E-DUANG : “ครม.สัญจร” กับ “กลิ่น” เลือกตั้ง

เห็นการเดินสายจัดประชุม “ครม.สัญจร” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วยความคึกคัก

ไม่ว่าจะเป็นที่ สงขลา ปัตตานี ภาคใต้

ไม่ว่าจะเป็นที่ กาฬสินธุ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และจะตามมาด้วย สุโขทัย ภาคเหนือ

คล้ายกับ “กลิ่น” ของ”การเลือกตั้ง”เริ่มโชยมา

ยิ่งเห็นการเรียงแถวหน้ากระดานออกมาต้อนรับ ไม่ว่าจะเป็น กลุ่ม นายวราวุธ ศิลปอาชา ที่สุพรรณบุรี ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมตัวจากกลุ่ม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ที่สุโขทัย

ยิ่งแว่วได้ยินเสียง “การหาเสียง” ดังแว่วมาแต่ไกล

แต่พลันที่คสช.ไม่ยอมยกเลิกคำสั่งด้วยการ “ปลดล็อก” ให้พรรคการเมือง-ก็กลายเป็นหนังคนละเรื่อง คนละม้วน

 

หากทบทวนการเคลื่อนไหวนับแต่พรป.ว่าด้วยพรรคการเมืองประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม เป็นต้นมา

ผ่านวันที่ 8 พฤศจิกายน มาแล้ว

ผ่านวันที่ 8 ธันวาคม มาแล้ว

บทบัญญัติอันดำรงอยู่ภายในพรป.ว่าด้วยพรรคการเมืองกำ ลังถูกท้าทายอย่างแหลมคมยิ่ง

1 ท้าทายว่า “ศักดิ์ศรี” อะไรจะ “ใหญ่”กว่ากัน

ระหว่างคำสั่งจากหัวหน้าคสช.ซึ่งมาจากคนๆเดียว กับ พรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง อันมาจาก 1 กรธ. 1 สนช. 1 คณะกรรมาธิการ และ 1 ผ่านความเห็นชอบจาก สนช.ในวาระ 3

1 เกิดคำถามว่า พรป.อันมีรากฐานมาจาก”รัฐธรรมนูญ”เหตุใดจึงถูกเพิกเฉย

แล้วคำว่า “กฎหมาย” ต้องเป็น “กฎหมาย” จะมีความหมายจริงละหรือ

 

เด่นชัดยิ่งในบทบาทของคสช. บทบาทของรัฐบาลว่ามีความพร้อม มากเพียงใด

มิใช่ “พรรคการเมือง” ไม่พร้อม

ตรงกันข้าม คสช.และรัฐบาลต่างหากที่ “ไม่พร้อม”ที่จะเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งอย่างเป็นจริง

ตรงกันข้าม คสช.และรัฐบาลต่างหากที่”หาเสียง”และสร้าง “ผลงาน”อยู่ฝ่ายเดียว ขณะที่ฝ่ายการเมือง”พรรคการเมือง”ถูกทำหมัน มัดมือ มัดเท้า

เราจะทำตาม “สัญญา” ขอ”เวลา”อีกไม่นาน