2 คน 2 คม ผู้ขอร่วมแบ่งอากาศหายใจ

“พรุ่งนี้ 9 โมงเช้า ผมขออนุญาตกลับไปอาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินไทยและร่วมอากาศหายใจกับพี่น้องคนไทยด้วยคนนะครับ คือข้อความของ ทักษิณ ชินวัตร ทวีตเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2566 ก่อนจะแลนดิ้งลงจอดที่สนามบินดอนเมือง เช้า 22 สิงหาคม ที่ผ่านมา

คีย์เวิร์ดอยู่ตรงคำว่า “ขออนุญาต” ซึ่งนายทักษิณใช้คำนี้ทุกครั้งในการโพสต์ขอกลับประเทศรอบนี้ และคำว่า “ร่วมอากาศหายใจ” ที่สะท้อนความหนักแน่น มาจริง (หลังจากเลื่อนมาหลายครั้ง)

นับเป็นสัปดาห์ประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่นายทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรี นักการเมืองสำคัญมากที่สุดคนหนึ่งในการเมืองไทยสมัยใหม่และโดยเฉพาะกับความขัดแย้งในรอบเกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เดินทางกลับสู่ประเทศไทย จากที่ลี้ภัยการเมืองคณะรัฐประหาร นานรวม 17 ปี

ปฏิเสธไม่ได้ว่านายทักษิณ คือนายกฯ ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงมากมายมหาศาลในประเทศไทย จากการทำนโยบายประชานิยม เป็นนายกฯ ที่สามารถเอาทรัพยากรจากส่วนกลางกระจายไปยังต่างจังหวัดได้มากที่สุดนับตั้งแต่ประเทศเปลี่ยนแปลงการปกครอง

แต่ระหว่างการดำเนินนโยบาย ก็ถูกคัดค้าน ต่อต้าน เกิดขบวนการพันธมิตรฯ ชุมนุมขับไล่ นำไปสู่การรัฐประหารในปี 2549 เมื่อมีพรรคเพื่อไทย ที่นำโดย นส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกฯ ก็ถูกขับไล่ด้วยกลุ่ม กปปส. นำไปสู่การรัฐประหารอีกรอบ จนคณะยึดอำนาจครั้งนั้น สืบทอดอำนาจมาจนถึงปัจจุบัน

กระทั่งพรรคการเมืองของผู้นำการรัฐประหาร 2 พรรค ถูกพรรคเพื่อไทยเชิญเข้าร่วมรัฐบาล จัดตั้งกันสำเร็จ วันเดียวกับที่ นายทักษิณ กลับประเทศไทย

สื่อยักษ์ใหญ่ของโลก เล่นข่าวนี้ด้วยความมึนงง ไม่ว่าจะเป็น CNN AP รอยเตอร์ ของสหรัฐ หรือ BBC เดอะการ์เดียน ของอังกฤษ นำเสนอข่าวนี้เป็นข่าวใหญ่ พร้อมบทวิเคราะห์ถึงความประหลาดในการเมืองไทยครั้งนี้ ที่พรรคการเมืองฝ่ายนายทักษิณ จับมือกับพรรคการเมืองจากฝ่ายรัฐประหารที่ตัวเองโดนกระทำ มาร่วมรัฐบาลกัน วันเดียวกับที่อดีตนายกฯ ผู้จากประเทศไปเกือบ 2 ทศวรรษ กลับมาพอดี

ดูเหมือนสถานการณ์กลายเป็นผู้นำของตัวแสดงแห่งความขัดแย้งทางอุดมการณ์รอบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา หันมาจับมือกัน สลายความขัดแย้ง แบบที่แกนนำพรรคเพื่อไทยอ้างวันแถลงจับมือพรรค 2 ลุง

แต่ลึกๆ แล้ว หาเป็นเช่นนั้นไม่ สัปดาห์นี้คือจุดเริ่มต้นแห่งศักราชความขัดแย้งใหม่ต่างหาก

นายทักษิณเริ่มต้นจากการเป็นนายกฯ แห่งการเปลี่ยนแปลง สู่การเป็นเหยื่อคณะรัฐประหาร ศัตรูของฝ่ายอนุรักษนิยม ที่ยังยึดมั่นการต่อสู้ในระบบตลอดหลายปีที่ผ่านมา

แต่หลังการจับมือกับฝ่ายยึดอำนาจ ภาพวันนี้กลายเป็นบุคคลสำคัญ ได้รับการต้อนรับอย่างดีทันทีที่ลงจากสนามบิน มีรถนำขบวนเข้าสู่พิธีกระบวนการยุติธรรมต่างๆ กระทั่งเข้าสู่เรือนจำ

แต่ก็เข้าได้ไม่กี่ชั่วโมง ก็มีแถลงการณ์อาการบาดเจ็บ ต้องส่งตัวไปนอนที่ รพ.ตำรวจ ด้วยเหตุผลความขาดแคลนอุปกรณ์การแพทย์ กระทั่งมีข่าวลือเตรียมส่งต่อไปโรงพยาบาลเอกชน

ทั้งหมดถูกตั้งคำถามอย่างหนักถึงมาตรฐานการดำเนินการของนายทักษิณ ว่าได้รับอภิสิทธิ์เกินไปหรือไม่ เมื่อเทียบกับคนอื่น

นั่นคือสิ่งที่นายทักษิณกำลังเผชิญอยู่

วันเดียวกันกับที่นายทักษิณกลับประเทศ เป็นวันที่นายเศรษฐา ทวีสิน นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชื่อดัง ที่ผันตัวมาเวทีการเมือง เป็นแคนดิเดตนายกฯ แบบฟาสต์แทร็ก และได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมร่วมสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ด้วยคะแนน 482 เสียง เกินกึ่งหนึ่งไปไกล

แม้นายเศรษฐาจะมีภาพความสำเร็จทางธุรกิจ มีความเป็นซีอีโอที่ตั้งใจทำงานตามเป้าหมาย เข้าใจคนรุ่นใหม่ และกระแสสังคม แต่ก็ต้องเจอกับดิจิทัลฟุตปริ้นต์ ที่กำลังทำงาน โลกโซเชียลขุดคำพูดช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง จุดยืนทางการเมืองที่ประกาศไม่จับมือกับขั้วอำนาจเก่า ยิ่งกลับมาหลอกหลอนจุดยืนทางการเมืองในวันนี้

ขณะที่พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล 11 พรรค จัดตั้งรัฐบาล 314 เสียง ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ต้องเจอกับปัญหาการต่อรองทางการเมืองอย่างหนักกว่าจะสำเร็จ ลงตัว ซึ่งปัญหานี้จะเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ของรัฐบาลเศรษฐาอย่างต่อเนื่อง

นั่นคือภาพกว้างของพรรคเพื่อไทย แม้จะมีเก้าอี้ ส.ส.มากที่สุดในบรรดาพรรคจัดตั้งรัฐบาล แต่หากมองในเชิงอุดมการณ์ การตั้งรัฐบาลรอบนี้เพื่อไทยเป็นรอง ขั้วอำนาจเก่ามีเสียงรวมกันมากกว่าในสภาล่าง ยังไม่รวมสภาบน และกลไกตามรัฐธรรมนูญ องคาพยพระบอบ คสช.ที่เกิดจากรัฐธรรมนูญปี 2560

รัฐบาลเศรษฐาจึงต้องเจอกับการต่อรอง-กดดันจากฝ่ายอนุรักษนิยมทางการเมือง จนที่สุดหลายนโยบายที่ประกาศไว้ก่อนเลือกตั้งก็อาจทำไม่สำเร็จ

ยกตัวอย่าง นโยบายเลิกเกณฑ์ทหาร ที่เพื่อไทยประกาศไว้ก่อนเลือกตั้ง แต่เมื่อหันมาจับมือกับพรรคทหาร ก็คงไม่ยอมให้มีการยกเลิกหรือเปลี่ยนเป็นสมัครใจทั้งหมดง่ายๆ ไม่ต้องพูดไปถึงการปฏิรูปกองทัพ ลดนายพล ทำให้เป็นแบบตะวันตกอะไร เพราะมันยิ่งยากไปใหญ่ (เห็นจะมีนโยบายสมรสเท่าเทียมอย่างเดียว ที่น่าจะทำได้ เพราะที่ผ่านมาไม่มีคนค้าน)

ไม่ต้องพูดถึงการยกร่างรัฐธรรมนูญที่เพื่อไทยกำลังถูกท้าทายไม่ให้มีการยกร่างฉบับประชาชน ไม่ต้องพูดถึงปัญหามาตรา 112 เพื่อไทยประกาศจุดยืนบนเวทีดีเบต จะนำมาพูดคุยในสภา วันนี้กลับกลายขอไม่แตะอีก

ผลที่เกิดขึ้นทำให้พรรคเพื่อไทยตอนนี้มีอาการลอยตัวจากสังคม ลอยตัวออกจากฉันทามติทางการเมืองในการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม ที่คนกังวลที่สุดคือรัฐบาลเพื่อไทยจากนี้จะกลายเป็นเครื่องมือของฝ่ายอนุรักษนิยมในการจัดการกับพลังเสรีประชาธิปไตย

เมื่อตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว คนก็มองว่าจุดยืนก่อนและหลังเลือกตั้งไม่ตรงกัน นั่นคือปัญหารากฐานสำคัญที่สุด และจะเป็นอุปสรรคสำคัญในการบริหารประเทศของรัฐบาลชุดนี้จนกว่าจะหมดวาระ เพราะมันเป็นเรื่องความชอบธรรมทางการเมือง

การเมืองสมัยใหม่ ความชอบธรรมทางการเมืองสำคัญที่สุด เมื่อมีที่มาจากการถูกตั้งคำถามเชิงอุดมการณ์ ย่อมเจอปัญหาการไม่ให้การยอมรับจากประชาชนจำนวนไม่น้อย การอ้างว่ามาตามกติกา ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ความชอบธรรมทางอุดมการณ์การเมือง เป็นเรื่องอยู่เหนือกติกา รัฐบาลข้ามขั้วเพื่อไทยจะต้องถูกตั้งคำถามอย่างหนักจากนี้

ถ้าจะเปรียบว่าการตัดสินใจทางการเมืองรอบนี้ของพรรคเพื่อไทย เปรียบเหมือนการทุบทำลายพรรคทิ้ง ก็คงไม่เกินจริง การหันไปจับมือกับพรรคการเมืองสืบทอดอำนาจของ 3 ป. นอกจากทำลายศรัทธา ทำลายความหวังการเปลี่ยนแปลงที่ก่อตัวเป็นคลื่นขนาดใหญ่ก่อนเลือกตั้ง ยังนำการเมืองไทยกลับสู่ระบอบคณาธิปไตย เป็นการเมืองของชนชั้นนำที่ลดบทบาทการมีประชาชนอยู่ในสมการ

วันนี้พรรคเพื่อไทยเดินทางมาถึงเส้นทางวิกฤตศรัทธาอย่างรุนแรง ขุนพลสำคัญของพรรคเพื่อไทย คนเดือนตุลา คนที่เคยต่อสู้เผด็จการในเหตุพฤษภาทมิฬ มีประวัติคุณงามความดียาวนาน วันนี้ถูกวิจารณ์อย่างหนัก

นักการเมืองรุ่นใหม่หลายคน ทยอยลาออกจากพรรค นักการเมืองรุ่นกลางและรุ่นใหญ่บางคน ก็โบกมือลาเพื่อไทย ยิ่งทำเส้นทางกอบกู้ศรัทธาของพรรคเพื่อไทยคับแคบลง

ความไม่พอใจของผู้คน ดูจากการให้สัมภาษณ์ของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ที่มองความไม่พอใจที่ผ่านมาเป็นเพียง “สนามอารมณ์” ที่พรรคเพื่อไทยต้องขอโทษและจะใช้ผลงานฝ่าออกไปให้ได้ หรือเศรษฐา ทวีสิน ที่ออกมาขอให้ลืมวาทกรรมสองลุง หรือมีลุงไม่มีเรา โดยอ้างความจำเป็นทางการเมือง ฟังไม่ขึ้น โดนถล่มยับ

มองไปข้างหน้าเพื่อไทยเหลืออยู่ทางเดียวที่จะพอฟื้นฟูศรัทธากลับมาได้คือการฟื้นเศรษฐกิจ ทำนโยบายที่ประกาศไว้ให้เป็นจริง ซึ่งทำยากมาก และต่อให้ทำสำเร็จ ศรัทธาทางการเมืองที่ได้กลับมาก็ไม่เท่าเดิม

 

ไทม์ไลน์การเมืองที่เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งจนถึงวันนี้ ตรงตามการวิพากษ์วิจารณ์ของนักวิเคราะห์การเมืองที่มองไว้แทบทั้งหมด เพื่อไทยกลายเป็นผู้ทำให้ระบอบสืบทอดอำนาจ คสช. ยังอยู่ จึงอย่าแปลกใจ ถ้าวันนี้ประชาชนมองพรรคเพื่อไทย แบบแฮชแท็ก #เพื่อไทยการละคร

วันนี้สงครามเหลือง-แดง ที่สู้กันมานาน 2 ทศวรรษจบลง แต่ความขัดแย้งไม่ได้จบเป็นเพียงภูมิทัศน์ทางการเมืองที่เปลี่ยนไป เป็นการต่อสู้ระหว่างพลังเก่า อนุรักษนิยมไทย กับพลังใหม่ ผู้ที่อยากเปลี่ยนแปลง ชัดเจนมากขึ้น

4 ปีจากนี้ของรัฐบาลใหม่จึงไม่สนุกอย่างยิ่ง เพราะต้องเจอฝ่ายค้านคือก้าวไกลซึ่งเป็นพรรคชนะการเลือกตั้งอันดับ 1 กว่า 14.5 ล้านเสียง มีโควต้าประธาน กมธ.หลายคณะ ผสานเข้ากับภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง สื่อโซเชียลที่รวดเร็วและทรงพลังในการกดดัน สิ่งที่จะบรรเทา เยียวยา เสียงก่นด่าที่จะเกิดขึ้น 4 ปี คือ นโยบายที่สัญญาไว้ ต้องทำให้สำเร็จ แต่ดูแค่เรื่องรัฐธรรมนูญ ก็ไม่รู้จะหวังอะไรได้แล้ว

การกลับมาของทักษิณ ชินวัตร และการกำเนิดใหม่ทางการเมือง ของเศรษฐา ทวีสิน ในฐานะนายกรัฐมนตรี 2 คน 2 คม ในสถานการณ์เช่นนี้ ไม่รู้ว่าจะเป็นผู้มาเปลี่ยนแปลงให้ “วิกฤต” เป็น “โอกาส” หรือมาทำ “โอกาส”ให้เป็น “วิกฤต” กันแน่

ด้วยเลยจุดที่ฟังเสียงประชาชนไปแล้ว ช่วงนี้คนไทยทำได้แค่รอดู

ดูแล้วก็คงได้พิจารณาต่อไปว่า คำร้องขอที่ออกมาจากนายทักษิณโดยตรง และจากนายเศรษฐาในทางอ้อม ที่จะขอร่วมอากาศหายใจกับพี่น้องคนไทย อันมีความหมายถึงการขอแรงสนับสนุนนายทักษิณ นายเศรษฐา และพรรคเพื่อไทย อีกครั้ง จะได้รับการตอบสนองอย่างไร

โดยเฉพาะเมื่อมีการข้ามขั้วไปจับมือกับพรรครัฐบาลเดิม และเกี่ยวข้องกับ 2 ลุง

ประชาชนจะเต็มใจแบ่งอากาศหายใจให้เหมือนเดิมหรือไม่ คือสิ่งที่ต้องติดตาม!!