เศรษฐกิจซอมบี้จีน : มองมุมอาจารย์โฮเฟิง หง (ตอนปลาย) | เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

กระบวนท่าแบบฉบับของทางการรัฐ-พรรคจีนในการจัดการความจริงเชิงลบทางเศรษฐกิจดังยกตัวอย่างข้างต้น เอาเข้าจริงมีมาตั้งแต่ปัญหารัฐวิสาหกิจซอมบี้กับธนาคารซอมบี้ปรากฏชัดขึ้นทุกทีในจีนเมื่อต้นทศวรรษที่ 2010 แล้ว ดังที่ โฮเฟิง หง ศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์การเมืองแห่งมหาวิทยาลัย Johns Hopkins สหรัฐชี้ไว้

นั่นคือ “ข่าวร้าย” ทั้งหลายถูกเซ็นเซอร์ในสื่อทางการ ซึ่งเอาแต่เน้นกระพือ “ข่าวดี” ของบรรดานักเศรษฐศาสตร์สายรัฐ-พรรคจีนแทน (https://newleftreview.org/sidecar/posts/zombie-economy)

ขณะเดียวกัน ในโลกตะวันตก เครือข่ายนายธนาคารและผู้บริหารบรรษัทวอลล์สตรีตก็มีเหตุผลของตัวเองที่จะกดทับข้อวิเคราะห์ช่างสงสัยต่างๆ ไว้ในสภาพที่พวกเขายังคงทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำจากการขุดบ่อล่อนักลงทุนตะวันตกทั้งหลายเข้าไปในจีน

เหล่านี้ส่งผลให้มายาการว่าเศรษฐกิจจีนจะเติบโตด้วยอัตราเร็วสูงอย่างไร้ขอบเขตกลายเป็นเจ้าเรือน ณ จังหวะเดียวกับที่จีนย่างเข้าสู่วิกฤตร้ายแรงที่สุดนับแต่เปิดประเทศปฏิรูปแบบตลาดมาพอดี!

อาจารย์หงชี้ว่าเอาเข้าจริงทางการปักกิ่งรู้มานานแล้วว่าจะต้องทำอะไรบ้างเพื่อบรรเทาวิกฤตนี้ เห็นได้ชัดว่าบาทก้าวสำคัญคือริเริ่มการปฏิรูปกระจายรายได้ใหม่เพื่อเสริมรายได้ภาคครัวเรือนให้สูงขึ้นอันจะทำให้ภาคครัวเรือนบริโภคสูงขึ้นตามมา (ในสภาพที่สัดส่วนการบริโภคภาคครัวเรือนใน GDP ของจีนอยู่ในจำพวกต่ำสุดในโลก)

“นักเศรษฐศาสตร์จีนถูกบอกกล่าวว่าอย่าให้ความเห็นแง่ลบในสภาพที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจซวดเซ” The Financial Times, 6 August 2023

นับแต่ปลายทศวรรษที่ 1990 ก็มีเสียงเรียกร้องให้ปรับสมดุลเศรษฐกิจจีนเสียใหม่ให้เป็นตัวแบบการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนมากขึ้น โดยลดการพึ่งพิงการส่งออกและลดการพึ่งพิงการลงทุนในสินทรัพย์คงที่อย่างการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานลงไป

เหล่านี้นำไปสู่การดำเนินนโยบายปฏิรูปกระจายรายได้ใหม่บางประการในสมัยรัฐบาลประธานาธิบดี/เลขาธิการพรรคหู จิ่นเทา กับนายกรัฐมนตรีเหวิน เจียเป่า (ปี 2003-2013) อาทิ การออกกฎหมายสัญญาจ้างงานฉบับใหม่ การยกเลิกภาษีภาคเกษตร และการหันเหการลงทุนภาครัฐเข้าสู่ภูมิภาคชนบทในดินแดนด้านในของประเทศ เป็นต้น

ทว่า น้ำหนักถ่วงทับของกลุ่มผู้มีผลประโยชน์ได้เสียอยู่เดิม (เช่น บรรดารัฐวิหสากิจและองค์การปกครองท้องถิ่นซึ่งอู้ฟู่ขึ้นด้วยสัญญาก่อสร้างและสินเชื่อจากธนาคารของรัฐที่ขับเคลื่อนโครงการเหล่านี้ เป็นต้น) บวกกับสภาพถูกกดทับให้ไร้อำนาจของกลุ่มสังคมต่างๆ ผู้พึงได้ประโยชน์จากนโยบายปรับสมดุลเศรษฐกิจใหม่นี้ (ครัวเรือนกรรมกร ชาวนาและคนชั้นกลาง) ส่งผลให้แนวทางปฏิรูปมิอาจหยั่งรากยึดอยู่ได้ และดอกผลของการลดความเหลื่อมล้ำลงได้เล็กน้อยในสมัยรัฐบาลหู-เหวินกลับถูกเพิกถอนทวนกลับไปหลังกลางทศวรรษ ที่ 2010 เสียฉิบ

การปฏิรูปปรับสมดุลเศรษฐกิจใหม่ไม่ได้เดินหน้าไปอย่างมีนัยสำคัญนักภายใต้ประธานาธิบดี/เลขาธิการพรรคสี จิ้นผิง (2013-ปัจจุบัน) สีแจงสี่เบี้ยชัดว่าโครงการความไพบูลย์ร่วมกัน (共同富裕 ดู https://www.matichonweekly.com/column/article_564239) ที่เขาริเริ่มไม่ใช่การกลับไปสู่ลัทธิเสมอภาคนิยมสมัยเหมาเจ๋อตุง และก็ไม่ใช่การฟื้นฟูลัทธิรัฐสวัสดิการแต่อย่างใด หากเป็นการย้ำยืนกรานบทบาทรัฐในฐานะผู้อุปถัมภ์ทุน ด้วยการขยายฐานะบทบาทของรัฐในเศรษฐกิจภาคเทคโนโลยีและอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น

รวมทั้งจัดแถวปรับแนวการประกอบการธุรกิจเอกชนให้สอดคล้องต้องตรงกับผลประโยชน์ของชาติที่กว้างออกไป

 

เบื้องหน้าภาวะเศรษฐกิจซอมบี้ – อันเกิดจากวิกฤตสะสมทุนล้นเกินตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์มาร์กซิสต์ (overaccumulation crisis) และภาวะเศรษฐกิจถดถอยเนื่องจากงบดุลตามประสบการณ์ฟองสบู่แตกในญี่ปุ่น (balance-sheet recession) – รวมทั้งผลกระทบต่อเนื่องทางสังคมและการเมืองของมันที่จะตามมา ทางการรัฐ-พรรคจีนภายใต้สี จิ้นผิง ปัจจุบันหันไปเตรียมรับมือโดยเน้นมองมันเป็นปัญหาความมั่นคงแทน

ในบรรดาคำแถลงเชิงนโยบายของทางการจีนระยะหลังนี้ คำว่า “ความมั่นคง” ถูกใช้บ่อยที่สุด โดยกลบลบเลือนคำว่า “เศรษฐกิจ” ด้วยซ้ำไป คณะนำสีเชื่อว่าจะเอารัฐ-พรรคจีนรอดจากความทรุดต่ำทางเศรษฐกิจได้โดยควบคุมสังคมให้เข้มงวดแน่นหนาขึ้น กำจัดแก๊งก๊วนอิสระประดามีในหมู่ชนชั้นนำ และแสดงท่วงท่าขึงขังแข็งกร้าวขึ้นในเวทีสากลท่ามกลางความขมึงตึงเครียดเพิ่มทวีทางภูมิรัฐศาสตร์ มิไยว่ามาตรการเหล่านี้จะยิ่งทำให้ปัญหาการพัฒนาเศรษฐกิจเลวร้ายลงไปอีกก็ตามที

นี่คือที่มาและคำอธิบายของการยกเลิกธรรมเนียมการจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีไปในปี 2018 การรวมศูนย์อำนาจรัฐ-พรรคไว้ในมือสี จิ้นผิง การรณรงค์ไม่หยุดยั้งผ่อนเพลาเพื่อขุดรากถอนโคนแก๊งก๊วนต่างๆ ในพรรคในนามของการต่อต้านคอร์รัปชั่น การสร้างรัฐสอดแนมที่ขยายตัวออกไป และการขยับย้ายฐานความชอบธรรมของรัฐจากการจัดสนองความเติบโตทางเศรษฐกิจมาให้ประชาชน ไปเป็นการปลุกเร้ากระแสชาตินิยมแทน

ในสายตาอาจารย์หง ด้วยเหตุดังกล่าวมาข้างต้น ความอ่อนเปลี้ยทางเศรษฐกิจและความแข็งกร้าวขึ้นของระบอบอำนาจนิยมในจีนปัจจุบันจึงเป็นแนวโน้มที่ไม่ใช่จะพลิกกลับได้โดยง่าย

หากเป็นผลลัพธ์ทางตรรกะของการพัฒนาอย่างไม่สม่ำเสมอและการสะสมทุนของจีนช่วงสี่ทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งหมายความว่ามันจะคงอยู่ยืนยาวไป