โค้งสุดท้าย โผทหาร วัดพลัง ‘บิ๊กตู่’ ส่องตำนาน ‘สัญญาใจ’ ในทัพเรือ-ทัพฟ้า

โค้งสุดท้าย โผทหาร วัดพลัง ‘บิ๊กตู่’ ส่องตำนาน ‘สัญญาใจ’ ในทัพเรือ-ทัพฟ้า กับปฏิบัติการของ ‘ผบ.ทร-ผบ.ทอ เงา’ ยึดนาวี 1-นภา 1

 

แม้พรรคเพื่อไทยจะติติงรัฐบาลรักษาการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า ไม่ควรแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูงก็ตาม

แต่ด้วยกรอบเวลา ก็เป็นไปตามวงรอบตามฤดูกาล อีกทั้งกฎหมายเปิดช่องให้รัฐบาลรักษาการสามารถทำได้ แต่ให้ขออนุญาตจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก่อนเท่านั้น

เฉพาะการแต่งตั้งโยกย้ายที่ต้องผ่านมติ ครม. ไม่ว่าจะเป็นปลัดกระทรวง และเลขาธิการสำนักงานองค์กรต่างๆ ของกระทรวงทบวงกรม หรือผู้ว่าราชการจังหวัด ที่สามารถทำได้ แต่ทว่า ก็จะกลายเป็นเรื่องมารยาททางการเมืองเท่านั้น

แต่สำหรับการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจและทหารนั้น ไม่ต้องผ่านมติ ครม. เพราะแต่งตั้งตามกฎหมายเฉพาะของ สตช. และกลาโหม โดยคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

และคณะกรรมการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารชั้นนายพล กระทรวงกลาโหม ตาม พ.ร.บ.กลาโหม 2551 หรือที่เรียกว่า “บอร์ด 7 เสือกลาโหม” ที่ไม่มีนายกรัฐมนตรีอยู่ แต่จะมี รมว.กลาโหมเป็นประธานบอร์ด

ดังนั้น การจัดทำบัญชีรายชื่อแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารชั้นนายพล หรือโผทหาร จึงได้ดำเนินการตามกรอบเวลาปกติ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ที่ ผบ.เหล่าทัพพิจารณาจัดทำในแต่ละเหล่าทัพของตนเอง

โดยผ่านการประสาน พูดคุยในตำแหน่ง ที่เหล่าทัพต้องแลกเปลี่ยน หรือมีโควต้า ที่ต้องส่งนายทหารแต่ละเหล่าทัพมาประจำที่ บก.ทัพไทย และกลาโหม

จนที่สุด มาถึงขั้นตอนการส่งบัญชีรายชื่อแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารชั้นนายพล ประจำปี 2566 ให้กระทรวงกลาโหม เป็นไปตามกำหนดเดิม คือภายใน 15 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา

โดย ผบ.เหล่าทัพเริ่มทยอยส่งมาตั้งแต่ 10 สิงหาคม จนถึง 15 สิงหาคม โดยที่กองทัพบกมักจะเป็นเหล่าทัพสุดท้ายที่ส่งโผให้กลาโหม เพราะในส่วนตำแหน่งที่เป็นทหารคอแดง จะต้องผ่านขั้นตอนพิเศษในส่วนของ ฉก.ทม.รอ.904 และเพื่อป้องกันโผรั่ว

โดยมีบิ๊กหนุ่ม พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกลาโหม เป็นคนรวบรวมบัญชีรายชื่อทั้งของ บก.ทัพไทย ทบ. ทร. และ ทอ. ที่จะเป็นขั้นตอนทางธุรการ แล้วรอนัดประชุม 7 เสือกลาโหม ที่ต้องเช็กคิว ให้ ผบ.เหล่าทัพวางมาประชุมพร้อมกัน เพราะจะต้องเคาะรายชื่อเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่จะเข้าขั้นตอนเอกสารของกรมเสมียนตรา แล้วให้ ผบ.เหล่าทัพลงนามท้ายคำสั่ง เพื่อส่งให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ

โดยคาดว่าจะมีการประชุมบอร์ด 7 เสือกลาโหม หลังการโหวตเลือกนายกฯ ในสภา ที่คาดว่าจะเป็น 18 สิงหาคม หรือ 22 สิงหาคม แล้ว ในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนสิงหาคม ที่อาจจะเป็น 23 สิงหาคมนี้

ท่ามกลางการจับตามองว่า รายชื่อ ผบ.เหล่าทัพ และตำแหน่งสำคัญ จะผ่านที่ประชุม 7 เสือกลาโหม ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะ รมว.กลาโหม เป็นประธาน ทุกรายชื่อหรือไม่

ร่วมด้วยบิ๊กช้าง พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม พร้อมปลัดกลาโหม ผบ.ทหารสูงสุด ผบ.ทบ. ผบ.ทร. ผบ.ทอ.

ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ไม่เคยล้วงลูกหรือแทรกแซงการแต่งตั้งของแต่ละเหล่าทัพ แต่จะมีแค่การสอบถาม แสดงความห่วงใย ทักท้วงในบางตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม และอาจมีปัญหาเรื่องความอาวุโส และความชอบธรรมเท่านั้น

เช่น ในกรณีที่ พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ ผบ.ทอ.ในเวลานั้น เสนอชื่อบิ๊กแอร์ พล.อ.อ.แอร์บูล สุทธิวรรณ จากผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทอ. มาเป็น ผบ.ทอ. ทั้งๆ ที่มีแคนดิเดตที่เหมาะสมในระดับ 5 เสืออากาศ แต่ในเมื่อ พล.อ.อ.มานัตยืนยันตามนั้น พล.อ.ประยุทธ์ก็ไม่ได้คัดค้าน จนที่สุด นำมาซึ่งปัญหาความขัดแย้งอย่างรุนแรงใน ทอ. มาจนถึงปัจจุบัน

รวมทั้งกรณีที่บิ๊กอุ้ย พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาน ผบ.ทร.ในเวลานั้น เสนอชื่อบิ๊กโต้ง พล.ร.อ.ธีรกุล กาญจนะ รอง ผบ.ทร. ซึ่งอาวุโส ขึ้นเป็น ผบ.ทร.คนใหม่ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะ รมว.กลาโหม และ พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกลาโหมในเวลานั้น ต้องการส่งบิ๊กเฒ่า พล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย รองปลัดกลาโหมในขณะนั้น ข้ามกลับไปเป็น ผบ.ทร. เพราะความอาวุโสสูงสุด

จนทำให้ พล.ร.อ.ชาติชาย ต้องยินยอมที่จะแก้ไขรายชื่อ ให้ พล.ร.อ.สมประสงค์ เป็น ผบ.ทร. อีกทั้งเป็นเพื่อนสนิทร่วมรุ่น ตท.20 ด้วยกัน และเป็นที่รู้กันว่า พล.ร.อ.ชาติชาย จำเป็นต้องเสนอชื่อ พล.ร.อ.ธีรกุล เป็น ผบ.ทร. เพราะเสนอคนนอก ทร.ไม่ได้ และเป็นที่รู้กันว่า เพราะเกรงใจบิ๊กลือ พล.ร.อ.ลิอชัย รุดดิษฐ์ ผบ.ทร.คนก่อน ที่ถือว่าเป็นผู้มีพระคุณที่แต่งตั้งตนเองเป็น ผบ.ทร.

พล.ร.อ.สุวิน แจ้งยอดสุข

หรือแม้แต่เมื่อครั้งที่ พล.ร.อ.สมประสงค์ ตอนเป็น ผบ.ทร. ได้เสนอขอย้ายบิ๊กจ๊อด พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ จากรอง เสธ.ทหาร บก.ทัพไทย ให้กลับมาเป็น ผช.ผบ.ทร. ในการโยกย้ายกลางปี 2565 แม้จะไม่ใช่ธรรมเนียมใน ทร. หรือแม้แต่กองทัพ ที่จะไม่ย้ายตำแหน่งหลัก โดยเฉพาะ 5 เสือเหล่าทัพ ในการโยกย้ายกลางปี

โดยเฉพาะการย้ายสลับกับบิ๊กปู พล.ร.อ.สุทธินันท์ สมานรักษ์ ผช.ผบ.ทร. ที่ไม่ได้มีความผิดใด แต่เพียงเพราะเป็นน้องรักของ พล.ร.อ.ลือชัย ที่มีความขัดแย้งกับ พล.ร.อ.สมประสงค์ ก็ถูกเด้งข้ามไปเป็นรอง เสธ.ทหาร ที่ บก.ทัพไทยเลยทีเดียว

แม้ในเวลานั้น บิ๊กแก้ว พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผบ.ทหารสูงสุด จะทักท้วงไว้แล้วก็ตาม จนที่สุดก็มีความขัดแย้งใน ทร. จนมาถึงปัจจุบัน

ดังนั้น มาตอนนี้ พล.ร.อ.เชิงชาย ที่เป็น ผบ.ทร. และติดหนี้บุญคุณของ พล.ร.อ.สมประสงค์ จึงถูกจับตามองว่า สนับสนุนบิ๊กโอ๋ พล.ร.อ.ชลธิศ นาวานุเคราะห์ เสธ.ทร. ที่มีความสนิทสนมกันส่วนตัว เป็น ผบ.ทร. หรือบิ๊กดุง พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผบ.กองเรือยุทธการ ที่เป็นน้องรักของ พล.ร.อ.สมประสงค์

ที่สำคัญ ในหมู่เพื่อน ตท.23 ใน ทร. และตัว พล.ร.อ.ชลธิศ และ พล.ร.อ.อะดุง ที่เป็นเพื่อนกัน หันมาจับมือกันสู้ โดยจะใช้สูตรสัญญาใจ เป็นคนละ 1 ปี เพราะ พล.ร.อ.อะดุง เกษียณ 2567 ควรจะเป็น ผบ.ทร.ก่อน แล้ว พล.ร.อ.ชลธิศ ค่อยขึ้นมาเป็นรอง ผบ.ทร. เพื่อจ่อรอเป็น ผบ.ทร.ในปลายปีหน้า

แต่ทว่า หากเทียบหลักการอาวุโสที่ยึดถือในการโยกย้ายของ ทร.มาตลอดในช่วงหลายปีนี้ ทำให้ พล.ร.อ.สุวิน แจ้งยอดสุข ผช.ผบ.ทร. กลายเป็นแคนดิเดตที่อาวุโสสูงสุด แม้จะเป็นรุ่นน้อง ตท.25 แต่อายุเท่ากัน จะเกษียณ 2568

พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม

อีกทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ เรียกประวัติ 3 แคนดิเดตไปดูด้วยตนเองเลย ประกอบกับผลงานและการเป็นที่ยอมรับในบรรดากำลังพลใน ทร.ด้วย จึงทำให้มีกระแสข่าวว่า สนับสนุน พล.ร.อ.สุวิน ที่อาวุโสที่สุด และเติบโตมาในสายคอมมานด์ ผ่านตำแหน่งผู้บังคับหน่วย มาตามประเพณี ทร. ทั้งผู้บังคับการเรือหลวง ปิ่นเกล้า รล.สุโขทัย และ รล.จักรีนฤเบศร และเป็น ผช.ทูตทหารเรือ ประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ผบ.กองเรือลำน้ำ ผบ.ฐานทัพเรือกรุงเทพ และ ผบ.กองเรือยุทธการ คุมกำลังรบทางเรือ และเป็น ผช.ผบ.ทร.

ขณะที่ พล.ร.อ.ชลธิศ และ พล.ร.อ.อะดุง เติบโตมาในฝ่ายอำนวยการมากกว่า อีกทั้งยังไม่เคยมีปรากฏในรอบหลายสิบปี ที่ ผบ.กองเรือยุทธการ จะขึ้นเป็น ผบ.ทร.เลย แต่จะต้องขยับไปเป็น ผช.ผบ.ทร.ก่อน เช่น บิ๊กนุ้ย พล.ร.อ.นริส ประทุมสุวรรณ และ พล.ร.อ.สุวิน ที่ตอนเป็น ผบ.กองเรือยุทธการ พล.ร.อ.สมประสงค์ ก็ไม่ให้ขึ้นเป็น ผบ.ทร. แต่ให้มาเป็น ผช.ผบ.ทร.ก่อน และมาชิง ผบ.ทร.อีกครั้งในครั้งนี้ และอาวุโสที่สุดด้วย

เพราะ พล.ร.อ.สุวิน ก็ถือเป็นรุ่นน้องที่ทำงานใกล้ชิดกับ พล.ร.อ.สมประสงค์ มานาน และเคยเป็นทีมฝ่าย เสธ.ของบิ๊กหรุ่น พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ เมื่อครั้งเป็น ผบ.ทร.

พล.ร.อ.ชลธิศ นาวานุเคราะห์

ดังนั้น จึงเป็นที่จับตามองว่า พล.ร.อ.เชิงชาย จะตัดสินใจเลือก ผบ.ทร. เพื่อตอบแทนบุญคุณ หรือความเกรงใจผู้มีพระคุณ หรือว่าจะยึดหลักการอาวุโส ความเหมาะสม และตามธรรมเนียมประเพณีของ ทร. และที่สำคัญคือ เป็นคนดี เช่นที่ พล.ร.อ.เชิงชาย เคยให้สัมภาษณ์ไว้ก่อนหน้านี้

เพราะหากย้อนดูคอนเน็กชั่นแล้ว พล.ร.อ.อะดุง ถือเป็นน้องรักของ พล.ร.อ.สมประสงค์ เพราะเป็นทีมหน้าห้อง ทีมฝ่ายเสนาธิการกันมา และปัจจุบันก็เป็นเลขานุการสมาคมแข่งเรือใบฯ ที่มี พล.ร.อ.สมประสงค์ เป็นนายกสมาคม จึงยิ่งใกล้ชิดสนิทสนม และคอยดูแลกัน

ขณะที่ พล.ร.อ.เชิงชาย นั้น ส่วนตัวสนิทสนมกับ พล.ร.อ.ชลธิศ มากกว่า อีกทั้งครอบครัวก็สนิทสนมกันอย่างมาก หากเลือกได้ พล.ร.อ.เชิงชาย ก็คงสนับสนุน พล.ร.อ.ชลธิศ เป็น ผบ.ทร. เพราะ พล.ร.อ.ชลธิศ โดยตำแหน่ง เสธ.ทร. จะอาวุโสกว่า ผบ.กร. ที่ยืนแถวท้ายสุดของ 5 ฉลามทัพเรือ ที่เรียงจาก ผบ.ทร.-รอง ผบ.ทร.-ผช.ผบ.ทร.-เสธ.ทร.-ผบ.กร. แต่ทว่า ก็ไม่อาจตัดสินใจโดยลำพังได้ เพราะยังมีเรื่องหนี้บุญคุณ

ประการหนึ่งที่สะท้อนว่า พล.ร.อ.เชิงชาย มีใจให้ พล.ร.อ.ชลธิศ และ พล.ร.อ.อะดุง คือ การชะลอการกู้เรือหลวงสุโขทัยขึ้นมา เพื่อประกอบการสรุปผลการสอบสวน สาเหตุที่เรืออับปาง ที่หลังเกิดเหตุ เกิดกระแสข่าวพาดพิง 2 นายพลเรือ เพราะหากเร่งกู้เรือ หรือสรุปผลสอบสวน อาจส่งผลกระทบได้

รวมถึงการชะลอการตัดสินใจเรื่องเปลี่ยนเครื่องยนต์เรือดำน้ำ จากเครื่องยนต์เยอรมัน มาใช้เครื่องยนต์จีน ที่อยู่ในการดูแลของ พล.ร.อ.ชลธิศ ที่อาจถูกโจมตีอย่างหนัก จึงยืดเวลาออกไปก่อน โดยให้เหตุผลว่า ต้องรอใบรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรมจากกระทรวงกลาโหมจีนก่อน

ทั้งนี้ เพื่อให้กระแสต่างๆ นิ่ง และรอให้การแต่งตั้งโยกย้ายผ่านไปก่อน เพราะหาก พล.ร.อ.ชลธิศ หรือ พล.ร.อ.อะดุง ได้เป็น ผบ.ทร. ก็จะสามารถมาคุมและเคลียร์เรื่องต่างๆ ได้

พล.ร.อ.สุวิน แจ้งยอดสุข, พล.ร.อ.ชลธิศ นาวานุเคราะห์

ดังนั้น หากพิจารณาจากปัจจัยภายใน ทร. และเรื่องคอนเน็กชั่น หนี้บุญคุณแล้ว พล.ร.อ.เชิงชาย อาจจำเป็นต้องเสนอ พล.ร.อ.ชลธิศ หรือ พล.ร.อ.อะดุง

แต่ พล.ร.อ.อะดุง เหลืออายุราชการปีเดียว และเส้นทางเติบโตที่ไม่โดดเด่น อาจจะเสียเปรียบ พล.ร.อ.สุวิน ส่วน พล.ร.อ.ชลธิศ มีอายุราชการอีก 2 ปี เกษียณ 2568 พร้อม พล.ร.อ.สุวิน

พล.ร.อ.สุวิน สายประดู่เหล็ก เติบโตในสายกำลังรบ ผ่านมาทุกตำแหน่งในเรือ เป็นนักรบชาวเรือ จนเป็นผู้บังคับการเรือหลวงชั้น 1 เป็นเรือใหญ่ถึง 3 ลํา ทั้ง ผบ. เรือหลวงสุโขทัย ผบ.เรือหลวงปิ่นเกล้า และ ผบ.เรือหลวงจักรีนฤเบศร ก่อนได้ไปเป็นผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารเรือ ประจํากรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา และกลับมาเติบโตในสายกำลังรบ เป็น ผบ.กองเรือลำน้ำ และ ผบ.ฐานทัพเรือกรุงเทพฯ และตำแหน่งสูงสุดของสายกำลังรบ คือ ผบ.กองเรือยุทธการ จนขึ้นเป็น ผช.ผบ.ทร.

เหล่านี้จึงทำให้ในบรรดา 3 แคนดิเดต ผบ.ทร. พล.ร.อ.สุวิน จึงโดดเด่นที่สุด เพราะทั้งอาวุโสที่สุด และเส้นทางการเติบโต โปรไฟล์ในสายกำลังรบทางเรือ แบบที่เรียกว่า เป็น “สายประดู่เหล็ก”

ส่วนในแง่สายสัมพันธ์แล้ว ก็ถูกมองว่าเป็นน้องชายของบิ๊กปั๊ด พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข อดีต ผบ.ตร. ที่เมื่อครั้งอยู่ในราชการ ก็เป็นมือทำงานให้ พล.อ.ประยุทธ์ แต่ทว่าเกษียณไปแล้ว

แต่ พล.ร.อ.อะดุง ก็มี พล.ร.อ.สมประสงค์ และอดีตนายทหารเรือชั้นผู้ใหญ่สนับสนุน รวมทั้งนายทหารเรือในสายบ้านป่ารอยต่อฯ ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ พี่ใหญ่ 3 ป. กล่าวกันว่า ถ้า พล.อ.ประวิตรได้เป็นนายกฯ ผบ.ทร.อาจชื่อ พล.ร.อ.อะดุง ก็เป็นได้

ดังนั้น จึงต้องรอการประชุม 7 เสือกลาโหมในสัปดาห์หน้า ว่า ที่ประชุมเคาะรายชื่อตามที่ ผบ.ทหารสูงสุด และ ผบ.เหล่าทัพ พล.อ.ชัยชาญ และ พล.อ.ประยุทธ์ ได้เคยหารือกัน อย่างไม่เป็นทางการมาก่อนหน้านี้หรือไม่

เพราะเรื่องหนี้บุญคุณ และความเกรงใจของ ผบ.เหล่าทัพ ที่มีต่ออดีต ผบ.เหล่าทัพนั้นๆ ก็มีผลต่อการแต่งตั้งโยกย้ายไม่น้อย

พล.อ.อ.ชานนท์ มุ่งธัญญา

นอกจากสถานการณ์นี้จะเกิดขึ้นในการเลือก ผบ.ทร.แล้ว ทุ่งดอนเมืองก็กำลังเผชิญกับเรื่องหนี้บุญคุณ และสัญญาใจเช่นกัน

เพราะตามหลักการที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้หารืออย่างไม่เป็นทางการกับ ผบ.เหล่าทัพก่อนหน้านี้ ให้ยึดหลักอาวุโสเป็นหลักการสำคัญนั้น

บิ๊กหนึ่ง พล.อ.อ.ชานนท์ มุ่งธัญญา รอง ผบ.ทอ. ถือว่าอาวุโสที่สุด และเป็นเต็งหนึ่ง ผบ.ทอ.คนใหม่ เรื่องความรู้ความสามารถ ไม่ต้องพูดถึง เพราะเป็นที่ยอมรับสูงสุดใน ทอ.

แต่ทว่า ตัวบิ๊กตุ๊ด พล.อ.อ.อลงกรณ์ วัณณรถ ผบ.ทอ. กำลังเผชิญกับแรงกดดันจากอดีต ผบ.ทอ. ในการจัดโผ ทอ. และการเลือก ผบ.ทอ.ในครั้งนี้อย่างมาก

กล่าวกันใน ทอ.ว่า หาก พล.อ.อ.อลงกรณ์ ตัดสินใจได้เพียงลำพัง ก็คงจะเลือกบิ๊กจ๋า พล.อ.อ.พงษ์สวัสดิ์ จันทสาร ผช.ผบ.ทอ. ที่ พล.อ.อ.อลงกรณ์ ก็ใช้งาน มอบหมายงานสำคัญมาตลอด จนเกือบจะเป็นเสมือน เสธ.คู่ใจ มากกว่าบิ๊กณะ พล.อ.อ.ณรงค์ อินทชาติ เสธ.ทอ. ตัวจริงเสียอีก ประกอบกับบุคลิกลักษณะของ พล.อ.อ.ณรงค์ จึงทำให้ไม่ใช่ เสธ.ทอ.คู่ใจของบิ๊กตุ๊ด พล.อ.อ.อลงกรณ์

แต่เรื่องสัญญาใจ บุญคุณ นั้นค้ำคอ พล.อ.อ.อลงกรณ์อยู่ เพราะรู้กันดีว่า สัญญาใจกับบิ๊กป้อง พล.อ.อ.นภาเดช ธูปะเตมีย์ ผบ.ทอ.คนก่อน ผู้เป็นพี่ที่มีพระคุณนั้น วางตัวทายาทอำนาจไว้แล้ว ตามสูตร “แอร์-ป้อง-ตุ๊ด-ณะ” ว่าให้ พล.อ.อ.ณรงค์ น้องรักที่เติบโตกันมาในกองบิน 1 เป็น ผบ.ทอ.คนใหม่ และให้บิ๊กหลวย พล.อ.อ.วรกฤต มุขศรี ผบ.คปอ. น้องรัก เป็น เสธ.ทอ.

พล.อ.อ.ชานนท์ มุ่งธัญญา,พล.อ.อ.ณรงค์ อินทชาติ

สูตรทายาทอำนาจคนละ 1 ปี “แอร์-ป้อง-ตุ๊ด-ณะ”นี้ มี 2 สัญญาใจ 2 ทอดซ้อนกันอยู่

โดยสัญญาใจทอดแรก บิ๊กแอร์ พล.อ.อ.แอร์บูล สุทธิวรรณ ตท.21 ดัน พล.อ.อ.นภาเดช เพื่อน ตท.21 ขึ้น ผบ.ทอ. แล้วฝาก พล.อ.อ.อลงกรณ์ น้องรัก ที่กันจากปลัดบัญชี ทอ. ขึ้นมาเป็น ผช.ผบ.ทอ.จ่อไว้ จากนั้น พล.อ.อ.นภาเดช ขึ้นมาเป็น ผบ.ทอ. ก็สร้างความฮือฮา โดยดัน พล.อ.อ.อลงกรณ์ ที่ทุกคนมองข้าม เพราะไม่ใช่นักบินตระกูลเอฟ ไม่ได้โตมาในสายยุทธการ ไม่ผ่านตำแหน่งผู้ฝูง ผู้การกองบินมาเลย ขึ้นเป็น ผบ.ทอ. เรียกได้ว่า ฉีกทุกกฎของเส้นทางเสืออากาศมาแล้ว

มาถึงสัญญาใจทอดที่ 2 คือ เมื่อ พล.อ.อ.อลงกรณ์ เป็น ผบ.ทอ. ย่อมเป็นหนี้บุญคุณ ถึงขั้นที่ใน ทอ.ร่ำลือกันว่า กองทัพอากาศมี “ผบ.ทอ.เงา” เลยทีเดียว จนอาจทำให้ พล.อ.อ.อลงกรณ์ ไม่เป็นตัวของตัวเอง โดยเฉพาะการเลือก ผบ.ทอ.คนใหม่

แต่ทว่า ความอาวุโส และความชอบธรรมของ พล.อ.อ.ชานนท์ ก็อาจทำให้ พล.อ.อ.อลงกรณ์ ต้องยอม แต่ทว่า ตามหลักการขั้นตอนแล้ว พล.อ.อ.อลงกรณ์ ย่อมต้องแสดงให้เห็นว่า ได้ทำตามสัญญาใจ และทดแทนหนี้บุญคุณด้วยการเสนอ พล.อ.อ.ณรงค์ แล้ว แต่ในที่สุด บอร์ด 7 เสือกลาโหม ก็มีมติให้เป็นไปตามที่หารือกัน อย่างไม่เป็นทางการไว้ก่อนหน้านั้น

กล่าวได้ว่า ทั้ง พล.อ.อ.อลงกรณ์ และ พล.ร.อ.เชิงชาย ตกอยู่ในสถานะของการต้องตอบแทนบุญคุณ หรือทำตามสัญญาใจ เพื่อให้อดีตผู้บังคับบัญชาเห็นว่า ได้เสนอชื่อให้แล้ว แต่ที่ประชุมไม่เห็นพ้องด้วย เพื่อที่ว่าจะได้มีเหตุผลชี้แจงอดีต ผบ.ทอ. และ ผบ.ทร. ได้ว่า ได้เสนอชื่อให้แล้วนั่นเอง เมื่อเกษียณราชการไป พล.อ.อ.อลงกรณ์ จะยังสามารถเจอหน้าพูดคุย ร่วมวงกับ พล.อ.อ.นภาเดชได้ หลังส่งต่อหน้าที่ความรับผิดชอบในการดูแล ทอ. ให้คนที่เหมาะสมที่สุดแล้ว แม้จะไม่ใช่คนที่เลือก เพราะสัญญาใจก็ตาม

แต่อย่างไรก็ตาม พล.อ.อ.อลงกรณ์ ยังเจอแรงกดดันจากเพื่อน ตท.22 ที่ต้องการให้คืนความชอบธรรมให้บิ๊กป้อม พล.อ.อ.ธนศักดิ์ เมตะนันท์ รองปลัดกลาโหม เพื่อน ตท.22 แต่แบ๊กอัพของ พล.อ.อ.ธนศักดิ์ ก็แผ่วลงไปแล้ว หลังจากที่เคยเฉียดเก้าอี้ ผบ.ทอ. ในการโยกย้ายปลายปีที่แล้ว

เพราะท้ายที่สุด คาดว่าบอร์ด 7 เสือกลาโหม จะเคาะชื่อ พล.อ.อ.ชานนท์ เป็น ผบ.ทอ. เพราะมีข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ เอาประวัติแคนดิเดตแต่ละคนมาพิจารณา และโทร.สอบถามนายทหารอากาศ และทหารเรือที่รู้จักด้วยตนเอง เพราะในส่วนของ ทบ. และเหล่าทหารบกนั้น พล.อ.ประยุทธ์รู้จักน้องๆ ในกองทัพอยู่แล้ว

พล.อ.อ.วรกฤต มุขศรี,พล.อ.อ.ณรงค์ อินทชาติ,พล.อ.อ.พงษ์สวัสดิ์ จันทสาร

แต่ก็มีข่าวสะพัดทั้งในกองทัพอากาศ รวมทั้งในกองทัพเรือ ว่ามีแรงหนุนให้ทั้ง พล.อ.อ.อลงกรณ์ และ พล.ร.อ.เชิงชาย วัดพลังของ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะมองว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะวางมือทางการเมืองแล้ว ไม่ได้กลับมามีอำนาจแล้วด้วย

แต่หากพิจารณาจากสูตรการจัดตั้งรัฐบาล ที่พรรครวมไทยสร้างชาติของ พล.อ.ประยุทธ์ มีชื่อจะร่วมรัฐบาลตั้งแต่ไก่โห่ จน พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกจากพรรค รทสช. และประกาศวางมือนั้น ก็เป็นการสะท้อนอำนาจการต่อรองของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่มีทั้ง ส.ว.มากกว่าครึ่ง และองค์กรต่างๆ อยู่ในมือ กับพรรคเพื่อไทย และผู้มีบารมีนอกพรรคเลยทีเดียว

ดังนั้น โผทหารครั้งนี้ จะเป็นการจัดแถว จัดระเบียบ จัดวางตัว ผบ.เหล่าทัพที่เหมาะสมที่สุด กับแต่ละเหล่าทัพ และสถานการณ์ประเทศ ที่จะเกิดขึ้นเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่จะลงจากหลังเสือ แล้วถอยไปอยู่เบื้องหลัง ดูแลประเทศและกองทัพต่อไป

เพราะแม้จะมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และรัฐบาลใหม่ เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในราวกลางกันยายนนี้ ก็ไม่ทันจัดโผทหารแล้ว เพราะคาดว่าจะทูลเกล้าฯ ในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนสิงหาคม

เพราะหากนายกฯ คนใหม่ หรือ รมว.กลาโหมคนใหม่มาปฏิบัติหน้าที่ทัน ก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงเก้าอี้สำคัญที่มีบทบาทอำนาจแฝงทางการเมือง เช่น เก้าอี้ ผบ.ทบ. หรือ ผบ.ทหารสูงสุดได้ เพราะเป็นนายทหารคอแดง ทั้งบิ๊กต่อ พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ รอง ผบ.ทบ. ที่คาดว่าจะเป็น ผบ.ทบ.คนใหม่ และบิ๊กอ๊อบ พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี รอง ผบ.ทหารสูงสุด ที่คาดว่าจะขึ้นเป็น ผบ.ทหารสูงสุดคนใหม่

พล.อ.อ.ชานนท์ มุ่งธัญญา

แต่นายกฯ และรัฐบาลใหม่ น่าจะได้แต่งตั้งโยกย้ายปลัดกระทรวง และผู้ว่าราชการจังหวัด ส่วนฝ่ายความมั่นคง ก็เช่น เก้าอี้เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่ขึ้นตรงกับสำนักนายกรัฐมนตรี

โดยทางกองทัพได้เตรียมตัวเลือกที่เป็นนายทหารไว้ให้พิจารณาแล้ว แต่นายกฯ คนใหม่จะเห็นชอบหรือไม่ หรือมีข้าราชการที่เป็นฝ่ายความมั่นคง ที่เชื่อใจได้ ที่จะส่งมาเสียบนั่งแท่นเลยก็ได้ หรือจะให้รอง เลขาฯ สมช.ที่เป็นพลเรือน ที่จ่อคิวอยู่ เช่น รองฉัตร นายฉัตรชัย บางชวด ที่ดูแลสายความมั่นคงมานาน เป็นข้าราชการสายความมั่นคงมืออาชีพ ที่ไม่มีขั้วการเมืองใด ขึ้นเลยก็ได้ แม้จะมีอายุราชการถึง 2570 แต่ก็ถือเป็นคนรุ่นใหม่ และจะทำงานได้ต่อเนื่อง

และมีอีกหลายตำแแหน่ง ที่นายกฯ ใหม่ และรัฐบาลใหม่ ต้องมาจัดวางตัวใหม่ ในหลายกระทรวงทบวงกรม เพื่อความมั่นใจ เพราะบรรดาข้าราชการก็เตรียมตัวเตรียมใจรับความเปลี่ยนแปลง เมื่อเปลี่ยนนายกฯ และเปลี่ยนขั้วอำนาจใหม่ แม้จะยังเป็นรัฐบาลขั้วผสมก็ตาม