เสริมทีมเวิร์กให้แกร่งด้วย VR

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

Cool Tech | จิตต์สุภา ฉิน

Instagram : @sueching

Facebook.com/JitsupaChin

 

เสริมทีมเวิร์กให้แกร่งด้วย VR

 

การจำลองสถานการณ์ เล่นเกม และเล่นบทบาทสมมุติ เป็นหนึ่งในกิจกรรมยอดฮิตที่มักจะทำกันในเวิร์กช็อปเทรนนิ่งสำหรับอบรมพนักงานองค์กรต่างๆ วัตถุประสงค์ของการเล่นบทบาทสมมุติก็แตกต่างกันออกไปแล้วแต่ประเภทของเวิร์กช็อป บางเวิร์กช็อปมุ่งเป้าให้พนักงานได้ฝึกการรับมือสถานการณ์เฉพาะหน้า ในขณะที่บางเวิร์กช็อปก็ใช้บทบาทสมมุติมาเพิ่มระดับความสามัคคีกลมเกลียวภายในทีม

วันนี้อยากชวนคุณผู้อ่านมาลองจินตนาการดูว่าจะเจ๋งแค่ไหนถ้าเราอยู่ในเวิร์กช็อปที่สามารถสวมบทบาทสมมุติเหล่านั้นได้อย่างสมจริงมากขึ้น สมจริงชนิดที่เรารู้สึกเหมือนตัวเองรับบทเป็นหุ่นยนต์ต่างดาวได้เลย

ลองนึกภาพว่าตัวเราเองกลายเป็นอวตารหุ่นยนต์ตัวหนึ่งที่ถูกส่งไปปฏิบัติภารกิจบนดาวอังคาร เราอยู่ในโลกเสมือนที่ถูกเนรมิตขึ้นทันทีที่สวมอุปกรณ์ VR เข้ากับศีรษะ สิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวเราไม่ใช่โลกมนุษย์อีกต่อไป แต่กลายเป็นดาวอังคารเวิ้งว้าง

เราและเพื่อนๆ หุ่นยนต์ของเราซึ่งก็คือเพื่อนร่วมงานที่สวมอุปกรณ์ VR อยู่ด้วยเหมือนกันจะต้องร่วมกันปฏิบัติภารกิจ ฝ่าฟันโจทย์อันแสนจะท้าทายหลายรูปแบบเพื่อจะได้ขึ้นยานอวกาศและหนีออกจากดาวอังคารไปด้วยกันให้ได้

ฟังดูเหมือนจะเป็นการเล่นวิดีโอเกมออนไลน์ แต่อันที่จริงนี่เป็นอีกหนึ่งรูปแบบของการเทรนนิ่งที่สมจริงยิ่งกว่าที่เคยมีมา

และจะต้องสนุกกว่าการนั่งรวมกันอยู่ในห้องประชุมแล้วจ้องไปที่กระดานอันเดียวกันแน่นอน

การเทรนนิ่งผ่าน VR โดยย้ายพนักงานทุกคนไปอยู่บนดาวอังคารเป็นผลงานของบริษัทสัญชาติอังกฤษชื่อ Jenson8 ซึ่งเป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาแพลตฟอร์มการฝึกอบรมพนักงานโดยใช้เทคโนโลยี Virtual Reality

พนักงานที่เข้าร่วมการเทรนนิ่งแบบเสมือนจริงนี้จะต้องช่วยกันหนีออกจากดาวอังคารให้สำเร็จโดยมีโอกาสเพียง 3 หรือ 4 ครั้งเท่านั้น แต่ละคนที่เข้าร่วมในการเทรนนิ่งจะได้ฝึกซ้อมบทบาทที่แตกต่างกัน เช่น บทบาทของการเป็นผู้นำ หรือบทบาทของการเป็นผู้ตาม

หัวหน้านักวิจัยและพัฒนาของ Jenson8 บอกว่าการย้ายคนเข้ามาอยู่ในโลกเสมือนจริงจะช่วยให้พนักงานที่เข้าร่วมเวิร์กช็อปโยนภาพลักษณ์และตัวตนในที่ทำงานของตัวเองทิ้งไป และแสดงออกถึงตัวตนจริงๆ ได้ชัดขึ้น รวมถึงทุกคนจะเข้าใจบทบาทหน้าที่ของตัวเองมากขึ้นด้วย

ในที่สุดก็จะนำไปสู่การเปิดใจคุยกันในทีมเพื่อให้ทีมแข็งแกร่งและเป็นทีมที่ประสบความสำเร็จ

การล็อกดาวน์ในช่วงโควิด-19 ทำให้คนทำงานหลายล้านคนทั่วโลกปรับตัวจนชินกับการประชุมออนไลน์และการทำงานจากบ้าน ก่อนโควิด หากเราต้องการนัดประชุมคุยงานกับใครสักคนเรามักจะคิดถึงทางเลือกของการเจอกันตัวต่อตัวก่อนเสมอ การประชุมออนไลน์มักจะเป็นทางเลือกสุดท้ายจริงๆ แต่เมื่อเราผ่านการล็อกดาวน์มาหลายต่อหลายครั้งเราก็ได้เรียนรู้ว่าเราสามารถคุยงานกันได้จนจบโดยที่เราไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้องประชุมห้องเดียวกันเลยด้วยซ้ำ

แนวคิดแบบนี้ก็ถูกหยิบมาใช้กับการอบรมพนักงานด้วยเหมือนกัน จากเดิมที่บริษัทจะต้องควักกระเป๋าให้พนักงานแต่ละสาขาเดินทางมาอบรมด้วยกันที่สำนักงานใหญ่หรือลงพื้นที่พร้อมๆ กันทั้งหมด ก็กลายเป็นการหันมาลองใช้เทคโนโลยี VR แทน พนักงานไม่ต้องเดินทางไปไหน แต่ทุกคนสามารถเข้าถึงการอบรมได้แบบสมจริงและจะทำซ้ำกี่ครั้งก็ได้โดยไม่มีต้นทุนเพิ่ม

สัปดาห์ที่แล้วฉันเพิ่งมีโอกาสได้ไปชมบูธของ SCG WEDO ซึ่งเป็นดิจิทัลออฟฟิศของ SCG และไปจัดแสดงเทคโนโลยีใหม่ๆ ในงาน Techsauce Global Summit 2023

ทาง WEDO ได้ทำโปรเจ็กต์ร่วมกับ Kubota เพื่อนำเทคโนโลยี Mixed Reality หรือ MR มาใช้ในการช่วยให้เกษตรกรฝึกขับรถแทร็กเตอร์ได้แบบเสมือนจริง

เมื่อก้าวเข้าไปนั่งในตัวรถแทร็กเตอร์จำลองและสวมอุปกรณ์ VR ลงไป ภาพตรงหน้าก็กลายเป็นพื้นดินว่างโล่งสำหรับใช้ในการทดลองขุด เจ้าหน้าที่ภายในบูธมายืนข้างๆ และสอนฉันว่าคันโยกไหนทำหน้าที่อะไร ทำอย่างไรให้รถเดินหน้าหรือถอยหลัง และจะขุด ตัก หรือเทดินได้ด้วยวิธีไหน

ถึงจะเป็นเซสชั่นทดลองสั้นๆ เพียง 10 นาที แต่ก็เป็น 10 นาทีที่ทรงพลังมาก ด้วยความที่เป็น MR คือมีทั้งภาพที่จำลองขึ้นมาและมีคันโยกที่จับต้องได้ โยกได้จริงๆ ก็ทำให้ฉันรู้สึกเหมือนวาร์ปจากบูธไปอยู่ในรถแทร็กเตอร์ของจริง

หากได้ฝึกปรือฝีมือผ่าน MR ที่สมจริงแบบนี้หลายๆ ครั้งก็เชื่อว่าจะช่วยให้เกษตรกรขับรถแทร็กเตอร์ได้เชี่ยวชาญมากขึ้นแน่ๆ

 

BBC อ้างถึงผลการศึกษาโดย PricewaterhouseCoopers เมื่อปีที่แล้วที่ระบุว่าการฝึกซ้อมผ่าน VR จะช่วยให้ผู้ฝึกสามารถปฏิบัติได้จริงเร็วกว่าการเรียนในห้องเรียนถึง 4 เท่า

เราผ่านการฝึกอบรมด้วยวิธีแบบเดิมๆ มานานหลายสิบปี แต่ในยุคที่ข้อมูลไหลผ่านอย่างรวดเร็ว มนุษย์ก็ต้องการรูปแบบการดูดซับข้อมูลแบบใหม่ เรามีสิ่งที่ต้องการแย่งความสนใจของเรามากมายจนทำให้การโฟกัสกับอะไรสักอย่างกลายเป็นสิ่งที่ทำได้ยากเย็นแสนเข็ญโดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่เรารู้สึกว่าเป็นรูปแบบเดิมๆ ที่น่าเบื่อ ไม่ทำให้เราตื่นเต้นได้อีกต่อไป

ผลการวิจัยข้างต้นยังระบุอีกด้วยว่าพนักงานที่ฝึกอบรมงานผ่าน VR จะมีสมาธิจดจ่อมากกว่ากลุ่มที่เทรนในห้องเรียนตามปกติถึง 1.5 เท่า

เมื่อเทรนผ่าน VR เราก็สามารถทำได้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จุดไหนที่ยังไม่เข้าใจ หรือยังทำได้ไม่ดีพอ จะทำซ้ำอีกกี่รอบก็ได้ การเรียนรู้แบบลงมือทำซ้ำๆ ยังไงก็ได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าการเรียนรู้จากการอ่านหรือการฟังเพียงอย่างเดียว

 

ปิดท้ายที่อีกหนึ่งคุณประโยชน์ของการอบรมผ่าน VR ที่เราอาจจะไม่ทันได้นึกถึง คือในตอนท้ายของการอบรม ระบบการเทรนนิ่ง VR สามารถให้ฟีดแบ็ก ให้คอมเมนต์ได้อย่างตรงไปตรงมา

หากเป็นฟีดแบ็กด้านลบ พนักงานที่เข้ารับการอบรมก็มีแนวโน้มที่จะเปิดใจรับฟังได้มากกว่าการฟังฟีดแบ็กเดียวกันนั้นจากปากของหัวหน้าที่เป็นมนุษย์ เพราะเมื่อคนให้ฟีดแบ็กเป็นคอมพิวเตอร์ที่ไม่มีชีวิต ไม่มีตัวตน ก็ไม่ก่อให้เกิดความรู้สึกเสียหน้าขึ้น

ทางฝั่งของหัวหน้าที่ตามปกติจะต้องให้ฟีดแบ็กลูกน้องก็อาจจะลำบากใจหากต้องพูดสิ่งที่เป็นด้านลบ อาจจะอยากรักษาน้ำใจลูกน้องจนไม่กล้าให้ความเห็นแบบตรงไปตรงมา ยกหน้าที่นี้ให้เป็นของระบบคอมพิวเตอร์ไปทำแทนก็จบ

โลกเปลี่ยนไป รูปแบบที่เคยทำมาโดยตลอดแม้จะยังได้ผลอยู่แต่หากยอมปรับเปลี่ยนวิธีบางอย่างก็อาจจะทำให้เราได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นกว่าเดิมก็ได้นะคะ