คมนาคมปัดฝุ่นโครงการค้างท่อ หลักแสนล้านรอท่า รบ.ใหม่ เติมงบฯ-ดันลงทุนใน ปท.ฟื้นเศรษฐกิจ

ในวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญที่ทั้งภาคเอกชน ประชาชน รวมถึงข้าราชการ คาดหวังว่าการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีจะเสร็จสิ้นภายในวันดังกล่าว เนื่องจากสถานการณ์ยืดเยื้อมานานกว่า 3 เดือนแล้ว

ซึ่งจากความล่าช้าดังกล่าว ส่งผลให้โครงการและโปรเจ็กต์การลงทุนขนาดใหญ่ดีเลย์ เนื่องจากไม่สามารถขออนุมัติใช้งบประมาณได้

ซึ่งปัจจุบันหน่วยงานที่ขับเคลื่อนเมกะโปรเจ็กต์ อย่างกระทรวงคมนาคมส่งสัญญาณว่ามีความพร้อมในการเสนอต่อรัฐบาลใหม่แล้ว

โดยโครงการสำคัญที่พร้อมเสนอต่อทีมรัฐบาลชุดใหม่ได้ทันที อาทิ 4 โครงการค้างท่อของกรมทางหลวง (ทล.) ซึ่ง ปิยพงษ์ จิวัฒนกุลไพศาล รองอธิบดีกรมทางหลวง ให้ข้อมูลว่า กรมเตรียมเสนอให้กระทรวงคมนาคม และ ครม.ชุดใหม่ พิจารณาเห็นชอบและอนุมัติ 4 โครงการ รวมวงเงิน 145,880 ล้านบาท

 

ประกอบด้วย

1.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ด้านตะวันตก) หรือ M9 ล่าง ช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง ระยะทางประมาณ 35.85 กิโลเมตร (ก.ม.) วงเงิน 56,035 ล้านบาท

ปัจจุบันได้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการพีพีพี) แล้ว โดย ทล.จะเสนอให้ ครม.พิจารณาเห็นชอบหลักการเพื่อขอใช้เงินกู้

โดยหากผ่านความเห็นชอบ จะเริ่มประกาศเชิญชวนให้เอกชนร่วมลงทุนภายในกลางปีหรือปลายปี 2567 หลังจากนั้นจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปี 2568 ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี คาดว่าจะเปิดให้บริการปี 2572

2. โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ด้านตะวันตก) หรือ M9 ช่วงบางบัวทอง-บางปะอิน ระยะทาง 34.1 ก.ม. วงเงินลงทุนก่อสร้าง 15,260 ล้านบาท เบื้องต้นกรมจะเสนอต่อ ครม. ขอใช้แหล่งเงินกู้เพื่อดำเนินการก่อสร้างงานโยธา หลังจากนั้นจะเจรจาร่วมกับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เพื่อขอใช้แหล่งเงินกู้ หากได้ข้อสรุปแหล่งเงินกู้แล้วจะเสนอต่อ ครม.อีกครั้ง เพื่อพิจารณาเห็นชอบการประมูลโครงการ

ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเปิดประมูลและดำเนินการก่อสร้างภายในปลายปี 2568 ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี ส่วนงานติดตั้งระบบและบำรุงรักษา เบื้องต้นกรมจะใช้งบประมาณจากกองทุนมอเตอร์เวย์ เพื่อดำเนินการก่อสร้างเอง คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2572

3. โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข หรือดอนเมืองโทลล์เวย์ ช่วงรังสิต-บางปะอิน (M5) ระยะทาง 22 ก.ม. วงเงินค่าลงทุนก่อสร้าง 31,358 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่างานโยธา 30,125 ล้านบาท ค่าเวนคืน 78 ล้านบาท ค่างานระบบ 1,155 ล้านบาท

ขณะนี้ได้ผ่านความเห็นชอบคณะกรรมการพีพีพีแล้ว โดยโครงการจะใช้รูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP Gross Cost) โดย ทล.จะเป็นผู้ลงทุนการก่อสร้างงานโยธาและจ้างเอกชนบริหารจัดการ อายุสัญญาสัมปทาน 30 ปี ซึ่งโครงการนี้ กรมจะเสนอต่อกระทรวงคมนาคมและ ครม.ชุดใหม่พิจารณาเห็นชอบด้วยเช่นกัน

4. โครงการมอเตอร์เวย์ หมายเลข 8 สายนครปฐม-ชะอำ (M8) ระยะทาง 109 ก.ม. โดย ทล.จะเสนอให้ ครม.พิจารณาอนุมัติก่อสร้างช่วงแรก ได้แก่ ช่วงที่ 1 ช่วงนครชัยศรี-ปากท่อ ระยะทาง 61 ก.ม. วงเงินลงทุนรวม 43,227 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้าง 29,156 ล้านบาท ค่างานระบบ 1,783 ล้านบาท และค่าเวนคืน 12,287 ล้านบาท ปัจจุบัน ทล.อยู่ระหว่างเสนอแผนความต้องการเงินกู้ระยะปานกลาง 5 ปี (พ.ศ.2567-2571)

ทั้งนี้ หาก ครม.พิจารณาเห็นชอบแล้ว จะเริ่มจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน พร้อมทั้งเปิดประมูลให้เอกชนร่วมลงทุนต่อไป โดยกระบวนการดังกล่าว จะใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ปีครึ่ง ก่อนเริ่มดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี

 

ขณะที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เตรียมเสนอโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (ชุมพร-ระนอง) หรือแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง วงเงินรวม 1 ล้านล้านบาท เข้าที่ประชุม ครม.ชุดใหม่ โดย ปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ระบุว่า ตามแผนเดิมจะต้องเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อนยุบสภาผู้แทนราษฎร แต่เสนอไม่ทัน ส่งผลให้ต้องมีการเสนอต่อกระทรวงคมนาคมและเสนอต่อ ครม.ชุดใหม่รับทราบหลักการอีกครั้ง ภายในเดือนตุลาคม 2566

ทั้งนี้ สนข.มีแผนเตรียมเดินทางไปโรดโชว์ในต่างประเทศที่มีสายการเดินเรือขนาดใหญ่ 10 ประเทศ อาทิ ไต้หวัน จีน ญี่ปุ่น และฝรั่งเศส เพื่อดึงนักลงทุนจากต่างประเทศภายในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2566 หลังจากนั้น สนข.จะปรับปรุงรายละเอียด และวิเคราะห์โครงการตามข้อมูลที่ได้จากการโรดโชว์ ภายในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2566 ก่อนเสนอ ครม.อนุมัติเพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการภายในเดือนมกราคม 2567 หลังจากนั้นจะเริ่มเปิดประมูลพร้อมกันทั้งโครงการภายในต้นปี 2568 และลงนามเอกชนลงทุนในไตรมาส 3 ของปี 2568 คาดว่าจะทยอยเปิดโครงการในระยะแรกได้ภายในปี 2573

ส่วนการประมูลของโครงการ เบื้องต้นเป็นการประมูลรวมทุกแพ็กเกจ ประกอบด้วย ท่าเรือน้ำลึก ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) และรถไฟ ซึ่งใช้รูปแบบการลงทุน International Bidding โดยให้สิทธิ์เอกชนในไทยและต่างประเทศเป็นผู้ลงทุน 100%

ส่วนรัฐจะให้สัมปทานพื้นที่ระยะเวลา 50 ปี โดยมีเงื่อนไขว่าเอกชนรายใดสามารถบริหารพื้นที่ได้น้อยที่สุดตามที่ภาครัฐกำหนดจะได้รับคะแนนการพิจารณาเป็นผู้รับสัมปทานด้วย

 

นอกจากนี้ สนข.ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการตั๋วร่วม พ.ศ. … ซึ่งผ่านการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วมแล้ว หลังจากนั้นจะนำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เสนอต่อคณะกรรมการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมคนใหม่เป็นประธาน และเสนอต่อ ครม.พิจารณาต่อไป

หาก ครม.พิจารณาเห็นชอบแล้วจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ส่วนจะเริ่มประกาศและมีผลบังคับใช้ได้เมื่อไรนั้น ยังตอบไม่ได้ เพราะขึ้นอยู่กับกระบวนการพิจารณาในสภาด้วย ส่วนสาระสำคัญภายในร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการตั๋วร่วม พ.ศ. … อาทิ การกำหนดระเบียบวิธีการปฏิบัติการบังคับใช้ การจัดตั้งสำนักงานและกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม และเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีของระบบตั๋วร่วม ที่ในอนาคตอาจมีการนำการเชื่อมต่อของเทคโนโลยี EMV Contactless (Europay Mastercard and Visa) ที่อยู่ในบัตรเครดิต และบัตรเดบิต ซึ่งปัจจุบันสามารถใช้กับรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงิน สายสีม่วง และรถไฟฟ้าสายสีเหลืองได้ มาใช้ในอนาคตมากขึ้นอีกด้วย เป็นต้น

ที่กล่าวมาเป็นเพียงบางส่วนของโครงการที่หน่วยงานรัฐเตรียมเสนอ ครม.ชุดใหม่เท่านั้น ยังมีอีกหลายโครงการที่รอรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 เข้ามาบริหารจัดการอยู่

คงได้แต่หวังว่าทุกอย่างจะมาได้ทันเวลา ก่อนไทยเจอปัจจัยภายในและนอกประเทศรุมเร้า จนฉุดเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นดิ่งเหว!