‘อ.นิธิ’ ถึง ‘เพื่อไทย’ | ปราปต์ บุนปาน

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีโอกาสย้อนกลับไปฟังคำสัมภาษณ์-คำอภิปรายหลายชิ้นของ “ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์” ปัญญาชนสาธารณะอาวุโสที่เพิ่งล่วงลับ

ส่งผลให้ได้รับฟังทรรศนะที่แหลมคม และแม่นยำก่อนกาล หลายต่อหลายครั้งของอาจารย์นิธิ

หมวดหมู่คำสัมภาษณ์-คำอภิปรายกลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจ ก็คือ ทรรศนะที่นักวิชาการผู้นี้มีต่อพรรคเพื่อไทย

ในวาระที่สังคมไทยมีแนวโน้มสูงที่จะได้รัฐบาลใหม่ ซึ่งมีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนหลัก จึงอยากนำความคิดเห็นของอาจารย์นิธิมาเผยแพร่ซ้ำอีกครั้ง เพื่อเตือนใจว่าที่รัฐบาลในอนาคต

 

เนื้อหาส่วนแรกบันทึกมาจากช่วงถาม-ตอบท้ายงานเสวนา “นิธิ 20 ปี ให้หลัง” เมื่อเดือนธันวาคม 2557 หรือประมาณครึ่งปีหลังการรัฐประหาร (โดยกองทัพ) หนล่าสุด ดังรายละเอียดต่อไปนี้

“(คำถามผู้ชม) จะมีวิธีการใดที่ปรับให้ชนชั้นกลางในเมืองและอีลีตไทยเข้าใจ-เห็นความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย?

“(คำตอบนิธิ) ผมคิดว่า ไม่ว่าจะพูดอย่างไรก็แล้วแต่ แม่งนองเลือดว่ะ คือ น่าเศร้า คุณอาจจะไปถูกยิงตายในท้องถนน โดยไม่ได้ตั้งใจจะเสียสละให้ใครเลย มันจะถึงขั้นนั้นเลยนะ ขั้นที่ผมว่าน่ากลัวมากๆ ในทรรศนะผม

“ถามว่าจะป้องกันไม่ให้เกิดสิ่งนั้นได้อย่างไร? ผมไม่มีคำแนะนำว่าให้ควรทำอย่างไร? แต่มีข้อแนะนำว่าไม่ควรทำอะไร? และมีอยู่ข้อเดียวเท่านั้นเอง คือ อย่าระงับสิทธิประชาธิปไตย

“เพราะผมเชื่ออย่างนี้นะครับว่า ไอ้การเรียนรู้ของใครก็แล้วแต่ มันเกิดขึ้นจากเงื่อนไขที่บังคับให้ทางเลือกที่ดีที่สุดคือเรียนรู้และปรับตัว ถ้าคุณไม่มีเงื่อนไขนั้น ไม่มีใครอยากเรียนรู้ ไม่มีใครอยากปรับตัว ทุกคนยังคิดว่าฉันจะหมุนเข็มนาฬิกากลับไป ฉันจะไปตั้งไอ้ไทม์แมชชีนเพื่อล้างข้อมูลอยู่ได้ตลอดเวลา

“แต่ไอ้ตัวระบอบประชาธิปไตยแบบครึ่งๆ กลางๆ ก็แล้วแต่เถอะ สิทธิเสรีภาพที่มันให้มาได้ตรงนั้น มันไปบังคับให้ทุกฝ่ายต้องเรียนรู้-ปรับตัว ทั้งนี้ รวมถึงคนระดับล่างด้วยนะครับ

“ถ้าเรายังอยู่ในระบอบที่จะต้องมีการเลือกตั้งตามจังหวะ ผมเชื่อว่าคนจำนวนหนึ่งที่อยู่ในระดับพวกอีลีตและคนชั้นกลางจะรู้ว่าวิธีแบบนี้ (พยายามย้อนเวลากลับไป) จะไม่มีทางเอาชนะได้ วิธีแบบนี้ คุณจะไม่สามารถคุมจังหวะของการเปลี่ยนแปลงได้

“คือคนพวกนี้คงไม่กลัวการเปลี่ยนแปลง แต่ต้องการจะคุมให้มันเปลี่ยนตามจังหวะที่เขาคิดว่าเขายังสามารถได้ประโยชน์อยู่ เพราะฉะนั้น การต่อสู้ทางการเมืองมันก็จะถูกบังคับให้ลงมาสู่หีบบัตรเลือกตั้งมากขึ้น

“คนจำนวนมากในสังคมไทย ที่เคยเป็นแฟนพรรคเพื่อไทย ก็จะเลิกเป็นแฟน เพราะไม่ได้ถูกบังคับให้เลือกพรรคเพื่อไทย เข้าใจไหมครับ? มันก็คงมีพรรคการเมืองอื่นๆ ขึ้นมาแข่งอีกเยอะแยะไปหมด แล้วเขาก็พร้อมจะไปเลือกพรรคอื่น เพราะพรรคเพื่อไทยก็ทำความผิดหวังให้เขาตลอดมา เขาจะไปเลือกทำไมพรรคเพื่อไทย?”

 

เนื้อหาอีกส่วนมาจากบทสัมภาษณ์ในรายการ “เอ็กซ์-อ๊อก talk ทุกเรื่อง” ทางช่องยูทูบมติชนทีวี ราวหนึ่งสัปดาห์หลังการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ซึ่งอาจารย์นิธิได้ฝากความหวังกับพรรคเพื่อไทยไว้ดังนี้

“(คำถามผู้ดำเนินรายการ) ในฝั่งเพื่อไทย แม้จะได้ ส.ส. มาอันดับที่สองรองจากก้าวไกล แต่ในการประเมินกันทางการเมือง ก็ถือว่าเป็นความล้มเหลวที่เกิดขึ้นกับเพื่อไทย อาจารย์คิดว่าหลังจากนี้ พอมติของประชาชนมันชัดแล้วแหละว่าเขาต้องการเห็นอะไรจากการเลือกตั้งครั้งนี้ เส้นทางเดินต่อไปของเพื่อไทยในความคิดของอาจารย์จะเป็นอย่างไร?

“(คำตอบนิธิ) จริงๆ ผมว่าเพื่อไทยเขามีศักยภาพนะในการที่จะ… คืออย่างนี้ พูดง่ายๆ ว่าพรรคการเมืองที่พร้อมจะเดินตามสำนึกใหม่ของคนเนี่ย ถามว่าเพื่อไทยมีศักยภาพที่จะทำอย่างนั้นไหม? ผมว่าเพื่อไทยมี

“และผมได้แต่หวังว่าเขาจะเป็นคู่แข่งของพรรคก้าวไกลต่อไปในอนาคต โดยเปลี่ยนเสียจากการที่จะแยกปากท้องออกมาจากการเมือง คือแยกไม่ได้หรอกคุณ

“(ถามว่า) ทำไม? ทุกครั้งที่เราพูดถึงความเหลื่อมล้ำ เข้าใจไหม? คนเราไม่ได้เหลื่อมล้ำที่เงินอย่างเดียว เหลื่อมล้ำที่อำนาจด้วย คุณตัดโอกาสที่จะให้เขาต่อรอง เหลือแต่ความเหลื่อมล้ำด้านเงิน คุณก็ต้องแจกเงินเท่านั้นเอง จบ ถูกไหม? เอาเงินไปให้เขา

“แต่ถ้าคุณหันมาสู่เรื่องว่า คุณให้โอกาสต่อรองกับเขา คุณไปดูกฎหมายแรงงานไทยทุกวันนี้สิ คุณตัดโอกาสต่อรองทุกชนิดลงไปหมด พลังการต่อรองของฝ่ายแรงงานนี่ต่ำมากๆ

“ผมคิดว่า พรรคเพื่อไทยวันหนึ่งจะมองเห็นว่าเราแก้ปัญหาเฉพาะไอ้จุดเล็กจุดน้อยที่อยู่ในโครงสร้างเก่า มันเป็นไปไม่ได้ คุณจะต้องกล้าเข้ามาแก้ในตัวโครงสร้างด้วย

“ถึงตอนจุดนั้นเมื่อไหร่ ผมว่าพรรคเพื่อไทยจะเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของพรรคก้าวไกล” •