ประชาธิปไตยเอไอ (AI Democracy) | สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

หากนั่งดูข่าวทุกวันอย่างต่อเนื่องแล้ว เราจะเห็น “ดราม่าการเมือง” ในเรื่องของการจัดตั้งรัฐบาล และข่าวประเด็นนี้ดูจะเป็นดราม่าชุดใหญ่ ที่ได้รับความสนใจจากผู้ที่ติดตามข่าวสารอย่างมาก จน “เรตติ้งข่าวการเมือง” วันนี้ แทบจะแซงรายการอื่นๆ ไปแล้ว

ดังจะเห็นได้ว่า แม้กระทั่งสถานีโทรทัศน์ที่เคยเน้นละครทีวี ก็ยังต้องหันมาทำรายการ “คุยการเมือง” จนบางครั้งในฐานะผู้ชมทางบ้านแล้ว ต้องยอมรับว่า “ดราม่าการเมือง” กลบ “ดราม่าละคร” ได้อย่างน่าสนใจ หรือบางที ก็แยกแทบไม่ออกระหว่าง “ดราม่าการเมือง” กับ “ดราม่าละคร” เพราะผู้ชมเห็นแต่เพียงภาพในฐานะของ “ปรากฎการณ์” ที่ถูกนำเสนอบนหน้าจอ

อีกทั้ง น่าสนใจอีกส่วนคือ มีทั้ง “นักวิเคราะห์ นักวิจารณ์ นักพยากรณ์ นักเล่าเรื่อง” เข้ามาช่วยดำเนินการให้ดราม่าชุดนี้มีความน่าตื่นเต้นไปกับข้อมูลที่หลากหลาย หลากมุมมอง ซึ่งบางครั้งผู้ชมแทบไม่รู้เลยว่า อะไรคือข้อมูล (ที่น่าจะเป็น “ความจริง”) อะไรคือความเห็น และอะไรคือการคาดเดา

หากคิดในอีกมุมหนึ่ง ก็อาจเสมือนกับเรากำลังชม “ละครการเมือง” ที่มีตัวละครในแบบละครทีวีไทย ที่มีทั้งพระเอก นางเอก ตัวร้าย ตัวโกง และตัวประกอบ ที่เล่นบทแตกต่างกันไป โดยมีสื่อมาช่วยเดินเรื่องผ่าน “ชุดข้อมูล” หนึ่งๆ ที่ถูกประกอบสร้างขึ้นเพื่อสื่อสารกับเรา

อย่างไรก็ตาม จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีใครที่จะสามารถตอบได้อย่างแท้จริงว่า ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลใหม่จะเกิดขึ้นได้จริงเมื่อใด และองค์ประกอบของรัฐบาลใหม่จะเป็นเช่นไร แต่กระนั้น ทุกฝ่ายดูจะพูดถึงความปรารถนาในเรื่องเดียวกันคือ การจัดตั้ง “รัฐบาลประชาธิปไตย” ตามความเชื่อทางการเมืองที่แต่ละคนมี

หากลองคิดเล่นๆ อีกแบบอย่างสุดโต่งว่า ถ้ามนุษยชาติถูกลบความทรงจำที่เป็น “มรดกความคิด” ทางการเมืองในเรื่องประชาธิปไตย ซึ่งมีพัฒนาการทางความคิดมาตั้งแต่ยุคกรีก หรือความรับรู้ทางการเมืองถูกทำให้หายไป โดยเราไม่มี “อุดมการณ์การเมือง” ที่เป็นพัฒนาการของประชาธิปไตยสมัยใหม่และอิทธิพลของลัทธิเสรีนิยม ซึ่งก่อตัวอย่างเข้มแข็งในสังคมตะวันตกมาก่อนแล้ว

สมมติเกิดการลบทิ้งทางการเมืองดังกล่าว ทำให้มนุษยชาติกลายเป็นบุคคลที่ไม่มีความคิดทางการเมืองหลงเหลืออยู่อีกเลย เช่นมนุษย์ไม่เคยรู้เรื่องของระบบการเมืองการปกครองของสหรัฐอเมริกา หรือของยุโรป และอื่นๆ เป็นเช่นไร ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว เราจะคิดถึง “รูปแบบการเมืองการปกครอง” สำหรับสังคมเช่นไร

ในทำนองเดียวกัน ถ้าเราไม่มีมรดกทางความคิดเรื่องประชาธิปไตย ไม่มีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบเสรีนิยม ตลอดรวมถึงไม่มีความทรงจำของชุดความคิดทางการเมืองอื่นๆ เช่น ลัทธิคอมมิวนิสต์และอุดมการณ์สังคมนิยม หลงเหลืออยู่ในจินตนาการของเราแล้ว เราจะสร้าง “รูปแบบ” ของรัฐบาล ในฐานะของการเป็นสถาบันทางการเมืองที่เป็นผู้ใช้อำนาจในการปกครอง “รัฐสมัยใหม่” อย่างไร?

ถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว เราจะยังคงใช้ “ประชาธิปไตยแบบผู้แทน” ต่อไปอีกหรือไม่ (ที่มีนัยในทางรัฐศาสตร์ถึงการเป็น “modern representative democracy”) หรือเราจะคิดรูปแบบทางการเมืองใหม่อย่างไร

ประชาธิปไตยแบบผู้แทนราษฏรนั้น เป็นพัฒนาการทางการเมืองอย่างสำคัญของโลกตะวันตกในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ที่มีเงื่อนไขทางสังคมรองรับอยู่ เช่น การกำหนดเขตเลือกตั้งไม่ให้มีความใหญ่ในขอบเขตทางภูมิศาสตร์ มีความหมายว่า เราต้องการให้คนที่อยู่ร่วมกันในชุมชนหนึ่ง ที่ไม่ต้องเดินทางไกลมาก และสามารถสื่อสารกันภายในพื้นที่นั้นได้ โดยทำการเลือกคนที่เป็น “ผู้แทน” ตัวเรา ให้ไปนั่งทำงานอยู่ในอาคารขนาดใหญ่ที่อยู่ห่างไกลออกไปในเมืองหลวง พวกเขามีหน้าที่หลักในการออกกฎหมาย และออกในนามของพวกเรา

การกำหนดเช่นนี้เป็นผลจากเงื่อนไขของข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์ ที่มีผลโดยตรงต่อการเดินทางและการติดต่อสื่อสารของคนในพื้นที่หนึ่งๆ การกำหนดเขตเลือกตั้งในฐานะของการเป็น “เขตของผู้แทนราษฏร” จึงเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว แต่ปัจจุบัน เงื่อนไขเช่นนี้ในศตวรรษที่ 21 มีผลกระทบน้อยกว่าในศตวรรษที่ 18 มาก

แต่เรายังคงใช้การแบ่งเขตเลือกตั้งในแบบเดิม อาจจะเป็นเพราะการแบ่งเช่นนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุดที่เรามี และยังเป็นวิธีเดียวของการสร้าง “ความเป็นผู้แทนราษฏร” ให้เกิดบนหลักการของการเลือกบุคคลบนฐานของพื้นที่

หากเราอาจลองคิดในอีกมุมหนึ่งว่า ศตวรรษที่ 21 มีความเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ประการ เช่น การกำเนิดและพัฒนาการของ “ปัญญาประดิษฐ์” (AI หรือ artificial intelligence) ที่เข้ามาสู่ชีวิตมนุษย์ในด้านต่างๆ อย่างมาก ตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึง บทบาทและพัฒนาการของเอไอ เช่น การใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการควบคุมสัญญาณไฟจราจร ซึ่งรวมถึงการควบคุมเวลาของการให้สัญญาณไฟในแต่ละช่วงเวลา จนวันนี้อาจต้องยอมรับว่า โลกในศตวรรษที่ 21 ไม่ต้องการจราจรที่เป็นผู้ควบคุมสัญญาณไฟที่สี่แยกอีกแล้ว แต่งานนี้เป็นหน้าที่ที่เอไอทำ และอาจทำได้ดีกว่าการควบคุมของมนุษย์ในแบบเดิม หรือเอไอสามารถเขียนรายงานการวิจัยอย่างที่บรรดาอาจารย์ต้องทำเพื่อการขอตำแหน่งทางวิชาการได้แล้ว

ด้วยพัฒนาการของเอไอเช่นนี้ ทำให้นักเทคโนโลยีตั้งคำถามว่าเป็นไปได้ไหมในอนาคต ที่เอไอเป็นผู้คิดคำนวณอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมให้แก่ประเทศ หรือเอไอจะช่วยในการออกแบบนโยบายภาษี นโยบายการเงินการคลัง แทนที่จะต้องอาศัยการถกเถียงของนักการเมืองในสภาได้หรือไม่ รวมถึงการใช้เอไอในการกำหนดนโยบายด้านต่างๆ เช่น ด้านเกษตร ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสาธารณสุข แทนกระบวนการทำนโยบายที่ดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ หรือยกเลิกการเกณฑ์ทหาร เพราะเอไอที่เป็นหุ่นยนต์จะเป็นทหารเกณฑ์แทน

หากเป็นเช่นนี้จริงแล้ว เอไอจะสามารถทำหน้าที่เป็นผู้คัดเลือกคนไปเป็นผู้แทนราษฏร แทนการเลือกตั้งของเราได้หรือไม่ หรือในทำนองเดียวกัน ถ้าเอไอทำหน้าที่เช่นนั้นได้จริง เราควรมีผู้แทนที่ถูกเลือกในสภาในการออกนโยบายของประเทศ หรือเราจะยกภารกิจของกระบวนการทำนโยบายให้เอไอเป็นผู้กระทำการแทนเรา

แน่นอน ข้อถกเถียงเรื่องประชาธิปไตยในศตวรรษที่ 21 ภายใต้เงื่อนไขความเปลี่ยนแปลงของปัจจัยทางเทคโนโลยีเช่นนี้ ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า ประชาธิปไตยแบบผู้แทนที่กำลังมีปัญหาในการจัดตั้งรัฐบาลที่ประเทศไทยนั้น จะเปลี่ยนไปอย่างไร … เอไอจะช่วยจัดตั้ง “รัฐบาลในอุดมคติ” ให้พวกเราคนไทยได้หรือไม่ หรือว่าสุดท้ายแล้ว ประเทศไทยควรมีนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เป็นเอไอ รวมทั้งมีผู้แทนในรัฐสภา และในสถาบันตุลาการเป็นเอไอด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ คือการทดลองนำเสนอภาพ “ประชาธิปไตยเอไอ” กับโลกในอนาคต

นำเสนอเล่นๆ ครับ อย่าคิดมาก … เพราะในความเป็นจริง เรายังคงต้องติดตาม “ดราม่าการเมืองไทย” ของมนุษย์ที่ปราศจากเอไอกันต่อไป!