พร้อมกันหลายจุด โดยเฉพาะค่ายผู้อพยพบ้านหนองจานและโนนหมากมุ่นที่คงกำลังยึดครองไว้

โนนหมากมุ่นอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของ กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ ซึ่งมีรองผู้บังคับการกรมนาม พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิตร

ชุดเฝ้าตรวจและคุ้มครองหมู่บ้านโนนหมากมุ่นของ กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ ได้จัดส่งกำลังทหารราบเข้าตอบโต้เพื่อชิงพื้นที่คืนทันที เมื่อทหารไทยชุดแรกลาดตระเวนถึงเขตหมู่บ้าน ก็ตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ ทำให้เสียชีวิตจากการปะทะในเบื้องต้น 12 นาย

พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิตร ในฐานะผู้บังคับการกองกำลังบูรพา จึงสั่งการให้ กองพันทหารม้าที่ 2 จัดกำลังเข้าร่วมกับ กองพันทหารราบที่ 2 เป็น “ชุดปฏิบัติการร่วม ทหารราบ-รถถัง” สนับสนุนด้วยทหารปืนใหญ่และการโจมตีทางอากาศ เข้าตีโต้ตอบอย่างรุนแรง สามารถผลักดันกำลังฝ่ายเวียดนามออกจากบ้านโนนหมากมุ่นเป็นผลสำเร็จ แล้วขยายผลกวาดล้างจนฝ่ายเวียดนามต้องละทิ้งที่มั่นบ้านโนนหมากมุ่นแล้วร่นถอยไปยังบริเวณคลองทางยุทธวิธีซึ่งยังคงอยู่ในเขตแดนไทย

ผลการรบที่บ้านโนนหมากมุ่น ฝ่ายข้าศึกทิ้งทหารเสียชีวิตไว้ 33 ศพ ฝ่ายเราเสียชีวิต 12 นาย สามารถยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ข้าศึกได้เป็นจำนวนมาก

 

วันรุ่งขึ้น พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิตร สั่งการให้ขยายผลทำการกวาดล้างกำลังข้าศึกที่ยังคงยึดพื้นที่ของไทยตั้งแต่แนวคลองยุทธวิธีจนถึงศูนย์อพยพฝ่ายเขมรเสรีต่อไป จนสามารถผลักดันกำลังส่วนที่เหลือออกไปจากพื้นที่ประเทศไทยได้ทั้งหมด ทิ้งศพทหารที่เสียชีวิตไว้อีก 52 ศพ รวมทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์และสิ่งอุปกรณ์อื่นๆ เป็นจำนวนมาก

ปฏิบัติการตอบโต้อย่างรุนแรงเด็ดขาดของทหารไทยที่โนนหมากมุ่นครั้งนี้ ทำให้ฝ่ายเวียดนามและกัมพูชาเฮง สัมริน ยุติการรุกล้ำอธิปไตยของไทยด้วยกำลังขนาดใหญ่อย่างสิ้นเชิง แต่ก็ยังปรากฏเหตุการณ์อีกบ่อยครั้งที่แทรกซึมข้ามพรมแดนเข้ามาเป็นกลุ่มเล็กๆ หลีกเลี่ยงการปะทะ และถอนตัวกลับทันทีเมื่อฝ่ายไทยส่งกำลังเข้าผลักดัน

สื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศซึ่งเกาะติดสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิด ได้รายงานข่าวความสำเร็จของทหารไทยไปทั่วโลก นำไปสู่สมญา “วีรบุรุษตาพระยา”- พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิตร จปร.7 แห่งคณะทหารหนุ่ม และ “บูรพาพยัคฆ์”- กรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ ในเวลาต่อมา