อุษาวิถี (42) บทวิเคราะห์อุษาวิถีกรณีอินเดียและจีน (ต่อ)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก | วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

อุษาวิถี (42)

บทวิเคราะห์อุษาวิถีกรณีอินเดียและจีน (ต่อ)

 

ลักษณะร่วมของอุษาวิถีมีอยู่ 7 ประการ ดังนี้

ประการแรก อุษาวิถีมีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ที่แยกไม่ออกจากกลียุคที่เกิดขึ้นในอินเดียและจีนเมื่อประมาณ 3,000 ปีก่อน และใช้เวลาจากนั้นอีกประมาณ 500 ปีกว่าที่บรรดาสมณะชีพราหมณ์และปัญญาชนนักปราชญ์จะค้นพบ “สัจธรรม” เพื่อเสนอเป็นหนทางแก้ไขปัญหาที่ดำรงอยู่ในช่วงกลียุค

ในแง่นี้ ความเสื่อมทรามของสังคมทั้งสองจึงมีส่วนไม่น้อยที่ผลักดันให้เกิดอุษาวิถีขึ้น

ประการที่สอง อุษาวิถีในอินเดียถือเป็นผลิตผลของการผสมผสานที่ศาสนาพราหมณ์มีต่อศาสนาพุทธ โดยมีอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์เป็นกระแสหลักอย่างชัดเจน ส่วนในจีนถือเป็นผลิตผลของการผสมผสานที่ลัทธิขงจื่อมีต่อลัทธิเต้าและพุทธมหายาน โดยมีอิทธิพลของลัทธิขงจื่อเป็นกระแสหลักอย่างชัดเจนเช่นกัน

และทั้งสองกระแสนี้มีการพัฒนาและปรับตัวหรือปฏิรูปเป็นระยะๆ ตามแต่ยุคสมัยในประวัติศาสตร์ กระทั่งสามารถยืนหยัดอยู่ได้ตราบจนทุกวันนี้

ประการที่สาม อุษาวิถีในฐานะผลิตผลจากความเสื่อมทรามในช่วงกลียุคนั้น บทบาทของพ่อค้านับว่ามีส่วนไม่น้อยที่ก่อให้เกิดกลียุคขึ้นมา ด้วยพ่อค้าคือฐานทางเศรษฐกิจของแต่ละรัฐ ในขณะที่แต่ละรัฐก็ทำศึกในระหว่างกัน

ประการที่สี่ อุษาวิถีมีแนวทางสำคัญคือ การให้ความสำคัญกับการคงอยู่ของสถาบันทางการเมืองที่แบ่งเป็นวรรณะหรือชนชั้น หรือ “สังคมฐานันดร” และการคงอยู่ของสถาบันทางวัฒนธรรมที่มีระเบียบแบบแผน ที่ครอบคลุมพฤติกรรมของมนุษย์ในทุกด้าน

ซึ่งก็คือ ความเชื่อ ค่านิยม รสนิยม ประเพณี ธรรมเนียมปฏิบัติ กิริยามารยาท ตลอดจนพิธีกรรม หรือ “รีต” เพื่อให้สังคมถือเป็นแบบแผนในการดำเนินชีวิต

โครงสร้างทั้งสองนี้ต่างเอื้อต่อการคงอยู่ของกันและกัน และแยกขาดจากกันไม่ได้

ประการที่ห้า อุษาวิถีภายใต้โครงสร้างสังคมฐานันดรและรีตที่เกื้อกูลกันนี้ ส่งผลให้เกิดเสถียรภาพทางการเมืองแก่สังคม โดยเฉพาะรากฐานทางเศรษฐกิจของวรรณะและชนชั้นภายใต้ความสัมพันธ์ในระบบอุปถัมภ์

ระบบความสัมพันธ์ดังกล่าวทำให้บ่าวไพร่อยู่ได้ด้วยเศรษฐกิจของมูลนาย และพ่อค้าถูกกีดกันให้มีบทบาทอยู่นอกระบบความสัมพันธ์ดังกล่าว แต่พ่อค้าก็มีบทบาทในการสั่นคลอนเสถียรภาพของโครงสร้างดังกล่าวไม่น้อย ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในช่วงกลียุค

การสั่นคลอนนี้มักจะประสบผลสำเร็จเมื่อรีตของสังคม โดยเฉพาะของชนชั้นนำไม่เข้มแข็งพอ

ประการที่หก อุษาวิถีให้ความสำคัญกับ “หน้าที่” ที่กระทำผ่านรีต เพราะหน้าที่เป็นที่มาของทุกสิ่งทุกอย่าง โดยเฉพาะ “สิทธิ” ซึ่งอุษาวิถีไม่ได้ระบุเอาไว้ อย่างน้อยก็ในเรื่องของการใช้คำว่า “สิทธิ” ซึ่งแทบไม่ปรากฏหรือปรากฏน้อยมากในอุษาวิถี

ประการที่เจ็ด อุษาวิถีได้รับผลสะเทือนจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลง เมื่อลัทธิอาณานิคมตะวันตกเข้ามาคุกคามรัฐในเอเชีย ผลสะเทือนนี้ทำให้สถาบันทางการเมืองปรับตัวเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในระหว่างศตวรรษที่ 19 ต่อเนื่องมาจนถึงศตวรรษที่ 20

แต่การปรับตัวเปลี่ยนแปลงดังกล่าวถึงที่สุดแล้วไม่เป็นไปตามรีตของตะวันตก ซึ่งก็คือรีตในระบอบประชาธิปไตยและสังคมที่มีสิทธิมนุษยชน มูลเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะสถาบันทางวัฒนธรรมมีการเปลี่ยนแปลงที่น้อยมาก รีตเดิมยังคงมีความมั่นคง

อีกมูลเหตุหนึ่งเป็นเพราะตะวันตกไม่ให้ความสำคัญกับสถาบันนี้ หรือพิจารณาสถาบันนี้อย่างสร้างสรรค์ ในทางตรงกันข้ามกลับดูถูกเหยียดหยามอย่างรุนแรง ว่าเป็นสถาบันทางวัฒนธรรมที่ป่าเถื่อนและล้าหลัง

การที่ตะวันตกมีทัศนะเช่นนั้นในด้านหนึ่งชี้ให้เห็นว่า รีตในวัฒนธรรมตะวันตกมีรากฐานที่แตกต่างกับรีตในวัฒนธรรมตะวันออกหรือเอเชียโดยสิ้นเชิง

 

จากลักษณะร่วมทั้งเจ็ดประการข้างต้นชี้ให้เห็นว่า อุษาวิถีกำลังถูกท้าทายหรือไม่ก็กำลังท้าทายสถานการณ์สากลในยุคโลกาภิวัตน์ การท้าทายนี้มาพร้อมกับเศรษฐกิจเสรีนิยม อันเป็นรูปแบบเศรษฐกิจที่ชักนำให้พ่อค้าหรือนายทุนเข้ามามีบทบาททางการเมืองมากขึ้น และทำการผูกขาดการใช้ทรัพยากรมากขึ้น

เป็นการเข้ามาด้วยความร่วมมือของชนชั้นนำทางอำนาจดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในอดีต

ระบบความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ระหว่างมูลนายกับบ่าวไพร่ในอดีต ได้เปลี่ยนไปเป็นการอุปถัมภ์กันระหว่างชนชั้นนำกับพ่อค้านายทุน

ผลก็คือ ระบอบประชาธิปไตยไม่เพียงไม่เกิด หากที่เกิดก็เป็นเพียงรูปแบบ เนื้อหายังคงเป็นการเมืองแบบอำนาจนิยม ดังนั้น สิทธิมนุษยชนจึงเป็นเรื่องที่ยังคงมีปัญหาในความเป็นจริง

จะเห็นได้ว่า การเข้ามาของรีตตะวันตกไม่เพียงจะไม่นำไปสู่ในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น หากยังเป็นการเข้ามาเพื่อแสวงหาส่วนเกินทางเศรษฐกิจ โดยผ่านระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมที่ตนช่ำชอง

ด้วยเหตุนี้ รีตตะวันตกจึงมีส่วนไม่น้อยในการทำให้เกิดการละเมิดสิทธิ์ขึ้นในรัฐเอเชียไปด้วย

 

อย่างไรก็ตาม รีตตะวันออกหรือเอเชียก็ยังคงอยู่ และยังมีพลังพอที่จะเผชิญภาวะที่ท้าทายนั้นได้ ถึงแม้บางส่วนของรีตนี้จะต้องปรับเปลี่ยนอยู่บ้างก็ตาม

เหตุฉะนั้น อุษาวิถีที่พึงประสงค์จึงมิใช่สิ่งเลื่อนลอย อย่างน้อยก็ในแง่รากฐานวัฒนธรรมของอุษาวิถีเอง ที่ไม่ต่างกับเครื่องมือที่ต่อต้านทำลายบทบาทของชนชั้นนำที่ร่วมมือกับพ่อค้านายทุน ซึ่งครั้งหนึ่งได้เคยนำมาซึ่งกลียุคมาแล้ว

อุษาวิถีในนิยามที่พึงประสงค์จึงคือ แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจการเมืองที่อิงรากฐานวัฒนธรรมเอเชียโดยอิสระ แต่ก็ไม่ปฏิเสธด้านดีของวัฒนธรรมตะวันตก

ภายใต้นิยามนี้ อุษาวิถีจึงมีเศรษฐกิจการเมืองที่อิงภูมิปัญญาและรีตของตนเองอย่างเป็นด้านหลัก และโดยการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกระดับชุมชน

ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนของอุษาวิถี จึงไม่ได้วางอยู่บนรากฐานการพัฒนาดังที่สังคมตะวันตกต้องการให้เป็น