โฟกัสพระเครื่อง/เหรียญรุ่นรถไฟ 2526 มงคล “หลวงปู่เครื่อง” วัดสระกำแพงใหญ่

โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ [email protected]

เหรียญรุ่นรถไฟ 2526 มงคล “หลวงปู่เครื่อง” วัดสระกำแพงใหญ่

“พระมงคลวุฒิ” หรือ “หลวงปู่เครื่อง สุภัทโท” อดีตพระเกจิชื่อดังและอดีตเจ้าอาวาสวัดสระกำแพงใหญ่ อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ ที่ชาวอีสานใต้ต่างให้ความเลื่อมใสศรัทธา

วัตถุมงคลพระเครื่องเป็นที่นิยมของบรรดาลูกศิษย์ลูกหาและชาวศรีสะเกษเป็นอย่างสูง ส่วนใหญ่ท่านจะสร้างทั้งเนื้อผง เนื้อโลหะ เช่น พระนาคปรก ปี 2507, พระสมเด็จ 9 ชั้น ปี 2509

แต่ที่นิยมและหายาก คือ “เหรียญรูปเหมือนนั่งเต็มองค์ รุ่นรถไฟ ปี 2526” ซึ่งถือเป็นเหรียญรุ่น 2

ซึ่งเหรียญรุ่นนี้นักสะสมหรือลูกศิษย์ มักเรียกขานว่า “รุ่นรถไฟ” เนื่องจากเคยมีคนขับรถยนต์แล้วถูกรถไฟชนจนเสียหายทั้งคัน แต่ว่าคนขับรถยนต์กลับปลอดภัย ไม่เป็นอะไรมาก นอกจากมีรอยแผลถลอกเท่านั้น

ลักษณะเหรียญหลวงปู่เครื่อง รุ่นรถไฟ เป็นเหรียญกลม มีหูห่วง จัดสร้างเป็นเนื้อทองแดง ด้านหน้าเหรียญ เป็นรูปหลวงปู่เครื่องนั่งขัดสมาธิ ด้านล่างเขียนว่า “หลวงพ่อเครื่อง สุภทฺโท”

ด้านหลังเหรียญเป็นรูปนาคปรก ด้านซ้ายเขียนว่า “รุ่น” ด้านขวาเขียนว่า “รถไฟ” ด้านล่างเขียนว่า “วัดสระกำแพง 2526”

เหรียญดังกล่าว เชื่อกันว่ามีพุทธคุณโดดเด่นรอบด้าน ส่วนราคาเช่าหาบูชา ตามความคมชัดสวยงามของเหรียญ

จัดเป็นอีกเหรียญหนึ่งที่นักสะสมพระเครื่อง ไม่ควรพลาดเป็นอย่างยิ่ง

หลวงปู่เครื่อง เป็นคนศรีสะเกษโดยกำเนิด เกิดในสกุล ประถมบุตร เมื่อวันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม 2453 ครอบครัวมีฐานะยากจน

อายุครบ 21 ปี เข้าพิธีอุปสมบท ที่พัทธสีมาวัดสำโรงน้อย ต.หนองห้าง อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ มีพระครูเทวราชกวีวรญาณ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์ใบฎีกาชม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์พรหมมา เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายา สุภัทโท มีความหมายว่า ผู้ประพฤติงาม

หลังเข้าพิธีอุปสมบทเพียง 2 สัปดาห์ มารดาล้มป่วยหนักและเสียชีวิตลง ทำให้ท่านต้องช่วยเป็นธุระจัดการงานศพมารดาเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนไปอยู่จำพรรษาวัดบ้านค้อ ต.กำแพง ผ่านพ้นวันออกพรรษา บรรดาญาติพี่น้องมาเกลี้ยกล่อมให้ลาสิกขา แต่ท่านไม่ยินยอม เพราะตั้งใจอุทิศชีวิตให้บวรพระพุทธศาสนา

ต่อมา ตัดสินใจเดินทางไปวัดทุ่งไชย เพื่อไปศึกษาเล่าเรียนคัมภีร์มูลกัจจายน์ เป็นเวลา 2 เดือน ก่อนเดินทางต่อไปที่วัดบ้านยางใหญ่ ต.เมืองแคน อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ ฝากตัวเป็นศิษย์กับพระอุปัชฌาย์สาย เจ้าอาวาส เพื่อขอเรียนบาลีและคัมภีร์มูลกัจจายน์

พระอุปัชฌาย์สายเอ็นดูลูกศิษย์คนนี้มาก ด้วยผลการเรียนเป็นที่น่าพอใจ ท่านเรียนได้ดี ทั้งในการแปลภาษาบาลีเป็นประโยคคล่องแคล่วและใส่สัมผัสด้วย

พ.ศ.2477 เดินทางไปอยู่วัดหลวงเมืองอุบล จ.อุบลราชธานี ได้ศึกษาบาลีไวยากรณ์ พ.ศ.2480 สอบได้นักธรรมชั้นโท

พ.ศ.2481 ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพงษ์พรต ต.หนองกว้าง อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ เป็นเวลา 11 ปี ในระหว่างนั้น พ.ศ.2483 สอบได้นักธรรมชั้นเอก

ลำดับผลงานด้านการปกครอง พ.ศ.2480 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลกำแพง อ.อุทุมพรพิสัย และได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการตรวจข้อสอบประโยคนักธรรมชั้นตรี

พ.ศ.2488 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระคณาธิการ องค์การศึกษา อ.อุทุมพรพิสัย พ.ศ.2490 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ พ.ศ.2494 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดสระกำแพงใหญ่ จนถึงปัจจุบัน

สําหรับผลงานด้านการพัฒนาสังคมและสาธารณสงเคราะห์ อาทิ โครงการก่อสร้างตึกผู้ป่วย “ตึกหลวงปู่เครื่อง สุภัทโท” เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครบ 5 รอบ โรงพยาบาลอุทุมพรพิสัยได้จัดสร้างศาลาประชาคมบ้านหนองแปน ต.กำแพง จัดตั้งมูลนิธิหลวงปู่เครื่อง สุภัทโท รวมทั้งบริจาคเงินสมทบทุนสร้างพระประธานและห้องเรียนนักเรียนอนุบาล มอบให้โรงเรียนบ้านค้อ ต.สระกำแพง อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ

หลวงปู่เครื่องให้การอุปถัมภ์ด้านการศึกษา ด้วยการจัดตั้งโรงเรียนสอนพระปริยัติธรรม นักธรรมชั้นตรี-โท-เอก และบาลีไวยากรณ์ขึ้นที่วัดพงษ์พรตและได้จัดตั้งโรงเรียนพุทธมามกะเยาวชน

ขณะเดียวกัน ทำนุบำรุงพัฒนาวัดให้เจริญก้าวหน้ามากมาย ด้วยถาวรวัตถุสิ่งก่อสร้างภายในวัดมากมาย ไม่ว่าจะเป็นกุฏิ วิหาร ศาลาการเปรียญ เมรุ กำแพงวัด ซุ้มประตู

ด้วยความที่หลวงปู่เครื่องเป็นพระนักปฏิบัติ และสนใจการปฏิบัติเจริญภาวนากรรมฐาน ครั้งหนึ่ง เดินทางไปศึกษาธรรมะจากพระมงคลเทพมุนี (หลวงพ่อสด) ที่วัดปากน้ำภาษีเจริญ กรุงเทพฯ ตลอดจนออกเดินธุดงค์ไปยังที่ต่างๆ มาแล้วหลายแห่ง

ดังนั้น เมื่อหลวงปู่เครื่องสร้างวัตถุมงคลออกมาแจกจ่ายบูชาให้แก่พุทธศาสนิกชน ตลอดจนบรรดาคณะศิษยานุศิษย์ จึงมีความเข้มขลังเป็นพิเศษ

ท่านเป็นพระเถระที่ชาวศรีสะเกษให้ความเลื่อมใสศรัทธาดุจดังเทพเจ้ามายาวนาน ทุกครั้งเวลามีผู้ประสบทุกข์ร้อนใจ ล้วนแต่พากันไปกราบหาท่าน ให้ประพรมน้ำมนต์ขจัดปัดเป่าให้ทุกข์ภัยต่างๆ สลายคลาย สร้างความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต

ด้วยเหตุนี้ ชาวเมืองศรีสะเกษ ต่างพร้อมใจกันขนานสมญานามให้เป็น “เทพเจ้าอีสานใต้”

ช่วงบั้นปลายชีวิตของหลวงปู่เครื่อง มีอาการอาพาธบ่อยครั้ง เป็นโรคไต โรคปอดติดเชื้อ โรคความดันโลหิตสูง และอีกหลายโรคด้วยกัน ต้องเข้าออกโรงพยาบาลเป็นประจำ

กระทั่งเมื่อเวลา 02.15 น. วันที่ 28 กรกฎาคม 2551 ณ ตึกสงฆ์พระโพธิญาณเถระ (ชา สุภัทโท) โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี หลวงปู่เครื่องมรณภาพลงด้วยอาการสงบ

สิริอายุ 99 ปี พรรษา 78