‘ไทย’ ติดอันดับโลก ‘Work ไร้ Balance’ | จักรกฤษณ์ สิริริน

ดร.จักรกฤษณ์ สิริริน

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ว่า “ไทย” ติดอันดับ 5 “เมืองที่ประชากรมีชั่วโมงทำงานยาวนาน” และ “ชีวิตขาดสมดุลมากที่สุดในโลก”

แปลไทยเป็นไทยก็คือ “พี่ไทย” กำลังประสบสภาวะ “Work ไร้ Balance” มากเป็น “อันดับ 5” ของโลก!

Kisi บริษัทด้านการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับสภาวะการทำงาน ได้ทำการสำรวจ “เมืองที่ประชากรมีชั่วโมงทำงานยาวนาน” และ “ชีวิตขาดสมดุลมากที่สุดในโลก” หรือ Cities with the Overworked

ผลการสำรวจปีล่าสุด คือ ค.ศ.2022 พบว่า “ประเทศไทย” ติดอันดับ 5 ของเมืองที่แรงงานทำงานหนักที่สุดในโลก!

การสำรวจของ Kisi ได้มีการเก็บรวบรวมข้อมูลจาก “เมืองที่มีอัตราการจ้างงานสูง” และมี “สิ่งอำนวยความสะดวกต่อการใช้ชีวิตที่ดี” ประกอบด้วย 51 เมืองของสหรัฐอเมริกา และอีก 49 เมืองใหญ่ทั่วโลก

ผลการสำรวจปรากฏให้เห็น “10 เมืองคนทำงานหนัก” ประจำปี 2022 ประกอบด้วย 1.Cape Town (South Africa) 2.Dubai (UAE) 3.Kuala Lumpur (Malaysia) 4.Sao Paulo (Brazil) 5.Bangkok (Thailand)

6.Buenos Aires (Argentina) 7.Montevideo (Uruguay) 8.Hong Kong (Hong Kong) 9.Memphis (USA) 10.St. Louis (USA)

พูดอีกแบบก็คือ 10 เมืองนี้ คือต้นแบบประชากรที่ “Work ไร้ Balance” นั่นเองครับ

 

สําหรับปัจจัยที่ทำให้เกิด “Work ไร้ Balance” นั้น Kisi พิจารณาจากองค์ประกอบ 3 ด้าน ได้แก่

1.ความเข้มงวดในงาน (Work Intensity) 2.สภาพแวดล้อมทางสังคม (Society and Institutions) และ 3.ความรื่นรมย์ในชีวิต (City Liveability)

ที่ทาง Kisi ได้เริ่มทำการสำรวจข้อมูลดังกล่าวตั้งแต่ปี ค.ศ.2019 จนถึงปัจจุบัน เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับความหนักของงาน การสนับสนุนจากองค์กร ข้อกฎหมาย และคุณภาพชีวิตของแรงงาน

โดยมีองค์ประกอบดังนี้

1. ความเข้มงวดในงาน (Work Intensity) ประกอบด้วย การทำงานนอกสถานที่, จำนวนประชากรที่ทำงานล่วงเวลา, วันหยุดขั้นต่ำขององค์กร, วันหยุดที่พนักงานได้ใช้ไป, จำนวนคนว่างงาน, จำนวนผู้มีงานทำ, อัตราเงินเฟ้อ, การลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรโดยได้รับค่าจ้าง

2. สภาพแวดล้อมทางสังคม (Society and Institutions) ประกอบด้วย การดูแลสุขภาพกาย, การดูแลสุขภาพใจ, การมีส่วนร่วมกับองค์กร, จำนวนปีที่ทำงาน

3. ความรื่นรมย์ในชีวิต (City Liveability) ประกอบด้วย ความสามารถในการใช้จ่าย, ความสุขในการทำงาน, การใช้เวลาพักผ่อน, ความปลอดภัยในพื้นที่สาธารณะ, คุณภาพอากาศ, การเข้าถึงบริการสุขภาพ

 

สอดคล้องกับผลสำรวจของ Kisi อีกประเด็นหนึ่ง คือการสำรวจเมืองที่มีสภาวะ Work-Life Balance (“ความสมดุล” ระหว่าง “การทำงาน” และ “คุณภาพการใช้ชีวิต”) หรือ Cities with the Best Work-Life Balance

พบว่า เมืองที่มี Work-Life Balance สูง ส่วนใหญ่เป็นประเทศใน “ทวีปยุโรป” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “สแกนดิเนเวีย”

เมืองที่มี “ความสมดุล” ระหว่าง “การทำงาน” และ “คุณภาพการใช้ชีวิต” มากที่สุดจากการสำรวจของ Kisi มีดังนี้ 1.Oslo (Norway) 2.Bern (Switzerland) 3.Helsinki (Finland) 4.Zurich (Switzerland) 5.Copenhagen (Denmark)

6.Geneva (Switzerland) 7.Ottawa (Canada) 8.Sydney (Australia) 9.Stuttgart (Germany) 10.Munich (Germany)

“องค์การแรงงานระหว่างประเทศ” หรือ International Labour Organization (ILO) ระบุว่า ปัจจัยสำคัญที่สุดในการให้ความหมายของคำ “งานหนัก” ว่าคืออะไร ประกอบด้วย “ช่วงระยะเวลาในการทำงาน” หากเกิน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ขึ้นไป จะถือว่า “เป็นคนที่ทำงานหนัก” (Overworked)

เพราะ “ระยะเวลาการทำงานที่สมดุล” ต้องไม่เกิน 40 ชั่วโมง/สัปดาห์ นั่นเองครับ

 

“องค์การอนามัยโลก” (WHO) เผยว่า การทำงานล่วงเวลาส่งผลต่อสุขภาพระยะยาว เป็นหนึ่งในต้นเหตุที่ทำให้ผู้คนเสียชีวิตก่อนวัยอันควร และจะนำไปสู่สภาวะ “Work ไร้ Balance” ในที่สุด

ทั้งนี้ ผู้ที่ทำงาน 55 ชั่วโมงขึ้นไปในแต่ละสัปดาห์ จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง 35% และมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคหัวใจ 17%

นำมาสู่คำถามที่ว่า ทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดสภาวะ “Work ไร้ Balance”

การที่เราจะมี Work-Life Balance ได้นั้น ต้องเริ่มต้นจากการสร้างช่วงเวลาสนุกสนานในวันพักผ่อน ไม่ว่าจะเป็นอ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์ ทำความสะอาดบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หางานอดิเรกเก๋ๆ ทำ

หลีกเลี่ยงจาก “การคิดเรื่องงาน” หรือ “เรื่องที่ทำงาน” ให้มากที่สุด!

ถ้ายังคิดไม่ออกว่าจะหางานอดิเรกอะไรทำดี หรือเรื่องสนุกในวันหยุดคืออะไร อย่างน้อยก็ลองทำตัวให้สดชื่น เช่น ออกกำลังกายเล็กๆ น้อยๆ เดินไปปากซอย เดินรอบหมู่บ้าน

ปลูกดอกไม้ ทำสวนนิดๆ หน่อยๆ เพื่อให้เกิดความกระตือรือร้น กระชุ่มกระชวย กระฉับกระเฉง

อย่าคิดว่าวันนี้ไม่สนุก และอย่าคาดหวังว่าจะเกิดความสนุกจากกิจกรรมที่ทำให้มากเกินไป ให้เริ่มทดลอง และทดสอบตัวเอง ฝึกคิดบวก เช่น ดีจัง วันนี้วันหยุด ได้พักผ่อน ไม่ต้องทำงาน

ปรับวิธีพักผ่อนนอนหลับใหม่ ซึ่งจะส่งผลดีต่อประสิทธิภาพการทำงาน

วิธีที่จะทำให้หลับดีขึ้น ง่ายๆ เลยก็คือ กลางคืนต้องมืดสนิท และกลางวันต้องสว่างจ้า เพราะแสงแดดยามเช้าจะช่วยกระตุ้นการทำงานของฮอร์โมนเมลาโทนิน ซึ่งจะหลั่งเมื่อเรานอนหลับ และช่วยปรับนาฬิกาชีวิต

เพราะหากห้องนอนมีแสงในเวลากลางคืน จะส่งผลกระทบให้นอนหลับลึกได้ยาก นอกจากนี้ การทำให้ร่างกายอบอุ่นก่อนหลับ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะช่วยให้การนอนหลับได้ดีขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องมีการ “ชาร์จพลังฟังก์ชั่นความจำ” (Working Memory) ด้วย “การพักผ่อน”

 

การที่ต้อง “ชาร์จพลังฟังก์ชั่นความจำ” เพราะในชั่วโมงทำงานกลางวัน เรามักยุ่งมาก จนความจำมีประสิทธิภาพต่ำลง หรือถึงขั้นสูญเสียความทรงจำชั่วคราว

วิธีฟื้นฟู คือการพักผ่อน เพราะการพักผ่อน หรือแม้จะหยุดพักเพียงชั่วครู่ จะช่วยฟื้นฟูความจำได้เป็นอย่างดี อาทิ การงีบหลังอาหารเที่ยง หรือพักสายตาสั้นๆ ระหว่างการทำงาน

เพราะหากเราวุ่นวายมาก เราจะรู้สึกกระวนกระวาย และสูญเสียความสามารถในการควบคุมอารมณ์ และสูญเสียความสามารถในการตัดสินใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจดจำ

อีกหนึ่งเคล็ดลับคือ ใช้เวลาเพียง 5 นาที เพื่อทำสิ่งที่ชอบในเวลาทำงาน

ทดลองหยิบกิจกรรมที่ทำในวันหยุด แอบเอามาทำในวันทำงาน แม้เพียงเล็กน้อย แต่จะส่งผลเรื่องแรงจูงใจในการทำงานได้มาก

แม้หลายคนจะบอกว่า จะเป็นไปได้อย่างไร เพราะงานมันเยอะ งานมันแน่นชั่วโมงทำงาน จะเอาเวลาที่ไหนไปแอบทำสิ่งที่ชอบในเวลางานได้

อยากให้ทดลองหาเวลาทำกิจกรรมที่เราชอบในวันทำงาน แม้จะแค่ 5 นาที กิจกรรมอะไรก็ได้

เพราะไม่ว่าจะอะไรก็ตาม หากได้พยายามจัดสรรเวลาสั้นๆ เหมือนข่าวต้นชั่วโมง หรือข่าวสั้น 5 นาที เพื่อทำสิ่งที่ชอบ จะเป็นกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ แค่ไหนก็ได้ เช่น รดน้ำตะบองเพชร หรือแต่งรูปโปรไฟล์

เพราะ Work-Life Balance ที่ถูกต้อง ไม่ใช่การพักผ่อนเต็มคราบ หรือทำงานแบบใจเกินร้อย แต่เป็นการสร้างความพอดีระหว่างการทำงานและการพักผ่อน

อย่ารู้สึกผิดถ้าไม่ได้ทำงานในวันหยุด แต่อย่าอู้งาน เพราะจะทำให้เกิดผลเสียต่ออาชีพการงาน

การสร้างสมดุล หรือ Balance ในการทำงานให้เหมาะสมในชั่วโมงการทำงาน หยุดพักในช่วงเวลาเล็กๆ น้อยๆ ระหว่างการทำงาน เพื่อให้ร่างกายได้รับรู้ถึงการพักผ่อน

และอย่าลืมว่า การพักผ่อนบ้างไม่ใช่เรื่องผิด ตรงกันข้าม การหาจุดสมดุลระหว่างการพักผ่อนกับการทำงาน จะเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน

เพราะผู้ที่รู้จักพักผ่อนอย่างชาญฉลาด คือผู้ที่จะสร้างผลงานได้ดีที่สุดนั่นเอง