ศัตรูที่กลายเป็นมิตร ฟอร์มรัฐบาลสำเร็จ | ลึกแต่ไม่ลับ

จรัญ พงษ์จีน

จบไปแล้ว การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ตามกรอบข้อบังคับแห่ง “บทเฉพาะกาล” ของรัฐธรรมนูญ 2560 ตามช่องทางมาตรา 272 ที่ล็อกกระดาน มัดตราสังเอาไว้ว่า

“การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี การพิจารณาให้ความเห็นชอบ ให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และมติเห็นชอบ ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา”

“สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26” มี ส.ส. 500 คน “วุฒิสภา” 250 คน สองสภารวมกันคือ 750 มากกว่ากึ่งหนึ่งคือ 376 เสียง ซึ่งยากไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเข็นครกขึ้นเขา

มีผลเชิงประจักษ์ให้ดูชมเป็นหนังตัวอย่างมาแล้ว เมื่อคราวประชุมร่วมรัฐสภาครั้งที่ 1 โหวตเลือก “นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล ปรากฏว่าชนกำแพงเหล็ก มีมติเห็นชอบเพียง 324 เสียง ไม่เห็นชอบ 182 เสียง และงดออกเสียง 199 เสียง จากองค์ประชุม 715 คน “นายพิธา” เลยสามเพลงตกม้าตาย ไม่ผ่านเกณฑ์กึ่งหนึ่งสองสภารวมกัน

แต่การประชุมร่วม โหวตครั้งที่ 2 มีการเปลี่ยนม้ากลางศึก มาเป็น “นายเศรษฐา ทวีสิน” แคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทย พรรคอันดับ 2 ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ผลการลงมติจากองค์ประชุม 705 จากยอดเต็ม 747 คน ปรากฏว่า เสียงเห็นชอบถล่มทลาย ยิ่งกว่าแลนด์สไลด์ 482 เสียง ไม่เห็นชอบ 165 เสียง และงดออกเสียงเพียง 81 เสียง

เขาจึงผงาดขึ้นทำเนียบนามนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย อย่างสง่างาม ด้วยคะแนนท่วมท้น เกินกึ่งหนึ่งสองสภารวมกันถึง 107 เสียง

“นายเศรษฐา ทวีสิน” เกิดเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2505 อายุ 61 ปี เป็นบุตรคนเดียวของ “ร.อ.อำนวย ทวีสิน” กับ “ชดช้อย จูตระกูล” สมรสกับ “พญ.พักตร์พิไล ทวีสิน” มีบุตรด้วยกัน 3 คน คือ “ณภัทร-วรัตม์-ชนัญดา ทวีสิน”

จบการศึกษาปริญญาตรีสาขาเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยแห่งรัฐแมสซาชูเซตส์ ปริญญาโทสาขาบริหารธุรกิจด้านการเงินจากบัณฑิตวิทยาลัยแคลมอนต์ สหรัฐอเมริกา

หลังจบปริญญาโทเข้าทำงานที่พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล ต่อมาย้ายมาทำงานที่ บจก.แสนสำราญของ “นายภิชาติ จูตระกูล” ลูกพี่ลูกน้อง จากนั้นได้เปลี่ยนชื่อเป็น บมจ.แสนสิริ เรื่อยมาจนได้รับเลือกเป็นประธานอำนวยการ และกรรมการผู้จัดการใหญ่

ก่อนศึกเลือกตั้งใหญ่ 2566 “นายเศรษฐา” นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ที่เติบโตรวดเร็วอย่าง “แสนสิริ” เบนเข็มชีวิตมาสวมหมวกการเมือง ก้าวย่างทีละขั้นด้วยการเป็นสมาชิกครอบครัวเพื่อไทยก่อนในเบื้องต้น จากนั้นได้รับเลือกให้เป็นประธานหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยให้ “อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร” ท้ายที่สุดพรรคเพื่อไทยดันขึ้นเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี หนึ่งในสามของพรรค เมื่อเดือนเมษายน 2566

กระทั่งเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ประวัติศาสตร์ทางการเมืองต้องจารึกชื่อเขาไว้ในตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรีคนที่ 30” ของประเทศไทย

 

กล่าวได้ว่า การโหวตเลือก “เศรษฐา ทวีสิน” เป็นนายกฯ จนสำเร็จ จะเรียกว่า โชคช่วย วาสนากำหนดก็ว่าได้ ตอนที่เพื่อไทยประกาศพลิกขั้ว กลับข้าง มาจับมือเป็นข้าวต้มมัดกับภูมิใจไทย ร้อยเหงือก 141+71 เข้าด้วยกัน แล้วเดินสายดึงพันธมิตรจาก “ชาติไทยพัฒนา” 10 “ประชาชาติ” 9 พรรคขนาดเล็ก 8 พรรครวม 10 เสียง มีฐานเสียงเต็มตุ่มเพียง 241 ที่นั่ง กับ “ประชาธิปัตย์” จะมี ส.ส.แหกค่ายบินข้ามเขตมาสมทบอีก 19 เสียง รวม 260 ที่นั่ง ฟอร์มรัฐบาลสำเร็จก็ปิ่มใจจะขาด เข้าห้องน้ำไปทำธุระหนัก ธุระเบาแทบไม่ได้

ประกอบกับ “ประชาธิปัตย์” การเลือกตั้งหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคทำท่าจะเป็นหนังยาว จบข่าวกันไม่ลง จึงเล็งไปที่ “พรรคสองลุง” คือ “พลังประชารัฐ” ของ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” และ “รวมไทยสร้างชาติ” ของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” พรรคหนึ่งพรรคใด

มีการชั่งน้ำหนักตวงวัดกันทุกบริบทแล้ว แกนนำเพื่อไทยเสียงส่วนใหญ่เลือก “พลังประชารัฐ” ของ “ลุงป้อม” รอยแค้นค้างเก่า สะสมกันน้อยกว่า พอปรับตัวเปลี่ยนสีเข้ากันได้ดีกว่า

ดึง 40 เสียงพลังประชารัฐมาเติม ไม่ต้องใช้บริการประชาธิปัตย์ มีเสียงสนับสนุน 281 ที่นั่ง ก็น่าจะผ่าทางตันผ่านกับดัก 376 เสียงไปได้ เพราะ “ลุงป้อม” มีบารมีในสัดส่วน ส.ว. มีหน้าตักอยู่ไม่น้อยกว่า 80 คนแน่นอน

แต่ “ผู้มากบารมี” ในเพื่อไทย ประเมินสถานการณ์แล้ว ยังเสี่ยงอันตราย ตกม้าตายได้ ยิ่งตอนหลัง “พลังประชารัฐ” ออกลายงอแง…กางหลาง ได้คืบจะเอาศอก มีคนเป่าหูว่า “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” จะได้เป็นนายกฯ คนที่ 30 หากโหวตครั้งที่ 2 ไม่ผ่าน เหนือสิ่งอื่นใด คือเงื่อนไขโควต้ากระทรวงที่จะได้รับ ตีตราจองระดับเกรดเอ เอบวกทั้งนั้น

สุดท้ายจึงมีใบสั่งให้เอาศัตรูมาเป็นมิตรอีกพรรค คือดึง “รวมไทยสร้างชาติ” มาร่วมวงศ์ไพบูลย์

การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเมื่อบ่ายจัดๆ วันที่ 22 สิงหาคม ถ้าไม่มี “รวมไทยสร้างชาติ” มาช่วยเสริมใยเหล็ก โอกาสที่ “เศรษฐา ทวีสิน” จะได้เสียงสนับสนุน “เห็นชอบ” มากถึง 482 เสียง ดำรงตำแหน่งนายกฯ คนที่ 30 คงเป็นไปได้ยาก

เป็นฝีมือประติมากรรมของ “มือที่มองไม่เห็น” ที่ประกาศก่อนลงมติว่าจะดึง ส.ว.มาเทคะแนนให้ “เศรษฐา” ทะลุเป้า 180 เสียง ซึ่งตัวเลขออกมาใกล้เคียง 152 เสียง

ศัตรูที่กลายเป็นมิตร เป็นมิตรที่ดีที่สุด เห็นได้ชัดคือ “ส.ว.สายลุงตู่” ตบเท้ามาร่วมแจมเทคะแนนให้พรึบ ทั้งเพื่อนร่วมรุ่น ตท.12 เช่น “พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร-พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์-พล.ท.จเรศักดิ์ อานุภาพ-พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร-พล.อ.ยอดยุทธ์ บุญญาธิการ-พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ-พล.อ.ดนัย มีชูเวท-พล.อ.ธนศักดิ์ ปฏิมาประกร-พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร” หรือแม้แต่ “พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา” อดีต ผบ.ทบ.น้องเลิฟของ “บิ๊กตู่”

ขณะที่ “ส.ว.สายลุงป้อม” ที่เป็นเสียงคาดหวัง กลับเป็นว่า เกือบทั้งหมดงดออกเสียง นี่อะไรกันล่ะเนี่ย ร้ายไปกว่านั้นคือ “ลุงป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” หัวหน้าพลังประชารัฐ พรรคร่วมรัฐบาลแท้ๆ กลับสวมบทนายล่องหน ไม่ร่วมโหวต

เลยเกิดข่าวลือตะพึดตะพือว่า “พรรคประชาธิปัตย์” 19 เสียง อาจจะมีรางวัลสินน้ำใจ ได้เป็นพรรคร่วม ตอนนี้กำลังวุ่น