รำลึก 70 ปียุติสงครามเกาหลี (1) ภาพสะท้อนสงครามปัจจุบัน | สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“ข้าพเจ้าเชื่อมั่นอย่างเหลือเกินว่า ลัทธิคอมมิวนิสต์กำลังขยายตัวไปทั่วโลก ซึ่งมีแต่อเมริกาเท่านั้นที่จะหยุดยั้งได้”

วุฒิสมาชิก Arthur H. Vandenberg

 

สงครามเกาหลีเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน 1950 และสิ้นสุดลงด้วยการเจรจาหยุดยิงที่หมู่บ้านปันมุนจอมในเดือนกรกฎาคม 1950…

การเจรจาหยุดยิงที่เกิดขึ้นเมื่อ 70 ปีที่แล้ว มิได้หมายความว่า สงครามเกาหลีได้สิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการ หากแต่เป็นการ “หยุดการรบ” แต่โดยกระบวนการของกฎหมายระหว่างประเทศนั้น สงครามเกาหลีไม่ได้ถึงจุดจบแต่อย่างใด เพราะยังไม่มีสนธิสัญญาสันติภาพ ดังนั้น จึงอาจต้องกล่าวว่าสถานะสงครามบนคาบสมุทรยังดำรงอยู่

คาบสมุทรเกาหลีอยู่ในภาวะหยุดยิง และไม่มีสงครามมานานถึง 70 ปีแล้ว

แต่ในอีกด้าน สถานการณ์บนคาบสมุทรยังมีความตึงเครียดอยู่ค่อนข้างมาก และเป็นพื้นที่ความขัดแย้งหนึ่งที่ถูกถือว่าเป็น “จุดเดือด” (flash point) ของการเมืองโลกอย่างไม่เปลี่ยนแปลงนับจากปี 1950 เป็นต้นมา

ซึ่งในปัจจุบันจะเห็นถึงการทดลองยิงขีปนาวุธ และการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ที่เกิดอย่างต่อเนื่อง จนเป็นความกังวลที่สำคัญของปัญหา “หายนะนิวเคลียร์” ในการเมืองโลก

ดังนั้น 70 ปีของการหยุดยิงของสงครามเกาหลี จึงเป็นประเด็นที่ควรจะหยิบยกขึ้นมาพิจารณาควบคู่กับสภาวะของความผันผวนในการเมืองโลกปัจจุบัน เนื่องจากสงครามเกาหลีเป็น “สงครามร้อนแรก” ของสงครามเย็นในศตวรรษที่ 20 เช่นที่สงครามยูเครนเป็น “สงครามร้อนแรก” ของสงครามเย็นในศตวรรษที่ 21

 

จุดกำเนิด

สงครามเกาหลีเป็นผลจากการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ของรัฐมหาอำนาจใหญ่ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2…

เมื่อสงครามโลกได้ยุติลงแล้ว เกาหลีถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนโดย “เส้นขนานที่ 38” เส้นแบ่งทางภูมิรัฐศาสตร์นี้ทำให้เกาหลีเหนืออยู่ภายใต้อิทธิพลของสหภาพโซเวียตรัสเซีย และมีระบอบการปกครองเป็นแบบสังคมนิยม ส่วนเกาหลีใต้อยู่กับทางสหรัฐอเมริกา และปกครองด้วยระบอบเผด็จการฝ่ายขวา

แต่ในช่วงต้นปี 1950 ความสนับสนุนของสหรัฐที่มีต่อเกาหลีใต้เริ่มลดลง จนทำให้สตาลินมีความมั่นใจว่า น่าจะถึงเวลาที่ใช้การ “รวมชาติด้วยกำลัง” เพราะในอีกด้าน จีนเองก็เปลี่ยนแปลงการปกครองด้วยการขึ้นสู่อำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในเดือนตุลาคม 1949 ซึ่งการเป็นสังคมนิยมของจีนเช่นนี้ จะเป็น “หลังพิง” อย่างดีให้การรุกทางทหารของเกาหลีเหนือ

กล่าวคือ ในมุมมองของผู้นำโซเวียตนั้น สถานการณ์รอบด้านน่าจะสุกงอมและเอื้อต่อการเปิดสงครามข้ามเส้นขนานแล้ว อีกทั้งกำลังรบของสหรัฐที่อยู่ในเกาหลีไม่ได้มีความเข้มแข็งที่จะรับมือการรุกทางทหารขนาดใหญ่ได้แต่อย่างใด

ในที่สุดสิ่งที่ไม่คาดคิดมาก่อนก็เกิดขึ้นในเช้าวันอาทิตย์ที่ 25 มิถุนายน 1950 กองทัพเกาหลีเหนือเคลื่อนกำลังรบขนาดใหญ่ข้ามแนวเส้นขนานที่ 38 ด้วยความหวังที่จะชิงความได้เปรียบจากการรุกที่เปิดการเข้าตีอย่างรวดเร็ว เพราะทหารเกาหลีใต้ในแนวหน้าลากลับบ้าน เนื่องจากเป็นวันหยุด และกำลังทหารอเมริกันในพื้นที่ได้ถูกถอนออกไปก่อนหน้านี้

การเข้าตีอย่างฉับพลันและการรุกอย่างรวดเร็วทำให้กองทัพเกาหลีใต้และกองทัพอเมริกัน เป็นฝ่ายถอยร่นอย่างคาดไม่ถึง

 

กองทัพสหรัฐพยายามที่จะยันการรุกอย่างรวดเร็วของเกาหลีเหนือ ด้วยการส่งกำลัง 2 กองพลทหารราบ ข้ามมาจากญี่ปุ่น แต่กำลังทหารอเมริกันชุดนี้เป็นกองกำลังที่มีภารกิจในการยึดครองญี่ปุ่นหลังสงคราม ซึ่งไม่มีความพร้อมรบ และไม่ได้รับการฝึกอย่างจริงจัง เพื่อเข้าทำการรบกับกองทัพที่มีความพร้อมรบอย่างเต็มที่ เช่นกองทัพเกาหลีเหนือ ซึ่งกำลังรบอเมริกันไม่สามารถยันการเข้าตีได้เลย

ในสถานการณ์เช่นนี้ ฝ่ายตะวันตกได้ผลักดันให้สหประชาชาติเปิดการประชุมด่วน และมีมติให้จัดตั้งกองกำลังผสมนานาชาติเพื่อหยุดยั้งการรุกรานของเกาหลีเหนือ

สหรัฐอเมริกาแต่งตั้งนายพลดักลาส แม็กอาร์เธอร์ (Gen. Douglas MacArthur) เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองกำลังผสม และจัดตั้ง “กองทัพที่ 8” (The Eighth Army) ซึ่งประกอบด้วย 5 กองพลทหารราบอเมริกัน และ 1 กองพลน้อยทหารราบอังกฤษ

ซึ่งกำลังรบเหล่านี้ทั้งของสหรัฐและเกาหลีใต้รวมกำลังอยู่ที่เมืองปูซาน หรือที่เรียกในทางทหารว่า “แนวป้องกันที่ปูซาน” (The Pusan Perimeter) พร้อมกับจัดตั้งกำลังสำรอง 1 กองทัพน้อยอเมริกันที่ญี่ปุ่น ประกอบด้วย 1 กองพลทหารราบ และ 1 กองพลนาวิกโยธิน เพื่อเตรียมการสำหรับการรุกกลับ (counteroffensive) ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อผลักดันกำลังรบของเกาหลีเหนือ

 

จุดเปลี่ยนผัน

เมื่อการเตรียมกำลังมีความพร้อม และฝ่ายอำนวยการของนายพลแม็กอาร์เธอร์ได้จัดทำแผนยุทธการในการเตรียมยกพลขึ้นบก โดยมีเป้าหมายที่เมืองอินชอน ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันตกของคาบสมุทร และเป็นพื้นที่หลังแนวรบ…

การยกพลขึ้นบกในวันที่ 15 กันยายน 1950 ประสบความสำเร็จอย่างดี และถือว่าเป็น “absolute surprise” ของปฏิบัติการนี้ที่นักเรียนวิชาประวัติศาสตร์ทหารในยุคหลังยังต้องใช้เป็นตัวอย่างของการศึกษา

ความสำเร็จของการยกพลขึ้นบกที่อินชอนเป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงให้กำลังรบของเกาหลีเหนือประสบปัญหา ประกอบกับกำลังรบของสหรัฐและเกาหลีใต้เปิดการรุกจาก “แนวปูซาน” จนสามารถผลักดันให้ฝ่ายเกาหลีเหนือต้องถอยร่นจากเส้นขนานที่ 38 จนฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถยึดโซลที่เป็นเมืองหลวงของเกาหลีใต้กลับคืนมาได้ในช่วงปลายเดือนกันยายน 1950

ซึ่งการยุทธ์ครั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จอีกครั้งสำคัญของนายพลแม็กอาร์เธอร์ หลังจากการบของเขาในฟิลิปปินส์ในสงครามโลกครั้งที่ 2

แต่ความสำเร็จเช่นนี้ก็มีความท้าทายรออยู่ข้างหน้า… ถ้าเช่นนั้น จีนจะยอมให้กองทัพเกาหลีเหนือต้องพ่ายแพ้ และเกาหลีเหนืออาจตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของตะวันตกหรือไม่?

จีนไม่ยอมอย่างแน่นอน และส่งกำลังทหารจีนราว 1 แสน 3 หมื่นนายข้ามพรมแดนที่แม่น้ำยาลูเข้ามาช่วยเกาหลีเหนือ อันเป็นที่มาของสำนวนที่เรียกว่า “ข้ามแม่น้ำยาลู” หรือ “Crossing the Yalu River” ที่มีนัยถึงการตัดสินใจของผู้นำจีนที่จะส่งกำลังเข้าปกป้องผลประโยชน์ที่สำคัญของตน

ซึ่งต้องยอมรับว่ายุทธศาสตร์และขีดความสามารถของทหารจีนมีสูง จนสร้างความเสียหายให้กับกำลังของฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างมาก

ฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถประกอบกำลังทหารราบได้จำนวนมาก โดยกำลังพลของเกาหลีใต้มี 11 กองพล สหรัฐ 7 กองพล อังกฤษ 1 กองพล และกำลังรบจากชาติต่างๆ อีก 14 ชาติ ซึ่งมีกำลังทั้งระดับกองพัน และกองพลน้อย (ในจำนวนนี้ มีกำลังจากประเทศไทยด้วย) ซึ่งมากพอที่จะยันการรุกของจีนและเกาหลีเหนือได้

ในส่วนของกำลังรบจากประเทศไทยนั้น กำลังหลักมาจากกองทัพบก โดยจัดกำลังเป็น “กรมผสมที่ 21” (ผส. 21) ซึ่งปัจจุบันคือกรมทหารราบที่ 21 จังหวัดชลบุรี พร้อมกับกำลังทางเรือและทางอากาศจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นการออกปฏิบัติการราชการสนามในประเทศที่สามเป็นครั้งแรกในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

และเป็นครั้งแรกของการออกสนามรบภายใต้ร่มธงของสหประชาชาติ และขึ้นทางยุทธการกับกองพลทหารราบอเมริกัน

 

จุดสุดท้าย

การสู้รบหลังจากกำลังพลของจีนเข้าสู่เกาหลีแล้ว ทวีความรุนแรงมากขึ้น ขณะเดียวกันจีนและเกาหลีเหนือก็ประสบความสูญเสียอย่างหนักเช่นกัน

ปัญหาการรบมีแนวโน้มที่น่าจะจบได้ตั้งแต่ปี 1951 แล้ว แต่ต้องยื้อออกไป เพราะปัญหาเชลยศึก เนื่องจากมีข้อเสนอให้เชลยสามารถเลือกอย่างเสรีที่จะอยู่กับฝ่ายใดก็ได้หลังการปล่อยตัว แต่ทางจีนและเกาหลีเหนือเกรงว่า ทหารของตนที่เป็นเชลยศึกจะไม่ยอมกลับประเทศ

แต่ในท้ายที่สุด ปัจจัยที่บังคับให้คู่สงครามต้องยอมเจรจาหยุดยิงคือ ความสูญเสียอย่างหนักของแต่ละฝ่าย และในที่สุดการเจรจาหยุดยิงก็ประสบความสำเร็จในวันที่ 27 กรกฎาคม 1953…

การสู้รบจบ แต่ทุกคนรู้ดีว่าสงครามเกาหลียังไม่จบ และยังไม่มีท่าทีว่าจะจบได้ ดังจะเห็นได้จากความตึงเครียดที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากปัญหาเรื่องอาวุธนิวเคลียร์และการทดลองขีปนาวุธ

จนวันนี้ หลายฝ่ายเชื่อว่าปัญหาบนคาบสมุทรเกาหลีนับจากการหยุดยิงในปี 1953 จนถึงปัจจุบัน ทำให้พื้นที่นี้มีสถานะเป็นหนึ่งใน “จุดเดือด” ที่สำคัญของการเมืองโลกมาอย่างยาวนาน

ต่างมุมมอง

ดังที่กล่าวแล้วว่าสงครามเกาหลีเป็น “สงครามร้อนแรก” ของสงครามเย็น และเป็นสงครามร้อนแรกที่เกิดในเอเชียในยุคหลังสงครามโลก และเกี่ยวข้องกับรัฐมหาอำนาจในปัจจุบันโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา รัสเซีย (สหภาพโซเวียต) และจีน

ซึ่งความเกี่ยวข้องเช่นนี้ย่อมมีนัยกับการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ในปัจจุบันด้วย เพราะแม้เวลาจะเปลี่ยนไป แต่ตัวแสดงหลักทั้ง 3 ยังคงเหมือนเดิม

สำหรับสังคมอเมริกันแล้ว สงครามเกาหลีดูจะเป็น “สงครามที่ถูกลืม” (The Forgotten War) เพราะทหารผ่านศึกหลายนายมีความรู้สึกว่า สงครามครั้งนี้ไม่ได้รับการยกย่องเท่าที่ควร ทั้งที่เป็นสงครามสำคัญ และมีบทเรียนการรบหลายจุดให้เป็นบทเรียน

อีกทั้งทหารในหลายพื้นที่การรบได้ทำการต่อสู้อย่างกล้าหาญ แต่ดูเหมือน “บทเรียนทางยุทธศาสตร์” ที่สำคัญกลับถูกละเลยไปอย่างน่าเสียดาย

ในมุมมองของสหรัฐ สงครามเกาหลีคือการปะทะด้วยกำลังทางทหารครั้งแรกระหว่างกองทัพของฝ่ายตะวันตกกับฝ่ายตะวันออก เพราะกำลังที่เข้าร่วมนั้น ไม่ใช่เพียงการรบระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้เท่านั้น หากแต่ในทางฝั่งของเกาหลีใต้ มีกองทัพสหรัฐเป็นกำลังหลักที่สำคัญ รวมถึงกองทัพอังกฤษ และชาติพันธมิตรอื่นๆ ที่เข้าร่วมภายใต้ภารกิจของสหประชาชาติ

ทางฝ่ายของเกาหลีเหนือ มีจีนเป็นกำลังสำคัญที่เข้ามาร่วมรบในฐานะ “ทหารอาสาเพื่อต่อต้านจักรวรรดินิยมอเมริกา” และยังรวมถึงความช่วยเหลือทางด้านยุทโธปกรณ์จากสหภาพโซเวียตอีกด้วย และจีนเชื่อว่าสงครามเกาหลีเป็นชัยชนะของกองทัพจีน และมองว่าสงครามครั้งนี้คือ การต่อสู้กับจักรวรรดินิยมตะวันตก

ซึ่งในปัจจุบัน จีนยังดำรงมุมมองเช่นนี้ในปัญหาความขัดแย้งอื่นๆ ไม่ต่างจากยุคสงครามเกาหลี

ดังนั้น ภายใต้เงื่อนไขการแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่ จึงต้องประเมินในบริบทของยุทธศาสตร์ทหารว่า สงครามเกาหลีเป็นการทดสอบกำลังและขีดความสามารถระหว่าง “กองทัพตะวันตก vs กองทัพตะวันออก” ครั้งแรกอย่างชัดเจน

และเป็นสงครามที่รัฐมหาอำนาจใหญ่ทั้งสองฝ่าย (สหรัฐและโซเวียต) กระทำในสภาวะที่ตนมีความเป็น “รัฐมหาอำนาจนิวเคลียร์” แล้วด้วย

การหลีกเลี่ยงการยกระดับสงครามเกาหลีเป็น “สงครามนิวเคลียร์” จึงเป็นอีกประเด็นที่น่าสนใจในทางยุทธศาสตร์สำหรับการพิจารณาสงครามยูเครนในปัจจุบันอย่างยิ่ง!