วันเวลาที่ถูกมอง ‘ไร้ค่า’

การเมืองไทยอยู่ในการต่อสู้ระหว่าง “ขบวนการสืบทอดผูกขาดอำนาจ” กับ “เครือข่ายอำนาจประชาชน” มายาวนาน

ผลการต่อสู้ซ้ำซากมาแทบทุกยุคทุกสมัย ในมิติของผลเลือกตั้ง “เครือข่ายอำนาจประชาชน” ชนะขาดลอย แทบไม่เหลือหัวเชื้อให้ “ฝ่ายผูกขาดอำนาจ” สร้างความหวัง

แต่ก็นั่นแหละโครงสร้างอำนาจประเทศไทยเรา การให้ราคากับ “อำนาจประชาชน” เป็นแค่คำหรูที่ยกมาพูดถึงให้ดูแล แต่เอาเข้าจริงแล้วผลการเลือกตั้งแทบไม่มีความหมายอะไร

พอจะตั้งรัฐบาลได้เหมือนกัน แต่ไม่ทันไรการช่วงชิงอำนาจก็เกิดขึ้น และสำเร็จอย่างง่ายดาย เริ่มจากสร้างสถานการณ์ให้เกิดความชอบธรรมที่จะใช้กองกำลังทำรัฐประหารยึดอำนาจ เขี่ย “นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน” ให้ตกเวทีครั้งแล้วครั้งเล่า

และเมื่อถึงวันนี้ “ขบวนการผูกขาดอำนาจ” เข้มแข็งขึ้น ไม่จำเป็นต้องสร้างช่วงชิงอำนาจด้วยการใช้กำลังให้ดูน่ารังเกียจและสะท้อนความด้อยพัฒนาในสายตาชาวโลก ด้วยการเอา “อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด” มาบรรจุไว้ใน “รัฐธรรมนูญ” มี “องค์กรสถาปนา” มาทำหน้าที่ควบคุมการใช้อำนาจ โดยสามารถปฏิบัติการ จัดการอำนาจอย่างหนักเบาตามความเป็นไปที่เกิดขึ้น

แม้จะยังแพ้เลือกตั้ง เพราะประชาชนไม่มีวันจะยอมจำนนมอบอำนาจผ่านการเลือกตั้งให้ แต่อำนาจที่ออกแบบและสถาปนาไว้ ยังทำให้อำนาจประชาชนไร้ค่ามาได้ตลอด

ต่อสู้กันมายาวนานแค่ไหน ผลที่สุดแล้วยังเวียนเป็นวัฏจักรของวงจรอุบาทว์อยู่เช่นนี้ เหมือนจะไม่มีทางเป็นอื่น

 

อาจจจะเป็นเพราะเหตุนี้ ที่ทำให้ “พรรคเพื่อไทย” ที่ยืนอยู่หัวขบวน “พรรคการเมืองที่ศรัทธาในอำนาจประชาชน” มาตลอด มาสร้างปรากฏการณ์สะเทือนขวัญผู้เชื่อมั่นในประชาธิปไตย เข้าร่วมกับ “ขบวนการสืบทอดอำนาจผูกขาด” ตั้งรัฐบาล ด้วยข้ออ้าง “สลายขั้ว” นำสู่ “การเมืองที่เป็นจริง”

ซึ่งความหมายของ “ความเป็นจริง” น่าจะคือ “การยอมจำนนว่าไม่มีทางชนะขบวนการผูกขาดอำนาจ” ได้ หากต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมในศูนย์กลางอำนาจรัฐ ต้องสยบยอมเป็นส่วนหนึ่งของ “ขบวนการสืบทอดอำนาจผูกขาด”

ซึ่งส่งผลให้เกิดความตื่นตะลึงที่แนวร่วมจำนวนมากทำใจไม่ได้ในปัจจุบัน

ทว่าแม้ “นิด้าโพล” จะสำรวจในเรื่อง “เรื่องวุ่นๆ ของพรรคเพื่อไทย” ออกมาว่า “การจัดตั้งรัฐบาลสลายขั้วนี้ของพรรคเพื่อไทย” ครั้งนี้ ในภาพรวมคำตอบร้อยละ 47.71 ไม่เห็นด้วย, ที่เห็นด้วยมีแค่ร้อยละ 19.47 ขณะที่ร้อยละ 16.79 ไม่ค่อยเห็นด้วย, ร้อยละ 15.11 ค่อนข้างเห็นด้วย, ร้อยละ 0.92 ไม่ตอบ

แม้แต่แฟนพันธ์แท้ที่เลือกเพื่อไทย โดยครั้งที่ผ่านมาก็ยังเลือก ที่ไม่เห็นด้วยยังสูงขึ้นร้อยละ 37.33, ที่เห็นด้วยมากมีร้อยละ 29.72, ร้อยละ 14.75 ไม่ค่อยเห็นด้วย, ร้อยละ 17.34 ค่อนข้างเห็นด้วย, ร้อยละ 1.72 ไม่ตอบ

อันหมายความว่าประชาชนที่แฮปปี้กับการตัดสินใจเปลี่ยนตัวทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยมีไม่มากนัก

 

แต่กระนั้นก็ตาม “ชนะเลือกตั้ง แต่แพ้เกมอำนาจ” ที่ “เพื่อไทย” ประสบมาตลอด จนนำมาสู้ข้อสรุปว่า “ต้องทำงานการเมืองในความเป็นจริง”

และการมองข้ามความคิด และศรัทธาประชาชนที่ถูกตีความว่าเป็น “การเมืองที่ไม่อยู่กับความเป็นจริง” ทำนอง “ฝันเพ้อถึงดวงดาว แต่ขึ้นได้แค่ยอดมะพร้าว” จึงเกิดขึ้น

ด้วยการตัดสินใจเด็ดขาดระดับ “ยอมแม้จะต้องมีต้นทุนที่ต้องเสียสูงแค่ไหนก็ตาม” ด้วยต้นทุนที่ยอมเสียนั้นไม่เคยทำให้ได้อำนาจอยู่แล้ว เสียหรือไม่เสียก็ไม่ต่างกัน

อย่างที่บอก การตัดสินใจเช่นนั้นของ “เพื่อไทย” เป็นปรากฏการณ์ที่น่าตื่นตาตื่นใจของ “เครือข่ายอำนาจประชาชน” ที่ร่วมต่อสู้มายาวนาน

เกิดความไม่เข้าใจ และต้องปรับการสื่อสารกันไม่น้อย

ที่สุดแล้ว “เครือข่ายอำนาจประชาชน” ที่เกิดความรู้สึกว่าถูก “พรรคเพื่อไทย” ทอดทิ้ง จะมีทางออก หรือพัฒนาการอย่างไร

ย่อมน่าติดตามอย่างยิ่ง