นักธุรกิจยักษ์ใหญ่-รุ่นใหม่ ตอบรับนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ปักธงนโยบายเพื่อไทยฝ่าวิกฤตประเทศ

เสียงนักธุรกิจ-มวลชน ฐานเสียงพรรคเพื่อไทย 10.7 ล้านเสียง และ ส.ส.ทั้งฝ่ายค้าน รัฐบาล วุฒิสมาชิก รวมมือกันโหวต 482 เสียง เลือกนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30

ส่งผ่านภาระ-พันธกิจให้นายเศรษฐา หลังรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องเดินหน้าลงมือทำตามนโยบายที่เพื่อไทยหาเสียงไว้

และยังมีนโยบายจากพรรคร่วมรัฐบาลรวม 11 พรรค 314 เสียง ที่จำเป็น-จำใจต้องบรรจุไว้ในคำแถลงนโยบายต่อรัฐสภา

แน่นอนที่สุดว่า ต้องมีนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ใช้งบประมาณ 5.6 แสนล้านบาท เจรจาลดราคารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เตรียมบริหารเศรษฐกิจให้เฟื่องฟู-อัดฉีดจีดีพี เพื่อเป็นสปริงบอร์ดไปสู่การขึ้นค่าแรง 600 บาท เงินเดือนคนจบปริญญาตรี 25,000 บาท

แม้แนวทางหลักในการแถลงต่อรัฐสภา-สาธารณะ จะเต็มไปด้วย “วาระ 100 วันเศรษฐา เดินหน้านโยบายเพื่อไทยทันที” โดยให้ความสำคัญกับการออกแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ-ธุรกิจช่วงไตรมาสสุดท้าย ยาวไปถึงเดิมพันวาระรัฐบาล 4 ปี ที่เพื่อไทยต้องจ่ายต้นทุนเพื่อ “สลายขั้ว” การเมือง

และคำสัญญาบนเวทีหาเสียง ที่บอกว่า ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรก จะออกมาตรการลดราคาค่าไฟ น้ำมัน ก๊าซ จากนั้นตามด้วยมาตรการพักหนี้ทั้งต้นและดอกเบี้ยเกษตรกร 3 ปี พักหนี้ธุรกิจเฉพาะที่เดือดร้อนจากโควิด เป็นเวลา 3 ปี แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ

คู่ขนานกับมาตรการ “เพิ่มรายได้” เช่น รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้น 3 เท่า ภายในปี 2570 จากรายได้เฉลี่ย 10,000 บาท/ไร่/ปี เพิ่มเป็น 30,000 บาท/ไร่/ปี และการจัดหาที่ดินทำกินและออกโฉนด 50 ล้านไร่ เช่น ที่ดินประเภท ส.ป.ก. ประเภทเช่าซื้อ ให้ผู้เช่าซื้อที่ถูกต้องตามกฎหมาย ทายาทโดยธรรมจะได้รับโฉนดโดยทันที

 

พิมพ์เขียวนโยบายรัฐบาล “เศรษฐา 1” ยังต้องบรรจุนโยบายหัวหอก ที่ระบุว่า จะฟื้นฟูการท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้ 3 ล้านล้าน ในปี 2570

แน่นอนที่สุดว่า แคมเปญการเมืองเหล่านี้ พรรคเพื่อไทยและนายเศรษฐา ต้องมีรัฐมนตรีอยู่ในมือไม่น้อยกว่า 17 ตำแหน่ง และต้องคุมหัวขบวนทีมเศรษฐกิจ ตั้งแต่ทำเนียบรัฐบาล ในตำแหน่งรองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ กระทรวงการคลัง คมนาคม พาณิชย์ อุตสาหกรรม และมหาดไทย รวมทั้งสาธารณสุข

สำหรับโควต้านโยบาย-โควต้ารัฐมนตรีของพรรคร่วมรัฐบาล ระดับพรรคอันดับ 2 และ 3 อย่างภูมิใจไทย 71 เสียงมีรัฐมนตรี 8 ตำแหน่ง พรรคพลังประชารัฐ+รวมไทยสร้างชาติ 76 เสียง ได้ 8 ตำแหน่งเท่ากัน ก็เริ่มส่งเนื้อหานโยบาย เพื่อบรรจุใน “ดราฟแรก” เรียบร้อยแล้ว ทั้งเรื่อง “กัญชา” และ “เบี้ยผู้สูงอายู”

แกนนำพรรคพี่ 40 เสียง พลังประชารัฐ ยืนยันแล้วว่า จะเจรจากับพรรคแกนนำให้บรรจุเรื่องเบี้ยผู้สูงอายุไว้ในการแถลงนโยบาย ตามที่ได้หาเสียงไว้ ให้เพิ่มเบี้ยยังชีพสำหรับผู้สูงอายุแบบขั้นบันได ตั้งแต่อายุ 60 ปี เพิ่มเป็น 3,000 บาทต่อเดือน อายุ 70 ปี ขึ้นไป เพิ่มเป็น 4,000 บาทต่อเดือน และอายุ 80 ปีขึ้นไป เพิ่มเป็น 5,000 บาทต่อเดือน

สอดคล้องกับพรรคน้อง 36 เสียง รวมไทยสร้างชาติ ที่นางพิชชารัตน์ เลาหพงศ์ชนะ ส.ส.บัญชีรายชื่อและรองเลขาธิการพรรค ยื่นความจำนงว่า จะผลักดันนโยบายปรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็น 1,000 บาทต่อเดือนทุกช่วงอายุ และนโยบายเพิ่มวงเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็น 1,000 บาทต่อเดือน

 

นักธุรกิจ-พ่อค้า ที่เป็นผู้มีส่วนได้-เสีย กับการนำนโยบายไปปฏิบัติทุกระดับ ตั้งแต่มวลชนรากหญ้า-นักธุรกิจทุกสาขา บนตึกระฟ้า ต่างจับตาพร้อมชงข้อเสนอสารพัด

นักธุรกิจที่ถือว่าเป็นกลุ่มหัวหอกในการสร้างรายได้เข้าประเทศ อย่าง นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ก็ออกปาก-แสดงความหวังเชื่อมือ ต่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่และพรรคเพื่อไทย ว่า ภาพลักษณ์การทำงานของเพื่อไทยในอดีตนั้นมีความชัดเจนเรื่องบริหารเศรษฐกิจอยู่แล้ว

ถ้าพรรคภูมิใจได้บริหารกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และได้รัฐมนตรีคนเดิมมาทำงานต่อก็น่าจะยิ่งเป็นผลดี เดินหน้าต่อก็จะเดินหน้าได้เร็วขึ้น

 

วงการอุตสาหกรรมดาวรุ่ง อย่างรถยนต์ ก็ออกตัวตอบรับการขึ้นวาระรัฐบาลใหม่ เชื่อมั่นทั้งหน้าเวทีและหลังม่าน ผ่านความเห็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ว่า การจัดตั้งรัฐบาลโดยมีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ น่าจะทำให้ความเชื่อมั่นกลับมาดีขึ้น มีผลต่อกำลังซื้อในช่วงปลายปี อุตสาหกรรมรถยนต์จะกลับมาสู่ภาวะปกติได้อย่างแน่นอน

ความหวังของคนวงการรถยนต์ เรื่องมาตรการส่งเสริมรถ EV เวอร์ชั่น 3.5 นั้น นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ส่งเสียงชัดเจนว่า “เชื่อว่ารัฐบาลที่กำลังจะเข้ามาขับเคลื่อนมาตรการส่งเสริมรถ EV ซึ่งมีรถค่ายจีนหลายแบรนด์ ทั้ง ฉางอัน, GAC และ O&J (OMODA&JACCO) กำลังรอรัฐผู้บริหารรัฐบาลใหม่เข้ามาดำเนินการให้ต่อเนื่องราบรื่น”

ธุรกิจสตาร์ตอัพ-เทคโนโลยีและการศึกษาอย่างเป็นระบบ-ครบวงการ ถูกเสนอผ่าน ศุภชัย เจียรวนนท์ ในฐานะประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ปักธงในรัฐบาลใหม่ไว้หลายประเด็น ให้ความสำคัญกับเรื่องการสร้างคนให้มีทักษะดิจิทัล ด้วยการปฏิรูปการศึกษา และสร้างสังคมดิจิทัลควบคู่ส่งเสริมคุณธรรมและวัฒนธรรมที่ดีงาม

ตั้งเป้าให้ไทยเป็นศูนย์กลางนวัตกรรม ส่งเสริมธุรกิจสตาร์ตอัพ ให้มีถึง 20,000 บริษัท และยกระดับธุรกิจภาคการเกษตรและอาหาร ผ่านการผลักดันการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้องค์กร สหกรณ์ และวิสาหกิจชุมชน 3,000-5,000 แห่ง และข้อเสนอที่ครอบคลุมการปรับเงินเดือนข้าราชการให้เทียบเท่าหรือสูงกว่าเอกชน โดยตั้งเป้าสัดส่วนข้าราชการที่มีทักษะดิจิทัล 20%

บริษัทพลังงานแห่งชาติ ที่สร้างความมั่งคั่งให้เศรษฐกิจไทยมาอย่างต่อเนื่อง-ยาวนาน แสดงความยินดีต่อนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 อย่างตรงไป-ตรงมา

นายบุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ว่า “คุณเศรษฐา ทวีสิน มีความเหมาะสม และจากประสบการณ์ของท่านน่าจะมีส่วนสำคัญกับการพาประเทศไทยให้ผ่านพ้นวิกฤตทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ที่เกิดจากภาวะวิกฤตของโลกได้”

เศรษฐา ทวีสิน ทุกย่างก้าวจึงอยู่ในสายตานักธุรกิจรุ่นใหญ่-รุ่นใหม่ แทบทุกวงการ ที่ประสานเสียงแห่แหนต้อนรับและจับตา นับจากวันรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง