The BIG Finish คอนเสิร์ตโบกมือลาอย่างสมศักดิ์ศรี ของวง Mr. Big

บทความพิเศษ | ศรัณยู ตรีสุคนธ์

 

The BIG Finish

คอนเสิร์ตโบกมือลาอย่างสมศักดิ์ศรี

ของวง Mr. Big

 

Mr. Big ก้าวเข้าสู่วงการเพลงอเมริกันร็อกในปี 1989 ด้วยเดบิวต์อัลบั้มที่ใช้ชื่อเดียวกันกับวงและสามารถทะยานขึ้นสู่อันดับที่ 46 บนชาร์ตบิลบอร์ดได้

ส่วน Addicted to That Rush ซิงเกิลแรกของอัลบั้มก็แสดงให้เห็นถึงศักยภาพที่ไม่ธรรมดาของวง โดยเฉพาะการโซโล่เบสและกีตาร์ในช่วงอินโทรที่กรุ่นกลิ่นอายของดนตรีร็อกแอนด์โรลยุคเก่า

ส่วนทักษะการเล่นกีตาร์ของพอล กิลเบิร์ต ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง Racer X วงเฮฟวี่เมทัลระดับปรมาจารย์และการคิดไลน์เบสรวมถึงทักษะการเล่นดนตรีชั้นครูของบิลลี่ ชีแฮน ทำให้ Mr. Big ได้รับการจับตามองทันที

หากไล่ดูตามไทม์ไลน์ในประวัติศาสตร์ร็อกแอนด์โรลแล้วละก็ Mr. Big ถือกำเนิดในช่วงที่กระแสแฮร์ แบนด์ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมดนตรีย่อยของดนตรีแกลม เมทัล กำลังอยู่ในช่วงเบ่งบาน

Mr. Big ฟอร์มวงตามหลังวงรุ่นพี่อย่าง M?tley Cr?e, Poison, Cinderella, Hanoi Rocks, Ratt หรือว่า Bon Jovi ไม่นานมากนัก และถือเป็นวงร่วมรุ่นเดียวกันกับ Skid Row ซึ่งทั้งหมดต่างก็ได้รับอิทธิพลมาจากวงพังก์และแกลม ร็อก ต้นแบบอย่าง T. Rex, New York Dolls, KISS, อลิซ คูเปอร์ รวมถึงเดวิด โบวี่ ด้วย

แต่ Mr. Big ถือเป็นวงที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้ซีนดนตรีแฮร์ แบนด์ ในช่วงปลายยุค 80 มีมาตรฐานสูงขึ้นมากจนยากที่จะหาวงร็อกอื่นใดในยุคนั้นมาเทียบเคียงได้

ภาพลักษณ์สมาชิกวง Mr. Big ในยุคแรกไม่ว่าจะเป็นอีริก มาร์ติน (นักร้องนำ), พอล กิลเบิร์ต, บิลลี่ ชีแฮน และแพต ทอร์พีย์ (กลอง) ที่ผมยาวสลวยและแต่งตัวกันอย่างจี๊ดจ๊าดจัดจ้านตามกระแสแฟชั่นในแบบวงแฮร์ แบนด์ ทั่วๆ ไปในยุคนั้นดูไม่ต่างไปจากเปลือกห่อทอฟฟี่แสนสวยที่ทำให้เด็กๆ อยากลิ้มลองรสชาติอันหวานล้ำที่ซุกซ่อนอยู่ภายใน

แต่เมื่อแกะเปลือกแล้วแทนที่จะได้พบกับของหวานที่ลิ้มรสได้เพียงชั่วครั้งชั่วคราว มันกลับกลายเป็นอาหารประเภท Fine Dining ที่มีรสชาติสุดแสนซับซ้อนและเมื่อได้รับประทานเข้าไปแล้ว รสชาติที่ได้ลิ้มลองจะติดอยู่ที่ปลายลิ้นไปอีกนานแสนนาน

พูดโดยสรุปก็คืองานเพลงของ Mr. Big เป็นเหมือนอาหารในระดับมิชลินสตาร์ ท่ามกลางขนมหวานจำนวนมากที่ถึงแม้ว่าจะมีรสชาติที่หวานเจี๊ยบเพียงใด ก็ไม่ละมุนลิ้นได้เทียมเท่า ถึงแม้ว่าในยุคนั้นจะมีวงดนตรีชื่อดังและฝีมือดีอยู่มากมายก็ตาม

 

Mr. Big เคยเดินทางมาแสดงคอนเสิร์ตที่ประเทศไทยมาแล้วหลายครั้ง แต่คอนเสิร์ตครั้งล่าสุดของวงซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมาที่ MCC Hall เดอะ มอลล์ งามวงศ์วาน ถือเป็นครั้งที่สำคัญมากที่สุดสำหรับแฟนเพลง เพราะทางวงได้ประกาศ Farewell Tour ซึ่งเป็นเวิลด์ทัวร์ครั้งสุดท้ายไปในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และใช้ชื่อทัวร์ว่า The BIG Finish โดยในปี 2024 หลังจากที่เวิลด์ทัวร์จบลงไปแล้ว Mr. Big ก็จะยุบวงอย่างเป็นทางการ

คอนเสิร์ตที่กรุงเทพฯ ครั้งนี้จึงเป็นโชว์ครั้งสุดท้ายของวงในไทย ส่งผลให้มีแฟนเพลงพันธุ์แท้ของวงมารับชมคอนเสิร์ตกันมากมาย

และถือเป็นคอนเสิร์ตที่มีทั้งนักวิจารณ์เพลง, นักดนตรีและศิลปินระดับแถวหน้าของเมืองไทยมารวมตัวกันอย่างคับคั่ง

“ทัวร์ครั้งนี้พิเศษที่สุดนับตั้งแต่เราเคยทำเวิลด์ทัวร์มา มันคือทัวร์ที่จะสร้างความสุขให้กับทุกคนผ่านทุกบทเพลงของเรา สมาชิกทุกคนในวงรู้ดีว่าหลายเพลงของ Mr. Big เป็นที่รักของแฟนเพลงทั่วโลก เราจึงอยากเล่นเพลงเหล่านั้นให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้” พอล กิลเบิร์ต เผยตั้งแต่วันแรกที่แถลงข่าวเตรียมเวิลด์ทัวร์ครั้งสุดท้าย

และโชว์ของวงที่กรุงเทพฯ เมื่อสัปดาห์ก่อนก็แสดงให้เห็นว่า พอล กิลเบิร์ต ทำได้ตามสิ่งที่เคยพูดไว้จริงๆ

 

เซ็ตลิสต์สำหรับโชว์ The BIG Finish Live in Bangkok มีเพลงรวมทั้งสิ้น 22 เพลง (ไม่รวมช่วงเบส และกีตาร์ โซโล่ ที่พอล กิลเบิร์ต หยิบบางท่อนของเพลง Nothing But Love มาเล่นด้วย) ซึ่งเป็นจำนวนเพลงมาตรฐานสำหรับเวิลด์ทัวร์ครั้งนี้ ถ้าไม่นับรวมโชว์ของวงที่เมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น ที่ทางวงเล่นไปถึง 27 เพลง

แต่ก็ไม่น่าแปลกใจอะไรเพราะ Mr. Big เป็นวงที่มีฐานแฟนเพลงที่ญี่ปุ่นสูงมากและทางวงก็เล่นคอนเสิร์ตในแดนปลาดิบสำหรับทัวร์อำลาวงการนี้ถึง 4 โชว์

ผลงานเพลงของวง Mr. Big ออกมาในช่วงที่ยุคสมัยดนตรีอเมริกันร็อกกำลังอยู่ในช่วงคาบเกี่ยวและเปลี่ยนผ่านจากแฮร์ แบนด์ และฮาร์ด ร็อก (แกลม เมทัล) ไปเป็นกรันจ์ ร็อก Lean into It อัลบั้มที่เป็นที่รักของแฟนเพลง Mr. Big มากที่สุดชุดหนึ่งวางจำหน่ายในปี 1991 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่อัลบั้ม Nevermind ของวง Nirvana วางจำหน่ายและเป็นงานเพลงในระดับที่พลิกโฉมหน้าวงการเพลงร็อคร่วมสมัยในยุคนั้นให้เปลี่ยนไปอย่างไม่อาจหวนคืนกลับมาได้อีกเลย แต่ Lean into It ก็สามารถหยั่งรากลึกยืนต้นท้าพายุแห่งความเปลี่ยนแปลงได้อย่างโดดเด่น

การเป็นต้นไม้ที่ยืนเด่นอย่างท้าทายท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านของกระแสดนตรีสองยุคทำให้ฐานแฟนเพลงของวง Mr. Big มีทั้งรุ่นเจนเอ็กซ์ และเจนวาย

นอกจากนี้ ก็ยังมีแฟนเพลงในกลุ่มเบบี้ บูมเมอร์ ที่โตมากับดนตรีบลูส์, โฟล์ก และร็อกแอนด์โรล ยุคเก่าด้วย

การได้รับชมคอนเสิร์ตอำลาของวง Mr. Big ของแต่ละรุ่นย่อมให้ความรู้สึกที่แตกต่างกันออกไปตามรสนิยมและยุคสมัย

แต่สิ่งที่ทุกคนได้รับเหมือนกันแน่นอนคือการได้หวนรำลึกวันคืนเก่าๆ ที่เต็มไปด้วยความทรงจำดีๆ ที่ไม่อาจหวนคืนมาอีกแล้วให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง

 

บทความนี้ไม่ใช่รีวิวคอนเสิร์ต เพราะแฟนเพลงของวง Mr. Big ย่อมรู้ดีอยู่แล้วว่าเพลงอย่าง Addicted to that Rush, Take Cover, Undertow มันเจ๋งขนาดไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่ได้ดูวงเล่นเพลงเหล่านี้สดๆ ยิ่งทักษะในการร้องเพลงและเล่นดนตรีของสมาชิกแต่ละคนรวมถึง นิค ดี’เวอร์จิลิโอ มือกลองคนใหม่ที่เข้ามาเล่นแทน แพต ทอร์พีย์ ที่เสียชีวิตลงในปี 2018 ด้วยโรคพาร์กินสันก็ดูจะเป็นการเสียพื้นที่หน้ากระดาษในการสรรเสริญเยินยอไปเปล่าๆ

เชื่อได้เลยว่าทุกคนในคอนเสิร์ตฟังเพลงของวง Mr. Big มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน หลายคนเคยดูวงเล่นสดมาแล้วก็หลายครั้ง แต่การรู้ตัวอยู่ตลอดเวลาว่าเรากำลังดูวงกำลังเล่นเพลงโปรดเป็นครั้งสุดท้าย (ถ้าไม่บินไปดูต่อที่ประเทศอื่น) ก็ให้ความรู้สึกที่บรรยายเป็นตัวอักษรไม่ได้เลย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ทางวงนำเพลงจากอัลบั้ม Lean into It มาเล่นถึง 11 เพลงติดต่อกัน

และการได้ดูวงเล่นเพลง Just Take My Heart และ To Be With You เป็นครั้งสุดท้ายก็ทำให้เพลงบัลลาดที่แฟนเพลงของวงรักมากเต็มเปี่ยมไปด้วยความหมายมากกว่าครั้งไหนที่เราเคยได้ฟังทั้งสองเพลงนี้มา

Mr. Big แสดงคอนเสิร์ตที่เมืองไทยเป็นครั้งสุดท้าย 24 เพลงรวดโดยที่ไม่มีการอังกอร์เลย ก่อนที่จะโบกมือลาให้กับแฟนเพลงเป็นครั้งสุดท้าย บิลลี่ ชีแฮน บอกกับทุกคนว่า “ผมขอขอบคุณแฟนเพลงทุกคนที่ติดตามผลงานของเรามาตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา” ก่อนที่จะพูดคำว่า “ขอบคุณครับ” เป็นภาษาไทยอย่างชัดถ้อยชัดคำ

“หวังว่าเราจะได้พบกันอีก” เป็นคำพูดกึ่งจริงกึ่งฝันที่บิลลี่บอกกับแฟนเพลง แน่ล่ะ ทุกคนต่างก็อยากดูทางวงแสดงคอนเสิร์ตอีกครั้งในอนาคต แต่ถ้าหากว่ามันจะไม่เกิดขึ้นอีกแล้วจริงๆ แล้วละก็

ทุกๆ บทเพลงของวง Mr. Big ก็จะยังคงอยู่ในใจ อยู่ในความทรงจำของทุกคนไปอีกตราบนานเท่านานแน่นอน