ภูมิใจ’เพื่อไทย’ 212 สูตรตั้งไข่รัฐบาล มีเรา ‘ไม่มีลุง’ แต่เปิดรูรับ สส.-สว.อนุมูลอิสระ

การจับมือกันของพรรคเพื่อไทยกับภูมิใจไทย รวมเสียงได้ 212 เพื่อเป็นสารตั้งต้นรัฐบาลขั้วใหม่ แม้จะพอคาดเดาได้นานแล้วว่าคงจะต้องเกิดภาพแบบนี้ แต่เมื่อเหตุการณ์ปรากฏขึ้นจริง ก็สร้างความขุ่นข้องหมองใจไม่น้อยกับผู้ที่ยืนตรงข้ามรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา มาตลอดเกือบ 1 ทศวรรษ แม้แต่กับกลุ่มผู้สนับสนุนเพื่อไทย

คนยังจำไม่ลืมกับภาพการแยกตัวไปร่วมตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ของนายเนวิน ชิดชอบ ครูใหญ่บ้านภูมิใจไทยในอดีต จนเป็นที่มาของ แฮชแท็ก #มันจบแล้วครับนาย กลับมาโด่งดังอีกครั้งในวันนี้ในลักษณะเหน็บแนม ประชดประชันเพื่อไทยว่าลืมไปแล้วหรือ?

ภูมิใจไทยยังเป็นพรรคการเมืองที่เข้าร่วมรัฐบาลประยุทธ์ คว้าชิ้นปลามัน กระทรวงเกรดเอบวกไปครอง พยุงรัฐนาวา คสช.จนอยู่รอดมาได้ 4 ปี

ยิ่งช่วงหาเสียงเลือกตั้ง เพื่อไทยเปิดแคมเปญเดินหน้าชนภูมิใจไทยเป็นการเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นยุทธการ “ไล่หนูตีงูเห่า” การปราศรัยดุเดือด วิจารณ์นโยบายของพรรคภูมิใจไทยทุกเวที

การผลักดันบทบาทของณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และจาตุรนต์ ฉายแสง ในเวทีปราศรัยต่างๆ ชูภาพความเป็นอัตลักษณ์คนเสื้อแดง ชนกับภูมิใจไทย โดยเฉพาะแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย ใช้คำรุนแรงโจมตีนโยบายภูมิใจไทย จนกระทั่งถึงขั้นขึ้นโรงพักฟ้องร้องเป็นคดีความกัน

มาถึงวันนี้ ในสภาวะที่พรรคเพื่อไทยตกที่นั่งลำบากในการหาเหตุผลมาสลัดก้าวไกล ภูมิใจไทยกลายเป็นแสงสว่างปัจจัยหลักในการปล่อยมือพรรคก้าวไกลของเพื่อไทย ด้วยการยื่นข้อเสนอ มีก้าวไกล ไม่มีภูมิใจไทย การทุบเอ็มโอยูจากก้าวไกลจึงเกิดขึ้นอย่างราบรื่น รวดเร็ว

 

การต่อรองร่วมรัฐบาลในรอบนี้ของภูมิใจไทยต่างกับสมัยร่วมรัฐบาลประยุทธ์อย่างมาก ครั้งนี้อำนาจต่อรองภูมิใจไทยสูงลิบด้วยสถานการณ์การเมืองเป็นใจ พร้อมกับมี ส.ส.ในมือกว่า 70 คน

ภูมิใจไทย เสนอเงื่อนไขทางการเมืองสำคัญ 3 ข้อ 1.ไม่แตะ 112 ตลอดรัฐบาล 2.ต้องไม่เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย และ 3.ต้องไม่มีพรรคก้าวไกล

แต่ก็รวม ส.ส.กันได้เพียง 212 คน ผสมกับเงื่อนไขของภูมิใจไทย ก็เป็นความจำเป็นที่บีบให้เพื่อไทยต้องไปหาเสียงเพิ่มเพื่อตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากให้ได้ โดยต้องไม่มีก้าวไกล

เมื่อรวมกับพรรคประชาชาติ 9 คน, เพื่อไทรวมพลัง 2 คน, ชาติพัฒนากล้า 2 คน เสรีรวมไทย 1 คน, ชาติไทยพัฒนา 10 คน ก็ยังไม่พอตั้งรัฐบาล ซึ่งอย่างต่ำที่สุดต้องได้เกิน 275 เสียงเพื่อความมีเสถียรภาพ

ช่วงนี้เราเห็นเพื่อไทยลดวาระทางการเมืองหลายอย่าง นอกจากการปฏิเสธเรื่องแก้ไขมาตรา 112 อย่างระดับแข็งกร้าว (ทั้งที่ตอนดีเบตหาเสียงยังเคยบอกให้ใช้เวทีสภาพูดคุยกันได้) สัปดาห์นี้เราจึงได้เห็นพรรคเพื่อไทยหันกลับมาพูดเรื่องการสลายขั้วความขัดแย้ง, การสมานฉันท์, การก้าวข้ามความขัดแย้ง, การนำความปรองดองกลับสู่สังคมไทย เพิ่มไปจากการพยายามขายเรื่องฟื้นฟูเศรษฐกิจปากท้องตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา

และยังได้เห็นภาพพรรคเพื่อไทยต่อสายกลับไปยังพรรคก้าวไกล เพื่อทาบทามขอเสียงโหวตเลือกนายกฯ ด้วย

กลายเป็นตอนนี้เพื่อไทยกลับมาใช้วาทกรรมนี้ซึ่งเป็นวาระทางการเมืองที่รัฐบาลประยุทธ์พูดมาตลอดเกือบ 1 ทศวรรษที่ครองอำนาจ และเป็นวาทกรรมที่พรรคพลังประชารัฐ โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พูดบ่อย ใช้เป็นนโยบายหลักในการหาเสียงเลือกตั้ง

ในอีกทางหนึ่งมันเป็นการส่งสัญญาณถึงคนในพรรค 2 ลุง และ ส.ว. ว่าพรรคเพื่อไทยกำลังสร้างเรือลำใหม่ โดยมีที่ว่างให้พรรคพลังประชารัฐที่มี ส.ส. 41 คน และ รวมไทยสร้างชาติที่มี ส.ส. 36 คน หรือบางกลุ่มบางคนในพรรค 2 ลุง ในลักษณะ ส.ส.-ส.ว.อนุมูลอิสระ มาร่วมลงเรือลำเดียวกันด้วย

 

ยุทธการสลายขั้ว สลายความขัดแย้งครานี้ นำโดยเพื่อไทยและภูมิใจไทย โดยมุ่งไปที่การแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ ส่วนเรื่องการเมืองก็พร้อมอยู่ในลู่ทางที่ ส.ว.พึงพอใจ เพื่อดึงเสียงทั้ง 250 เสียง มาร่วมโหวตให้แคนดิเดตนายกฯ จากเพื่อไทย

ลำพังพรรคเพื่อไทย ภูมิใจไทย และพรรคขนาดกลาง ขนาดเล็ก รวมกัน ตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จ อย่างไรก็ต้องดึงเสียงจากพรรค 2 ลุง ยุทธการ “ไม่มีก้าวไกล ไม่มีลุง” อย่างสิ้นเชิง ยังไงก็เป็นไปไม่ได้ แต่เปิดทางในลักษณะมาเป็นคนคน หรือบางกลุ่มบางก้อนได้

เพื่อไทยวันนี้ขยับไปทางไหนก็เจ็บ เหลือเพียงทางเลือกว่าจะเจ็บมากให้คนด่าทอ หรือเจ็บน้อยลงให้มีความดีพอให้คนจดจำบ้าง

อำนาจต่อรองของเพื่อไทยน้อยลงมากเมื่อเทียบกับการจัดตั้งรัฐบาลกับก้าวไกล ตอนนั้นเพื่อไทยแม้จะแพ้เลือกตั้งเป็นครั้งแรก แต่เลือกตั้งรอบนี้ก็ยังมีอำนาจต่อรองสูงครั้งจับมือกับก้าวไกลเคยสร้างความฮือฮาบีบเอาเก้าอี้ประธานสภาจากมือก้าวไกลไปได้

ภูมิใจไทยกลายเป็นผู้กำหนดทิศทางวาระการเมืองแทนแล้วในตอนนี้

 

วันนี้จึงนับเป็นชัยชนะอย่างยิ่งใหญ่ของพรรคภูมิใจไทยในการเดินเกมต่อรอง ทำให้พรรคอันดับ 3 ที่มีคะแนนเลือกพรรคแค่ 1.1 ล้านคะแนน มีอำนาจต่อรองล้น สามารถกำหนดทิศทางการเมือง เหนือกว่าพรรคอันดับ 2 ที่มีคนเลือกพรรคถึง 10.9 ล้านคะแนน ซึ่งเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลได้ (ไม่นับก้าวไกล 14.4 ล้านคะแนนที่ถูกผลักลงจากเรือไปแล้ว)

นอกจากประโยชน์ทางการเมืองซึ่งเป็นเงื่อนไขต่อรอง ในเชิงเก้าอี้รัฐมนตรีหรือโควตากระทรวง ก็เปิดกว้างให้ภูมิใจไทยเลือกได้เต็มที่ตามต้องการ เพราะหากไม่มีภูมิใจไทย เพื่อไทยก็ตั้งรัฐบาลไม่ได้ เรียกว่าตอนนี้ภูมิใจไทยเลือกช้อปกระทรวงได้เลย

นอกจากเรื่องวาระการเมืองและตำแหน่งรัฐมนตรี เพื่อไทยยังต้องเจอการต่อรองเชิงนโยบายอย่างหนัก จนนโยบายหาเสียงที่เคยประกาศไว้อาจไม่สามารถทำได้อิสระแบบที่เคยทำได้ในยุคไทยรักไทย หรือพลังประชาชน

ทั้งนี้ การตั้งรัฐบาลขั้วใหม่ที่เป็นการผสมระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคนั่งร้านรัฐบาล คสช.เดิม จะเสี่ยงกับการขาดเสถียรภาพทางการเมือง เต็มไปด้วยการต่อรองทางการเมืองในวาระสำคัญต่างๆ ลืมไปได้เลยกับภาพความเด็ดขาดแบบที่เคยเกิดขึ้นยุคไทยรักไทย

นอกจากนี้ ระหว่างการบริหารงานของขั้วรัฐบาลพรรคใหม่ที่นำโดยเพื่อไทยยังต้องเจอกับวิกฤตความชอบธรรมทางการเมืองจากการที่เคยประกาศไม่เอาพรรคการเมือง 2 ลุง แม้บางลุงจะลาออกไปแล้ว แต่ก็ยังมีอิทธิพลเบื้องหลัง ไม่สามารถสลัดภาพพรรคการเมือง 2 ลุงได้ แม้จะเอาแค่บางมุ้ง หรือเอาแค่บางคนมา ก็ไม่พ้นปัญหาความชอบธรรมนี้

รวมถึงยังต้องแบกรับวาระทางการเมืองจาก ส.ว. เพราะหากไม่ยอมรับ ไม่พูดคุยกับ ส.ว. ก็จะไม่สามารถผ่านด่านตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งทั้งหมดแลกมากับความชอบธรรมทางการเมืองของประชาชนที่ลดน้อยลงเรื่อยๆ

 

จนถึงตอนนี้เรียกได้ว่าฝ่ายอนุรักษนิยมไทยกลับมาคุมเกมการเมืองได้มากขึ้นอีกระดับ สามารถแยกพลังฝ่ายประชาธิปไตยที่เป็นฝ่ายท้าทายพลังเก่าออกจากกันได้ เปิดให้พรรคการเมืองที่ชนะอันดับ 2 เป็นผู้เล่นภายใต้กฎกติกาที่ได้วางเอาไว้ ในขณะเดียวกันก็จัดการกับพรรคอันดับ 1 ในฐานะศัตรูสำคัญกว่าของฝ่ายอำนาจเก่า

วันนี้เลยได้เห็นนักการเมืองเพื่อไทยที่ไม่ค่อยชัดเจนในจุดยืนการเมืองมาตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง แต่ชัดเจนที่จะไม่ยอมให้ก้าวไกลได้เก้าอี้ประธานสภา เมื่อได้รับไม้ต่อก็นำพรรคนั่งร้านรัฐบาลประยุทธ์เดิมมาแถลงไม่เอาพรรคก้าวไกล ตามด้วยการฉีกเอ็มโอยูฉบับก้าวไกล

สิ่งที่ชัดเจนล่าสุดวันนี้คือการพูดแต่เรื่องสลายความขัดแย้ง-เพื่อความปรองดอง-ก้าวข้ามความขัดแย้ง-แก้ปัญหาของชาติ-เพื่อให้ประเทศเดินหน้า

เพื่อไทยคือพรรคโดนกระทำจากฝ่ายอนุรักษนิยมกลุ่มก้อนอำนาจเก่ามาอย่างหนักที่สุด แต่การกลับมาตั้งรัฐบาลพลิกขั้ว จับมือกลุ่มก้อนอำนาจเก่า หากมองในเชิงความชอบธรรมการเมือง การตัดสินใจของพรรคเพื่อไทยวันนี้เปรียบเสมือนการทุบทำลายพรรคทิ้ง เพราะตลอดการเดินทางวันนี้ของลำเรือพรรคเพื่อไทยได้ผลักไสผู้คนจำนวนไม่น้อยไปออกไปจากเรือ เพื่อไทยเลือกที่จะแลกต้นทุนทางการเมืองอย่างสูงมากเพื่อลงไปเล่นในเกมที่ถูกวางไว้ด้วยศัตรูของผู้คน

ด้วยความเชื่อว่าคุ้มค่า ด้วยความเชื่อว่าจำเป็น ด้วยความเชื่อว่าเข้าไปยึดอำนาจรัฐให้ได้แล้วทำสิ่งดีๆ ทำนโยบายดีๆ แล้วความศรัทธาจะกลับคืน แต่อย่าลืม พรรคประชาธิปัตย์ก็เคยคิดแบบนี้ เชื่อแบบนี้ แล้วเข้าสู่อำนาจอย่างขัดสายตาประชาชนในปี 2552 ผลก็ปรากฏดังเช่นในปัจจุบันนี้แหละ

ที่สำคัญ ดูเหมือนวันนี้ 2 ลุง จะยังไม่ยอมวางมือง่ายๆ และกำลังขยับวาระทางการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยพลังหนุนของ 250 ส.ว. -กลไกองค์กรอิสระที่วางได้ด้วยรัฐธรรมนูญระบอบ คสช. ที่พรรคเพื่อไทยหวังไว้ ก็อาจไม่เป็นดังหวัง ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีต