ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 18 - 24 สิงหาคม 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว |
ผู้เขียน | มุกดา สุวรรณชาติ |
เผยแพร่ |
การเลือกตั้งผ่านมา 3 เดือนเต็ม แต่ไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้เหตุสำคัญก็คือรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ได้มีบทเฉพาะการให้ ส.ว.แต่งตั้ง 250 คนเข้ามาเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส. ดังนั้น เสียง ส.ว. 250 คนจึงกลายเป็นเสียงชี้ขาดว่าจะให้ใครมาเป็นนายกฯ ดังนั้น ความเห็นของ ส.ว.จึงมีสภาพคล้ายความเห็นของพรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดที่มีเสียงถึง 250 คน แม้จะมีเสียงแตกออกไปบ้างแต่ก็ไม่ถึง 10%
พรรคก้าวไกลมีเพียง 151 เสียงรองลงมาพรรคเพื่อไทยก็มี 141 เสียง พรรคร่วมรัฐบาลเดิมมีเสียงรวมกัน 5 พรรคประมาณ 180 เสียง
ด้วยแรงบีบของ ส.ว. แม้ก้าวไกลกับเพื่อไทยสามารถรวมกัน 292 เสียง เพื่อจะตั้งรัฐบาลก็ไม่มีทางทำได้เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีเสียงครึ่งหนึ่งของรัฐสภาคือ 376 ถ้า ส.ว.ไม่โหวตให้ ก็จบตรงนั้น
โครงสร้างอำนาจตามรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย การจัดตั้งรัฐบาลได้จริงต้องมี ส.ว.ยอมมาโหวตให้จำนวนหนึ่ง
ดังนั้น การจัดตั้งรัฐบาลโดยเสียงประชาชนส่วนใหญ่ จึงทำไม่ได้ มีแต่ต้องยอมประนีประนอมกับผู้มีอำนาจจึงมีโอกาส ใครหัวแข็งต้องไปเป็นฝ่ายค้าน
รูปแบบการจัดตั้งรัฐบาล
ที่มีโอกาสเกิดขึ้น
หลังการเลือกตั้งไม่ถึง 1 เดือน นักวิเคราะห์ต่างๆ ก็พอสรุปรูปแบบของการจัดตั้งรัฐบาลได้ดังนี้
1. รูปแบบการจัดตั้งรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตยล้วน ที่พรรคก้าวไกลเป็นแกนนำ รูปแบบนี้ประชาชนชอบ แต่ ส.ว.จะไม่สนับสนุน และตัวนายกรัฐมนตรีจากก้าวไกลจะถูกขัดขวาง ซึ่งก็เป็นจริงตามที่มีการวิเคราะห์กัน และผลการเลือกนายกฯ ก็ปรากฏชัดว่ามี ส.ว.สนับสนุนเพียง 13 เสียง ทำให้ candidate นายกฯ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จากก้าวไกล ไม่ผ่านการคัดเลือก รูปแบบนี้ไปไม่รอด
2. รูปแบบการจัดตั้งรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตยล้วน ที่เพื่อไทยเป็นแกนนำ รูปแบบนี้เพียงสลับเอานายกฯ จากเพื่อไทยขึ้น ซึ่งก็วิเคราะห์ว่าจะจัดตั้งไม่ได้ เหตุผลก็คือ ส.ว.ไม่สนับสนุนเพราะไม่ต้องการให้พรรคก้าวไกลเข้าร่วมในรัฐบาล candidate นายกฯ ของพรรคเพื่อไทยจะได้คะแนนไม่ถึง 375 เพื่อไทยรู้ว่าทำไปแล้วก็แพ้แน่ การจัดตั้งรัฐบาลแบบนี้จึงไม่ถูกนำเข้าเสนอในรัฐสภา
3. รูปแบบการจัดตั้งรัฐบาลแบบข้ามขั้วโดยเพื่อไทยเป็นแกนนำแต่ไม่มีก้าวไกล เพื่อไทยต้องดึงพรรคร่วมรัฐบาลเดิมเข้ามาร่วมหลายพรรค เพื่อทดแทนเสียงของก้าวไกล 151 เสียง รูปแบบนี้ ส.ว.ขานรับ
แต่ประชาชนจำนวนมากไม่เห็นด้วยเพราะมองว่าเป็นการขัดเจตนารมณ์ของประชาชนในการเลือกตั้งที่ผ่านมา
หลังการเลือกตั้งไม่นาน ก็มีคนประเมินกันแล้วว่าความเป็นไปได้จริงก็คือจะต้องมีการตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว ตามใบสั่ง และก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้าน
รูปแบบนี้อยู่ระหว่างการต่อรอง และคล้ายจะจบ
4. รูปแบบที่เกิดจากการจัดตั้งรัฐบาลของเพื่อไทยล้มเหลว และเพื่อไทยยอมไปเป็นพรรคร่วม ซึ่งคนวิเคราะห์กันว่านายกฯ คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แต่นักวิเคราะห์คิดว่าเพื่อไทยคงไม่ยอม และถ้าผลเป็นแบบนั้นเพื่อไทยยอมเป็นฝ่ายค้านดีกว่า
5. รูปแบบการจัดตั้งรัฐบาลซึ่งนำโดยพรรคร่วมรัฐบาลเดิมพรรคใดพรรคหนึ่ง โดยดึง ส.ว.มาสนับสนุนตอนเลือกนายกรัฐมนตรีซึ่งคาดว่าน่าจะมีเสียงเกิน 400 จากนั้นก็ตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย และดำเนินการหาเสียงสนับสนุนด้วยวิธีการต่างๆ โดยดึง ส.ส.จากพรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย และพรรคเล็กอื่นๆ บางคนบางกลุ่มเข้ามาสนับสนุนจนกระทั่งมีเสียงเกิน 250 ของสภาผู้แทนฯ
แต่การดูด ส.ส.แบบนี้ต้องใช้แรงมาก เพราะจะต้องดูด ส.ส. 80 คนเป็นอย่างน้อย
นี่จึงเป็นรูปแบบที่เป็นไปได้ แต่ทำไปก็เสี่ยงมาก ลงทุนไปแล้วรัฐบาลอาจตั้งได้ไม่กี่วันก็ล้ม นอกจากนั้น ยังมีแรงต่อต้านจากประชาชนอย่างมากมาย
รูปแบบนี้จะเกิดขึ้น ถ้าหากเพื่อไทยทำไม่สำเร็จและยอมเป็นฝ่ายค้านร่วมกับก้าวไกล ขณะนี้โอกาสเกิดรัฐบาลแบบที่ 3 มีสูงสุด
เพื่อไทยเป็นผู้ตัดสินใจ
ทางเลือกแรกคือพรรคเพื่อไทยเป็นนายกฯ และตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรครัฐบาลเดิมแม้ได้เคยประกาศไว้ตอนหาเสียงว่าไม่ร่วมกับ 2 ลุง แบบนี้ถึงจะได้เป็นนายกฯ ได้เป็นรัฐบาล แต่ก็จะเสียความนิยมทางการเมืองอย่างมาก แต่ได้เลือกแล้ว
อีกทางเลือกหนึ่งของพรรคเพื่อไทย ที่ไม่เลือก ก็คือไม่เอาพรรค 2 ลุง ถ้าโหวตไม่ผ่านก็ถอยออกไปเป็นฝ่ายค้านร่วมกับก้าวไกล ยอมให้พวกรัฐบาลเดิมตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย พยายามต่อต้านกับการดูด ส.ส. รอจังหวะที่สามารถล้มรัฐบาลเสียงข้างน้อยได้ เช่น ในวาระการประชุมของการผ่านงบประมาณประจำปี
เป็นไปได้ที่รัฐบาลเสียงข้างน้อยจะถูกโค่นในสภา แต่ก็อย่าลืมว่า ส.ว.ยังคงอยู่ และถ้ามีการเลือกตั้งและเลือกรัฐบาลก่อน ส.ว.หมดอายุในเดือนพฤษภาคม 2567 ส.ว.ก็ยังมีสิทธิ์เลือกนายกฯ อยู่ดี
ดังนั้น จังหวะการล้มรัฐบาลต้องคิดให้ดี
สถานการณ์การเมืองที่ต่อสู้กันจนถึงปัจจุบันนี้กลางเดือนสิงหาคม การเลื่อนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ว่าจะมีสิทธิ์เสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ คนเดิม ซ้ำได้หรือไม่ ถูกเลื่อนมาเป็นวันที่ 16 สิงหาคม ซึ่งทิ้งช่วงเวลายาวนานมาก สะท้อนให้เห็นว่ายังมีความสับสนอย่างมาก และทุกฝ่ายต้องการเวลาในการต่อรอง และสรุปเกมการเมือง
แต่การตั้งรัฐบาลเร็วหรือช้ายังมีผลต่อการแต่งตั้งข้าราชการและการผ่านงบประมาณซึ่งเป็นเรื่องสำคัญทั้ง 2 เรื่อง
เรื่องแนวทางนโยบายคุยกันง่ายดี
ต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรี แสนจะยุ่งยาก
การปิดเกมการตั้งรัฐบาลสุดท้ายแล้วก็อยู่ที่การต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ของพรรคที่ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งก็แย้มออกมาแล้วว่าน่าจะมีอัตราส่วนของ ส.ส. 9 คนต่อ 1 เก้าอี้รัฐมนตรี พรรคที่มี ส.ส.มากก็ได้เก้าอี้รัฐมนตรีมากและได้เลือกกระทรวงใหญ่
ตามหลักการแบบนี้ยิ่งมีจำนวน ส.ส.มากพรรคที่เป็นแกนนำย่อมได้เปรียบเพราะสามารถต่อรองได้แม้มีพรรคใดพรรคหนึ่งไม่พอใจก็บีบบังคับพรรคแกนนำไม่ได้ ส่วนพรรคเล็กก็ยิ่งลำบาก
การต่อรองเรื่องกระทรวง จะต้องจบ 80% ก่อนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี
พรรคเพื่อไทยจะมีกำลังการต่อรองมากสุดเนื่องจากมี ส.ส.ถึง 141 คนและเป็นแกนนำ ถ้ามีความขัดแย้งกันถึงที่สุด เพื่อไทยถอนตัวไปเป็นฝ่ายค้าน ใครจะตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากก็จัดตั้งไม่ได้
พรรคภูมิใจไทยมี ส.ส. 71 คน มีกำลังต่อรองเป็นที่ 2 เพราะถ้าไม่มีพรรคนี้ การจัดตั้งรัฐบาลให้ได้เสียงเกินกว่า 270 ก็ทำได้ยาก
พรรคพลังประชารัฐ มี ส.ส.แค่ 40 คน แต่ก็มี ส.ว.เป็นแนวร่วมจำนวนหนึ่งจึงมีกำลังต่อรองไม่น้อยเหมือนกัน
พรรครวมไทยสร้างชาติมี ส.ส.แค่ 36 คน แต่ตามข่าวว่ามี ส.ว.เป็นแนวร่วมมากที่สุด จึงมีกำลังต่อรองพอสมควร
แต่เมื่อพลังประชารัฐและรวมไทยสร้างชาติเข้ามาพร้อมกัน จำนวนส.ว.ที่สนับสนุนอาจล้นเกินต้องการ ทำให้พรรคใดพรรคหนึ่งเอามาใช้เป็นการต่อรองแบบบีบบังคับไม่ได้
พรรคประชาธิปัตย์กลายเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นในองค์ประกอบการตั้งรัฐบาลครั้งนี้ แต่เป็นพรรคสำรอง
จำนวนเสียงของพรรคหลัก 141 + 71 + 40 + 36 เท่ากับ 288 ที่จริงมากพอแล้ว แต่การมีพรรคเล็กคือชาติไทยพัฒนาและประชาชาติ รวมกับพรรค 1-2 เสียงอื่นๆ จะได้อีกประมาณ 25 เสียง ก็เป็นหลักประกันเรื่องความมั่นคงของรัฐบาล เพราะถ้ามีพรรคใดพรรคหนึ่งถอนตัวไป การหาเสียง ส.ส.มาเพิ่มเติมให้เกิน 250 ทำได้ไม่ยาก
สถานการณ์ตอนนี้จึงสรุปได้ว่า
ผู้มีอำนาจคุมเกม ด้วยการบีบบังคับของ ส.ว.ตามรัฐธรรมนูญ 2560
เจตนารมณ์ของประชาชนในการเลือกตั้งไม่สามารถนำมาดำเนินการให้เป็นจริง
การประนีประนอมและยอมต่อผู้มีอำนาจ ทำให้เกิดรัฐบาลผสมแบบยำรวมมิตรซึ่งไม่มีเสถียรภาพ
แต่หลายฝ่ายก็ตัดสินใจว่าจะต้องทำอย่างนี้ไม่ว่าจะอยู่ไปได้เพียง 1 ปีหรือ 2 ปีก็ตาม
คนส่วนใหญ่เหลือเพียงความหวัง…ว่าถ้าตั้งมาแล้วก็จะต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดย ส.ส.ร.ให้สำเร็จ และทำการเลือกตั้งใหม่ทันที
เพียงแต่ว่าไม่มีใครรู้สถานการณ์การเมืองในช่วงนับจากนี้ไปจนถึง 1 ปีข้างหน้าว่าจะเกิดวิกฤตอะไรขึ้นบ้าง
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022