รำลึก 70 ปียุติสงครามเกาหลี (3) ต่างมุมมอง-ต่างผลประโยชน์

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ | สุรชาติ บำรุงสุข

 

รำลึก 70 ปียุติสงครามเกาหลี (3)

ต่างมุมมอง-ต่างผลประโยชน์

 

“เรากำลังเผชิญกับสงครามใหม่ทั้งหมด”

นายพลดักลาส แม็กอาเธอร์ กล่าวถึงสถานการณ์การรุกใหญ่

ของกองทัพจีน จนกองทัพสหรัฐต้องเป็นฝ่ายถอยร่นจาก

แนวพรมแดนจีน-เกาหลีเหนือ, พฤศจิกายน 1950

 

การเจรจาหยุดยิงที่หมู่บ้านปันมุนจอมเพื่อแยกกองกำลังทั้งสองฝ่ายออกจากกันในสงครามเกาหลีสิ้นสุดในวันที่ 27 กรกฎาคม 1953 หรือเมื่อ 70 ปีที่แล้ว… ต้องยอมรับว่าหลังจากการเจรจาหยุดยิงครั้งนั้นแล้ว สงครามใหญ่บนคาบสมุทรเกาหลีไม่เกิดขึ้นอีกเลย แม้จะมีความตึงเครียดทางทหารเกิดขึ้นบ้าง แต่ก็มิได้ขยายตัวจนเป็นสงครามอีกครั้งแต่อย่างใด

สงครามเกาหลีไม่ใช่การสู้รบระหว่างฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้ หากยังมีรัฐมหาอำนาจใหญ่อีก 3 ประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องโดยตรงด้วย คือ สหรัฐอเมริกา จีน และสหภาพโซเวียต (รัสเซียในปัจจุบัน) ดังนั้น การรำลึกถึงการหยุดยิงเมื่อ 70 ปีที่แล้ว จึงมีส่วนที่สัมพันธ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้กับรัฐมหาอำนาจดังกล่าวด้วย โดยเฉพาะสงครามเกาหลีในอดีตอาจถูกประกอบสร้างให้เป็น “ภาพแทน” ของการแข่งขันของรัฐมหาอำนาจในปัจจุบัน

ฉะนั้น จึงเป็นเรื่องน่าสนใจว่า รัฐมหาอำนาจใหญ่อย่างสหรัฐและจีนที่เป็นคู่แข่งขันหลักในปัจจุบัน มีความทรงจำและมีมุมมองต่อสงครามเกาหลีแตกต่างกันอย่างไร

 

สงครามต่อต้านอเมริกัน

หากเปรียบเทียบกันแล้ว อาจจะต้องยอมรับว่าจีนยังมีความทรงจำอย่างมากกับเรื่องของสงครามเกาหลี ในขณะที่สำหรับทางสหรัฐนั้น สงครามเกาหลีเป็นดัง “สงครามที่ถูกลืม” (The Forgotten War) ทั้งที่ทหารอเมริกันต่อสู้อย่างหนักและอย่างกล้าหาญในหลายพื้นที่การรบ อีกทั้งมีบทเรียนทางยุทธศาสตร์ที่น่าทำการศึกษาในหลายเรื่อง แต่ความสนใจโดยทั่วไปกลับไม่มากนัก และบทเรียนทางยุทธศาสตร์ของสงครามเกาหลีแทบจะไม่เคยถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นของการศึกษาทางทหารเท่าใดนัก จนมีการเปรียบเปรยว่า สหรัฐได้ “เผาและฝังกลบ” ความทรงจำเกี่ยวกับสงครามเกาหลีไปหมดแล้ว

ในมุมมองของจีนนั้น สงครามเกาหลีถูกเรียกว่าเป็น “สงครามต่อต้านอเมริกันและช่วยเหลือเกาหลี” และถือว่าเป็นสงครามที่ไม่ถูกลืมในสังคมจีน และยิ่งในวาระครบรอบเหตุการณ์ 70 ปีครั้งนี้ ยิ่งเป็นโอกาสให้จีนหยิบฉวยเอาสงครามเกาหลีมาเป็นประเด็นของการประกอบสร้าง “เรื่องเล่า” (narrative) เพื่อรองรับต่อการสร้างลัทธิชาตินิยมจีนในยุคปัจจุบันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ดังจะเห็นได้ว่าวารสารที่ออกโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีนนั้น ได้กล่าวถึงปัญหาการต่อสู้กับ “จักรวรรดินิยมอเมริกา” ในสงครามเกาหลีมาเป็นระยะหนึ่งแล้ว ข้อสรุปของเรื่องเล่าชุดนี้คือ “กองทัพจีนสามารถเอาชนะศัตรูอันดับ 1 ของโลกได้ (หมายถึงสหรัฐ) ในสนามรบที่เกาหลี และสามารถปฏิบัติการทางทหารได้อย่างกล้าหาญ จนโลกต้องตะลึง และทำให้ทั้งผีและพระเจ้าต้องร้องไห้”

เรื่องเล่าที่ถูกประกอบสร้างบอกอย่างชี้ชัดว่า กองทัพจีนชนะ และกองทัพของฝ่ายตะวันตกที่เข้าร่วมในสงครามเกาหลีเป็นฝ่ายแพ้ ดังจะพบว่าในการเฉลิมฉลองการเข้าสู่สงครามเกาหลีของจีนในปี 2020 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กล่าวชัดเจนว่า สงครามเกาหลีเริ่มขึ้นเพราะ “การรุกรานของจักรวรรดินิยมที่มาถึงหน้าประตูบ้านของจีน” และจีนได้ตัดสินใจส่งกำลังอาสาสมัคร (ทหาร) ข้ามพรมแดนเข้ามาช่วยเกาหลีเหนือรบ เพื่อเป็นการส่งสัญญาณถึง “ผู้รุกราน” ว่า จีนจะไม่ยอมเผชิญกับการคุกคามของจักรวรรดินิยมตะวันตกโดยไม่ตอบโต้

การตอบโต้ด้วยการส่งทหารข้ามแม่น้ำยาลู (The Yalu River) จึงถูกประกอบสร้างสำหรับการแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่ในปัจจุบันว่า “นี่คือเจตจำนงอันแข็งแกร่งดังเหล็ก” (an iron will) ของจีนที่จะแสดงให้ผู้รุกรานเห็น และ “สร้างสตอรี่” ต่อด้วยว่า จีนสามารถ “เอาชนะข้าศึกที่สมบูรณ์ไปด้วยอาวุธ แต่กลับอ่อนแอด้านเจตนารมณ์” ได้อย่างชัดเจน

ชุดความคิดเช่นนี้อาจจะบ่งบอกถึงสถานะทางความมั่นคงของจีน เนื่องจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนเพิ่งชนะสงครามกลางเมืองในปี 1949 และต้องเผชิญกับสหรัฐที่เป็นรัฐมหาอำนาจที่เข้มแข็งทางทหาร และเพิ่งชนะสงครามโลกครั้งที่ 2

ดังนั้น สงครามเกาหลีจึงเป็นความท้าทายด้านความมั่นคงของรัฐบาลใหม่ที่ปักกิ่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

สตอรี่สงคราม

ในขณะที่จีนพยายาม “สร้างสตอรี่” ว่า สงครามเกาหลีเริ่มจากการรุกรานของฝ่ายตะวันตก แต่ในความเป็นจริง สงครามเริ่มจากการบุกข้ามเส้นขนานที่ 38 ของกองทัพเกาหลีเหนือ แม้จีนจะนำเสนอว่า กองทัพอาสาสมัครประชาชนจีน (กองทัพสนามที่ 4) ชนะในพื้นที่การรบบางจุด แต่จีนเองก็ประสบความสูญเสียอย่างหนัก และโดยข้อมูลสงครามแล้ว กองทัพจีนไม่ได้ประสบความสำเร็จในการรบมากอย่างที่การโฆษณาชวนเชื่อของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ตัวเลขประมาณการทางทหารเชื่อว่า กองทัพจีนน่าจะประสบความสูญเสียมากกว่า 1 ล้านนาย ส่วนอัตราการสูญเสียของกองทัพเกาหลีเหนือประมาณ 520,000 นาย (อัตราการสูญเสียทางทหารหมายถึง การบาดเจ็บ ตาย และสูญหาย)

ส่วนกองทัพสหรัฐสูญเสียประมาณ 142,000 นาย (เสียชีวิตในสนามรบประมาณ 33,000 นาย) กองทัพสหประชาชาติที่ไม่นับรวมกองทัพสหรัฐ สูญเสียประมาณ 17,000 นาย (เสียชีวิตในสนามรบประมาณ 3,000 นาย) กองทัพเกาหลีใต้สูญเสียประมาณ 300,000 นาย (เสียชีวิตในสนามรบประมาณ 70,000 นาย) และประชาชนชาวเกาหลีเสียชีวิตมากกว่า 3 ล้านคน และสงครามเกาหลีถือเป็น “หมุดหมาย” ที่สำคัญที่สุดชุดหนึ่งของสงครามเย็น ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของเอเชียหรือของโลกก็ตาม

ผลสืบเนื่องอย่างสำคัญคือ จีนได้รับการยอมรับว่าเป็น “รัฐมหาอำนาจใหญ่” ของเอเชีย และเป็นจุดเริ่มต้นหนึ่งที่สำคัญของการขยายอิทธิพลของจีนในเอเชีย แม้ว่าในความเป็นจริงของสงครามนั้น กองทัพจีนอ่อนแอ และเป็นกองทัพแบบเก่าที่ไม่เหมาะกับสงครามสมัยใหม่ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่อย่างใด

แต่เรื่องเล่าที่ถูกประกอบสร้างขึ้นกลับเป็นภาพของกองทัพจีนที่เข้มแข็ง และรบชนะในทุกสมรภูมิ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว จีนประสบความสูญเสียอย่างหนัก

อีกทั้งทหารจีนและเกาหลีเหนือที่เป็นเชลยศึกมีจำนวนมากกว่า 132,000 นาย ทหารอเมริกันถูกจับเป็นเชลยประมาณ 1 หมื่นคน แต่รอดชีวิตกลับมาได้เพียง 3 พันกว่านาย

 

สงครามการเมือง

แม้จีนจะประสบความสูญเสีย แต่กลับสามารถสร้างภาพทางการเมืองในอีกแบบอย่างไม่น่าเชื่อ และใช้สงครามเกาหลีเป็นเครื่องมือของการสร้าง “แรงบันดาลใจ” ทางการเมือง เช่น ภาพความยิ่งใหญ่ในการเป็นพ่อของประธานเหมาเจ๋อตุง ซึ่งลูกชายของเขาได้เข้าสู่สงครามนี้ และเสียชีวิตในการรบ ดังปรากฏเป็นการสร้างภาพยนตร์เพื่อใช้ในการโฆษณาชวนเชื่อในปี 2021 เรื่อง “การรบที่ทะเลสาบฉางจิน” (The Battle at Lake Changjin) และกลายเป็น “หนังดัง” ในสังคมจีน ที่ทำรายได้อย่างมากและอย่างรวดเร็ว ทั้งที่ในการรบนั้น กองทัพจีนประสบความเสียหายอย่างหนัก ประมาณว่าจีนสูญเสียทหารไม่ต่ำกว่า 37,000 นาย (ตัวเลขหลังสงคราม ประเมินว่าจีนน่าจะสูญเสียมากกว่านั้น)

แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้กลับสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นหลังในสังคมจีนให้หันกลับมาสนใจสงครามเกาหลี และถูกนำมาใช้ขับเคลื่อนกระแสชาตินิยมจีนในปัจจุบัน ที่กำลังมีลักษณะสุดโต่งมากขึ้นด้วย [การรบที่ทะเลสาบฉางจินนั้น ทางฝ่ายตะวันตกจะเรียกว่า “การรบที่อ่างเก็บน้ำโชซิน” – The Battle of Chosin Reservoir, พฤศจิกายน-ธันวาคม 1951]

สำหรับสหรัฐนั้น สงครามเกาหลีกลายเป็นสิ่งที่ “ถูกลืม” (บางทีอาจหมายความว่า “อยากลืม” ไม่ต่างจากปัญหาสงครามเวียดนาม) ซึ่งอาจเป็นเพราะผลของสงครามไม่เป็นไปอย่างที่สังคมอเมริกันคาดหวัง หรือบางครั้งผลของสงครามที่จบลงในแบบ “ไม่เป็นที่น่าพอใจ” และสำหรับคนอเมริกันบางกลุ่ม อาจเป็นเรื่อง “น่าอับอาย” ภาพเช่นนี้แตกต่างจากสังคมจีนอย่างมาก ภาพสะท้อนจากเสียงตอบรับของสังคมจีนต่อภาพยนตร์เรื่อง “การรบที่ทะเลสาบฉางจิน” นั้น เป็นตัวแทนของความสำเร็จของการโฆษณาชวนเชื่อ ที่สามารถสร้างกระแสชาตินิยมจีนในยุคปัจจุบันได้อย่างน่าสนใจ

การสร้างกระแสนี้สอดรับกับสถานการณ์การแข่งขันระหว่างสหรัฐกับจีนโดยตรง อีกทั้งอาจมีส่วนอย่างมากในการช่วยปกป้องสถานะของรัฐบาลสี จิ้นผิง ที่มีวิกฤตโควิด-19 เป็นปัญหาแต่เดิม และมีวิกฤตเศรษฐกิจในปัจจุบันด้วย เพราะกระแสนี้จะช่วยให้คนยอมรับรัฐบาลในการต่อสู้กับสหรัฐและชาติตะวันตกมากขึ้น หรือมีท่าทีในการปกป้องรัฐบาลมากขึ้น จนกลายเป็นว่าการวิจารณ์รัฐบาลคือไม่รักชาติ… การไม่สนับสนุนรัฐบาลเรื่องไต้หวันคือไม่รักชาติ

ปัญหาคือ แล้วสังคมอเมริกันจะมองสงครามเกาหลีในสถานการณ์การเมืองปัจจุบันอย่างไร ซึ่งไม่ง่ายเลยที่มีคำตอบ เพราะสงครามเกาหลีเป็นสงครามที่อยู่ตรงกลาง ระหว่างชัยชนะอย่างยิ่งใหญ่ในสงครามโลกครั้งที่ 2 กับความพ่ายแพ้อย่างหนักในสงครามเวียดนาม ภาวะเช่นนี้จึงทำให้สังคมอเมริกันกำหนดท่าทีต่อสงครามเกาหลีได้ยาก และกลายเป็นเรื่องที่อยากลืม

แต่ “บทเรียนการสงคราม” หลายเรื่องกลับถูกละเลยไปอย่างน่าเสียดาย ทั้งที่สามารถนำมาปรับใช้ได้อย่างดีกับปัญหาการเมืองระหว่างประเทศในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมรับสงคราม การเข้าสงคราม การป้องกันการยกระดับของสงคราม การเจรจายุติสงคราม การตระหนักถึงความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองกับสงคราม และความสัมพันธ์ระหว่างการรบกับสงครามการเมืองและการโฆษณาชวนเชื่อ

 

ข้อคิดจากสงคราม

ภาวะเช่นนี้ทำให้เกิดข้อสรุปจากสงครามเกาหลีว่า จีนพ่ายแพ้การรบ แต่ชนะการเมือง ส่วนสหรัฐชนะการรบ แต่กลับแพ้การเมือง

ในอีกด้านหนึ่งบางคนสรุปว่า สงครามเกาหลีทิ้งบทเรียนสำคัญให้ทำเนียบขาวและผู้นำทหารอเมริกันต้องคิดคู่ขนานกับปัญหาการแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่ใน 4 เรื่องใหญ่ คือ

1) การป้องปรามข้าศึก ไม่ให้ข้าศึกเป็นฝ่ายเปิดสงครามจะดำเนินการอย่างไร

2) หากการป้องปรามล้มเหลว และเกิดสงครามขึ้น จะรับมืออย่างไร

3) จะดำเนินการต่ออย่างไร หากสงครามที่เกิดขึ้นมีระยะเวลาทอดยาวออกไป

และ 4) ถ้าจะยุติการรบ จะเปิดการเจรจาหยุดยิงอย่างไร

ข้อคิดจากสงครามเกาหลีใน 4 เรื่องเช่นนี้ดูจะสอดคล้องกับสถานการณ์สงครามยูเครนเป็นอย่างยิ่ง และเช่นเดียวกันปัญหา 4 ประการนี้อาจจะต้องนำมาเป็นข้อพิจารณาสำหรับสถานการณ์ความตึงเครียดที่ช่องแคบไต้หวัน ซึ่งอาจยกระดับเป็นสงครามได้ไม่ยาก

ดังนั้น การหวนกลับมาพิจารณาบทเรียนสงครามเกาหลีจึงเป็นประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ที่น่าสนใจอย่างมาก!