คณะทหารหนุ่ม (53) | แผนยึดภาคอีสาน

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

ภัยจากบูรพา : ข้อมูลใหม่?

กลางปี พ.ศ.2523 ระหว่างที่การเมืองภายในประเทศกำลังอยู่ระหว่างความขัดแย้งระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล อีกทั้งยังเรื่องการต่ออายุราชการ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งกำลังจะจบลงด้วย “ข้อมูลใหม่” นั้น สถานการณ์ในกัมพูชากำลังร้อนแรงและส่งผลกระทบโดยตรงต่ออธิปไตยของไทย

นับแต่กองทัพเขมรแดงของพล พต บุกเข้ายึดกรุงพนมเปญเมื่อ 17 เมษายน พ.ศ.2518 แล้วเริ่ม “ศักราช 0” เพื่อสร้างสังคมใหม่ที่นำมาซึ่ง “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ประชาชนชาวกัมพูชาจำนวนมหาศาลจึงหลั่งไหลหนีเอาชีวิตรอดข้ามชายแดนมาสู่ประเทศไทย ตามมาด้วยการกระทบกระทั่งกันด้วยอาวุธระหว่างกองกำลังเขมรแดงและกองทัพไทยอย่างต่อเนื่อง

ต่อมาเมื่อกองทัพเวียดนามร่วมกับเฮง สัมริน บุกเข้ายึดกรุงพนมเปญได้เมื่อ 7 มกราคม พ.ศ.2522 ระหว่างรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ก็นำไปสู่การอพยพครั้งใหญ่ของชาวกัมพูชาอีกระลอกหนึ่ง

ประเทศไทยยิ่งต้องแบกรับภาระหนักยิ่งขึ้นจากผู้อพยพเหล่านี้ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ได้มอบหมายให้กองบัญชาการทหารสูงสุดรับผิดชอบดำเนินการต่อผู้อพยพกัมพูชาและนำไปสู่การตั้งศูนย์อพยพขึ้นตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา 7 แห่ง ที่ อ.กาบเชิง และไซต์บี จ.สุรินทร์ ไซต์ 2 ไซต์ 8 และเขาอีด่าง จ.ปราจีนบุรี อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี และ อ.เกาะช้าง จ.ตราด

แม้ประเทศไทยจำเป็นต้องแบกรับปัญหานี้ด้วยเหตุผลทางด้านมนุษยธรรม แต่กลับถูกกล่าวหาจากเวียดนามและรัฐบาลเฮง สัมริน ตลอดเวลาว่า ไทยใช้ศูนย์อพยพเหล่านี้เป็นฐานส่งกำลังเข้าไปก่อกวนขัดขวางการปฏิวัติในกัมพูชา จนกลายเป็นชนวนความขัดแย้งถึงขั้นใช้กำลังต่อกันอย่างต่อเนื่องในเวลาต่อมา

การเปิดสงครามสั่งสอนเวียดนามโดยสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อต้นปี พ.ศ.2522 ไม่นานหลังการเข้ายึดครองกัมพูชานั้น แม้จะส่งผลให้สถานการณ์เผชิญหน้าระหว่างเวียดนามกับไทยตามแนวพรมแดนกัมพูชาลดระดับลงบ้าง แต่เมื่อสิ้นสุดสงครามสั่งสอน ความตึงเครียดตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชาก็กลับสู่สภาพเดิมและทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

 

แผนยึดภาคอีสาน

ก่อนการบุกกัมพูชา เมื่อกลางปี พ.ศ.2520 เวียดนามและลาวได้ยื่นข้อเสนอต่อพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยจะส่งกำลังเข้ามาช่วยปลดปล่อย 16 จังหวัดภาคอีสานของไทย แต่ได้รับการปฏิเสธ ดังนั้น เมื่อเวียดนามบุกกัมพูชาเมื่อ 25 ธันวาคม พ.ศ.2521 พลพรรคของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยส่วนใหญ่ที่ปฏิบัติงานอยู่ในลาวและถูกมองว่าอยู่ใต้อิทธิพลของจีนคู่ขัดแย้งโซเวียดและเวียดนามจึงถูกตัดความช่วยเหลือและถูกผลักดันให้ออกจากลาวทันที

กำลังส่วนที่เหลือของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่ไม่ได้อพยพกลับไทยได้รับอนุญาตให้คงกำลังอยู่ในลาวและได้ปรับกำลังใหม่เป็น “ขบวนการประชาชนไทยปฏิวัติ” ซึ่งต่อมาจะรู้จักกันในชื่อ “พรรคใหม่” หรือ “พรรคดาวเขียว” โดยได้รับความช่วยเหลืออย่างเต็มที่จากลาวและเวียดนาม เพื่อส่งกำลังปฏิวัติใหม่นี้เข้ามาชิงการนำบ่อนทำลายประเทศไทยต่อไป

เอกสารคำชี้แจงสถานการณ์ในอินโดจีนของคณะกรรมการภาคตะวันออกเฉียงเหนือของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยซึ่งเจ้าหน้าที่ยึดได้จากการปะทะเมื่อ 8 มีนาคม 2522 ชี้ให้เห็นว่าโซเวียตพยายามแผ่อิทธิพลเข้ามาในประเทศไทยโดยอาศัยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยแต่ไม่ได้ผล เพราะพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยมีความเหนียวแน่นในแนวทางจีน จึงหันมาใช้วิธีบ่อนทำลายพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยโดยเวียดนามให้การสนับสนุนนักการเมืองฝ่ายซ้ายบางคนที่เห็นด้วยกับแนวทางรับความช่วยเหลือจากเวียดนามและลาวโดยร่วมกับคนไทยที่ไปปฏิบัติการอยู่ในลาวและทางการลาวจัดตั้ง “สมาคมไทยอีสาน” ขึ้นในปีเดียวกัน

นายบุญเย็น วอทอง รองประธานพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยได้ประกาศแยกตัวจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยไปตั้ง “พรรคใหม่” หรือ “ขบวนการประชาชนไทยปฏิวัติ” ซึ่งนิยมสายเวียดนาม-โซเวียต

โซเวียตขยายอิทธิพล

โซเวียตต้องการหนุนช่วยพรรคใหม่หรือขบวนการประชาชนไทยปฏิวัติ เพื่อช่วยเป็นเครื่องมือสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีนและสหรัฐอเมริกาด้วย เพราะเห็นว่าถ้าขบวนการประชาชนไทยปฏิวัติสามารถปฏิวัติประเทศไทยได้สำเร็จ การขยายอิทธิพลของโซเวียตเข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็จะกระทำได้สะดวกยิ่งขึ้น

ในยุคต้นของสงครามเย็น สาธารณรัฐประชาชนจีน ต้องเผชิญกับนโยบายปิดล้อม – CONTAINTMENT ซึ่งนำไปสู่การเข้ามีอิทธิพลของสหรัฐอเมริกาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จนนำไปสู่ “สงครามอินโดจีนครั้งที่สอง” ครั้นต่อมาเมื่อสหรัฐอเมริกาเป็นฝ่ายพ่ายแพ้จนต้องถอนกำลังออกจากภูมิภาคนี้ จีนก็ต้องเผชิญกับการปิดล้อมอีกครั้งหนึ่งจากคู่ขัดแย้งใหม่อดีตมิตรคือโซเวียต โดยมีเวียดนามเป็นผู้นำในภูมิภาคเพื่อจัดตั้ง “สหพันธ์อินโดจีน” ขึ้น

เป็นที่น่าสังเกตว่า การยกกำลังเข้ายึดกัมพูชาของเวียดนามเมื่อ 25 ธันวาคม พ.ศ.2521 นั้น ปลายปีต่อมาในวันเดียวกัน 25 ธันวาคม พ.ศ.2522 โซเวียตก็ตัดสินใจส่งกำลังบุกอัฟกานิสถานเช่นเดียวกัน ประเทศอัฟกานิสถานอยู่ในที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์จึงเป็นพื้นที่แข่งขันเพื่อสร้างอิทธิพลระหว่างสหรัฐอเมริกาและโซเวียตในยุคสงครามเย็น ขณะที่มีพรมแดนติดกับจีนทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ การบุกอัฟกานิสถานจึงมีผลต่อวงแหวนปิดล้อมจีนด้วย

ภัยจากเวียดนามในกัมพูชาจึงมิได้เป็นเรื่องระหว่างไทยกับเวียดนามเท่านั้น

 

พคท. : สู่ยุทธศาสตร์ขั้นยันในปี 2522

แม้พรรคประชาชนปฏิวัติลาวจะยุติความช่วยเหลือและขับไล่ให้ผู้ปฏิบัติงานของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยต้องออกจากลาวให้หมดภายในเดือนเมษายน 2522 จนต้องถอนกำลังกลับประเทศไทย แต่พรรคคอมมิวนิสต์ไทยก็ยังไม่ลดละความมุ่งมั่นในการปฏิวัติ โดยกำหนดเข็มมุ่งทางการทหารในปี 2522 ไว้ว่าจะก้าวขึ้นสู่ “ยุทธศาสตร์ขั้นยัน”โดยเลือกใช้ฐานที่มั่นในภาคเหนือและภาคอีสานตอนใต้เป็นหลัก

พ.ศ.2522 การสู้รบระหว่างกองทัพแห่งชาติกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยโดยทั่วไปจึงยังคงมีอยู่และรุนแรงยิ่งขึ้นในทุกภาคของประเทศ