ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 25 - 31 สิงหาคม 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว |
ผู้เขียน | มุกดา สุวรรณชาติ |
เผยแพร่ |
การตั้งรัฐบาล หลายขั้วหรือสลายขั้ว ที่มีพรรคการเมืองมากถึง 11 พรรค มี ส.ส.ถึง 314 คน เสียง ส.ส.เกินครึ่งของสภาผู้แทนราษฎรทำให้มีความรู้สึกว่ารัฐบาลนี้น่าจะมีเสถียรภาพ และถ้าดูจากจำนวนผู้ที่ลงคะแนนเลือกพรรคตามบัตรปาร์ตี้ลิสต์ก็จะเห็นว่า ฐานคะแนนมีมากพอสมควร
1. พรรคเพื่อไทย ได้คะแนน 10,962,522 คะแนน
2. พรรคประชาชาติ ได้คะแนน 602,645 คะแนน
3. พรรคเสรีรวมไทย ได้คะแนน 351,376 คะแนน
4. พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้คะแนน 4,766,408 คะแนน
5. พรรคภูมิใจไทย ได้คะแนน 1,138,202 คะแนน
6. พรรคพลังประชารัฐ ได้คะแนน 537,625 คะแนน
7. พรรคชาติพัฒนา ได้คะแนน 212,676 คะแนน
8. พรรคชาติไทยพัฒนา ได้คะแนน 192,497 คะแนน
และพรรคเล็ก
ส่วนฝ่ายค้านก็จะมี
1. พรรคก้าวไกล ได้คะแนน 14,438,851 คะแนน
2. พรรคประชาธิปัตย์ ได้คะแนน 925,349 คะแนน
3. พรรคไทยสร้างไทย ได้คะแนน 340,178 คะแนน
และพรรคเป็นธรรม
ถ้าดูจากคะแนน ส.ส.เขต หรือ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ คะแนนของฝ่ายค้านย่อมน้อยกว่า
แต่การจัดตั้งรัฐบาลหลายขั้วผสมกันแบบยำรวมมิตรมิใช่ว่าคนที่ลงคะแนนให้พรรคต่างๆ จะเห็นด้วย
และเมื่อดูจากผลสำรวจของ ‘นิด้าโพล’ ซึ่งเปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการจัดตั้งรัฐบาลพิเศษ ‘สลายขั้ว’ ของพรรคเพื่อไทย พบว่า ตัวอย่าง
47.71% ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย
16.79% ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย
รวมผู้ที่ไม่เห็นด้วย 64.5%
19.47% ระบุว่า เห็นด้วยมาก
15.11% ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย
รวมผู้ที่เห็นด้วย 34.5%
รัฐบาลสลายขั้ว
มีคนเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ทุกกลุ่ม
แต่รายละเอียดของการสำรวจมีที่น่าสนใจมากก็คือ
1. ขาประจำที่เคยเลือกพรรคเพื่อไทยมาตั้งแต่สมัยเป็นไทยรักไทย และเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมาก็ยังเลือกพรรคเพื่อไทยอยู่ ไม่เห็นด้วยกับการตั้งรัฐบาลสลายขั้วถึง 52% ถ้าดูจากจำนวนผู้เลือกตั้งที่ผ่านมาผู้ที่เลือกพรรคเพื่อไทยไม่เปลี่ยน มีจำนวนถึง 10.96 ล้าน จึงอาจประเมินได้ว่ามีสมาชิกขาประจำของเพื่อไทยไม่เห็นด้วย ในการตั้งรัฐบาลสลายขั้ว ถึง 5.7 ล้าน
2. ผลสำรวจยังชี้ว่าผู้ที่เคยเลือกเพื่อไทยและเปลี่ยนไปเลือกพรรคอื่นในการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม ไม่เห็นด้วยกับการตั้งรัฐบาลสลายขั้วมากถึง 64% แต่ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องแปลกอะไรเพราะคนกลุ่มนี้หันไปเลือกพรรคอื่น เช่น ก้าวไกล ซึ่งมีจำนวนถึง 14 ล้านกว่า และก็เป็นกลุ่มที่ไม่น่าจะย้อนกลับมาเลือกเพื่อไทยอีกแล้ว หลังการตั้งรัฐบาลผสม
3. อีกกลุ่มหนึ่งก็คือคนที่ไม่เคยเลือกพรรคเพื่อไทยเลยตั้งแต่สมัยก่อนจนถึงวันที่ 14 พฤษภาคม ก็ไม่เลือก 74% ของกลุ่มนี้ไม่เห็นด้วยกับการตั้งรัฐบาลสลายขั้ว
อันนี้ก็น่าจะเป็นเรื่องปกติคือ…ถ้าคนกลุ่มนี้เป็นฝ่ายอนุรักษนิยมส่วนใหญ่ไม่ค่อยเห็นด้วยกับการทำงานหรือนโยบายของเพื่อไทยอยู่แล้ว และที่ผ่านมาก็เลือกพรรคฝ่ายอนุรักษนิยมมาตลอด และครั้งนี้ก็เลือกพรรคฝ่ายอนุรักษนิยมหลายพรรคประมาณ 7.7 ล้านคะแนน แต่เมื่อพรรคอนุรักษนิยมของตัวเองไปรวมกับเพื่อไทย พวกเขาเองก็ยังไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลสลายขั้ว
และก็ยังมีอีกกลุ่มหนึ่งคือผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งใหม่ซึ่งไม่เคยเลือกพรรคใดเลย น่าจะมีถึงประมาณ 3.5 ล้านคะแนน
จึงพอประเมินได้ว่า คนที่ไม่เคยเลือกพรรคเพื่อไทยเลย ก็ไม่เห็นด้วยกับกับรัฐบาลสลายขั้วมีรวมกันประมาณ 8.3 ล้านคะแนน
การตั้งรัฐบาลสลายขั้วแม้คนส่วนใหญ่ประมาณ 21 ล้าน จะไม่เห็นด้วยและมาจากทุกกลุ่ม แต่ก็มีประมาณ 30% ที่เห็นด้วย ซึ่งคิดเป็นจำนวนคนแล้วก็ไม่น่าจะน้อยกว่า 12-13 ล้านคน เพราะยังมีคนจำนวนมากที่คิดว่าจำเป็นต้องมีรัฐบาลเพื่อประเทศจะได้เดินหน้าและช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
ดังนั้น ถ้ามองภาพรวมจะพบว่าการตั้งรัฐบาลสลายขั้วครั้งนี้ แกนนำของพรรคต่างๆ ที่เห็นด้วย แต่ว่ามวลชนส่วนใหญ่แทบทุกพรรคการเมืองไม่เห็นด้วย
เพื่อไทยต้องพิสูจน์
ด้วยผลงานเท่านั้น
สถานการณ์บ้านเมืองวันนี้ มีแรงกดดัน 3 ด้าน
1. แรงกดดันจากเศรษฐกิจตกต่ำ ที่สร้างความยากลำบากให้กับประชาชนทุกกลุ่ม ซึ่งน่าจะใช้ระยะเวลายาวนานกว่าจะฟื้น ยอดหนี้ครัวเรือนพุ่งสูงสุด
2. แรงกดดันทางการเมืองเนื่องมาจากการจัดตั้งรัฐบาลที่ไม่ตรงกับความต้องการของประชาชนตามผลเลือกตั้ง ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษา และกลุ่มการเมืองซึ่งน่าจะมีต่อเนื่องและผสมไปกับการเรียกร้องให้แก้ปัญหาปากท้อง
3. แรงกดดันให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยเร็ว ผ่านสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน ความขัดแย้งของพรรคร่วมรัฐบาลนั้นคงจะเริ่มต้นตอนที่มีการจัดสรรแบ่งกระทรวงทบวงกรม ที่จะเข้าไปควบคุมดูแลและบริหาร หลังจากนั้นก็จะต้องเตรียมรับการตรวจสอบของฝ่ายค้านและการเรียกร้องของประชาชน
1. ขั้นต้นประชาชนคงดูโฉมหน้าคณะรัฐมนตรีว่าจะยอมรับได้มากแค่ไหน
2. จากนั้นก็จะดูว่านโยบายอะไรที่สัญญาไว้ จะถูกนำมาปฏิบัติเป็นอันดับต้นๆ การลดราคาค่าครองชีพต่างๆ ที่เคยประกาศไว้จะทำได้จริงหรือไม่ อะไรที่บอกว่าทำได้ทันทีหรือทำได้ในร้อยวัน
3. การเพิ่มเงินสวัสดิการต่างๆ การเพิ่มค่าแรงจะทำได้จริงหรือไม่ การแก้ปัญหาหนี้สินและการช่วยเพิ่มช่องทางทำมาหากิน
4. ในทางการเมืองประชาชนก็จับจ้อง และเร่งไปที่การแก้รัฐธรรมนูญและการจัดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร.โดยประชาชน
การกลับมาของอดีตนายกฯ ทักษิณ
ช่วยอะไรได้?
การเดินทางกลับครั้งนี้ เป็นผลจากการต่อรองทางการเมือง เพราะอันที่จริงแล้วแทบทุกคดีที่นายกฯ ทักษิณถูกกล่าวหาและได้รับการพิจารณาไปแล้วเป็นคดีทางการเมืองทั้งสิ้น
เนื่องจากจะต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จากนั้นจะต้องเข้ารับโทษ แต่ในทางปฏิบัติแล้วคนอายุ 70 กว่าปีก็คงจะได้เข้าไปพักรักษาตัวในโรงพยาบาล
ซึ่งจะมีข้อดีในแง่สุขภาพที่ได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างดี และในแง่ความปลอดภัยเนื่องจากจะมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยคอยควบคุมดูแลตลอดเวลา
ส่วนขั้นตอนการขออภัยโทษ ก็คงต้องใช้เวลาบ้างแต่ก็คงไม่น่าจะนานเกินไป การอยู่ในความควบคุมก็มีข้อดีตรงที่ว่าญาติและครอบครัวเข้าเยี่ยมได้ แต่ใครที่จะเข้าไปรบกวนทางการเมืองก็จะยากหน่อย
2 สัปดาห์ที่แล้วมีผู้ตั้งคำถามว่านายกฯ ทักษิณกลับมาครั้งนี้เพื่อให้มีการปรองดอง หรือมาปิดเกมการเมือง หรือมาเลี้ยงหลาน
คำตอบที่ผู้คนส่วนใหญ่ประเมินในวันนี้ก็คือคงต้องมาทำหน้าที่ทั้ง 3 อย่าง แต่จะทำหน้าที่ส่วนไหนได้ดีเท่าไร
คิดว่างานปิดเกมการเมืองครั้งนี้จบแล้ว ด้วยวัยขนาด 70 กว่า นายกฯ ทักษิณคงจะถอยออกจากการเมือง เพื่อลดความขัดแย้ง แต่การปรองดองปัจจุบัน ขึ้นอยู่กับฝ่ายอื่น
ถึงเวลาที่พรรคเพื่อไทยจะต้องปล่อยให้นายกฯ ทักษิณพักผ่อนอยู่กับครอบครัวเลี้ยงหลาน ใช้ชีวิตให้มีความสุขบ้าง
เวลานี้พรรคเพื่อไทยจะต้องวิ่งด้วยตัวเอง ตามกำลังเท่าที่มีอยู่ ถ้าคนรุ่นหลังที่มีประสบการณ์ มีความรู้อยู่มาจนถึงทุกวันนี้ไม่รู้จักวิธีการที่จะดำรงอยู่และก้าวหน้าต่อไปให้ทันการเปลี่ยนแปลง ก็ต้องเลิกทำงานการเมืองกันได้แล้ว
บทสรุปหลังตั้งรัฐบาล คือ ความขัดแย้งภายในของแต่ละพรรคจะปรากฏมากขึ้น ทั้งจากเรื่องตำแหน่ง อำนาจและความคิดทางเห็นทางการเมืองที่ไม่ตรงกัน แต่เรื่องเหล่านี้แต่ละพรรคก็จะต้องหาทางแก้ไขกันไป ใครที่คิดว่าปฏิบัติได้ถูกต้องตามที่สัญญาไว้กับประชาชนก็ไม่จำเป็นจะต้องไปลาออก เพราะการต่อสู้ทางความคิดที่แตกต่างภายในพรรคต่างๆ จะต้องเกิดขึ้นอยู่เสมอ
อนาคตของเพื่อไทยจะอยู่รอดได้หรือไม่ ชี้ขาดที่ผลงานของรัฐบาลสลายขั้วที่นำโดยเพื่อไทย ไม่ใช่นายกฯ ทักษิณ อย่าลืมว่าที่ไทยรักไทยดังขึ้นมาเพราะผลงาน
ที่คนรักทักษิณก็เพราะผลงาน จนถึงวันนี้ใครๆ ก็ยังจำ 30 บาทรักษาทุกโรคได้ รัฐบาลสลายขั้ว ต้องคิดว่าจะทำอะไรให้ประชาชนจดจำ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022