‘ล้อ-ราง-เรือ’

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

รถติดเป็นโจทย์ใหญ่ของกรุงเทพมหานครที่ยังไม่สามารถแก้ได้สำเร็จแม้จะมีผู้คนเสนอแนวทางมากมาย

ในแต่ละปีใช้งบประมาณก้อนมโหฬารขยายถนน ติดตั้งระบบอัจฉริยะ ป้ายคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่บอกเส้นทางจราจร

รวมไปถึงการเพิ่มเส้นทางรถไฟฟ้าสายใหม่ๆ แต่ปัญหารถติดยังหนักหนาสาหัส

ถามว่า ทำไมรถจึงติดหนักใน กทม.?

คำตอบอาจมีมากมาย แต่ 1 ในนั้นเป็นเพราะคน กทม.เลือกความสะดวกสบายด้วยการซื้อรถยนต์ ขี่มอเตอร์ไซค์ แทนการใช้ระบบขนส่งมวลชน จึงทำให้ปริมาณรถบนถนนมีมากเกินไประบายไม่ทัน

ถ้าเป็นเพราะเช่นนั้น แสดงว่าระบบขนส่งมวลชนใน กทม.ไร้ประสิทธิภาพ ไม่สามารถสนองตอบต่อความต้องการของผู้โดยสาร

ผมมองว่า การวางแผนระบบขนส่งมวลชนในบ้านเรานั้นไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ แต่มุ่งสนองตอบต่อกลุ่มทุนทางการเมืองเสียมากกว่า

อย่างเช่น รถไฟฟ้าซึ่งควรเป็นระบบขนส่งมวลชนที่มีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนใช้บริการสะดวกรวดเร็วในราคาถูก แต่ปรากฏว่าค่าตั๋วโดยสารรถไฟฟ้าในบ้านเรากลับมีราคาแพงมาก แพงเป็นอันดับ 1 ในเอเชียเสียด้วยซ้ำไป

 

ที่เป็นงงมานานแล้วทำไมการใช้บริการรถไฟฟ้าในแต่ละสายต้องใช้บัตรโดยสารต่างกัน แทนที่จะอำนวยความสะดวกให้ใช้บัตรร่วมใบเดียวขึ้นได้ทั้งรถเมล์ รถไฟฟ้า หรือเรือโดยสาร เหมือนประเทศอื่นๆ เขาทำกัน

อีกตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ก็คือโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ เชื่อมระหว่างสถานีพญาไทกับสนามบินสุวรรณภูมิ กลุ่มวางแผนโครงการนี้คิดมักง่าย ไม่คำนึงถึงการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการจะเข้าถึงสถานีได้อย่างไร

ผมใช้สถานีทับช้างของแอร์พอร์ตลิงค์เป็นประจำ แต่การเดินทางไปยังสถานีแห่งนี้ต้องนั่งแท็กซี่หรือไม่ก็มอเตอร์ไซค์รับจ้าง เพราะไม่มีรถเมล์แล่นผ่าน

เช่นเดียวกับสถานีหัวหมาก ไม่มีบริการที่จอดรถ ระบบที่เรียกว่า พาร์กแอนด์ไรด์ ไม่ได้ทำไว้ จึงนำไปสู่ปัญหาการจราจรติดขัดเพราะมีที่จอดรถข้างทางแค่ไม่กี่คัน นอกนั้นจอดกันมั่ว ที่จอดก็เล็กแคบเบียดถนน รถวิ่งสวนไปมาลำบาก

ทุกประเทศทั่วโลกที่มีระบบขนส่งมวลชน จะใช้ระบบพาร์กแอนด์ไรด์ให้ความสะดวกกับประชาชนที่ต้องการขับรถยนต์ ขี่มอเตอร์ไซค์ ปั่นจักรยานจากบ้านไปยังลานจอดรถใกล้ๆ เพื่อนั่งรถไฟ หรือรถเมล์ หรือเรือไปทำงานต่อ ลดปัญหาการจราจรติดขัดและลดมลพิษในอากาศ

 

ส่วนระบบขนส่งมวลชน “ล้อ-ราง-เรือ” ที่ผมใช้บริการบ่อยๆ และคิดว่าเป็นระบบที่ดี เพราะรถไฟฟ้าและลำคลองเชื่อมทั่ว กทม.จะทดแทนการเดินทางในเส้นทางที่มีปัญหาจราจรติด

ผมใช้บริการเรือโดยสารคลองแสนแสบของบริษัทครอบครัวขนส่งจากท่าวัดศรีบุญเรือง ไปท่าอโศกเพื่อขึ้นรถไฟฟ้าเข้าไปใจกลางเมือง ใช้เวลาน้อยกว่านั่งแท็กซี่หรือรถเมล์ เดี๋ยวนี้คลองแสนแสบสะอาดขึ้นเยอะ แต่ยังมีเศษขยะให้เห็นอยู่บ้าง และบ้านเรือนริมน้ำทั้งสองฝั่ง ปรับปรุงน่าอยู่ ดูดีกว่าในอดีต

หลายสิบปีก่อนนี้ น้ำในคลองแสนแสบ ดำสนิทมีกลิ่นเหม็น แค่นั่งเรือข้ามฟากจากท่าเรือประสานมิตร ก็ยังต้องอุดจมูก

เวลานี้ กลิ่นเหม็นลดลง น้ำสะอาดขึ้น แสดงว่าระบบกำจัดน้ำเสียในลำคลองแสนแสบมีประสิทธิภาพดีขึ้น ผู้คนสองฝั่งคลองมีจิตสำนึกสาธารณะมากขึ้น การปล่อยน้ำเสียและการเทขยะทิ้งลงคลองมีปริมาณลดลงหรือเปล่า?

 

ในความเป็นจริง เมืองใหญ่ๆ ทั่วโลกที่มีแม่น้ำลำคลองไหลผ่าน จะมีปัญหาเรื่องน้ำเน่าเสีย เพราะประชากรขยายตัว จำนวนชุมชนเพิ่มขึ้น การปล่อยน้ำเสียและขยะก็มีมากขึ้น

ที่เมืองอัมสเตอร์ดัม เมืองแห่งจักรยานและเมืองน้ำ เพราะมีคลองขุดราว 160 คลองเชื่อมระหว่างชุมชนใช้เป็นเส้นทางเดินเรือขนส่งมากว่า 300 ปี ปัจจุบันยังเป็นเส้นทางเดินเรือของชาวอัมสเตอร์ดัม แม้ว่าทางการอัมสเตอร์ดัมพยายามรักษาคุณภาพน้ำในลำคลองให้สะอาดอยู่ตลอดเวลา แต่ก็ยังเจอขยะเกลื่อนลำคลองกว่า 53 ตัน และยังมีซากจักรยานอีกกว่า 1 พันคันจมอยู่ใต้คลอง

แม่น้ำแซน ไหลผ่านกรุงปารีส ฝรั่งเศส ก็มีปัญหาน้ำเน่าเสียมาตลอด เมื่อ 6 ปีก่อนรัฐบาลฝรั่งเศสทุ่มงบฯ 1,400 ล้านยูโร (ราว 54,000 ล้านบาท) เพื่อฟื้นฟูคุณภาพน้ำให้ได้มาตรฐานความปลอดภัย

และสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ชาวปารีสจะกลับมาว่ายน้ำในแม่น้ำแซนได้อีกครั้งในรอบ 100 ปี (ทางการปารีสห้ามว่ายน้ำในแม่น้ำแซนเมื่อปี 2466 เพราะน้ำเน่าเสียคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน) และร่วมเฉลิมฉลองในการเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกที่จะมีขึ้นในปี 2567

แต่เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานี้ ฝ่ายจัดการแข่งขันกีฬาทางน้ำสากล เปิดเผยผลวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำในแม่น้ำแซนครั้งล่าสุดพบว่าคุณภาพน้ำต่ำกว่ามาตรฐาน ไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพของนักว่ายน้ำ

การปรับปรุงคุณภาพแม่น้ำแซนไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะแม่น้ำแซนยาวมากถึง 760 กิโลเมตร มีน้ำที่ไม่ผ่านการบำบัดเกือบ 2 ล้านลูกบาศ์กเมตร ไหลลงแม่น้ำแซน และเมื่อน้ำไหลผ่านกรุงปารีส มีผู้คนพักอาศัยอยู่ถึง 11 ล้านคน ก็ยากที่จะควบคุมคุณภาพน้ำ

อย่างไรก็ตาม เมื่อปีที่แล้ว รัฐบาลฝรั่งเศสเร่งบำบัดจนคุณภาพน้ำดีขึ้นถึง 90 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับ 20 ปีก่อน

 

กลับมาที่ กทม. หากมีแผนเร่งพัฒนาปรับปรุงคุณภาพน้ำในคลองแสนแสบและคลองต่างๆ ทั่ว กทม.ให้ใสสะอาด มั่นใจว่าเส้นทางน้ำสายนี้จะช่วยยกระดับคุณภาพสิ่งแวดล้อมของเมืองหลวงให้ดูดีเป็นอย่างมากและจะกลายเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวทางน้ำที่สำคัญของประเทศ

สำหรับพนักงานเรือโดยสาร ผมชื่นชมในการบริการที่ดีถ้าเทียบกับรถเมล์บางสาย มีให้คำแนะนำผู้โดยสารด้วยทีท่ายิ้มแย้มและการเก็บค่าโดยสารก็ใช้ระบบซื่อสัตย์ต่อกัน เพราะพนักงานมีแค่คนเดียว ถ้าผู้โดยสารขึ้นเรือเยอะๆ ก็จะไม่รู้ว่าใครจ่ายค่าตั๋วแล้วหรือยัง

ข้อเสียของเรือในคลองแสนแสบ มีเสียงเครื่องยนต์ดังมาก ถ้าหากปรับปรุงพัฒนาเป็นเรือพลังงานไฟฟ้าแทนเรือรุ่นเก่า เส้นทางเรือในคลองแสนแสบจะเป็นอีก 1 เส้นทางที่จะช่วยผ่อนคลายปัญหารถติดและมลพิษในอากาศ

เมื่อไม่กี่วันมานี้ คุณปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ว่า สนข.เตรียมยื่นแผนพัฒนาคลองและเส้นทางเดินเรือใหม่เพื่อลดปัญหาการจราจรใน กทม.ให้กับคณะรัฐมนตรีชุดใหม่

สนข.ได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการเดินทางด้วยเรือทั้งใน กทม.และพื้นที่ใกล้เคียง มีระยะทาง 131.2-196.6 กิโลเมตร ใช้ระยะเวลาในการพัฒนา 9 ปี ด้วยเงินงบประมาณ 9,320 ล้านบาท

ในเงินงบประมาณดังกล่าว จะแบ่งเป็นการพัฒนาท่าเรือและเส้นทางเรือปัจจุบันซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 65.4 กิโลเมตร ตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยา คลองผดุงกรุงเกษม และคลองประเวศบุรีรมย์

งบประมาณส่วนที่เหลือนำไปพัฒนาคลองที่จะเป็นเส้นทางเรือใหม่ ตามแผนระยะแรกพัฒนาคลองลาดพร้าว ตามแนวคลองสายไหม-พระโขนง ระยะทาง 25.7 ก.ม. ต้องทำท่าเรือ 23 แห่ง ใช้เงิน 1,440 ล้านบาท อีก 3,240 ล้านบาทจะพัฒนาเส้นทางคลองแสนแสบ

โครงการพัฒนาเส้นทางเรือจะแบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกระยะทาง 12 ก.ม.จากวัดศรีบุญเรือง ไปยังท่าแถวๆ ถนนสุวินทวงศ์ มี 16 ท่า ใช้เวลาก่อสร้างปรับปรุงเสร็จในระยะ 3 ปี

ส่วนที่ 2 เส้นทางเรือจากสะพานผ่านฟ้าลีลาศถึงวัดศรีบุญเรือง มี 28 ท่า และส่วนสุดท้ายระยะทาง 1.5 ก.ม. จากสะพานผ่านฟ้าลีลาศไปป้อมพระสุเมรุ มี 3 ท่าเรือ จะเสร็จในอีก 4 ปี

เส้นทางเรือที่จะขยายเป็นเส้นทางคลองมหาสวัสดิ์-บางกอกน้อย ระยะ 17.1 ก.ม. มี 18 ท่า เชื่อมระหว่างประตูน้ำฉิมพลี ถึงโรงพยาบาลศิริราช โครงการนี้ใช้เงินก่อสร้าง 397.53 บ้านบาท ตั้งเป้าเสร็จภายใน 2 ปี

ส่วนอีกเส้นทางในคลองมหาสวัสดิ์ ระยะทาง 28 ก.ม.เชื่อมระหว่างประตูน้ำมหาสวัสดิ์กับวัดชัยพฤกษ์มาลาราชวรวิหาร ใช้งบฯ 219.93 ล้านบาท ก่อสร้างเสร็จในปี 2568

ส่วนแผนระยะยาว (ปี 2571-2575) ทาง สนข.ใช้เงินงบประมาณพัฒนาเส้นทางเรือในจังหวัดปทุมธานี 3 เส้นทาง เส้นทางแรกจะพัฒนาคลองเปรมประชากร เชื่อมต่อระหว่างวัดรังสิตปทุมธานีกับพื้นที่ในเขตบางซื่อ

เส้นทางที่ 2 ขยายเส้นทางเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาระหว่าง อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี กับ อ.เมือง จ.ปทุมธานี

เส้นทางที่ 3 ขยายเส้นทางเรือคลองประเวศบุรีรมย์ ระหว่างตลาดเอี่ยมสมบัติกับวัดสังฆราชา ระยะทาง 21.4 ก.ม. มี 8 ท่าเรือ

โครงการพัฒนาเส้นทางเรือของ สนข.น่าสนับสนุนเป็นอย่างมาก ผมมั่นใจว่าดีกว่าควักเงินงบประมาณตัดถนนเส้นสายใหม่ๆ เพราะยิ่งขยายถนนมากเท่าไหร่ รถก็ยิ่งติดมากขึ้น มลพิษในอากาศรุนแรงขึ้น

รัฐบาลชุดใหม่ที่จะคลอดในอนาคตอันใกล้ ควรจะหยิบมาโครงการของ สนข.ขึ้นมาพิจารณาอนุมัติโดยด่วน เพราะนี่เป็นส่วนหนึ่งของคำตอบเล็กๆ ของโจทย์ “รถติด” ใน กทม. •

 

สิ่งแวดล้อม | ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]