‘อัลบา’ กระต่ายเขียวเรืองรอง แสงส่องสกาว

ดร. ป๋วย อุ่นใจ

ทะลุกรอบ | ป๋วย อุ่นใจ

 

‘อัลบา’ กระต่ายเขียวเรืองรอง

แสงส่องสกาว

 

กุมภาพันธ์ ปี 2000 ลูกกระต่ายตัวหนึ่งได้ถือกำเนิดขึ้นมาในห้องทดลองในสถาบันวิจัยเกษตรกรรมแห่งชาติ (the National Institute of Agronomic Research) หรือ INRA ในโจวีญงโจแสส (Jouy-en-Josas)

เธอเป็นกระต่ายที่ร่าเริง ขนสีขาวโพลนทั้งตัวดูสะอาดตา ดวงตาสีชมพูสดใส หูยาวเหยียดตั้ง และชอบทำจมูกฟุดฟิดและชอบเดินสำรวจไปทั่วกรง

ยามกลางวัน ใต้แสงอาทิตย์อันเจิดจ้า เธอดูไม่ต่างอะไรกับกระต่ายเผือกทั่วไป แต่ยามใดที่แสงไฟแบล็กไลต์ (หรือ ยูวี) สาดส่อง ขนสีขาวของเธอก็จะเริ่มเรืองแสงสีเขียวพร่างพรายไปทั่วทั้งร่าง

แม้แต่ดวงตาสีชมพูของเธอก็ยังกลับกลายเป็นสีเขียวเรืองรอง

น้องคือกระต่ายตัดแต่งพันธุกรรมเพิ่มเติมเอายีนสร้างโปรตีนเรืองแสงสีเขียว (green fluorescent protein) หรือที่เรียกสั้นๆ ว่าจีเอฟพี (GFP) จากแมงกะพรุนทะเลมาใส่เข้าไปในเซลล์กระต่าย

น้องกลายเป็นประเด็นถกเถียงกันในสังคมเกี่ยวกับชีวจริยธรรมของสัตว์แปลงพันธุ์ไปจนถึงบทบาทของการปรับแต่งพันธุกรรม

“ผม ภรรยา และลูก ตั้งชื่อน้องว่าอัลบา (Alba)” เอ็ดวาร์โด แคตซ์ (Edouardo Kac) ศิลปินแนวเทคโนโลยีจากชิคาโกที่ดังจากการสร้างงานแนวศิลปะชีวภาพ (Bio-Art) ที่ริเริ่มคิดโครงการนี้ขึ้นมาเผย “มีแผนจะพาอัลบาไปแสดงในงานต่างๆ แล้วไปสิ้นสุดที่งานแสดงศิลปะระดับนานาชาติในเมืองอาวีญง (Avignon) ก่อนที่จะรับเอาอัลบากลับไปเลี้ยงต่อที่บ้าน”

แต่ทุกอย่างผิดแผน เพราะทางแล็บที่ฝรั่งเศสนั้นเปลี่ยนใจ ไม่ส่งต่อน้องกระต่ายเรืองแสง (หรือที่หลายๆ คนเรียกว่ากระต่ายจีเอฟพี ตามชื่อของโปรตีนที่ถูกตัดต่อพันธุกรรมเข้าไป) ให้

 

“สําหรับผม เธอก็คือการทดลอง 5256 หรืออะไรประมาณนั้น” หลุยส์-มารี ฮูเดไบน์ (Louis-Marie Houdebine) หัวหน้าทีมนักวิจัยที่สร้างน้องขึ้นมาที่ INRA กล่าวอย่างไม่สนใจ “อัลบานั้นไม่มีจริง”

เอ็ดวาร์โดไม่เห็นด้วย เขาคือคนคิดโครงการนี้ และในตอนแรก ก็เคยคุยกันแล้วกับทีมว่าทำไมโครงการนี้ถึงได้สำคัญ “พวกเขารู้ว่าผมอยากทำอะไร และเข้าใจดีว่าผมจะยืนกรานสู้ (ในเรื่องนี้)”

เขาเน้นต่ออีกว่า ในตอนแรก ไอเดียของเขา ไม่ได้แค่จะสร้างกระต่ายเรืองแสง แต่จะสร้างสุนัขเรืองแสงเสียเลยด้วยซ้ำ แต่ชัดเจนว่ามันยุ่งยากมากที่จะเกิดขึ้นได้ เขาก็เลยยอมถอยมาก้าวหนึ่งและเดินหน้าต่อกับกระต่าย พอตัดสินใจได้ เขากับเพื่อนๆ ก็เลยช่วยกันติดต่อแล็บต่างๆ ที่น่าจะพอช่วยสร้างกระต่ายให้เขาได้ และก็มาได้แล็บที่ฝรั่งเศสของหลุยส์-มารี นี่แหละที่ยินดีช่วยเหลือเขาในเรื่องนี้

เอ็ดวาร์โดเล่าว่า ที่จริงโครงการนี้มีสามเฟส เฟสแรกคือหาทีมนักวิทยาศาสตร์ในการสร้างกระต่ายให้ และประกาศเปิดตัวอัลบาสู่สายตาสาธารณชนในเฟสที่สอง

ซึ่งตามแผน อัลบาจะได้พบปะกับผู้คนเป็นครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม 2000 ในงานประชุม Planet Work ในซานฟรานซิสโก หลังจากนั้น ก็อาจจะมีแผนโชว์ตัวต่อตามที่ต่างๆ รวมถึงงานแสดงศิลปะที่เอวีญง

และในเฟสสุดท้าย คือการรับอัลบาเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวของเขาในชิคาโก เพื่อเป็นการกระตุกให้สังคมเริ่มคิดที่จะขยายกรอบในการสร้างงานศิลปะและโอบรับนวัตกรรมแห่งชีวิต

และที่สำคัญเพื่อสร้างสายสัมพันธ์กับอัลบา และกระตุ้นให้สังคมตระหนักถึงสติปัญญาและอารมณ์ความรู้สึกของพวกสัตว์แปลงพันธุ์

 

ซึ่งหลังจากที่อัลบาถือกำเนิดขึ้นมา เอ็ดวาร์โดก็ตื่นเต้นมาก เขาบินข้ามน้ำข้ามทะเลไปเยี่ยมอัลบาที่แล็บของหลุยส์-มารี ที่ฝรั่งเศสตอนที่น้องอายุได้ราวสามเดือน การได้อุ้ม ได้กอด ได้เล่นกับอัลบาทำให้เขาเริ่มที่จะรู้สึกผูกพันกับเธอ

“ผมไม่มีวันลืมห้วงเวลาที่ผมได้โอบกอดเธอในอ้อมแขนของผมเป็นครั้งแรก ในโจวีญงโจแสส ฝรั่งเศส วันที่ 29 เมษายน 2000 ความคาดหวังที่แรงกล้าของผมได้เปลี่ยนมาเป็นความสุขและความตื่นเต้น อัลบานั้นน่ารัก มีเสน่ห์และออดอ้อน ในตอนที่ผมกำลังอุ้มเธอและเล่นกับเธอ เธอก็เอาหัวของเธอซุกเข้าไปในซอกแขนซ้ายของผมอย่างขี้เล่น และนอนนิ่งอย่างมีความสุข” เอ็ดวาร์โดบรรยายอารมณ์ความรู้สึกของเขาในตอนที่เจอกับอัลบาในครั้งแรก เขาหลงรักอัลบาอย่างหัวปักหัวปำ

ถ้ามองในมุมของเอ็ดวาร์โด ทุกสิ่งทุกอย่างดูจะเป็นไปตามแผนที่วางไว้ (อย่างน้อยก็ในเฟสแรก)

แต่แล้วฝันของเขาก็พังทลายในเฟสต่อมา เมื่อทีมฝรั่งเศสกลับคำ เรื่องราวที่มาจากฝั่งของหลุยส์-มารีนั้นเป็นเหมือนหนังคนละม้วน

 

หลุยส์-มารี ยอมรับว่าในตอนแรกได้คุยกับเอ็ดวาร์โดในเรื่องนี้จริง เขายอมรับว่าในตอนแรก ทางทีมของเขาก็มีคิดอยู่บ้างว่าจะให้เอ็ดวาร์โดได้เช่ากระต่ายตัวนี้ไปโชว์ตัวที่งานแสดงศิลปะที่อาวีญง แต่ในภายหลังก็เปลี่ยนใจเพราะโดนทางผู้หลักผู้ใหญ่ตักเตือนมาว่าไม่เหมาะสม

กระต่ายตัวนี้ไม่ได้สร้างขึ้นมาให้เอ็ดวาร์โดโดยเฉพาะ อัลบาเป็นแค่กระต่ายอีกตัวในการทดลองตามปกติของเขา ที่จริง แล็บของเขาสร้างกระต่ายจีเอฟพี หรือกระต่ายเรืองแสงอยู่แล้ว และกระต่ายตัวนี้ก็ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อศึกษาติดตามชะตาชีวิตของเซลล์ในช่วงพัฒนาการของตัวอ่อน หลุยส์-มารี ย้ำเพื่อความชัดเจน

“ที่จริง ตอนที่เอ็ดวาร์โดมาเยี่ยมเราที่แลบ เราก็กำลังทดสอบกระต่ายจีเอฟพีอยู่แล้วสามสี่ตัว เขาแค่ตัดสินใจว่ากระต่ายตัวหนึ่งในนั้นจะเป็นกระต่ายของเขา แค่เพราะมันดูเชื่องและน่ารักก็แค่นั้น”

“ไม่ว่าจะยังไง มันไม่ใช่สัตว์เลี้ยง” หลุยส์-มารี กล่าว “และเอ็ดวาร์โดก็ไม่ควรที่จะไปมีอารมณ์ยึดติดอะไรกับมันให้มากนัก”

ที่สำคัญ ยังไงทางสถาบันของเขา ก็ไม่มีทางให้เอ็ดวาร์โดเอากระต่ายแปลงพันธุ์กลับไปเลี้ยงที่บ้านอย่างแน่นอน เอ็ดวาร์โดไม่ยอม เขาออกมาตอบโต้หลุยส์-มารี อย่างรุนแรงในสื่อต่างๆ เขาสร้างผลงานศิลปะอีกหลายชิ้น ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากอัลบาออกมากระแทกทีมฝรั่งเศสอยู่เป็นระยะๆ

 

“ผมอยากจะขอย้ำหลายๆ ทีว่ากระต่ายมีทั้งสติปัญญาและอารมณ์ความรู้สึกนะ” เอ็ดวาร์โดแย้ง “อัลบาได้ปลุกความรู้สึกรับผิดชอบอย่างรุนแรงในตัวผมที่จะต้องทำให้เธอมีชีวิตที่ดี และนี่คือเรื่องที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน”

บางที ความไม่ลงรอยกันนนี้ อาจจะเกิดจากความผิดพลาดในด้านการสื่อสาร หรือไม่เช่นนั้นก็อาจจะมีฝั่งใดฝั่งหนึ่งที่ไม่ได้พูดความจริงทั้งหมด หรือไม่ก็อาจจะเป็นเรื่องในเชิงนโยบาย

และถ้าลองไตร่ตรองดูดีๆ เรื่องนี้อาจจะมีประเด็นซ่อนเร้นที่น่าสนใจกว่าที่คิด เพราะนี่อาจไม่ใช่เรื่องของการแย่งสิทธิในการเลี้ยงดู แต่เป็นประเด็นซีเรียสในทางชีวจริยธรรม

ถ้ากระต่ายแปลงพันธุ์ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อประโยชน์ของมวลมนุษย์ชาตินั่นเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าจะสร้างขึ้นมาเพื่อความสวยงาม ความสนุกสนาน โดยไม่สนว่ามีเหตุผลอันสมควรมั้ย ถือเป็นอนันตริยกรรมในการใช้สัตว์ทดลองในทางวิทยาศาสตร์

นี่ยังไม่นับว่าสิ่งมีชีวิตแปลงพันธุ์จะต้องมีการควบคุมไม่ให้ปะปนไปสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก การที่จะเอาสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมออกไปเลี้ยงที่บ้านตามใจนั้น เป็นเรื่องที่ทำไม่ได้อย่างแน่นอน

นั่นหมายความว่าข้อตกลงที่เอ็ดวาร์โดอ้างว่าหลุยส์-มารี เห็นพ้องร่วมกันกับเขาในตอนแรกนั้น ยังไงก็เป็นไปไม่ได้ และถ้าทีมฝรั่งเศสยอมรับว่าพวกเขาสร้างกระต่ายอัลบาขึ้นมาเพื่อให้เอ็ดวาร์โดเอาไปทำเป็นงานศิลปะจริงๆ ห้องทดลองของเขา รวมถึงสถาบันของพวกเขาก็มีโอกาสที่จะโดนโจมตีอย่างหนักในแง่จริยธรรม (และการใช้งบประมาณวิจัย)…

 

ในวันที่ 17 กันยายน 2000 หนังสือพิมพ์บอสตัน โกลบ (Boston Globe) พากหัวหน้าหนึ่งข่าวนักกีฬาทีมชาติสหรัฐคว้าเหรียญทองโอลิมปิก และเรื่องราวของอัลบา กระต่ายจีเอฟพีก็พาดหราอยู่ถัดลงมาจากข่าวนั้นในหน้าแรกของหนังสือพิมพ์ดัง

“พวกเขาแค่อยากให้เรื่องราวเกี่ยวกับโครงการนี้ค่อยๆ เงียบหายไป ซึ่งมันตรงข้ามกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น” เอ็ดวาร์โดกล่าว เขาเชื่อว่าพวกนักวิทยาศาสตร์แค่กลัวเสียงวิพากษ์วิจารย์จากสังคม

เอ็ดวาร์โดต้องการที่จะท้าทายทีมนักวิทยาศาสตร์ เขามีเจตนาชัดที่กระตุ้นให้เกิดแรงกระเพื่อมทางสังคมเกี่ยวกับกระต่ายตัดต่อยีน ภาพกระต่ายเรืองแสงสีเขียวอมเหลือง กลายเป็นภาพที่ปรากฏไปทั่วอินเตอร์เน็ต และตามสื่อใหญ่

ซึ่งทางหลุยส์-มารี ก็ออกมาโต้อย่างชัดเจนว่าภาพของเอ็ดวาร์โดนั้น “ปลอมเสียยิ่งกว่าปลอม”

“เขาไม่ควรเผยแพร่ภาพออกไปเช่นนั้น พวกเรารู้สึกโต้แย้งอย่างแรงกับภาพที่ออกสื่อไป ในความเป็นจริงทางวิทยาศาสตร์ กระต่ายมันไม่ได้เขียวขนาดนั้น”

หลุยส์-มารี โจมตีเอ็ดวาร์โดอย่างหนัก “แคตซ์ (เอ็ดวาร์โด) ตกแต่งภาพเพื่อประโยชน์ส่วนตัว และนั่นคือสาเหตุที่เรายุติความร่วมมือกับเขาในทุกด้าน”

“ที่จริง ตาและหูของกระต่ายเรืองแสงสีเขียวภายในแสงยูวี แต่ขนไม่ได้เรืองแสง เพราะเนื้อเยื่อที่ไม่มีชีวิต (อย่างเช่นขน) ไม่สามารถผลิตโปรตีนเรืองแสงได้ แต่ถ้ากระต่ายถูกโกนขนจนเหี้ยนเตียน นั่นแหละถึงจะเห็นแสงที่เรืองออกมาจากตัวของมัน” หลุยส์-มารี กล่าว

“รูปนั้นแต่งขึ้นมา” เรนฮาร์ด เนสเทลแบเชอร์ (Reinhard Nestelbacher) นักอณูชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยซาลซ์เบิร์ก (The University of Salzburg) ที่พยายามทำโครงการศิลปะแบบเดียวกันในหนูออกมาฟันธง เห็นด้วยกับหลุยส์-มารี “ไม่มีทางที่กระต่ายจะเขียวสดใสได้ทั้งตัวขนาดนั้น โปรตีนเรืองแสงจะเห็นได้แค่ในผิว ไม่ใช่ในขน”

 

เรนฮาร์ดโชว์ภาพหนูดัดแปลงพันธุกรรมของเขาที่ทั้งตัวมีแค่สีเขียวเรืองๆ ฉาบทาบางๆ แค่ส่วนในของใบหูแค่นิดเดียว

ซึ่งนั่นทำให้เอ็ดวาร์โดนั่งไม่ติด เขาออกมาโต้ว่าภาพของเขานั้นจริงแท้แน่นอน ถ่ายภายใต้แสงยูวี และฟิลเตอร์สีเหลืองเพื่อตัดแสงสีฟ้าออกเพื่อให้เห็นแสงฟลูออเรสเซนต์ที่เรืองออกมาชัดเจนขึ้น ซึ่งก็เป็นวิธีปกติที่นักวิจัยใช้กันอยู่แล้ว

และถ้ามองอีกมุม ลองนึกถึงตอนเวลาไปปาร์ตี้ เวลาเล่นแสงสี เสื้อขาวมักจะดูเหมือนจะเรืองแสงอยู่แล้วภายใต้แสงยูวี ซึ่งก็เป็นไปได้เหมือนกันว่านั่นอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้อัลบาดูจะเรืองแสงวิ้งวั้งกว่าที่ควรจะเป็น

ซึ่งกระต่ายเผือกอาจจะเรืองแสงอยู่บ้างแล้วก็เป็นไปได้ ก็เลยมีบางคนเริ่มคอมเมนต์ว่าที่จริง ตอนถ่ายรูป เอ็ดวาร์โดน่าจะมีกระต่ายที่ไม่ได้โดนดัดแปลงพันธุกรรมมาถ่ายเทียบเป็นกลุ่มควบคุมด้วย จะได้มั่นใจได้ว่าแสงที่เรืองออกมาที่เห็นชัดเจนนั้นมาจากโปรตีนเรืองแสงที่ตัดต่อยีนเข้าไปจริงๆ

ไม่ได้เป็นเพราะว่ากระต่ายเผือกนั้นมันมีสีขาว ก็เลยดูเหมือนจะเรืองแสงด้วยตัวมันเอง

 

ดราม่าเรื่องนี้คงยากจะพิสูจน์ เพราะในช่วงเดือนสิงหาคม ปี 2002 ก็มีข่าวเศร้าออกมาจากทีมวิจัยของหลุยส์-มารี ที่ฝรั่งเศสว่ากระต่ายอัลบาในตำนานนั้นตายไปแล้ว

“ผมได้รับแจ้งมาเมื่อเดือนก่อนว่ากระต่ายตัวนั้นมันตายไปแล้วโดยไม่ทราบสาเหตุ คือปกติ กระต่ายก็ตายกันบ่อยอยู่แล้ว ตัวนี้ก็น่าจะมีอายุราวๆ 4 ปี ซึ่งก็เป็นอายุขัยที่สมเหตุสมผลสำหรับกระต่ายปกติที่เลี้ยงในศูนย์นี้” หลุยส์-มารี กล่าว

“อย่างแรก อัลบาไม่ได้อายุ 4 ปี เธอเพิ่งจะอายุ 2 ปีครึ่ง เธอถูกผสมขึ้นมาโดยฮูเดไบน์ (หลุยส์-มารี) สำหรับผมโดยเฉพาะเมื่อมกราคมปี 2000” หลังจากที่ได้ยินข่าว เอ็ดวาร์โดก็ออกมาโวยวายในทันที เรื่องที่เขาพยายามอุทธรณ์จะขอรับกระต่ายอัลบาไปเลี้ยงนั้นยังไม่ทันจะสิ้นสุด แต่น้องก็มาตายไปเสียก่อน เอ็ดวาร์โดเชื่อว่านี่คือการพยายามของหลุยส์-มารี และทีมจาก INRA ที่จะจบข้อพิพาทกับเขาในสงครามแย่งกระต่ายที่ยืดเยื้อกันมาเกือบสองปี

เพราะถ้าน้องตายไป เอ็ดวาร์โดก็จะไม่มีวันทำความฝันของเขาในเฟสที่สามได้สำเร็จ

แม้จะจบกันแบบไม่สวยเท่าไร แต่เรื่องราวของอัลบา กระต่ายจีเอฟพี ก็ได้กลายเป็นหนึ่งในตำนานดราม่าของวงการศิลปะและวิทยาศาสตร์ที่นอกจากจะกระทุ้งให้เกิดแรงกระเพื่อมทางสังคมในประเด็นอ่อนไหวในเรื่องสัตว์ทดลองกับพันธุวิศวกรรม อีกทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจให้นักวิจัยอีกมากมาย

ในเวลานี้มีคอลเล็กชั่นสัตว์เรืองแสงที่ถูกสร้างออกมาเพื่องานวิจัยทางการแพทย์มากมาย อาทิ หนูเรืองแสง แมวเรืองแสง ลิงเรืองแสง หมูเรืองแสง แพะเรืองแสง และอีกสารพัด ซึ่งนอกจากจะมีคุณูปการมากมายในด้านการแพทย์แล้ว หลายตัวช่วยให้เราสามารถเข้าใจกลไกแห่งชีวิตได้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย

ต้องบอกเลยว่าไม่ใช่สวยแต่รูปนะ จูบก็หอมด้วย (แต่ถ้าให้ไปจูบน้องจริง ผมขออนุญาตขอบายยยยเป็นคนแรก)

ใต้ภาพ

กระต่ายเรืองแสง “อัลบา” (เครดิตภาพ : Wikipedia)