อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในฐานะชาวพุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

วันที่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เสียชีวิต ผมทราบข่าวตอนพักเที่ยงระหว่างอยู่ในการอบรมให้ความรู้แก่พนักงานโรงแรมแห่งหนึ่ง ตอนนั้นตัวชาไปอยู่หลายวินาที ถึงพอจะทราบว่าอาจารย์ป่วยมาพักใหญ่ แต่ข่าวการสิ้นชีวิตของอาจารย์ก็ทำให้รู้สึกตกใจอยู่ดี

ผมไม่ได้อยู่ในแวดวงผู้ใกล้ชิดสนิทสนม แม้จะได้เคยพูดคุยกับอาจารย์อยู่หลายครั้ง แต่ก็สงสัยว่าทำไมตัวเองรู้สึกเศร้าเสียใจ พอได้ตกตะกอนความคิดสักนิดแล้ว

จึงขอความกรุณาท่านผู้อ่าน ใช้พื้นที่คอลัมน์นี้แสดงความอาลัยต่อผู้ซึ่งผมนับถือเป็น “ครู” ท่านหนึ่งในชีวิต

 

ผมไม่เคยเรียนกับอาจารย์นิธิโดยตรง แม้จะเรียนที่คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่อาจารย์สอน เพราะปีที่ผมเข้าไปนั้น อาจารย์เข้าโปรแกรมลาออกก่อนเกษียณไปแล้ว กระนั้นก็ตาม อ่านงานของอาจารย์ในมติชนสุดสัปดาห์มาตลอด อาจารย์นิธินับเป็นหนึ่งในกลุ่มคอลัมนิสต์ที่ผมจะพลิกอ่านก่อนเสมอ ได้แก่ คุณไมเคิล ไรท์, อาจารย์นิธิ, คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ, หมอทรัพย์ สวนพลู, ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ และคุณนิวัติ กองเพียร ซึ่งก็ค่อยๆ หายไปทีละท่านสองท่าน

ถ้าการอ่านงานของอาจารย์ถือว่าเป็นการเรียนแบบหนึ่ง ผมก็ถือตัวว่าเรียนกับอาจารย์มาตั้งแต่มัธยมจนบัดนี้ แม้จะเป็นนักเรียนที่ไม่ค่อยดีนัก เนื่องจากอ่านเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้างด้วยสติปัญญาอันน้อยของตนเอง

สิ่งหนึ่งที่อยากจะเล่าและมีความประทับใจต่ออาจารย์ในทางส่วนตัว คือเมื่อหลายปีก่อน ภาควิชาปรัชญาที่ผมสังกัด ได้เชิญอาจารย์นิธิมาบรรยายในงานประชุมวิชาการที่จัดขึ้น

เย็นวันที่อาจารย์มาถึง หลังอาหารเย็นและการพูดคุยอันยาวนานซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สำคัญของพวกเรา (มากกว่าตอนประชุมวิชาการเสียอีก) เราส่งอาจารย์ไปยังโรงแรมที่ใหม่ที่สุดในนครปฐมตอนนั้น

เช้าวันต่อมา เมื่อพวกเราไปรับอาจารย์มางาน อาจารย์นิธิและอาจารย์สุชาดาคู่ชีวิตได้แจ้งกับพวกเราว่า ได้ขอย้ายห้องพักเมื่อคืน พวกเราตกใจว่ามีอะไรที่ขาดตกบกพร่องหรือไม่ แต่อาจารย์บอกว่าห้องที่ภาควิชาจัดให้พักนั้นใหญ่เกินไป ท่านเกรงว่าเราจะเสียเงินทองไปกับเรื่องนี้มากกว่าที่ควรเป็น จึงย้ายไปห้องที่มีขนาดเล็กลงโดยที่ไม่ได้บอกพวกเราเพราะมันดึกแล้ว

ยิ่งได้อ่านสิ่งที่อาจารย์พวงทอง ภวัครพันธุ์ กล่าวถึงอาจารย์นิธิในช่วงบั้นปลายของชีวิตว่า อาจารย์ไม่ยอมรับการรักษาโดยใช้อภิสิทธิ์พิเศษที่มีผู้เสนอให้เพราะไม่ต้องการเบียดเบียนเงินภาษีของชาวบ้าน ก็ยิ่งประทับใจว่าอาจารย์นั้นเห็นอกเห็นใจคนอื่นเสมอแม้จะไม่รู้จักหน้าค่าตา

อีกทั้งอาจารย์เองไม่ต้องการยื้อความตายในฐานะที่เป็น “ชาวพุทธ”

 

ผมจึงเริ่มเข้าใจความเศร้าของตนเองมากขึ้นว่า ไม่ใช่เพราะผมสูญเสียครูทางหนังสือที่ตนเองติดตามอ่านมาเป็นสิบๆ ปี หรือสังคมไทยได้สูญเสียนักวิชาการที่มีความลุ่มลึกทางสติปัญญาอย่างยากที่จะมีใครเสมอเหมือน แต่เราได้สูญเสีย “ชาวพุทธ” ที่มีจิตวิญญาณอย่างที่ชาวพุทธควรเป็น สูญเสียผู้หวังดีทั้งต่อสังคม ต่อประเทศชาติและพุทธศาสนาอย่างแท้จริงด้วย

สิ่งหนึ่งซึ่งอาจไม่คุ้นเคยในสังคมไทยนัก คือนักวิชาการที่เรียกว่า The scholar – practitioner “นักวิชาการ-นักปฏิบัติ” ซึ่งนอกจากความหมายโดยทั่วไปที่หมายถึงนักวิชาการผู้นำเอาประสบการณ์ชีวิตของตนมาผสานเข้ากับงานวิชาการ หรือการใม่แยกงานทางวิชาการกับการใช้ชีวิตของนักวิชาการคนนั้น

แต่ในมิติของด้านปรัชญาและศาสนา ยังหมายถึงการเป็นผู้ปฏิบัติธรรมหรือปฏิบัติทางจิตวิญญาณและเป็นนักวิชาการในด้านนี้ไปพร้อมๆ กันด้วย

นักวิชาการด้านศาสนาหลายท่านในตะวันตกเป็นผู้ปฏิบัติธรรมระดับสูง อาทิ ศาสตราจารย์โรเบิร์ต เทอร์แมน หรือครูอาจารย์ในมหาวิทยาลัยนโรปะอย่าง เรจินัลย์ เรย์ ท่านเหล่านี้ผลิตงานที่มีความเป็นเลิศทางวิชาการและปฏิบัติธรรมควบคู่ไปด้วย

น่าสนใจว่าผลงานของท่านเหล่านี้มีความลุ่มลึกเป็นพิเศษ อาจเพราะสามารถเชื่อมโยงหลักทางวิชาการเข้าตัวประสบการณ์ตรง จึงทำให้ความรู้ไม่แยกขาดจากชีวิต ไม่กลายเป็นความรู้ที่แห้งแล้งไร้ชีวา อีกทั้งคนทั่วไปก็อาจทำความเข้าใจได้ไม่ยากนัก เพราะสามารถเชื่อมโยงเข้ากับประสบการณ์ของตนเองได้เช่นกัน แต่การจะเป็น The scholar – practitioner ที่ดีก็ไม่ง่าย นักปฏิบัติจำนวนหนึ่งที่สนใจทางวิชาการก็ขาดความลุ่มลึกในงานของตน เพราะให้น้ำหนักกับการปฏิบัติมากกว่าการฝึกฝนทางปัญญา หรือหากสนใจทางวิชาการมากๆ ก็มักย่อหย่อนในทางปฏิบัติไป

ผมคิดว่าอาจารย์นิธิเข้าข่าย The scholar – practitioner แม้ผมจะไม่ทราบว่าโดยส่วนตัวอาจารย์ปฏิบัติหรือภาวนาอะไรในทางศาสนาบ้าง แต่ในงานเขียนของอาจารย์เอง อาจารย์เน้นย้ำเสมอว่าตนเป็นชาวพุทธและแสดงจุดยืนแบบชาวพุทธมาโดยตลอด

 

ที่จริงการปฏิบัติในพุทธศาสนาไม่ได้มีเฉพาะในรูปแบบ อย่างการนั่งสมาธิหรืออะไรแบบนั้น การปฏิบัติภาวนายังสามารถกระทำได้หลายวิธี ครูบาอาจารย์ของผมกล่าวว่า หากยังคงทำงานกับ “ข้างใน” ของเราแต่ละคน ก็ถือว่ายังอยู่ในมิติของการภาวนาทั้งสิ้น

อีกทั้งจะเป็นชาวพุทธที่ดีหรือไม่ ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ “มุมมอง” ซึ่งพุทธศาสนาเรียกว่า “ทิฐิ” ดังที่ท่านเน้นในคำสอนมากว่า “สัมมาทิฐิ” หรือมุมมองที่ถูกต้อง เป็นรากฐานหรือจุดเริ่มต้นสำคัญที่สุดของอริยมรรคหรือหนทางในการบรรลุธรรมเลยทีเดียว หากมีทิฐิไม่ถูกต้องเสียแล้ว แม้แต่การทำบุญหรือการทำสิ่งซึ่งเรียกว่าความดีก็อาจเป็นโทษภัยต่อตนเองและผู้อื่นได้

ดังครูบาอาจารย์ได้สอนเรื่อง “วัตถุนิยมทางจิตวิญญาณ” หรือการนำเอาการนำเอาพิธีกรรม ประเพณีปฎิบัติ แม้แต่คำสอนและการภาวนามาเป็นส่วนหนึ่งของการประดับประดาอัตตาตัวตน ภาวะแห่งวัตถุนิยมทางจิตวิญญาณเริ่มต้นจากทิฐิที่บิดเบือนจากอำนาจของอัตตา ว่าเรากำลังดีขึ้น เป็นคนที่ดีมากขึ้นจากสิ่งเหล่านี้ บริสุทธิ์สะอาดมากขึ้น ทั้งที่อัตตายังไม่ถูกกำราบให้หมดพลังลง

จึงไม่แปลกว่าสังคมไทยซึ่งนิยามตนเองเป็นสังคมพุทธ สามารถกระทำสิ่งที่โหดเหี้ยมในนามของความดีครั้งแล้วครั้งเล่า หรือเพิกเฉยต่อความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์ได้อย่างเย็นชา

ดังนั้น ผมคิดว่าจะเป็นชาวพุทธหรือไม่จึงอยู่ที่ว่ามีมุมมองและ “ท่าทีแบบพุทธ” ต่อสถานการณ์ต่างๆ ในชีวิตของเขา และสังคมโดยรวมอย่างไรมากกว่า

 

หากให้สรุปว่าท่าทีหลักของชาวพุทธคืออะไร ผมคิดว่าคือ “ความเมตตากรุณา” นั่นแหละครับ ที่กล่าวแบบนี้ เพราะเราถือกันว่า พระพุทธะย่อมมีพระมหากรุณาธิคุณเป็นหนึ่งในคุณสมบัติสำคัญที่สุด ส่วนทางมหายานก็ถือว่า ปัญญาและกรุณาเป็นสองหลักธรรมชั้นสูงที่ทำให้บรรลุพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ

จากเรื่องเล่าของอาจารย์พวงทองข้างต้นว่าอาจารย์นิธิไม่ต้องการอภิสิทธิ์ในการรักษาตนเอง เพราะเกรงจะไปเบียดเบียนภาษีคนอื่น รวมทั้งไม่ต้องการยื้อความตายเพราะเป็นชาวพุทธ คงเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นท่าทีแบบพุทธต่อชีวิตตนเองของอาจารย์ได้เป็นอย่างดี

ส่วนมุมมองและท่าทีต่อสถานการณ์ทางสังคม ผมคิดว่าอาจารย์แสดงท่าทีแบบพุทธชัดเจนมาโดยตลอด อีกทั้งยังพยายามส่งเสียงเตือนไปยังชาวพุทธไทยโดยรวม ให้ตระหนักถึงปัญหาซึ่งมาจากการขาดมุมมองและท่าทีแบบพุทธนี่เอง ด้วยความหวังดีว่าพุทธศาสนาในไทยอาจกลับมามีความหมายต่อผู้คนได้บ้าง บทความเรื่อง “กรณีจ่านิวกับพุทธศาสนาไทย” ของอาจารย์แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงเรื่องนี้

มิฉะนั้น พุทธศาสนาจะไร้ความหมายต่อผู้คนดังเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แม้จะยังคงมีพระภิกษุและวัดวาอารามมากมาย แต่ใครกันที่เข้าไปและเข้าไปด้วยวัตถุประสงค์ใด ตรงกันข้ามกับกระแส “มู” ที่ขยายความนิยมมากขึ้นทุกขณะ จนแม้พระก็ต้องกระโจนเข้ามาในกระแสนี้ด้วย

ผมไม่รู้ว่าพระภิกษุสามเณรและชาวพุทธไทยอ่านงานของอาจารย์นิธิกันมากน้อยแค่ไหน แต่ได้โปรดอ่านเถิดครับ แม้อาจารย์จะวิพากษ์อะไรๆ อย่างตรงไปตรงมา แต่น้ำเสียงของอาจารย์เปี่ยมไปด้วยความหวังดีจริงๆ ถ้าอ่านอย่างพินิจก็รู้สึกได้

อาจารย์เคยพูดว่า ชอบงานเขียนของท่านพุทธทาส เพราะมี “อารมณ์ความรู้สึก” ผมคิดว่างานของอาจารย์นิธิก็เป็นเช่นเดียวกัน เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก บางครั้งอ่านเพื่อเอาสติปัญญาก็ยังเหมือนได้รับคำสอนอยู่กลายๆ

 

อีกสิ่งที่ผมประทับใจ ผมจำได้ว่าอาจารย์เคยสร้างพระพุทธรูปถวายวัด ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่นักวิชาการมักจะทำกัน ถ้าจำไม่ผิดสร้างเป็นพระอย่างลาว แล้วถวายที่วัดป่าสุคโตของท่านพระอาจารยไพศาล วิศาโล

จำได้ลางๆ ว่ามีผู้เล่าให้ฟังถึงเหตุผลของอาจารย์ในทำนองว่า เมื่อเราเป็นศาสนิกชน วันหนึ่งก็ควรจะต้องรู้สึกว่ามีสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเรา การสร้างพระพุทธรูปถวายวัดมีความหมายอย่างนี้ด้วย

ในฐานะศาสนิกชนผมย่อมเชื่อว่า กุศลสมภารที่อาจารย์ได้สั่งสมไว้ ย่อมนำอาจารย์ไปยังที่ที่อาจารย์ปรารถนา

และหากอาจารย์มีปณิธานใดแล้วไซร้ ขอปณิธานของอาจารย์

จงสำเร็จเถิด •