ประวัติศาสตร์สังคมซอยหวั่งหลีที่ถูกลืม (2)

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ

 

ประวัติศาสตร์สังคมซอยหวั่งหลีที่ถูกลืม (2)

 

“แผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ.2475” บริเวณที่ดินธรณีสงฆ์ด้านทิศเหนือของวัดยานนาวา ทำการสำรวจในปี พ.ศ.2468 แสดงลักษณะทางกายภาพของพื้นที่แยกออกได้เป็นสองส่วน

ส่วนแรกคือพื้นที่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีลักษณะเป็นท่าเรือ ซึ่งน่าจะเป็น “ท่าเรือเมล์จีน” ตามคำบอกเล่าของคนในชุมชน โดยมีอาคารไม้ และตึกแถวไม้เรียงอยู่ถัดมาจากท่าเรือ

ส่วนที่สองคือพื้นที่ติดริมถนนเจริญกรุง มีอาคารพาณิชย์ก่ออิฐฉาบปูนสร้างติดริมถนนเป็นรูปตัวแอลขนานไปกับถนนเจริญกรุงและสาทร เว้นช่องเปิดริมถนนเจริญกรุงไว้ 1 ช่อง ให้สามารถเดินเข้ามาในพื้นที่ตอนในซึ่งมีอาคารไม้เรียงรายหลายหลัง โดยมีอาคารไม้ขนาดใหญ่ตั้งอยู่ตรงกลางของพื้นที่ ในแผนที่ระบุชื่ออาคารหลังนี้ไว้ว่า “โรงหนังฮ่องกง”

โรงหนังฮ่องกง คือหนึ่งในโรงหนังที่มีชื่อเสียงยุคแรกเริ่มของสังคมไทย เคียงคู่กับโรงหนังไม้หลายหลังในยุคสมัย เช่น โรงหนังญี่ปุ่น โรงหนังพัฒนากร โรงหนังบางลำพู โรงหนังนางเลิ้ง เป็นต้น

โดยในยุคนั้นตัวโรงหนังจะก่อสร้างด้วยไม้เกือบทั้งหลัง ก่อนที่ต่อมาจะเข้าสู่ยุคพัฒนาเป็นโรงหนังสแตนด์อโลนโครงสร้างคอนกรีต ก่ออิฐ ฉาบปูน ติดแอร์ ในยุคปลายทศวรรษที่ 2470 เป็นต้นมา เช่น ศาลาเฉลิมกรุง ศาลาเฉลิมไทย นาครเขษม ฯลฯ

แผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ.2475 ในบริเวณที่เคยเป็นท่าเรือเมล์ขนส่งสินค้า และโรงหนังฮ่องกง

จากเรื่องเล่าชุมชนซอยหวั่งหลี กล่าวว่าในราวปี พ.ศ.2469-2470 นายแยมปักเลือก (ซึ่งได้เข้ามาเช่าที่ท่าเรือเมล์เดิมที่เลิกกิจการไป) ได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่เป็นกิจการท่าเรือเมล์ขนส่งสินค้าแทน และทำการรื้ออาคารไม้ชั้นเดียวในพื้นที่สองข้างถนนเจริญกรุง 52 โดยสร้างเป็นตึกแถวก่ออิฐฉาบปูนสองชั้นแทน

อย่างไรก็ตาม ใน พ.ศ.2472 กิจการทั้งหมดในพื้นที่ ได้ถูกนายตันลิบบ๊วย (ตระกูลหวั่งหลี) แห่งบริษัทแม่น้ำริเวอร์เทาเอชแอนด์ไลเตอร์ จำกัด เข้ามารับโอนสัญญาเช่าช่วงต่อกิจการท่าเรือเมล์ขนส่งสินค้า

แต่ก็น่าเสียดาย หลังจากนั้นเพียงราวปีเดียว คือ พ.ศ.2473 นายตันลิบบ๊วย ได้ถึงแก่กรรมลง

ตามธรรมเนียมคนจีนโบราณ ณ ขณะนั้น ยังมีความนิยมที่ส่งศพกลับไปฝังที่เมืองจีน ซึ่งชาวชุมชนซอยหวั่งหลีมีเรื่องเล่ากันต่อมาว่า ในพิธีส่งศพของนายตันลิบบ๊วย ครั้งนั้นถูกจัดขึ้นเป็นงานที่ใหญ่โตมาก มีการปิดถนนตั้งแต่บ้านหวั่งหลียาวมาจนถึงท่าเรือหวั่งหลี วัดยานนาวา

นอกจากนั้น ยังมีการจัดขบวนเรือส่งศพไปเมืองจีนมากถึง 3 ขบวนอีกด้วย

ภาพถ่ายทางอากาศ พ.ศ.2489 แสดงให้เห็นบริษัทไทยเดินเรือทะเล ซอยหวั่งหลี และโรงหนังฮ่องกง

ถึงแม้นายตันลิบบ๊วย จะเสียชีวิต แต่กิจการทั้งหมดก็ยังถูกส่งทอดไปสู่ทายาท คือ นายตันซิวเม้ง และทายาทคนอื่นๆ เรื่อยมา และด้วยการที่ตระกูลหวั่งหลีได้ทำธุรกิจขนส่งในบริเวณท่าเรือแห่งนี้อยู่นานหลายปี เลยทำให้ชื่อของท่าเรือเมล์ขนส่งสินค้าแห่งนี้ถูกเข้าใจและถูกเรียกกันโดยทั่วไปในชื่อว่า “ท่าเรือหวั่งหลี”

นอกจากนี้ ยังเรียกถนนเจริญกรุง 52 ว่า “ซอยหวั่งหลี” พร้อมทั้งเรียกผู้คนที่อาศัยอยู่ในตึกแถวสองชั้นที่ยาวตลอดสองข้างของซอยหวั่งหลีว่า “ชุมชนซอยหวั่งหลี” ตามไปด้วย

อยากขอเล่านอกเหลือออกไปจากซอยหวั่งหลีสักเล็กน้อย แต่ก็เป็นเรื่องสำคัญและสืบเนื่องกับประเด็นของบทความ

ภาพถ่ายเก่าของชาวบ้านในพื้นที่ สมัยเมื่อยังเป็นบริษัทไทยเดินเรือทะเล มองเห็นป้ายบริษัทอย่างชัดเจน
ที่มาภาพ : ชาวบ้านในชุมชนซอยหวั่งหลี (น่าเสียดายที่ผมลืมไปแล้วว่าได้มาจากครอบครัวใด)

เป็นที่ทราบกันดีนะครับว่า พื้นที่แถบนี้คือฐานะย่านการค้าที่สำคัญมากแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ซึ่งนอกจากการเข้ามาของตระกูลหวั่งหลีแล้ว ยังยืนยันข้อเท็จจริงนี้ได้จากการเข้ามาตั้งกิจการท่าเรือและโรงสีของ “ตระกูลพิศาลบุตร” ซึ่งเป็นตระกูลที่มั่งคั่งและมีชื่อเสียงมากที่สุดของกรุงเทพฯ ตระกูลหนึ่งในช่วงรัชกาลที่ 5

ตระกูลพิศาลบุตร เป็นตระกูล “เจ้าภาษีนายอากร” ต้นตระกูล พระยาพิศาลศุภผล (ชื่น) ได้เดินทางเข้ามาในสยามสมัยรัชกาลที่ 3 ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้ดำเนินกิจการเรือสำเภา ทำการค้าระหว่างกรุงเทพฯ ซัวเถา นอกจากประกอบกิจการเดินเรือแล้ว ตระกูลพิศาลบุตร ยังทำกิจการโรงสีซึ่งถือว่าเป็นตระกูลที่ประกอบกิจการโรงสีเก่าแก่ที่สุดในสยาม

โรงสีข้าวของตระกูลพิศาลบุตรชื่อ “กอฮงหลี” มีทั้งหมด 3 โรงด้วยกัน ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่แถววัดยานนาวา สันนิษฐานว่าน่าจะใกล้เคียงกับ “ชุมชนซอยหวั่งหลี” ปัจจุบัน โดยอาจจะเป็นพื้นที่ต่อจากซอยหวั่งหลีเลยก็ได้ หรืออาจจะเป็นพื้นที่ด้านทิศใต้ของวัดยานนาวา เนื่องจากปรากฏหลักฐานคำอธิบายว่า

“…ที่ดินและโรงสีตั้งอยู่ใน ตำบลบ้านทวาย ที่ดินด้านหนี่งติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา กว้าง 80 วา อีกด้านติดกับถนนเจริญกรุง กว้าง 65 วา ความยาวจากด้านที่ติดแม่น้ำถึงถนนเจริญกรุง 140 วา รวมเนื้อที่ทั้งหมด 10,827 ตารางวา…” (อ้างถึงใน สจช., ร.7 รล. 20.4/82 ฎีกาคุณหญิงเนื่อง พิศาลผลพาณิช ขอจำนองที่ดินโรงสีตำบลบ้านทวายไว้กับพระคลังข้างที่ 7 ธันวาคม 2470-19 มกราคม 2471)

โรงสีทั้ง 3 ตั้งอยู่ในทำเลทางการค้าที่ดีเยี่ยม และมีท่าเรือขนาดใหญ่ที่เพียงพอสำหรับเก็บข้าวและให้เรือสำหรับโรงสีทั้ง 3 โรงจอดได้ในเวลาเดียวกัน

นอกจากตระกูลพิศาลบุตรและหวั่งหลีแล้ว พื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณนี้และใกล้เคียง เลียบขนานไปกับถนนเจริญกรุง ยังเป็นพื้นที่ที่ตั้งโรงสี ท่าเรือ บริษัทฝรั่ง ห้างร้านต่างๆ มากมายไปโดยตลอดแนวลำแม่น้ำเจ้าพระยา

 

กลับมาที่เรื่องเล่าในพื้นที่ซอยหวั่งหลีอีกครั้ง

ตามหลักฐานและความทรงจำของ อาจารย์นิจ หิญชีระนันท์ (ผมได้มีโอกาสสัมภาษณ์อาจารย์เมื่อ 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2549) ได้เล่าไว้ว่า ซอยและท่าเรือหวั่งหลี มีอีกชื่อหนึ่งที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปเมื่อราว 80 ปีก่อนว่า “ถนน บรุสการ์ด”

ที่เรียกเช่นนั้นก็เพราะว่า ท่าเรือแห่งนี้มีบริษัทเรือเมล์หลักที่มาขึ้นท่านี้คือ บริษัทเรือเมล์บรุสการ์ด กิออสเตรุด (Bruusgarrd Kiosterud) ซึ่งตระกูลหวั่งหลีได้เป็นเอเย่นต์ผูกขาดเอาไว้ เรือของบริษัทดังกล่าวเดินทางจากกรุงเทพฯ กับประเทศจีน โดยผ่านฮ่องกง ซัวเถา หอยเฮา กวางตุ้ง และสิงคโปร์

จากที่เล่ามาทั้งหมด คงเห็นภาพร่วมกันค่อนข้างชัดนะครับว่าพื้นที่นี้มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์สังคมไทยมากทีเดียว โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับชาวจีนที่เข้ามาตั้งรกรากและทำการค้าในสยาม

ที่สำคัญคือ พื้นที่นี้เป็นหนึ่งในจุดเชื่อมต่อของเครือข่ายการเดินทางไปมาของชาวจีนในสยามกับชาวจีนในประเทศต่างๆ ทั่วภูมิภาคเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

และด้วยความเป็นศูนย์กลางการเดินทางไปทั่วภูมิภาคดังกล่าว จึงไม่แปลกที่พื้นที่นี้จะได้รับการพัฒนาต่อมาจากรัฐบาลไทยในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง

วันที่ 22 มิถุนายน 2483 จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ทำการจัดตั้ง “บริษัทไทยเดินเรือทะเล” ขึ้นในลักษณะรัฐวิสาหกิจ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ดำเนินการในฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ รัฐบาลถือหุ้น 99.99% ซึ่งบริษัทไทยเดินเรือทะเลได้เข้ามาใช้พื้นที่ของท่าเรือหวั่งหลีแห่งนี้เป็นท่าเรือสำคัญในการขนส่งสินค้า

การเกิดขึ้นของบริษัทไทยเดินเรือทะเลทำให้พื้นที่บริเวณนี้คราคร่ำไปด้วยผู้คนอย่างชนิดที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ชาวบ้านในชุมชนเล่าว่า ในยุคนี้ซอยหวั่งหลีคึกคักเป็นอย่างยิ่ง มีร้านรวงต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย มีลีลาศ รำวง จนกระทั่งเปิดเป็นบาร์ ไว้ต้อนรับชาวไทย ชาวจีน และฝรั่ง

 

จากภาพถ่ายทางอากาศริมแม่น้ำเจ้าพระยา พ.ศ.2489 บริเวณถนนเจริญกรุง วัดยานนาวา และชุมชนซอยหวั่งหลี โดย วิลเลี่ยม ฮันท์ (William Hunt) นายทหารชาวอังกฤษ เราจะมองเห็นซอยหวั่งหลีและอาคารตึกแถวสองชั้นที่ขนาบซอยหวั่งหลีอย่างชัดเจน

ด้านหน้าคือ “บริษัทไทยเดินเรือทะเล” ซึ่งเปิดดำเนินการในปี 2483 ในภาพยังมองเห็นโกดังสินค้าขนาดใหญ่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ (ปัจจุบันถูกรื้อถอนไปแล้ว) ถัดมาทางซ้ายคือ “ท่าเรือหวั่งหลี” และเรือสินค้าที่จอดเรียงรอรับสินค้าอยู่หลายลำ ด้านขวามือคือ วัดยานนาวา ส่วนพื้นที่ด้านซ้ายมือที่ติดกับชุมชนซอยหวั่งหลีและถนนเจริญกรุง คือ “โรงหนังฮ่องกง”

อย่างไรก็ตาม ความรุ่งเรืองดังกล่าวก็อยู่ได้ไม่นาน เพราะหลังจากที่รัฐบาลได้สนับสนุนให้มีการสร้างท่าเรือกรุงเทพฯ (ท่าเรือคลองเตย) ขึ้น ซึ่งสร้างเสร็จและเปิดดำเนินการใน พ.ศ.2494 การขนส่งสินค้าโดยเรือเกือบทั้งหมดก็ได้ถูกย้ายจากท่าเรือหวั่งหลีแห่งนี้ไปที่ท่าเรือคลองเตย

นับจากนั้นเป็นต้นมา ท่าเรือหวั่งหลี และ ซอยหวั่งหลี ก็เงียบเหงาซบเซาลงตามลำดับ กลายเป็นเพียงที่พักอาศัยของชาวบ้าน และที่ประกอบธุรกิจเล็กๆ น้อยๆ

เมื่อเวลาผ่านไป พื้นที่โดยรอบได้รับการพัฒนามากขึ้น โดยเฉพาะการมาถึงของสถานีรถไฟฟ้าสะพานตากสินในปี พ.ศ.2542 ซึ่งได้ทำให้ซอยหวั่งหลีมีศักยภาพที่สูงมากในการพัฒนาเชิงเศรษฐกิจ

ทางวัดยานนาวาคงเล็งเห็นถึงศักยภาพในพื้นที่จึงได้ตัดสินใจไม่ต่อสัญญาเช่าของชุมชน ซึ่งส่งผลทำให้ในราวปี พ.ศ.2549-2550 ชุมชนซอยหวั่งหลีต้องย้ายออกจากพื้นที่ทั้งหมด

และตึกแถวสองข้างที่มีอายุกว่า 80 ปีถูกทุบทิ้งลงอย่างน่าเสียดาย