ฤๅ ‘ชาติ’ นั้นจะเป็นเพียงความฝัน : ทบทวน วิเคราะห์ คลี่คลาย วาทกรรม ว่าด้วย ‘การแบ่งแยกดินแดน’ ในรัฐไทย (5)

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

ชุมชนมลายูมุสลิมกับประวัติศาสตร์ที่ผิด (wrong history)

คนมลายูมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนใต้มีประสบการณ์ของการอยู่กับ “ประวัติศาสตร์ไทยที่ผิด” หมายความว่าแทนที่พวกเขาจะผสมกลมกลืนเข้ามาเป็นคนไทยเหมือนคนในภาคเหนือ อีสานและอื่นๆ อันเป็นวัตถุประสงค์ของนโยบายผสมกลมกลืนของรัฐบาลไทยมาโดยตลอด เพราะนี่คือลักษณะของรัฐประชาขาติที่ต้องการสร้างความเป็นเอกภาพในชาติทั้งทางกายภาพ (ดินแดน) และในประชากร (เชื้อชาติเดียว) ในภาคเหนือและอีสาน กรุงเทพฯ มีปัญหาและการต่อต้านน้อยกว่าในภาคใต้ตอนล่าง

ที่สำคัญคือปัญหาอัตลักษณ์ของคนพื้นที่ ได้แก่ ภาษา ศาสนา การปฏิบัติในชีวิตประจำวัน การศึกษา และศิลปวัฒนธรรม ในภาคใต้สามจังหวัดชายแดน อัตลักษณ์ทั้งหมดวางอยู่บนศาสนาอิสลามและภาษามลายูถิ่น (ยาวี)

ตรงกันข้ามประวัติศาสตร์ไทยกลับยิ่งสร้างและสานต่อความสำนึกในลักษณะเฉพาะของชุมชนมลายูให้มากขึ้น จุดหมายและโครงเรื่องของประวัติศาสตร์ชาติไทยเดินสวนทางกับความรับรู้และการปฏิบัติในชีวิตประจำวันของพวกเขามาโดยตลอด

ผลลัพธ์ที่ตามมาคือเกิดการต่อต้านประท้วง และกระทั่งไปสู่การใช้กำลังขัดขืนอย่างเต็มรูปแบบ

ทั้งหมดคือสิ่งที่ผมสรุปว่านี่คือรูปธรรมของการมี “ประวัติศาสตร์ที่ผิด” ในพื้นที่

จะเข้าใจและยอมรับในจุดอ่อนและปัญหาของประวัติศาสตร์ชาติไทยก็ต้องเริ่มด้วยการวิพากษ์และเปิดใจศึกษาประวัติศาสตร์ชาติไทยควบคู่ไปกับประวัติศาสตร์ในท้องถิ่นด้วย อย่างเอาใจเขามาใส่ใจเรา หรือสุภาษิตมลายูที่กล่าวว่า “Tak kenal maka tak cinta” (เมื่อไม่รู้จักกัน ก็ย่อมไม่รักกัน)

(รัตติยา สาและ, การปฏิสัมพันธ์ระหว่างศาสนิกที่ปรากฏในจังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาส, สกว. 2544)

 

ชุมชนมลายูมุสลิมมีประเพณีธรรมเนียมของการศึกษาแบบมุสลิมมานาน อาจนานกว่าหลายเมืองหลายภาคในอาณาจักรสยามไทย เนื่องจากมุสลิมมีหน้าที่ต้องเรียนรู้และเผยแผ่ศาสนา ด้วยสำนึกดังกล่าวทำให้เกิดโรงเรียนปอเนาะ

ระบบการศึกษามุสลิมดำเนินการโดยหน่วยหรือสถาบันไม่เป็นทางการหลายระดับ เริ่มด้วยสถานอนุบาลสำหรับเด็กเล็กก่อนวัยเข้าโรงเรียน สอนทั้งวิชาทางโลกและศาสนา

ตามมาด้วยโรงเรียนตาดีกา ซึ่งสอนทางด้านศาสนาในขนบตามจารีต โรงเรียนตาดีกาเป็นของเอกชน สอนโดยอุซต๊าซหรือครูที่เรียนจบจากโรงเรียนปอเนาะ

สถาบันการศึกษามุสลิมที่คนรู้จักมากได้แก่โรงเรียนปอเนาะ สุดท้ายคือมัสยิดซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของการประกอบพิธีศาสนาและยังทำหน้าที่ในการศึกษาด้วย

ปอเนาะตั้งอยู่ที่บ้านของโต๊ะครู ซึ่งเป็นทั้งเจ้าของและครูด้วย บางแห่งอาจมีครูผู้ช่วย ส่วนที่พักของนักเรียนอาจสร้างโดยโต๊ะครูหรือผู้ปกครองของนักเรียนมาช่วยสร้างให้ ที่พักเหล่านี้คือ “ปอเนาะ” หรือที่พักแรมในภาษาอาหรับ Funduk

ในปอเนาะ นอกจากนักเรียนแล้วยังมีคนทั่วไปในชุมชนที่สนใจเข้ามาศึกษาทางศาสนาด้วยก็ได้ ไม่มีการเรียกเก็บค่าเล่าเรียน หากแต่เป็นการศึกษาฟรี นักเรียนต้องเลี้ยงดูตัวเองหรือไปหารายได้ข้างนอก ส่วนโต๊ะครูมีรายได้จากการบริจาคของชุมชนและจากพืชผลที่เพาะปลูกเอง

จึงเห็นได้ว่าโรงเรียนปอเนาะมีลัษณะเป็นชุมชนของผู้เรียนที่ไม่สิ้นสุด ไม่เหมือนโรงเรียนในยุคสมัยใหม่ที่เราคุ้นเคย

การเรียนการสอนในปอเนาะแบ่งออกเป็นสองอย่าง

อย่างแรกคือ การเรียนทั่วไปสำหรับนักเรียนและชาวบ้านรอบโรงเรียนผู้ต้องการเรียนรู้มากขึ้น วิชาที่สอนคือกฎหมายอิสลาม (เตาฮิด) และการอ่านตีความพระคัมภีรัอัลกุรอ่าน

แบบที่สองคือ การเรียนและสอนเฉพาะสำหรับนักเรียนปอเนาะเท่านั้น แบบนี้ยังแบ่งออกไปเป็นสามประเภท

ประเภทแรก เป็นการสอนและเรียนสำหรับนักเรียนปอเนาะทุกคน

ประเภทที่สองคือ การสอนและเรียนที่จัดให้เฉพาะผู้ได้รับการคัดเลือกพิเศษ

ประเภทที่สามคือ การสอนและเรียนสำหรับนักเรียนดีเด่นที่คัดสรรจากประเภทสอง นักเรียนที่เรียนกับโต๊ะครูคนเดียวและฝึกฝนวิธีวิทยาของครูคนเดียวมาตลอดจะได้รับการคัดให้เป็นผู้ช่วยสอนหรือหัวหน้านักเรียน (Ibrahem Narongraksakhet, “Educational Change for Building Peace in Southern Border Provinces of Thailand,” in Understanding Conflict and Approaching Peace in Southern Thailand. 2006)

กระบวนการและวิธีการศึกษาในปอเนาะดังกล่าวนี้ ในปัจจุบันมีใช้ในมหาวิทยาลัยทั่วโลกที่เน้นการเรียนแบบวิจัยเฉพาะบุคคลคือทำวิทยานิพนธ์ ผ่านอาจารย์ที่ปรึกษาร่วมมือกันค้นคว้าวิจัยและตีความงานนั้นๆ

จึงน่าสนใจว่าระบบการศึกษาของมุสลิมมลายูมีความเป็นมาที่ก้าวหน้ามานานแล้ว ในประวัติศาสตร์โรงเรียนปอเนาะแห่งแรกตั้งขึ้นในอาณาจักรปะตานีในปี ค.ศ.1624 พ.ศ.2157 สมัยพระเจ้าทรงธรรมแห่งกรุงศรีอยุธยา

ความรุ่งเรืองและชื่อเสียงของการศึกษาอิสลามในปะตานีเป็นที่เลื่องลือไปทั่วภูมิภาคว่าเป็น “ระเบียงแห่งการศึกษาอิสลามในอุษาคเนย์”

 

จึงไม่แปลกใจที่เมื่อนโยบายการศึกษาของรัฐไทยนำเอาการผสมกลมกลืนทางอัตลักษณ์ไปใช้ในพื้นที่มลายูมุสลิม ปฏิกิริยาและการต่อต้านจากคนในชุมชนจึงเกิดขึ้นแทบจะเป็นไปเอง (ตามธรรมชาติ) โดยไม่ต้องมีการปลุกระดมและชี้นำจากองค์กรการเมืองใดๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ข้าราชการไทยส่วนใหญ่ไม่เข้าใจและไม่เชื่อว่าชาวบ้านสามารถคิดการต่อต้านความเจริญก้าวหน้าในทางโลกได้อย่างไร นอกจากต้องเป็นคนหลงผิด คิดผิดและเป็นคนไม่ดี หรืองมงายในทางศาสนาวัฒนธรรมของตน

เป้าหมายและจุดหมายของนโยบายการศึกษาของรัฐบาลไทยคือการทำให้การศึกษามุสลิมเป็นการศึกษาทางโลกมากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะทางศาสนา เพราะคิดแบบไทยพุทธว่าหากศึกษาแต่พระบาลีในวัดก็จะไม่สามารถมีอาชีพเลี้ยงตัวและครอบครัวได้

แต่นี่คือความเข้าใจผิดโดยมูลฐานเพราะเนื้อหาในคัมภีร์อัลกุรอ่านแตกต่างจากในพระไตรปิฎกโดยสิ้นเชิง

ประการต่อมาคือ ต้องการทำให้การศึกษารับใช้จุดหมายของรัฐหรือเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว ไม่ใช่เพื่อความรู้ หากเพื่อรัฐ ในขณะที่มุสลิมศึกษาศาสนาเพื่อความรู้ ไม่ใช่เพื่อรัฐหรือผู้ปกครอง

เมื่อไม่สามารถยกเลิกและทำลายสถาบันการศึกษาตามประเพณีจารีตมุสลิมลงไปได้ รัฐไทยก็ใช้วิธีการผสมกลมกลืนภายใต้นโยบายการทำให้โรงเรียนปอเนาะเป็น “โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม” ตั้งแต่ พ.ศ.2504 เป็นต้นมา ออกกฎให้ปอเนาะต้องจดทะเบียนกับทางการเพื่อทำการสอนได้ ในกฎระเบียบก็บังคับให้สอนภาษาไทยมากขึ้น ต้องใช้หลักสูตรตามกระทรวงศึกษาธิการซึ่งดำเนินนโยบายยุคพัฒนาสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ภายใต้โครงการพัฒนาการศึกษาในชนบท แต่ในทางปฏิบัติยังเน้นความเป็นไทยและพุทธ ทำให้โต๊ะครูจำนวนมากต่อต้านระบบใหม่

อย่างไรก็ตาม กว่าครึ่งของโรงเรียนปอเนาะได้ยอมเปลี่ยนเป็นโรงเรียนแบบใหม่ เพื่อได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลด้วย โรงเรียนปอเนาะที่สอนเฉพาะศาสนาลดจำนวนลงหรือปิดไป ส่วนที่เปิดต่อไปได้ต้องสอนทั้งวิชาศาสนาและวิชาทั่วไป ส่วนในโรงเรียนระดับประถมศึกษาก็ไม่ให้สอนภาษามลายู ทำให้ชาวบ้านไม่พอใจ

 

อีกแนวทางที่สำคัญไม่น้อยคือการทดลองใช้ตัวอักษรไทยเขียนภาษายาวีเพื่อให้ผู้เรียนคุ้นเคยกับตัวอักษรไทยมากขึ้น มีการแปลตำราเรียนภาษาไทยไปเป็นภาษามลายูด้วย

โครงการนี้ตอนนั้นมุ่งไปที่การให้การศึกษาผู้ใหญ่เพื่อทำให้กระบวนการศึกษาได้ผลเร็วขึ้นและเพื่อดึงดูดใจชาวมุสลิม

ในปี 2548 ศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤต สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำวิจัยในโครงการ “การจัดการศึกษาแบบทวิ-พหุภาษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้” โดยการนำภาษาท้องถิ่นหรือมลายูปะตานีมาใช้ในการเรียนการสอนควบคู่กับภาษาไทย เป็นการใช้ภาษาแม่ที่เด็กคุ้นเคยมาเขียนในตัวอักษรไทย

แนวทางนี้มีการวิจัยและปฏิบัติในระดับสากล ว่าแก้ปัญหาการมีสองภาษาใช้ในชุมชนได้ ผลการทดลองและวิจัยปรากฏว่าได้รับผลน่าพอใจ

โครงการทวิ-พหุภาษาจะเป็นโครงการแรกของรัฐไทยที่ไม่พยายาม “ผสมกลมกลืน” คนมลายู หากแต่ยอมรับอัตลักษณ์ของภาษาและวัฒนธรรมท้องถิ่นเพื่อนำมาประสานเข้ากับภาษาทางการต่อไป ผมเคยถามคนในพื้นที่ก็มีทั้งเห็นด้วยและสนับสนุน กับคนที่ยังไม่เชื่อใจในจุดหมายการเมืองบั้นปลายของการใช้ทวิ-พหุภาษานี้ ว่าไปแล้วการที่คนมลายูมุสลิมออกจะหวาดเกรงความจริงใจของรัฐไทยก็มาจากประวัติศาสตร์การเมืองที่ผ่านมา ไม่ใช่อคติหรือความงมงายของพวกเขาแต่ประการใด เห็นได้จากการที่รัฐไทยนิยมใช้แนวทางการทหารภายใต้คติความมั่นคงแห่งชาตินำในการจัดการและแก้ไขปัญหาความไม่สงบมาเป็นส่วนใหญ่ แนวทางการเมืองและสันติของพลเรือนเป็น “ความฝัน” ที่ไม่เคยเป็นจริงได้ หากรัฐบาลยังไม่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง

โครงการจัดการศึกษาแบบทวิ-พหุภาษาในจังหวัดชายแดนใต้ กล่าวสรุปด้วยข้อความที่น่าคิดยิ่ง โดยกล่าวว่า การมองภาษาว่าเป็นปัญหา ได้มีส่วนทำให้เกิดความรุนแรง การมองภาษาว่าเป็น “ทรัพยากร” และเป็นสิทธิ สามารถช่วยสร้างสันติภาพได้

การไปบรรลุจุดหมายอันเป็นอุดมคตินี้ให้ได้นั้น จำต้องให้อำนาจแก่ชุมชนและประชาชนในพื้นที่นั้น แล้วลดหรือจำกัดควบคุมอำนาจของรัฐศูนย์กลางไว้ในส่วนที่จำเป็นและโปร่งใสเท่านั้น