ยานยนต์ สุดสัปดาห์/เริ่มนับ 1-สังคม “คาร์แชร์ริ่ง” “โตโยต้า ฮาโม่” ถึง “โมไบก์”

สันติ จิรพรพนิต

ยานยนต์ สุดสัปดาห์/สันติ จิรพรพนิต [email protected]

เริ่มนับ 1-สังคม “คาร์แชร์ริ่ง” “โตโยต้า ฮาโม่” ถึง “โมไบก์”

ในปี 2560 นับเป็นอีกปีที่ต้องบันทึกไว้ว่าเมืองไทยเริ่มเข้าสู่สังคม “คาร์แชร์ริ่ง” หรือการแบ่งกันใช้รถ จุดประสงค์หลักเพื่อลดการใช้พลังงานและลดการปล่อยควันเสีย แม้จะเป็นเพียงการใช้ในวงแคบๆ เพื่อนำร่องไปก่อน แต่ยังดีกว่าที่ไม่ได้เริ่ม

โครงการล่าสุดที่เพิ่งเปิดตัวคือ “CU TOYOTA Ha:mo” (ซียู โตโยต้า ฮาโม่) ร่วมมือกันระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด

นำรถยนต์ไฟฟ้าสาธารณะรุ่น “ฮาโม่” มาให้บริการ “ระบบการเดินทางแบบฮาโม่” ภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ช่วงเดือนธันวาคมนี้เอง

การใช้งานเป็นลักษณะเช่าขับในระยะสั้นๆ เบื้องต้นโตโยต้าจัดรถไฟฟ้าฮาโม่รวม 10 คัน ให้บริการกับนิสิต อาจารย์ และประชาชนทั่วไป โดยเตรียมจุดจอดและสถานีชาร์จรวม 12 จุด ส่วนใหญ่อยู่ตามคณะต่างๆ ในจุฬาฯ

“ฮาโม่” เป็นรถไฟฟ้าขนาดเล็กนั่งได้คนเดียว

วิธีใช้ต้องสมัครสมาชิกผ่านระบบออนไลน์ หรือสมัครด้วยตนเองที่สำนักงานโครงการ ตั้งอยู่ในจุฬาฯ ค่าสมาชิก 100 บาท ค่าบริการเริ่มต้นที่ 30 บาทต่อครั้ง สามารถใช้รถได้ 20 นาที จากนั้นคิดเพิ่มนาทีละ 2 บาท สามารถชำระค่าบริการผ่านบัตรเครดิต หรือบัตรเดบิตได้ทุกธนาคาร

จากนั้นดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นเพื่อใช้งาน โดยแอพพลิเคชั่นจะบอกรายละเอียดของรถ เช่น ปริมาณประจุไฟฟ้า จอดไว้ตรงไหนบ้าง

เวลาใช้งานเพียงนำสมาร์ตโฟนไปสแกนหรือใช้บัตรไปรูดตามจุดจอดต่างๆ แล้วขับไปยังสถานีที่ใกล้กับจุดหมายของเราที่สุดแล้วจอดทิ้งไว้ เพื่อต่อรถโดยสารอื่นๆ เช่น รถไฟฟ้า รถใต้ดิน หรือรถโดยสารประจำทาง

แต่ละสถานีมีเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกให้

แม้เบื้องต้นจะมีเพียง 10 คัน แต่โตโยต้าตั้งเป้าว่าภายในกลางปีหน้าจะเพิ่มเป็น 30 คัน

ช่วงแรกของโครงการมีระยะเวลา 2 ปี เพื่อเก็บข้อมูล-การตอบรับ ก่อนเข้าสู่ระยะที่สองในรูปแบบธุรกิจเต็มตัว และขยายไปยังเส้นทางอื่นๆ

ความน่าสนใจของโครงการนี้ถือเป็นครั้งแรกของเมืองไทยที่มีบริการคาร์แชร์ริ่ง หรือแบ่งปันรถกันใช้ ต่างจาก “รถเช่า” ที่ต้องเหมากันทั้งวัน

โตโยต้า เตรียมแผนงานโครงการนี้มาตั้งแต่ปี 2559 ก่อตั้งบริษัทลูกคือ “คอนเน็กเต็ด” มาบริหาร จุดมุ่งหมายเพื่อแก้ปัญหาในการเดินทางด้วยการเชื่อมต่อรถยนต์ส่วนบุคคลเข้ากับระบบขนส่งสาธารณะ ทั้งยังช่วยลดมลพิษและทำให้คนไทยคุ้นเคยกับรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น

เนื่องจากเทรนด์ในอนาคตรถยนต์ไฟฟ้ามาแน่นอนทั้งในไทยและทั่วโลก โตโยต้ามีแผนที่จะนำรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาเมืองไทยด้วย จึงใช้โอกาสครบรอบ 55 ปีการดำเนินงานในประเทศไทย และ 100 ปีจุฬาฯ ร่วมกันทำโครงการนี้ขึ้นมา

ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่ 3 ต่อจากประเทศญี่ปุ่น และฝรั่งเศส

ถือเป็นทางเลือกใหม่ของการเดินทางในสังคมเมือง และในอนาคตหากโครงการนี้ได้รับความนิยมและแพร่หลายมากขึ้น คนไทยอาจใช้รถไฟฟ้าฮาโม่ เดินทางไปไหนต่อไหนในระยะทางที่ไม่ไกลนัก โดยเฉพาะในย่านใจกลางเมือง แทนที่จะขับรถไปเองแล้วต้องวนหาที่จอด หรือซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์รับจ้างแบบเคยๆ

นอกจากระบบการเดินทางแบบฮาโม่ ที่เพิ่งเปิดตัวไป ก่อนหน้านี้เมืองไทยรู้จักกับคาร์แชร์ริ่งอีกรูปแบบหนึ่ง แต่จะเรียก “คาร์” ก็ไม่ค่อยถูกนัก น่าจะเรียก “ไบก์แชร์ริ่ง” จะเข้าท่ากว่า เพราะเป็นการเดินทางด้วยรถจักรยานในนาม “โมไบก์”

“โมไบก์” ถือว่าไม่ธรรมดานะครับเพราะเป็นบริษัทให้บริการจักรยานสาธารณะอัจฉริยะรายใหญ่ที่สุดของโลก ให้บริการทั่วประเทศจีน สิงคโปร์ อิตาลี ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร ครอบคลุม 160 เมืองทั่วโลก มีจักรยานอัจฉริยะรวมทั้งหมดกว่า 7 ล้านคัน ผู้ใช้งานกว่า 25 ล้านครั้งต่อวัน

มีนักลงทุนระดับบิ๊กเนมเข้าร่วมเพียบ อาทิ เทนเซ็นต์, ฟ็อกซ์คอนน์, เทมาเส็ก ฯลฯ และยังเป็นพันธมิตรกับบริษัทใหญ่ๆ เช่น ไมโครซอฟต์, โวดาโฟน, อีริคสัน ฯลฯ

ในเมืองไทยที่ร่วมเป็นพันธมิตรคือยักษ์ใหญ่ 2 ราย ทั้งแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) และเซ็นทรัลพัฒนา (ซีพีเอ็น)

นำร่องใช้งานภายใน “มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์” ซึ่งถือว่าถูกที่จริงๆ เพราะเป็นมหาวิทยาลัยที่มีพื้นที่กว้างขวาง แต่ละอาคารตั้งอยู่ห่างกัน จนจักรยานเป็นหนึ่งในพาหนะสำคัญของนิสิตเกษตรศาสตร์ทุกคน

โมไบก์ เรียกรถของตัวเองเป็นจักรยานอัจฉริยะ เนื่องจากใช้นวัตกรรมล้ำๆ เช่น ระบบการขับเคลื่อนไร้โซ่ ยางไร้ลมที่ไม่มีวันแบน เฟรมอะลูมิเนียมกันสนิม น้ำหนักเบา ระบบจีพีเอส ระบบเก็บข้อมูลการใช้งาน ฯลฯ

เอไอเอส ดูแลเรื่องระบบการชำระเงินผ่าน “mPay” เบื้องต้นคิดค่าบริการ 10 บาท/30 นาที

วิธีการใช้งานคล้ายกับ “ฮาโม่” ต้องสมัครสมาชิก จากนั้นไปยังจุดจอดรถจักรยานที่กำหนดไว้ ใช้รหัสหรือสแกนปลดล็อกแล้วขี่ไปยังจุดจอดอื่นๆ ที่ใกล้กับเป้าหมายของเรามากที่สุด นำไปจอดแล้วล็อก เวลาการใช้งานก็จะหยุดลง ระบบจะหักเงินตามเวลาที่ใช้

ตามแผนของโมไบก์จะขยายบริการทั่วกรุงเทพฯ และจังหวัดใหญ่ๆ ต่อจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คือห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ แยกราชประสงค์ และห้างเซ็นทรัลสาขาอื่นๆ

จริงๆ แล้วผมเห็นบริการไบก์แชร์ริ่งจากต่างประเทศมานานหลายปีแล้ว แห่งแรกที่เจอคือนครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ที่คนนิยมใช้จักรยานกันมาก ถึงขนาดมีเลนจักรยานเฉพาะตามถนนเกือบทุกเส้น

ทางจักรยานของจีนไม่ใช่วิ่งบนฟุตปาธหรือเป็นเลนเล็กๆ นะครับ แต่เป็น 1 เลนของถนนปกตินี่แหละ โดยนำรั้วเหล็กมากั้นเอาไว้เป็นสัดส่วน คนขี่ต้องหยุดรถ-เลี้ยวรถตามสัญญาณไฟจราจรด้วย

ล่าสุดผมไปทดสอบรถที่เมืองปีนัง ประเทศมาเลเซีย ก็เห็นบริการไบก์แชร์ริ่งเช่นกัน ทั้งบางจุดยังจัดที่จอดรถใหญ่ให้ด้วย ลักษณะว่าให้นำรถมาจอดแล้วปั่นจักรยานไปแทน จุดหมายส่วนใหญ่เป็นถนนที่จราจรคับคั่ง หาที่จอดรถยาก เป็นต้น

ไบก์แชร์ริ่งนอกจากช่วยเรื่องลดมลพิษทางอากาศ ลดการใช้น้ำมันแล้ว ยังได้เรื่องสุขภาพของประชาชนเป็นของแถมอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ในเมืองไทยโดยเฉพาะกรุงเทพฯ ผมไม่แน่ใจว่าจะแพร่หลายได้ขนาดไหน เพราะบ้านเรามีเลนจักรยานน้อยกว่าน้อย (เลนเพื่อการสัญจรจริงๆ ไม่ใช่เพื่อการออกกำลังกายตามสถานที่เฉพาะ) แถมเลนเล็กนิดเดียว บางครั้งยังมีแผงขายของ หรือจักรยานยนต์-รถยนต์มาจอดขวางอีกต่างหาก

หลายครั้งที่เห็นคนขี่จักรยานยนต์ไปต่อว่าคนจอดรถ หรือแผงขายของทับเลน กลายเป็นเหตุทะเลาะวิวาทมานักต่อนัก

แถมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เหมือนสักแต่ว่าทำเลนจักรยานเอาไว้ตามนโยบาย ส่วนจะใช้ได้จริงหรือเปล่า…ข้าไม่สน

ไม่นับเรื่องสภาพภูมิอากาศในกรุงเทพฯ ที่ “ร้อน” กับ “ร้อนมาก” เป็นหลักอีกด้วย

แต่หากเป็นเมืองท่องเที่ยวโดยเฉพาะที่อากาศเย็นๆ หากสามารถทำให้เลนจักรยานเป็นทางของจักรยานจริงๆ น่าจะได้รับความนิยมได้ไม่ยาก