‘เสือผ่อน’ โจรสลัดทะเลตะวันออก ผู้ทิ้งความจำให้ลูกหลานประมง บ้านมะขามป้อม ต.กร่ำ อ.แกลง จ.ระยอง

รายงานพิเศษ | บริสุทธิ์ ประสพทรัพย์

 

‘เสือผ่อน’ โจรสลัดทะเลตะวันออก

ผู้ทิ้งความจำให้ลูกหลานประมง

บ้านมะขามป้อม ต.กร่ำ อ.แกลง จ.ระยอง

 

ปี 2481 เล่ากันว่าจอมโจรระดับ “ไอ้เสือ” สร้าง “รัง” กระจายอยู่ตามภาคต่างๆ มากมาย อาทิ ภาคกลางมีเสือหวัด เสือย่อง เสือครื้ม เสือปลั่ง เสืออ้วน เสือไหว ภาคใต้ถิ่นเสือกลับ เสือสังหรือเสือพุ่ม ภาคเหนือมีเสือโน้ม และเสือชื่อดังๆ อย่างเช่น เสือฝ้าย, เสือย่อง, เสือใบ, เสือมเหศวร

ฟ้าก็ช่างลิขิตเมื่อส่งเสือแต่ละตัวมาเกิด ไฉนจึงส่งนายตำรวจมือพระกาฬฉายา “มือปราบดาบแดง” พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดช จอมขมังเวทย์ มาเกิด เพื่อกำราบเสือร้ายจอมอาคมล่องหนหายตัว ฤๅแกร่งกล้าขนาดแรงกระสุนยังเจาะร่างไม่ได้

ว่าก็ว่า…นายตำรวจหนวดงอนผู้นี้ยังได้รับฉายาเพิ่มว่า “รายกกะจิ” หมายถึง “อัศวินพริกขี้หนู” คราวพิฆาตหัวหน้าโจรการเมืองนราธิวาส “อะเวสะดอ ดอตาเละ” จนสิ้นชื่อเมื่อปี 2481

แต่ครั้งนั้นภาคตะวันออกปรากฏชื่อ “เสือผ่อน” ซึ่งเป็นเสือรุ่นพี่เสือทั้งหลาย ก็เลยไม่ได้ลองวิชาโจรกับ “มือปราบดาบแดง” ที่ไม่เคยย้ายมายังแดนนรกภูมิภาคนี้แม้แต่ครั้งเดียว

“เสือผ่อน” แห่งภาคตะวันออก

ประวัติเสือคนนี้น่าติดตามยิ่งกว่าเสือตัวจริงในยุคนั้น ชื่อจริงนามสกุล “มัจฉาเกื้อ” เกิดปี 2432-2437 บ้างก็ว่าเป็นคนเขาหมูดุด อ่าวคุ้งกระเบน จันทบุรี เทียวไปเทียวมาระหว่างที่นี่กับบ้านมะขามป้อม แหลมแม่พิมพ์ อ.แกลง ระยอง ด้วยรังประจำอยู่เกาะมันใน ห่างฝั่งมะขามป้อมเพียง 5 กิโลเมตรทะเล

แต่กำนันชื่อนะกร ไกรพงษ์ เจ้าตัวบ้านอยู่มะขามป้อม เป็นหลานชายร่วมสายสกุลรุ่น 3 เสือผ่อนกับ “ลุงเผือก” ไพโรจน์ หาญกล้า หลานเขยอยู่หมู่เดียวกันยืนยันตามกลอนลำตัดหะยีเขียด กล่าวถึงที่มาว่าเป็นคนบ้านมะขามป้อมไม่ใช่เขาหมูดุด

กลอนดังกล่าวมิได้บอกไว้ว่าเป็นโจรตั้งแต่เมื่อใดและด้วยเหตุใด รู้แต่ว่าคือโจรสลัดอ่าวไทยคอยปล้นเรือสินค้าด้วยเรือติดใบไร้เครื่องยนต์พาหนะคู่ชีพ พร้อมสมุน 3-4 คนแถวทะเลตราดแถบเกาะช้าง เรื่อยมาทะเลจันทบุรี เกาะมันใน ทะเลระยอง กับขยายอิทธิพลไกลไปถึงศรีราชา จ.ชลบุรี

ทำให้เป็นโจรหลายโลกไปถึงไหนมีเมียและลูกถึงนั่น หนึ่งในนั้นคือเมียประจำบ้านมะขามป้อมนี่แหละ

นิสัยดุดันแต่นิยมขอส่วนแบ่งมากกว่าการปล้น นอกจากเจ้าทรัพย์จะฮึดสู้ถึงลงมือฆ่า สมบัติที่ปันมานิยมแบ่งทำบุญอย่างการสร้างวิหารวัดท่าแคลง จันทบุรี แทนคุณหลวงพ่อเปรมเจ้าอาวาส ผู้ให้วิชาอยู่ยงคงกระพัน อีกส่วนจะไม่ลืมแบ่งปันคนจนไม่ต่างโรบินฮู้ดตะวันตกสมัยนั้น

เล่าอีกว่า “รังโจร” เสือผ่อนอยู่แค่ปลายจมูกบ้านมะขามป้อม ตรงเกาะมันใน ซึ่งอดีตกันดารลี้ลับเกินเจ้าหน้าที่จะตามตะครุบตัวได้ง่าย…

ครั้งหนึ่งโปลิศเคยยกกำลังไปล้อมจับแต่ต้องคว้าน้ำเหลว ด้วยเชื่อว่าเสือร้ายมีของดีหายตัวได้ ทว่า หลานคือนะกรกับหลานเขยปฏิเสธเสียงแข็ง โดยอ้างบทลำตัดเขียนบอก…คืนนั้นทันทีที่รู้ตัวเสือผ่อนรีบเผ่นออกจากรัง อาศัยเกาะท่อนไม้ลอยคอหนีข้ามมายังบ้านมะขามป้อม

ช่างอัศจรรย์ที่อยู่ดีๆ เกิดมีโลมาฝูงหนึ่งว่ายขนาบข้างคล้ายคอยคุ้มครองตลอด 5 กิโลเมตรจนสำเร็จ

“เต่ามะเฟือง” เคยขึ้นมาวางไข่แหลมตาล อ่าวไข่

สุดท้ายวิถีโจรย่อมหนีไม่พ้นความตายเยี่ยงวิสัยโจร เมื่อสมุนหางแถวนายหนึ่งคิดทรยศหันไปเป็นไส้ศึกให้เจ้านายด้วยข้อเสนอหากร่วมมือจับเสือผ่อนสำเร็จจะล้างโทษให้ทันที แผนชั่วในหมู่โจรจึงอุบัติขึ้นพลันด้วยน้ำมือเมียของเสืออ่อนหัด ด้วยการนำอาหารมื้อค่ำแอบผสมเลือดระดูไปให้เสือผ่อนกิน และได้ผลอย่างที่คิด…นาทีนั้นตะกรุดที่เสือผ่อนถือเป็นเครื่องรางติดตัวตลอด เกิดแตกลั่น “เปรี๊ยะ” อย่างไม่มีสาเหตุ!

เสือผ่อนรู้ได้โดยสัญชาตญาณ…ว่ามัจจุราชกำลังถามหา ฉับพลันทันใดนั้นเสือใหญ่แห่งภาคตะวันออกไม่ทันระวังตัว โปลิศสองนายที่เล็งปืนมายังเป้าหมายเสือร้ายเหนี่ยวไกลั่นกระสุนปลิดชีวิตเสือลำบากทันที…โดยหยุดอายุและเส้นทางโจรชื่อดังไว้เพียง 40 ปีนับแต่วันนั้น

ปัจจุบันถึงชีวิตเสือผ่อนจะหาไม่แล้ว แต่ตำนานยุทธภูมิเกาะมันในหรือคือ “รังโจร” มาก่อน ก็ยังคงโจษจันถึงภายในชุมชนบ้านมะขามป้อม และมักขิงสู่บุคคลภายนอกในวีรกรรมจอมโจรผู้นี้อยู่เนืองๆ

ปัจจุบันชุมชนยุคดิจิทัลแห่งนี้มีลูกหลานสกุล “มัจฉาเกื้อ” มากสุด รวมอยู่ในประชากร ต.กร่ำ ทั้งสิ้นราว 900 คน และมีเรื่องราวน่าสนใจไม่แพ้ประวัติเสือผ่อน

คนรู้เรื่องชุมชนนี้ดีคือ “ลุงจั่น” ปรีชา ธรรมสนิท วัย 75 ปี เล่าว่า…แต่ก่อนที่นี่เป็นป่าน้อยๆ ปกคลุมด้วยพุ่มหญ้าริมทะเล ติดกับแหลมตาล อ่าวไข่ ต่อเนื่องแหลมแม่พิมพ์ มีทางเกวียนไปมาหาสู่กันได้ในยุคนั้น

“มะขามป้อมมีเรือนอาศัยอยู่ 2-3 หลัง ทำประมงยังชีพเพราะสัตว์ทะเลเหลือเฟือ ชายฝั่งมีปลากระบอกชุม ปลาใบขนุนก็มีแต่คนเลือกโยนทิ้งไม่นิยมกิน ชายเลนมีปูยั้วเยี้ย คนเดินเป็นโดนหนีบเท้า วิธีจับใช้หลาวพุ่งใส่รับรองไม่มีพลาด ถ้าเสียงดัง ‘เซ็ก’ แสดงว่าตัวเนื้อโพลกคนยองร้องเอาไม่ได้ ถ้าดัง ‘เชี้ยะ’ นั่นแหละถึงเอาได้ กระดองแข็งเนื้อแน่นเอามาต้มหรือนึ่งกินกับน้ำเกลือ คนยองไม่เรียกน้ำจิ้มซีฟู้ด…แม่เอ้ย! ผ่อง (พ่อมึง) ชอบ มันหวานสดอร่อยถูกใจ”

ที่น่าเศร้าใจคือเต่าทะเล…ขณะนั้นมีอยู่มากทั้ง “เต่ากระ” ที่ปากเหมือนเหยี่ยวตัวโตขนาดกลางไม่เกิน 1 เมตรเท่า “เต่าตนุ” และ “เต่ามะเฟือง” สัตว์เลื้อยคลานขนาดใหญ่สุดในโลก คือถ้าเต็มวัย 1.5-2.5 เมตร หนัก 800-900 กิโลกรัม เท้าแข็งเตะคนถึงกระเด็น ตัวเมียเคยขึ้นมาขุดหลุมวางไข่บริเวณหาดแหลมตาลครั้งหนึ่งราว 100 ฟอง ครั้งสอง 80 ครั้งสามสุดท้ายเหลือ 50-60 ฟอง กลบให้ไข่ฟักเองก่อนไปเจริญพันธุ์ในทะเล แล้วกลับมาวางไข่ใหม่อีกทีในที่เก่าทุกปี

“แต่วัฏจักรของเต่าส่วนหนึ่งเป็นเหยื่อหมูป่าชอบมาขุดไข่กิน เหยี่ยวชอบบินมาโฉบจิกลูกอ่อน พอลงทะเลก็จะกลายเป็นอาหารปลาใหญ่ เหลือเจริญพันธุ์จริงๆ ไม่ถึงสิบห้าเปอร์เซ็นต์”

ที่น่าสลด…ลุงจั่นว่าก่อนมีกฎหมายคุ้มครองเต่าชนิดนี้ มนุษย์นี่แหละชอบแอบไปขุดเอาไข่มาแกล้มกินกับเหล้า จนเดี๋ยวนี้เต่ามะเฟืองเลิกที่จะมาวางไข่อ่าวไข่ แหลมตาลเหมือนก่อน ยิ่งกว่านั้นการทำประมงยุคก่อนๆ ถ้าพบเต่าติดแหอวนก็จะใช้ลานหินริมฝั่งชำแหละเลือกเอาเฉพาะเนื้อไปแกงกิน ส่วนหัวจะตัดทิ้งแล้วนำไปทิ้งรวมกันไว้เป็นกองขยะในพงหญ้าป่าท้ายหมู่บ้าน

ใครผ่านไปผ่านมาจะเห็นแต่หัวเต่าทำตาปริบๆ น้ำตาไหลคลอเบ้าตลอด 7 วันถึงจะตาย… “เดี๋ยวนี้ไม่มีอย่างนั้นแล้ว” ลุงจั่นว่า

บอกอีกว่า…ปูกับปลาทุกวันนี้ต้องไปลงอวนหาห่างฝั่งออกไปไกล เพราะอุณหภูมิน้ำทะ เลร้อนจากเอลนินโญ่ ปะการังฟอกขาว สัตว์ต้องหนีตายไปน้ำลึก ปูที่กินดีไม่ดีต้องหาจากทะเลเพื่อนบ้าน ยามบ้านเราเหลือน้อย เมื่อเทียบกับจำนวนชาวประมงที่เพิ่มขึ้น

“ยิ่งรัฐบาลเก่ากวดขันเรื่องอวนตาถี่กำหนดโดยคนไม่เคยทำกินเท่าคนหากินกับทะเล ชาวประมงถึงจมเรือทิ้งไปหลายลำ เพราะทำไปก็ไม่คุ้มกับถูกจับปรับครั้งหนึ่งเป็นแสนถึงห้าล้านบาทก็ยังมี ทีเรือมีสติ๊กเกอร์ติดอวนตาถี่สามารถทำประมงได้ทุกชนิดทุกพื้นที่ทะเลไทยได้อีกด้วย” ลุงจั่นบ่น

เรือประมงบ้านมะขามป้อมจึงเปลี่ยนขอจดทะเบียนใหม่กับเจ้าท่า 10 ลำ เป็นเรือนำเที่ยวเกาะมันในอดีต “รังโจร” เสือผ่อน ซึ่งปัจจุบันคือที่ตั้งโครงการอนุรักษ์พันธุ์เต่า ในพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง แล้วไปดำน้ำดูปะการังแถวเกาะมันกลางถึงมันนอกและเกาะทะลุ

เหลือเรือทำประมงชายฝั่งขายให้พ่อค้าปลาชลบุรีไม่ถึง 100 ลำ ที่ยังดื้อทำประมงด้วยต้นทุนเที่ยวละ 15,000 บาท ต้องจ่ายสารพัด ทั้งค่าน้ำมันแพง น้ำแข็งแช่ปลาขึ้นราคา ค่าแรงต่างด้าวลงอวนคืนละ 2 รอบ 600 บาท ถ้าเป็นคนไทยซึ่งหายาก 800 บาท บวกค่าไต้ก๋งอีก ทำให้ต้องหาปลากลับฝั่งให้ได้มาก ไม่อย่างนั้นหมายถึงขาดทุนในเที่ยวนั้น

ด้วยเหตุนี้…ใครไปบ้านมะขามป้อมซึ่งเป็นชุมชนเล็กๆ เพื่อใช้ท่าเรือท่องเที่ยวแต่ละวัน แล้วได้เห็นศาลเพียงตาตั้งอยู่ 3 แห่ง คือศาลเจ้าพ่อหินกอง ศาลเจ้าพ่อไทรทอง และศาลหลวงเตี่ย อ่าวมะขามป้อม จงเข้าใจไว้เถอะว่า…นั่นคือที่พึ่งของชาวเรือประมงที่ใช้บนบานศาลกล่าวก่อนออกเรือทำประมงให้แคล้วคลาดตลอดปลอดภัย และโชคดีกลับมาพร้อมสินค้าพอขายได้กำไร

อย่าได้หลงคิดว่าสิ่งนั้นคือ “ศาลเสือผ่อน” จอมโจรชื่อกระฉ่อนแห่งภาคตะวันออกของคนบ้านนี้ก็แล้วกัน

ชุมชนบ้านมะขามป้อม

ส่วนวิถีชุมชนคนบ้านนี้…ลุงจั่นเผยว่าแต่เดิมไม่มีใครหมายปองจับจองดินบนเกาะมันในซึ่งอยู่ใกล้แค่เอื้อม ด้วยยากต่อการเดิน มีทางเดียวคือเรือติดใบอาศัยแรงลม บนเกาะก็มีแต่ป่า น้ำไฟไม่มีให้ใช้

“ส่วนที่ดินแหลมตาลรวมบ้านมะขามป้อมในอดีต เคยเป็นแผ่นดินริมทะเลเดียวกับแหลมแม่พิมพ์มีทางเกวียนติดต่อกันได้ ก็ถูกนักการเมืองระดับชาติกับพวกในท้องถิ่นขอซื้อแปลงงามๆ จากชาวบ้านไร่ละ 2 พันบาท คนละ 2 ไร่ทำบ้านตากอากาศ แล้วปิดทางเกวียนเหลือชายหาดไว้เป็นส่วนตัว กับของบฯ หลวงตัดทางเข้าหมู่บ้านให้ด้านหลังจนเดี๋ยวนี้”

ปัจจุบันที่ดินดังกล่าวถูกเปลี่ยนมือจากนักการเมืองสู่นายทุนปรับสร้างเป็นรีสอร์ตหรูริมทะเล มีชายหาดเป็นร้านกินดื่มรสนิยมชิลๆ ขึ้นแทน

ทิ้งให้ชาวบ้านมะขามป้อมมองแล้วทำตาปริบๆ น้ำตาคลอซึมเบ้า

เหมือนหัวเต่าถูกโยนทิ้งไว้กับกองขยะบนที่ดินแปลงนี้เมื่อหลายปีก่อน

“ลุงจั่น” ปราชญ์ท้องถิ่นบ้านมะขามป้อม
“ลุงเผือก” หลานเขยเสือผ่อน

เกาะมันใน “รังโจร” เสือผ่อน