สำนักงานโฆษณาการกับแรงดลใจเป็นผู้แทนราษฎร ‘ตัวตึง’ | ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

ในคู่มือพลเมืองเขียนไว้ว่า “รัฐธรรมนูญไม่ต้องการให้มีไพร่ มีข้า มีทาส แต่ต้องการให้ทุกคนเป็นพลเมือง…ทุกวันนี้ รัฐธรรมนูญทำให้พลเมืองรู้สึกว่าประเทศเป็นของเขาทั้งหลายทุกคน มิใช่เป็นของบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือคณะใดคณะหนึ่งโดยเฉพาะ” ดังนั้น รัฐบาลจึงเดินหน้าสร้างสภาพแวดล้อมของสังคมใหม่เพื่อสร้างพลเมืองขึ้น

(สำนักงานโฆษณาการ, 2479, 142)

สาเหตุการการเผยแพร่
ประชาธิปไตยไปยังชนบท

ภายหลังการปฏิวัติ 2475 รัฐบาลคณะราษฎรมุ่งสร้างสำนึกใหม่ให้กับพลเมืองแทนสำนึกแบบเก่าเพื่อสร้างความเข็มแข็งให้กับระบอบประชาธิปไตยที่เพิ่งถูกสถาปนาขึ้นใหม่ให้มั่นคง แม้นกองโฆษณาการถูกตั้งขึ้นภายหลังการปฏิวัติ 2475 โดยรัฐบาลอนุรักษนิยมของพระยามโนปกรณ์ฯ ที่ดูแบบอย่างจากเยอรมนีขึ้นเพื่อควบคุมข้อมูลข่าวสารและโน้มน้าวความคิดให้เกิดความนิยมระบอบเก่า แต่ยังมีได้ดำเนินกิจกรรมสำคัญใดในช่วงแรกเริ่ม

ต่อมา เกิดวิกฤตการณ์การเมืองขึ้นจากพระยามโนฯ และพวกพยายามหมุนระบอบกลับ ด้วยการงดใช้รัฐธรรมนูญ (1 เมษายน 2476) ปิดสภาผู้แทนราษฎร วางแผนปราบปรามคณะราษฎร จนทำให้คณะราษฎรรัฐประหารรัฐบาลอนุรักษนิยมลง (20 มิถุนายน 2476) กลุ่มอนุรักษนิยมจึงโต้กลับด้วยกำลังในกบฏบวรเดช (ตุลาคม 2476)

กองโฆษณาการเข้ามีบทบาทสำคัญในการช่วยรัฐบาลคณะราษฎรปราบกบฏบวรเดช ด้วยเหตุนี้ ภายหลังการปราบกบฏ รัฐบาลพระยาพหลฯ และรัฐบาลจอมพล ป.จึงให้ความสำคัญกับหน่วยงานดังกล่าวมากยิ่งขึ้น พร้อมปรับเปลี่ยนภารกิจของกองให้เป็นยกระดับความสำนึกราษฎรผู้ถูกปกครองให้เป็นพลเมืองที่แข็งขันในระบอบประชาธิปไตยแทน

แม้นรัฐบาลคณะราษฎรมีชัยเหนือกบฏบวรเดชด้วยความช่วยเหลือจากประชาชน แต่ประชาชนในที่ห่างไกลยังคงคุ้นเคยกับระบอบเก่า ดังที่บุญเรือง จุลรักษา ชาวชัยภูมิที่ช่วยรัฐบาลปราบกบฏเล่าว่า หลังเหตุการณ์สงบลง เขาเคยกลัดเข็มรัฐธรรมนูญเข้าในจังหวัดนครราชสีมา แต่เขาโดนคนนครราชสีมารังเกลียด (หจช.สร.0201.1.3.1/1 กล่อง 1)

ดังนั้น โจทย์สำคัญภายหลังกบฏบวรเดชแล้ว คือ รัฐบาลต้องสร้างความเข้าให้ประชาชนที่อยู่ห่างไกลเข้าใจในการปกครองระบอบประชาธิปไตย เข้าใจสิทธิ เสรีภาพ และรัฐธรรมนูญคืออะไร (ไพโรจน์ ชัยนาม, 280)

หนังสือเทอดรัฐธรรมนูญ (2476) และสำนักงานโฆษณาการ ที่ตั้งใหม่ ณ อาคารแบดแมน

การขยายบทบาท
สำนักงานโฆษณาการสมัยคณะราษฎร

หลวงรณสิทธิพิชัย (2442-2516) สมาชิกคณะราษฎร กรรมการควบคุมวิทยุกระจายเสียง (2476) เคยเป็นอัยการศาลพิเศษ คดีกบฎบวรเดช (2476) เป็นหัวหน้าสำนักงานโฆษณาการต่อจาก ม.จ.สกลวรรณากร

หลวงรณสิทธิพิชัยมีบทบาทผลักดันให้ขยายงานวิทยุกระจายเสียงของสำนักงาน จากเดิมออกอากาศที่ศาลาแดงมายังวังพญาไท จัดให้มีหน่วยปาฐกถาเคลื่อนที่ประชาสัมพันธ์และให้ความรู้การปกครองระบอบประชาธิปไตยและเข้าใจในนโยบายของรัฐบาลอย่างถูกต้อง ให้ข้าราชการฝึกพูด ฝึกการปาฐกถา (2476)

รัถศักดิ์ วัฒนพานิช ข้าราชการเก่าคนหนึ่งของกรมโฆษณาการบันทึกว่า รัฐบาลขยายหน่วยปาฐกถาให้กว้างขวาง และดำเนินการให้ถี่ขึ้น (อนุสรณ์งานศพหลวงรณสิทธิพิชัย, 2516)

ด้วยรัฐบาลตระหนักถึงความจำเป็นในการเผยแพร่คุณค่าของระบอบใหม่แก่ประชาชนว่า “การปกครองตามลัทธิประชาธิปไตยนั้น ย่อมกำหนดให้อำนาจสูงสุดอยู่ที่ปวงชน เพราะฉะนั้น ความเข้าใจผิดหรือถูกของปวงชนย่อมเป็นผลโดยตรงแก่นโยบายของรัฐบาล…ดังนั้น หัวใจของการโฆษณาจึ่งมีว่า เมื่อใดโฆษณาของรัฐบาลปราศจากความสำเร็จ เมื่อนั้นรัฐบาลย่อมตกอยู่ในความลำบาก เพราะเหตุว่า การใช้อำนาจบังคับใจคนนั้น ย่อมไม่ดีเท่าวิธีให้ความรู้และเหตุผลแก่ประชาชน” (หลวงรณสิทธิพิชัย, 2476, 12)

สำนักงานจึงจัดพิมพ์หนังสือแถลงการณ์และโฆษณาด้วยมุ่งเผยแพร่ระบอบประชาธิปไตย เชิดชูรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นหลักการปกครองใหม่ให้ประชาชนรู้จัก และสนับสนุนให้ประชาชนมั่นคงในการปกครอง ส่งเสริมให้ปฏิบัติตนสมเป็นอารยะ แนะนำให้ประชาชนมีความรู้ในอาชีพต่างๆ และเผยแพร่เกียรติของไทยสู่นานาชาติ (สำนักงานโฆษณาการ, 2477, 25-26)

หลวงรณสิทธิพิชัย สมาชิกคณะราษฎร (นั่งกลาง) ผู้มีบทบาทขับเคลื่อนกิจการโฆษณาการ

หนังสือต่างๆ ที่ผลิตออกมา เช่น แถลงการณ์เรื่องการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (2476), (2481) รวมประมาณ 2 แสนเล่ม ต่อมา ทำหนังสือคู่มือพลเมือง (2479) ขึ้นตามแบบอย่างหนังสือคู่มือพลเมืองในฝรั่งเศส ด้วยภาษาที่อ่านเข้าใจง่าย ในภาคภาษาไทย “ออกจำหน่ายถึงแสนเล่ม ด้วยราคาถูก เป็นปกแข็ง พิมพ์ขึ้นถึงสามครั้งขายหมดอย่างรวดเร็ว” (ไพโรจน์ ชัยนาม, 2538, 27)

คู่มือพลเมือง (2479) ที่จัดทำขึ้น มี 20 บท ประกอบด้วยเรื่อง ชาติ ประเทศ พลเมือง สิทธิของพลเมือง การปกครองของสยามในสมัยปัจจุบัน-รัฐธรรมนูญ อำนาจอธิปไตย การเลือกตั้งผู้แทนราษฎร การจัดทำพระราชบัญญัติ อำนาจบริหาร-รัฐบาล-พระมหากษัตริย์ อำนาจบริหาร-รัฐบาล-คณะรัฐมนตรี อำนาจตุลาการ-ศาล ระเบียบราชการบริหาร การต่างประเทศ การป้องกันประเทศ ภาษี งบประมาณของประเทศ การศึกษาของพลเมือง ประเทศสยามภายใต้รัฐธรรมนูญ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไม่แต่เพียงหนังสือคู่มือพลเมืองถูกพิมพ์จำหน่ายจ่ายแจกโดยกรมไปถึงหลายแสนเล่มแล้วก็ตาม แต่ยังปรากฏการถูกพิมพ์แจกจ่ายโดยสังคมเองอีกหลายครั้งในรูปหนังสือแจกงานศพอีกด้วย

รัฐบาลแจกจ่ายหนังสือคู่มือพลเมืองอย่างกว้างขวาง โดยให้เหตุผลว่า “เนื่องจากประเทศสยามได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยซึ่งเป็นการปกครองของพลเมืองและโดยพลเมือง…พลเมืองมีส่วนได้ส่วนได้เสียและมีความรับผิดชอบในการปกครองโดยตรง พลเมืองจึงต้องล่วงรู้สิทธิและหน้าที่ที่ตนมีอยู่ในฐานะพลเมืองภายใต้ระบอบประชาธิปไตย…” (สำนักงานโฆษณาการ, 2479, คำนำ)

ในหนังสือดังกล่าวแยกแยะความแตกต่างระหว่างผู้คนในระบอบสมบูรณาสิทธิราชย์กับระบอบประชาธิปไตยว่า ราษฎรในระบอบเดิมไม่รู้ถึงการมีสิทธิ รู้แต่มีหน้าที่ ไม่มีสิทธิทางการเมือง ไม่มีโอกาสรับทราบการปกครองประเทศ ปราศจากความเสมอภาค คนถูกแบ่งออกเป็นชั้นๆ เสรีภาพแทบจะไม่มี

แต่ “ทุกวันนี้ ประเทศสยามมีรัฐธรรมนูญเป็นหลักปกครองประเทศ รัฐธรรมนูญได้แสดงรับรู้สิทธิและหน้าที่ของปวงชนชาวสยามไว้แจ้งชัด รัฐธรรมนูญทำลายเครื่องกีดขวางที่แบ่งชั้นระหว่างบุคคลเสียสิ้นเชิง รัฐธรรมนูญให้ความเสมอภาค ให้เสรีภาพแก่บุคคลทุกคนโดยทั่วหน้ากัน รัฐธรรมนูญไม่ต้องการให้มีไพร่ มีข้า และมีบ่าว แต่ต้องการให้ทุกๆ คนเป็นพลเมืองโดยแท้จริง” (สำนักงานโฆษณาการ, คำนำ)

ไม่แต่เพียงสำนักงานจะทำหน้าที่เผยแพร่ความรู้ผ่านสิ่งพิมพ์ หนังสือ และวิทยุเท่านั้น แต่ในถิ่นทุรกันดารที่สื่อวิทยุและหนังสือพิมพ์ไปไม่ถึงนั้น มีการส่งหน่วยปาฐกถาไปจัดแสดงปาฐกถาและให้ความรู้ในต่างจังหวัดทั่วประเทศ เพื่ออธิบายให้พลเมืองเข้าใจการปกครองระบอบประชาธิปไตย และการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่พลเมืองด้วย (ไพโรจน์ ชัยนาม, 26)

กิจการของสำนักงานโฆษณาการ (2477) และธงชาติสยาม (2480)

การรับรู้ 2475
เป็นแรงดลใจให้ราษฎรสมัครเป็นผู้แทนราษฎร

ความทรงจำของถวิล อุดล หรือ “นายเมือง เดิมชื่อเถื่อน” ชาวร้อยเอ็ดที่ต่อมากลายเป็นผู้แทนฯ ร้อยเอ็ด ผู้เป็นปากเสียงอย่างแข็งขันให้กับชาวอีสาน บันทึกถึงการตระหนักรู้ในคุณูปการและเรื่องราวของปฏิวัติ 2475 ที่สร้างโอกาสให้ราษฎรมีสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคอันเป็นแรงดลใจให้เขาตัดสนใจลงสมัครเป็นในผู้แทนราษฎรว่า

“บุคคลคณะหนึ่งที่ข้าพเจ้าจะขอขอบคุณเขาเป็นอย่างยิ่งก็คือ คณะราษฎร ผู้เปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตย เพราะด้วยการปกครองระบอบนี้ที่ช่วยชุบคนบ้านนอกอย่างข้าพเจ้าให้ขึ้นมาเป็นชาวเมือง…วันหนึ่งซึ่งโอกาสเปิดให้ ข้าพเจ้าจะใคร่กลับบ้านเพื่อสมัครเข้ารับเลือกเป็นผู้แทนราษฎร” (ถวิล อุดล, 2491, 4-5)

ซึ่งต่อมา เขาได้ทำหน้าที่ผู้แทนราษฎรที่ประวัติศาสตร์รัฐสภาสมควรต้องจารึกบทบาทที่โดดเด่นของเขาและเพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีสาน “ตัวตึง” ที่เป็นปากเสียงให้ราษฎรหลายคนเอาไว้

กล่าวโดยสรุป รัฐบาลคณะราษฎรให้ความสำคัญกับการใช้การประชาสัมพันธ์ทั้งให้ความรู้และเผยแพร่การปกครองประชาธิปไตยและกิจการต่างๆ ของรัฐบาลให้ประชาชนทราบอย่างกว้างขวางที่สุดอันเป็นแรงดลให้ราษฎรหลายคนปรารถนาเป็นผู้แทนราษฎร

พลเมืองเข้าร่วมงานฉลองรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475
พลเมืองเข้าร่วมงานฉลองรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475
สภาพราษฎรในระบอบเก่าที่รัฐบาลคณะราษฎรไม่ประสงค์ให้เกิดขึ้น
กลุ่มผู้แทนราษฎร อุบล และ ถวิล อุดล ส.ส.ร้อยเอ็ด