วังแตก

วัชระ แวววุฒินันท์

ในแวดวงการเมืองช่วงนี้ เราจะได้ยินคำว่า “นิติสงคราม” อยู่บ่อยๆ ด้วยเป็นเครื่องมือสำคัญที่ฝ่ายที่มีอำนาจใช้ในการทำลายล้างผู้ที่ตนมองว่าเป็นศัตรู เพื่อให้พ้นจากเส้นทางการเข้าสู่อำนาจทดแทน

จะว่าไป “นิติสงคราม” นี้ไม่ได้เพิ่งใช้ แต่ถูกนำมาใช้กับพรรคการเมืองมาแล้วนับสิบกว่าปี ถึงขั้นที่ต้องถูกยุบพรรค และบุคคลก็ต้องโทษ หรือมีอันหลุดจากวงโคจรทางการเมืองไปเลยก็มี

ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะในยุคสมัยไหนๆ ผู้ที่ครองอำนาจและหวงอำนาจไว้ ย่อมไม่อยากให้อำนาจนั้นหลุดลอยไป ก็ต้องพยายามแสวงหา “อาวุธ” มาใช้เพื่อให้ตนได้ยังครองอำนาจนั้นอยู่

อาวุธที่ว่านั้นนับแต่อาวุธจริงๆ เช่น ปืน รถถัง เครื่องบินรบ เรือรบ ไปจนถึงอาวุธที่เป็น “ความเชื่อ” ที่เกี่ยวพันกับศาสนาหรือลัทธิ จึงมีขบวนการ “ล่าแม่มด” กันมาแล้ว รวมทั้งอาวุธที่เป็น “กฎหมาย” ที่พร้อมจะกล่าวหาและลงโทษศัตรูให้สิ้นซาก

และแน่นอนที่ผู้มีอำนาจ มีอาวุธ ย่อมจะใช้ทุกวิถีทางที่จะกำจัดผู้ที่ตนเห็นว่าเป็นศัตรู แม้จะเป็นการกล่าวความเท็จ สร้างเรื่องขึ้นมา และบิดเบือนหลักฐานก็ตาม

 

ใครที่สนใจเรื่องประวัติศาสตร์ไทย โดยเฉพาะประวัติศาสตร์บ้านเมืองในช่วงของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 คงจะสนใจอ่านหนังสือเล่มที่ชื่อว่า “วังแตก” เขียนโดย กิตติศักดิ์ วิโรจน์ธรรมากูร พิมพ์ออกมาครั้งแรกตั้งแต่ปี 2555 และครั้งที่สองในปี 2560

หนังสือเล่มนี้ได้เล่าถึงผลกระทบต่อผู้ที่รัฐบาลซึ่งล้มล้างการปกครองครั้งนั้นคือ “คณะราษฎร” ได้เห็นว่าเป็นศัตรูที่ต้องกำจัดให้สิ้น นั่นก็คือ “พวกเจ้า” หรือ “กลุ่มบุคคลที่เป็นพระบรมวงศานุวงศ์และเชื้อพระวงศ์ต่างๆ” ที่ได้รับผลกระทบจนกระทั่งเกิดอาการ “วังแตก” ดังชื่อหนังสือ

วังที่ว่านี้ นับตั้งแต่วังที่เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ที่มีนามว่า “วังศุโขทัย” ไปจนถึง “วังบางขุนพรหม”, “วังสวนสุนันทา” และวังอีกหลายแห่งที่เป็นของเชื้อพระวงศ์อื่นๆ

ในสายตาของผู้ก่อการคณะราษฎร ผู้ที่กุมอำนาจสูงสุดอยู่แต่เดิมก็คือกษัตริย์ และเชื้อพระวงศ์ต่างๆ หากอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงก็จำเป็นต้อง “กระทำ” ต่อกลุ่มอำนาจเดิมทั้งไม้แข็งและไม้นวม

เหตุผลสำคัญที่คณะราษฎรใช้ในการแจ้งต่อประชาชน คือ ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป ในขณะที่กลุ่มอำนาจเก่านั้นมีความร่ำรวยมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ แต่อาณาประชาราษฎร์ต่างเดือดร้อนในการทำมาหากิน ไม่เว้นแม้แต่เหล่าข้าราชการจนถึงกลุ่มทหารที่ถูกให้ออกจากงาน และลดเงินเดือนเพื่อพยุงเศรษฐกิจ

รวมทั้งมีการเล่นพรรคเล่นพวกเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ และกลุ่มชั้นนำที่กุมอำนาจนั้นยังขัดขวางการเปลี่ยนแปลงการปกครองตามกระแสโลกที่หลายประเทศที่เจริญได้เปลี่ยนแปลงสู่ระบอบ “ประชาธิปไตย” กันแล้วอีกด้วย

ขอยกความบางตอนในหนังสือ “วังแตก” นี้ มาถ่ายทอดให้ฟัง เพื่อบอกเล่าถึงผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ อันเป็นข้อมูลทางหนึ่งเท่านั้น ผู้สนใจคงต้องแสวงหาข้อมูลอื่นๆ ต่อไป

 

“วังศุโขทัย” เป็นพระราชวังที่รัชกาลที่ 7 ทรงประทับอยู่ตั้งแต่ยังเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ ในรัชกาลที่ 6 ตอนนั้นทรงพระนามว่า “เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ฯ” หลังจากทรงอภิเษกสมรสกับหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี (พระนามตอนนั้น) ก็ได้ทรงประทับที่วังศุโขทัยนี้เรื่อยมา

หากไม่ใช่เพราะพระเชษฐาลำดับต้นๆ ได้เสด็จสวรรคตเสียก่อน พระองค์ก็คงอยู่สุขสบายในวังนี้ต่อไป เมื่อสิ้นรัชกาลที่ 6 พระองค์จำต้องขึ้นมารับภาระกษัตริย์ของประเทศทั้งที่จริงๆ พระองค์ไม่ทรงประสงค์ เพราะรู้ว่าไม่พร้อม นั่นเป็นการเปลี่ยนแปลงชีวิตพระองค์แต่นั้นมา

ตอนที่คณะราษฎรเข้ายึดสถานที่สำคัญในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 และจับเอาพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์มาเป็นตัวประกัน ได้กราบบังคมทูลต่อพระองค์ที่ตอนนั้นประทับ ณ วังไกลกังวล หัวหิน พร้อมสมเด็จพระราชินีฯ ให้เสด็จกลับเข้าพระนครและยอมรับการเปลี่ยนแปลงนี้

พระองค์ทรงห่วงใยทั้งชีวิตของพระบรมวงศานุวงศ์และชีวิตของประชาชน ไม่อยากให้เดือดร้อนถึงกับรบราฆ่าฟันกันเองเพื่อรัฐธรรมนูญฉบับเดียว จึงได้ยอมเสด็จกลับพระนคร ซึ่งก่อนที่จะเสด็จกลับนั้น พระองค์ทรงถามความเห็นของสมเด็จพระราชินีฯ ที่ก็ได้ทรงถวายความเห็นว่า

“เข้าไปตายก็ไม่เป็นไร ต้องมีศักดิ์ศรี มีสัจจะ”

 

เมื่อเสด็จกลับไปพระนคร ก็ได้ทรงเข้าประทับที่พระตำหนักจิตรลดาฯ บรรยากาศนั้นเงียบเหงา แต่ภายนอกมีรถถังวิ่งกันเกลื่อนกลาด ทหารเดินพลุกพล่านเต็มไปหมด ซึ่งจะบุกเข้ามาเมื่อใดก็ได้

สมเด็จฯ ได้ตรัสเล่าถึงเหตุการณ์ในคืนหนึ่ง ขณะประทับบนพระตำหนักจิตรลดาฯ ว่า

“คืนนั้นในหลวงกับฉัน แล้วก็หม่อมราชวงศ์สมัครสมานขึ้นไปอยู่บนชั้นสามด้วยกัน ท่านรับสั่งว่า ถ้าจะมีเรื่องเกิดขึ้น ท่านจะยิงพระองค์เอง แล้วให้สมัครเป็นคนยิงฉัน ส่วนสมัครจะทำอะไรกับตัวเองหรือไม่ก็ช่าง แต่ก็ไม่มีเหตุการณ์อะไรที่ร้ายแรงเกิดขึ้น จนถึงกับจะทรงทำอย่างที่รับสั่งไว้…”

เมื่อพระองค์ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวตามคำขอของคณะราษฎรซึ่งพระองค์ได้ขอแก้ไขบางส่วน ในวันที่ 27 มิถุนายนแล้ว ครั้นถึงเดือนตุลาคมก็เสด็จไปประทับยังวังไกลกังวลอีกครั้ง ซึ่งนั่นเป็นการจากวังศุโขทัย จากพระตำหนักจิตรลดาฯ จากพระนครไป โดยที่ไม่ได้เสด็จกลับอีกเลย

จนกระทั่งพระองค์และสมเด็จฯ ได้เสด็จไปยังต่างประเทศในยุโรปเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีและเพื่อรักษาพระเนตรที่เสียในเดือนมกราคม พ.ศ.2476 แล้ว พระองค์ก็ไม่ได้กลับมาประเทศไทยอีกเลย ทั้งนี้ พระองค์ได้ประกาศสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2477 ด้วยทรงเห็นว่าสิ่งที่รัฐบาลดำเนินการอยู่นั้นหลายอย่างขัดต่อหลักประชาธิปไตยที่แท้จริงคือ ประชาชนต้องมีสิทธิเสรีภาพ และต้องฟังเสียงประชาชน โดยขอให้ทรงแก้ไขในหลายๆ เรื่อง แต่รัฐบาลก็ไม่ยอม จึงเห็นว่าไม่มีประโยชน์อะไรที่พระองค์จะทรงอยู่ในฐานะกษัตริย์ที่ไม่สามารถปกป้องประชาชนได้

สิ่งที่รัฐบาลทำนั้น ก็คือการใช้ “อาวุธ” เข้าทำลายศัตรู ด้วยการออกกฎหมายใช้ปราบปรามบุคคล ซึ่งถูกกล่าวหาว่าทำผิดทางการเมือง โดยไม่ให้มีโอกาสต่อสู้คดีในศาล ซ้ำยังมีการพิจารณาคดีจากฝ่ายรัฐบาลเองอย่างลับๆ และส่งนักโทษการเมืองไปขังคุกยังที่ต่างๆ เช่นที่เกาะตะรุเตาเป็นต้น

รัชกาลที่ 7 เสด็จสวรรคตในวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ.2484 มีพระชนมายุได้ 48 พรรษา ปิดตำนานของวังศุโขทัยที่ทิ้งไว้เบื้องหลังแต่นั้นมา

วังบางขุนพรหม

สําหรับ “วังบางขุนพรหม” นั้น เป็นของ “สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต” พระราชโอรสลำดับที่ 33 ในรัชกาลที่ 5

วังนี้ก่อสร้างโดยทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ของรัชกาลที่ 5 ที่พระราชทานให้แก่สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรฯ จึงเป็นสมบัติโดยตรงของสมเด็จบริพัตรฯ ซึ่งได้ถวายงานรับใช้ในตำแหน่งสำคัญๆ ทั้งด้านการทหาร ด้านมหาดไทย มาตั้งแต่แผ่นดินรัชกาลที่ 5 ถึง 7 และในสมัยรัชกาลที่ 7 พระองค์ยังทรงดำรงตำแหน่งสำคัญคือ “ประธานอภิรัฐมนตรี” ซึ่งเป็นคณะที่ปรึกษาส่วนพระองค์ของในหลวงนั่นเอง

ในการประชุมภายในครั้งหนึ่งเกี่ยวกับการพิจารณาพระราชทานรัฐธรรมนูญแก่ประเทศสยาม ตามที่รัชกาลที่ 7 ทรงตั้งพระทัยไว้ ก็ได้มีความเห็นร่วมว่าน่าจะชะลอไว้ก่อน เพราะราษฎรยังไม่พร้อมในเรื่องนี้ ยังไม่เข้าใจระบอบประชาธิปไตย เกรงว่าจะตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มคนที่หลงอำนาจและไม่สุจริตเอาเปรียบได้

นั่นเป็นสาเหตุสำคัญให้คณะผู้ก่อการไม่พอใจสมเด็จบริพัตรฯ อย่างมาก ในฐานะที่พระองค์เป็นประธานอภิรัฐมนตรี เมื่อวันเปลี่ยนแปลงการปกครองมาถึง ในเช้าตรู่ของวันนั้น ก็ได้มีนายตำรวจและทหารจำนวนหนึ่งไปล้อมวังบางขุนพรหมนี้ไว้ ซึ่งต่อมาพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศิริรัตนบุษบง พระธิดาองค์แรกของพระองค์ได้ตรัสเล่าไว้ว่า

“…วันนั้นทูลกระหม่อมพ่อบรรทมที่ตำหนักน้ำ พอได้ยินเสียงเอะอะ ท่านก็เสด็จลงมาข้างล่าง ทอดพระเนตรเห็นทหารอยู่เต็มไปหมด ขณะนั้นมีเรือยนต์มาจอดเทียบหน้าโป๊ะ เชิญเสด็จลงเรือ ทูลกระหม่อมพ่อรับสั่งว่า ฉันจะไปได้อย่างไร ฉันรักษาพระนครอยู่

ทรงยืนโต้ตอบกันอยู่นาน ในที่สุดก็เสด็จไปกับเรือ โดยท่านขอเปลี่ยนฉลองพระองค์ซึ่งขณะนั้นทรงชุดบรรทมอยู่ ทหารก็ไม่ยอม ท่านก็เลยต้องเสด็จไปอย่างนั้น และที่พูดกันว่าในวังยิงก่อนก็ไม่จริง ในวังมีปืนกลก็ไม่จริง ไม่มีปืนที่ไหน นอกจากที่ทหารยาม ทหารยามก็หนีไปหมดแล้ว…”

สมเด็จบริพัตรฯ ถูกนำตัวไปไว้ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งเป็นที่บัญชาการของคณะราษฎร เพื่อเป็นตัวประกันต่อรัชกาลที่ 7 โดยมั่นหมายว่าจะกักขังไว้ตลอดพระชนม์ และจะทำการยึดทรัพย์ทั้งหมด ในหลวงก็ได้ทรงขอไว้ และขอเพียงให้สมเด็จฯ ได้เสด็จออกนอกประเทศ

สมเด็จบริพัตรฯ ถูกขังอยู่ที่นั่นนาน 10 วัน ก็ได้เสด็จกลับมาที่วังบางขุนพรหม เพื่อทรงเตรียมเสด็จออกนอกประเทศพร้อมด้วยสมาชิกในราชกุลบริพัตร นอกจากนี้ ผู้นำคณะราษฎรบางคนยังต้องการวังบางขุนพรหม โดยอ้างว่าวังบางขุนพรหมนั้นสร้างด้วยเงินงบประมาณแผ่นดิน แต่แท้ที่จริงแล้วไม่ใช่ เพราะสร้างด้วยทุนทรัพย์ของรัชกาลที่ 5 แต่รัชกาลที่ 7 ก็ทรงยินยอมให้ยึดวังบางขุนพรหมไว้ตามที่ขอเพื่อไม่ให้พระราชวงศ์เดือดร้อนที่อาจถึงชีวิตได้ รวมทั้งวังอื่นๆ ด้วย

สมเด็จบริพัตรฯ และสมาชิก ได้มาประทับอยู่ที่เมืองบันดุง ที่เป็นประเทศอินโดนีเซียในเวลาต่อมา ตราบจนกระทั่งปี พ.ศ.2480 ก็เริ่มมีอาการประชวร และสุดท้ายก็ได้สิ้นพระชนม์ในปี 2487 ด้วยพระชันษา 63 ปี

วังสวนสุนันทา

ส่วน “วังสวนสุนันทา” นั้น สร้างขึ้นตามพระราชดำริของรัชกาลที่ 5 ที่ให้ไว้สำหรับเป็นที่ประทับพักผ่อนแทนการเสด็จประพาสตามหัวเมือง และใช้เป็นที่ประทับของพระมเหสี พระราชธิดา และสนมเจ้าจอมในบั้นปลายของชีวิต

หากการก่อสร้างยังไม่แล้วในยุคสมัยของพระองค์ รัชกาลที่ 6 ได้ทรงดำเนินการสร้างต่อตามพระราชประสงค์ของพระบิดา ด้วยความที่ผู้พำนักส่วนใหญ่เป็นสตรี จึงได้กลายเป็นศูนย์รวมของความรู้ในวิชาการเรือนและศิลปะต่างๆ มีเชื้อพระวงศ์และขุนนางส่งลูกหลานมาเล่าเรียนเป็นรุ่นๆ

เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง คณะราษฎรก็ได้ยึดสถานที่สำคัญๆ ของทางราชการ รวมทั้งวังเจ้านายต่างๆ ผู้ที่อยู่อาศัยในวังสวนสุนันทาก็เกิดความหวาดกลัว ต่างพากันแยกย้ายทยอยออกไปอาศัยยังภายนอกเพื่อความปลอดภัย รัฐบาลต่อมาก็ได้ยึดเอามาเป็นของแผ่นดิน สิ้นสุดความเป็นวังสวนสุนันทาแต่นั้นมา

จากเหตุการณ์เหล่านี้ ได้มีผู้ถูกกระทำต่างๆ ถูกจับกุมด้วยข้อหากบฏ มีการสั่งประหารชีวิตถึง 18 ราย ติดคุกตลอดชีวิต 24 ราย บ้างก็ติดคุกอยู่นานโดยไม่ได้รับความยุติธรรม เดือดร้อนถึงครอบครัวอย่างมาก เหล่าเชื้อพระวงศ์หลายครอบครัวต่างหนีภัยไปอาศัยยังต่างแดน จนจบชีวิตที่นั่น หรือต้องรอให้เหตุการณ์สงบเสียก่อนจึงเดินทางกลับมาประเทศได้ ซึ่งก็กินเวลาหลายปี ต้องอยู่อาศัยอย่างลำบาก ที่น่าเศร้าใจคือมีพระราชวงศ์บางพระองค์ทนต่อสู้กับความอยุติธรรมไม่ได้ และได้ใช้พระแสงปืนกระทำอัตวินิบาตกรรม

อำนาจย่อมมีการเปลี่ยนมือ หากว่าเป็นการเปลี่ยนตามทำนองที่ถูกควรตามระบอบประชาธิปไตยก็คงจะเกิดความเข้าใจได้ในความถูกต้องสมควรนั้น

แต่หากมีการใช้อิทธิพล และสร้างความชอบธรรมที่บิดเบี้ยวโดยอาศัย “อาวุธ” ต่างๆ มาเป็นเครื่องมือ อนาคตของประเทศก็น่าเศร้าใจยิ่งนัก

และเราก็ต้องเฝ้ารอที่เสียงของประชาชนจะเป็นใหญ่ และมีอำนาจอย่างแท้จริง

คนไทยตัวเล็กๆ อย่างเราๆ ก็ต้องร้องเพลงรอกันต่อไป ต่อไป และต่อไป •

 

เครื่องเคียงข้างจอ | วัชระ แวววุฒินันท์