สุขภาวะประชาธิปไตยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ | อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

เพียงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา สถานะประชาธิปไตยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ดีเลย อำนาจนิยมครอบครองในภูมิภาค

กัมพูชาก้าวผ่านเลือกตั้งหลอกลวงที่กำจัดพรรคการเมืองฝ่ายค้านหลักออกไป แล้วพรรคของชนชั้นนำตระกุลฮุน (Hun) ครองที่นั่งในรัฐสภาเกือบหมด

ในขณะที่ผู้นำทหารเมียนมาได้ให้สัญญาแล้วเลื่อนการเลือกตั้งทั่วไปออกไปอีก เพื่อลดกระแสต่อต้านทั้งภายในและภายนอกเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา ถึงแม้จะมีการเลือกตั้ง แต่ก็เป็นการเลือกตั้งจอมปลอมเช่นกัน

ส่วนไทย ช่างน่าสนใจเหลือเกิน พรรคก้าวไกลชนะได้คะแนนเสียงข้างมาก แต่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ การที่พรรคก้าวไกลไม่ได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่ความผิดพลาดของพรรคก้าวไกล ไม่ใช่เพราะพวกเขายังเด็ก และก็ไม่ใช่นโยบายของพรรค

แต่การเมืองไทยซับซ้อนซ่อนพลังอำนาจนิยมของฝ่ายอนุรักษนิยม พรรคพันธมิตรทหารและกลุ่มนิยมสถาบัน ที่ใช้เครื่องมือทุกชนิดสกัดกั้นพรรคก้าวไกล

ขณะนี้การจัดตั้งรัฐบาลยังไม่ได้ ความเนิ่นนานของเวลาไม่ใช่สาระสำคัญ ไม่ได้เป็นวิกฤตการณ์ของชาติ แต่แสดงการเผชิญหน้าอย่างเปิดเผยของพลังอำนาจนิยมที่หลอมรวมพันธมิตรทางการเมืองชั่วคราวของฝ่ายอนุรักษนิยม ก่อนจะวิเคราะห์โฉมหน้าที่แท้จริงของประชาธิปไตยไทย

เรากลับไปดูสุขภาวะประชาธิปไตยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราจะเห็นอสุขภาวะประชาธิปไตย เห็นการเติบโตอย่างต่อเนื่องของอำนาจนิยมเกือบทุกประเทศทั่วภูมิภาค

 

ทศวรรษ 2020
ความย่อยยับประชาธิปไตยในภูมิภาค

ประชาธิปไตยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตกต่ำและแย่ลงหลังจากชัยชนะในการเลือกตั้งหลอกลวงในกัมพูชา เมื่อฮุน เซน ประกาศว่าเขาจะวางมือทางการเมืองแล้วให้ลูกชายคนโต ฮุน มาเนต ดำรงตำแหน่งแทน

มีนักวิชาการมองว่า ระบอบของฮุน เซน เช่นนี้คล้ายช่วงเปลี่ยนราชวงศ์เกาหลีเหนือ

การเลือกตั้งในกัมพูชานั้นพูดได้ยากว่าพรรคของฮุน เซน และลูกชาย ฮุน มาเนต ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน

แต่เป็นการขยายอาณาจักรทางการเมืองของตระกูลฮุนด้วยระบบอุปถัมภ์ และระบบพวกพ้อง (nepotism) ที่ใช้ปกครองกัมพูชา

ผูกขาดอำนาจการเมืองในรัฐบาล รัฐสภา กองทัพและเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ

อีกทั้งใช้การกดขี่รุนแรงต่อใครหรือกลุ่มใดที่ท้าทายอำนาจของพวกเขาด้วย ความหวาดกลัว1

 

3 ประเทศใหญ่
ประชาธิปไตยที่ถดถอย

ฟิลิปปินส์ Rodrigo Duterte (ดำรงตำแหน่งปี 2016) ประธานาธิบดีของคนยากคนจนที่ชูประชานิยมได้บั่นทอนประชาธิปไตยในฟิลิปปินส์อย่างมาก ช่วงที่เขาครองอำนาจ การใช้ความรุนแรงปราบปรามศัตรูทางการเมืองและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ปัญญาชนและสื่อมวลชนหัวก้าวหน้าโดยหยิบยกเรื่องการค้ายาเสพติด ได้สังหารผู้คนและครอบครัวของพวกเขาเป็นจำนวนมาก

แม้ว่าผู้สืบทอดอำนาจต่อจากเขาคือ Bongbong Marcos (เป็นประธานาธิบดีปี 2022) ได้ลบภาพของเผด็จการของบรรพบุรุษของเขา

แต่ Bongbong Marcos ได้สร้างความประหลาดใจให้กับคนทั่วไป รวมทั้งนานาชาติด้วยการสืบทอดตระกูลการเมือง Sara Duterte ลูกสาวอดีตประธานาธิบดีเป็นรองประธานาธิบดี2

อินโดนีเซีย ประธานาธิบดี โจโก วิโดโด (Joko Widodo) ผู้นำพลเรือนที่ได้รับความนิยมในช่วงแรกเมื่อเขาประกาศใช้ นโยบายประชานิยม และความสนับสนุนจากองค์กรทางศาสนามุสลิม

ที่น่าเป็นห่วงมาก โจโก วิโดโด ขยายอำนาจและอิทธิพลของกองทัพให้เพิ่มมากขึ้น ทั้งๆ ที่กองทัพมีประวัติของการละเมิดสิทธิมนุษยชน บทบาททางการเมืองของกองทัพที่เพิ่มมากขึ้น อาจทำให้ทหารอินโดนีเซียสามารถบั่นทอนประชาธิปไตยอินโดนีเซียได้

มาเลเซีย ในขณะที่นายกรัฐมนตรี อันวาร์ อิบราฮิม (Anwar Ibrahim) ได้ต่อสู้ทางการเมืองมายาวนานหลายทศววษในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน เคยต้องโทษติดคุกด้วยเป็นข้ออ้างของผู้นำทางการเมืองสมัยนั้นใช้กำจัดเขาออกจากเส้นทางสู่ตำแหน่งผู้นำประเทศ เพื่อสกัดการตรวจสอบการคอร์รั่ปชั่นของผู้นำคนสำคัญ

แต่นโยบายของเขาก็เบาบางลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อพรรคการเมืองของเขาและเขาชนะการเลือกตั้ง แต่ต้องไปทำงานเป็นรัฐบาลผสมร่วมกับพรรค United Malay National Organization-UMNO

เพื่อให้นายกรัฐมนตรีอันวาร์ทำงานอยู่ในพรรค UMNO ได้ ปรากฏว่านายกรัฐมนตรีอันวาร์วางตัวเงียบกริบต่อประเด็นเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายๆ กรณี

พลังของกลุ่มอนุรักษนิยม
กับประชาธิปไตยไทย

การเลือกตั้ง 2566 ของไทยแสดงถึงการต่อสู้กันระหว่างกลุ่มอนุรักษนิยมที่มีพันธมิตรคือ กองทัพ พรรคนิยมทหารและกลุ่มทุนผูกขาดกับพลังก้าวหน้าในสนามการเลือกตั้ง แล้วรัฐบาลใหม่อาจมองได้ 2 ฉากทัศน์

ฉากทัศน์ แสนฉลาด

หากมองว่า ชนชั้นนำไทยยังแคร์กับการเลือกตั้งล่าสุด เพื่อให้พวกเขาดูดีดูเท่จึงยังคงปล่อยให้พรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาล ให้คุณเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี โดยอ้างว่าทั้งหมดนี้ทำเพื่อชาติ เพราะชาติเกิดวิกฤต เกิดวิกฤตรัฐธรรมนูญ วิกฤตเศรษฐกิจ ต้องสลายความขัดแย้งทางการเมือง

สิ่งที่ดูเท่เหล่านี้เป็นไปได้แค่ไหนล้วนอยู่ที่ อำนาจต่อรองของพรรคเพื่อไทยในการจัดตั้งรัฐบาล

อำนาจต่อรองสำคัญที่สุด คือการสนับสนุนของพรรคการเมืองในรัฐสภาและของสมาชิกวุฒิสภา กล่าวได้ว่า พรรคเพื่อไทยเหมือนกับทุกพรรคที่เผชิญ พิษรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ออกแบบให้การเมืองไร้เสถียรภาพอย่างยิ่ง ด้วยมือของสมาชิกวุฒิสภา ในเวลาเดียวกันพรรคเพื่อไทยไม่ได้เป็นรัฐบาลมานานเกือบ 10 ปีแล้ว ความชำนาญทางการเมืองก็ลดน้อยลง

มิหนำซ้ำ คุณเศรษฐาอาจดูดีเรื่องเศรษฐกิจ แต่เรื่องการเมืองดูแล้วใหม่มาก เขาไม่มีประสบการณ์การเมืองเลย พอฟังการปราศรัยและการให้สัมภาษณ์การเมืองละอ่อนเลย

ดังนั้น แค่ด่านแรกจัดตั้งรัฐบาล พรรคเพื่อไทยมีอำนาจต่อรองต่ำมาก ดังจะเห็นว่าเป็นการจัดตั้งรัฐบาลที่พิธีกรรมน้อยมาก ไม่มีแม้แต่เครื่องดื่มการเมือง ที่สำคัญไม่มีแม้แต่แถลงข่าวร่วมกับพรรครวมไทยรักษาชาติ

แล้วพรรคเพื่อไทยพลาดได้ทุกเวลา เมื่อมีความขัดแย้งในรัฐบาลเรื่องตำแหน่งรัฐมนตรีและผลประโยชน์ที่ไม่มีวันลงตัว พลาดได้ตลอดเวลารวมทั้งคุมคุณเศรษฐา ที่มีอิสระและมีอเจนด้าของตัวเอง

ที่สำคัญที่สุดคือ ความหวาดระแวงของกลุ่มชนชั้นนำต่อพรรคเพื่อไทยอาจร่วมกับพรรคก้าวไกลได้ตลอดเวลาเพื่อแก้ปัญหาทางการเมืองเฉพาะหน้า ไม่ควรลืมว่า ชนชั้นนำเกลียดและหวาดระแวงพรรคก้าวไกลมาก เคยหวาดระแวงตั้งแต่ยังเป็นพรรคอนาคตใหม่สมัยนำโดย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ว่ามีแนวคิดคอมมิวนิสต์ เป็นเจ๊กที่ภักดีปักกิ่ง เป็นต้น

เราไม่ควรดูถูกความหวาดระแวงเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ ดูข้อความ “…ลุงตู่ไม่ยอมสร้างอธิปไตยไซเบอร์ ต่างชาติกับพรรคขายชาติจึงแทรกแซงความมั่นคงผ่านสื่อและโซเชียลมีเดีย แม้แต่ลุงเองก็อวสานเพราะเหตุนี้ ที่ผ่านมาเราได้เห็นผลลัพธ์ของการชี้นำทางความคิด ชี้นำการเลือกตั้ง ขั้นต่อไปหากถูกชี้นำการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีก เราจะเสียอธิปไตยให้ต่างชาติแน่นอน…”3

ความหวาดระแวงพรรคเพื่อไทยเรื่องแก้รัฐธรรมนูญมีมาก จนเลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติต้องออกแถลงการณ์ไม่แก้รัฐธรรมนูญ หมวด 1 และหมวด 2 เมื่อเป็นรัฐบาลร่วมกับพรรคเพื่อไทย4 แล้วพรรคไทยภักดี พรรคหลักของกลุ่มอนุรักษนิยมก็ประกาศย้ำไม่ให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ5

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การสูญเสียอธิปไตยให้ตะวันตกชาติหนึ่งที่พวกเขาเชื่อว่าหนุนหลังพรรคก้าวไกล เอาเงินหนุนหลังการเคลื่อนไหวและล้างสมองเด็กๆ ให้เกลียดชังชาติ ความหวาดระแวงจนขึ้นสมองดูได้จาก คำว่า ตอนนี้ทักษิณ ชินวัตร อันตรายน้อยกว่าก้าวไกล

หมายความว่า เพื่อไทยและคุณเศรษฐาก็เผชิญหน้าพลังอนุรักษนิยมที่อาจรุนแรงกว่าพลังการเมืองใดๆ เสียแล้ว

ฉากทัศน์ ภายใต้เงามืด เพื่อความแน่นอนกว่า รัฐบาลใหม่จะหลุดมือจากพรรคเพื่อไทยในชั่วโมงแรก การเมืองไทยจะมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่เป็นคนหน้าเดิม ที่กุมอำนาจหลักในไทยมานานเกือบ 1 ทศวรรษ

เขาคือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เขาเป็นนายกรัฐมนตรีที่ได้ความไว้วางใจมากที่สุดจากชนชั้นนำไทยเวลานี้ เมื่อเขามาแล้วก็ลงตัว ไม่แก้รัฐธรรมนูญ ไม่มีทางแก้มาตรา 112 ไม่ใช้นโยบายอะไรเลยของพรรคก้าวไกล แต่จะไล่บี้พรรคก้าวไกลให้แม้แต่เป็นพรรคฝ่ายค้านก็ไม่ได้

ชนชั้นนำไทยมองการเมืองไทยสั้นๆ เพื่อรักษาผลประโยชน์และสถานะภาพเดิม (status quo) ไม่มีการปฏิรูปใดๆ ไม่แตะต้องกองทัพ ไม่สนใจการผูกขาดทางเศรษฐกิจ ไม่สนใจว่าจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่

ไม่ว่าจะเป็นฉากทัศน์ แสนฉลาดหรือภายใต้เงามืด ไม่ช้าก็ต้องมีการปรับคณะรัฐมนตรีด้วยปัญหาเดิมคือ ความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ ในไม่ช้าก็ต้องยุบสภาเลือกตั้งใหม่

รัฐบาลไทยเปราะบาง ประชาธิปไตยไทยเปราะบางยิ่งกว่า อนุรักษนิยมและอำนาจนิยมเข้มแข็ง ไม่เหมือนเมียนมา กัมพูชาก็จริง แต่เร้นลับกว่า

 


1ฮุน เซน และคนของเขาใช้วิธีการที่คอมมิวนิสต์ใช้ เรียกว่า ศาลประชาชน เรียกชื่อและประจาน แล้วนำตัวไปขัง ทรมาน บางทีตายในคุกหรือหายสาบสูญไปเลย

2“Ferdinand ‘Bongbong’ Marcos wins the Philippine in a landslide” The Economist 10 May 2022.

3Suphawat Aphinyan @Dr.new Suphawat 19 August 2023

4“เอกนัฏ เปิดใจปม รสทช.ร่วมรัฐบาลเพื่อไทย” ฐานเศรษฐกิจ 19 สิงหาคม 2566.

5“ไทยภักดีค้านแก้รัฐธรรมนูญ ด้วยการตั้ง สสร. …” The Standard 19 สิงหาคม 2023