อุษาวิถี (41) บทวิเคราะห์อุษาวิถีกรณีอินเดียและจีน (ต่อ)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก | วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

อุษาวิถี (41)

บทวิเคราะห์อุษาวิถีกรณีอินเดียและจีน (ต่อ)

 

แต่ในอีกความหมายหนึ่งที่แคบลงมาก็คือ ทั้ง สัมพันธ์ และ กวานซี่ กลับหมายถึง ความสัมพันธ์ที่แนบแน่น และเป็นความสัมพันธ์ที่เอื้อให้เกิดผลประโยชน์ต่างๆ ที่แวดล้อมตัวได้อย่างมากมาย

ในทางตรงข้าม ความหมายด้านแคบนี้ยังบอกอีกด้วยว่า หากปราศจากซึ่งสัมพันธ์ และกวานซี่ แล้ว คู่สัมพันธ์ก็ไม่อาจอยู่ร่วมกันได้ และไม่มีผลประโยชน์อันใดที่จะเอื้อต่อกัน หรือไม่ก็เป็นเพียงแค่คนที่รู้จักกันธรรมดาๆ เหมือนความหมายแบบแรก

แม้อินเดียและจีนจะใช้สัมพันธ์ และกวานซี่ ทั้งความหมายกว้างและแคบดังที่กล่าวไปก็ตาม แต่ในความเป็นจริงแล้วทั้งสองสังคมต่างยึดถือ และให้ความสำคัญกับความหมายอย่างแคบมากกว่าความหมายอย่างกว้าง

โดยสิ่งที่ทำให้ความหมายอย่างแคบเกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้ก็มิใช่อะไรอื่น หากแต่คือ รีต

 

รีตกับสัมพันธ์ และกวานซี่ จึงอิงแอบกันและกันอย่างเกื้อกูลกัน และเป็นวงจรที่หมุนวนไปไม่ขาดสาย ในหลายกรณีเป็นวงจรที่หมุนวนกันไปสืบลูกชั่วหลาน จนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะยุติสัมพันธ์ และกวานซี่ ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งไปเอง

เมื่อรีตอิงแอบกับสัมพันธ์ และกวานซี่ เช่นนี้ เราจึงพบว่า ในคู่สัมพันธ์หนึ่งๆ จะปฏิบัติตนตามรีตต่อกันอย่างเคร่งครัดและระมัดระวัง

และเนื่องจากคู่สัมพันธ์มีฐานะของการเป็นผู้กระทำและผู้ถูกกระทำดังกล่าวไปแล้ว รีตจึงมักจะเริ่มจากผู้ถูกกระทำก่อน ว่าควรแสดงความนบนอบด้วยมารยาทเยี่ยงใด เคารพด้วยเกณฑ์ของฐานานุรูประดับใด

หรือควรมอบสิ่งใดจึงเหมาะแก่ฐานะของผู้กระทำที่ตนกำลังจะมีสัมพันธ์ หรือกวานซี่ ด้วย เป็นต้น

ข้างฝ่ายผู้กระทำย่อมรู้ว่า ตนควรแสดงมารยาทตอบรับความนบนอบนั้นอย่างไร จะรับความเคารพให้เหมาะแก่ฐานานุรูปในระดับใด หรือควรให้คืนสิ่งใดที่ดูมีค่ากว่าที่ตนได้รับมาจากผู้ถูกกระทำเพื่อเป็นการตอบแทน จึงจะเหมาะสมแก่ฐานะผู้กระทำของตน เป็นต้น

การที่รีตได้นำไปสู่สัมพันธ์ หรือกวานซี่ และสัมพันธ์ กับกวานซี่ ได้นำมาซึ่งรีตนั้นจึงเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่คู่สัมพันธ์ (ผู้กระทำกับผู้ถูกกระทำ)

และถึงแม้ในความเป็นจริงของคู่สัมพันธ์จะมีฐานะของผู้กระทำและผู้ถูกกระทำดำรงอยู่ก็ตาม แต่ก็ดูเหมือนว่า รีตได้ช่วยลบล้างออกไปจนมองไม่เห็นความเสมอภาค

หรือไม่ก็ความไม่เสมอภาคไม่ใช่เรื่องที่สลักสำคัญแต่ประการใด

 

รีตที่เอื้อกันในลักษณะนี้ที่แท้แล้วก็คือ ความสัมพันธ์ในระบบอุปถัมภ์ (Patron-Client Relations System) นั้นเอง และหากพิจารณาตามลักษณะความสัมพันธ์เช่นนี้ก็ย่อมหมายความว่า ผู้กระทำก็คือ ผู้อุปถัมภ์ (Patron) และผู้ถูกกระทำก็คือ ผู้รับอุปถัมภ์ (Client) ด้วยเช่นกัน

จะเห็นได้ว่า ทั้งอินเดียและจีนได้ก่อรูปสถาบันทางวัฒนธรรมของตนขึ้นมาโดยมีรีตเป็นศูนย์รวมที่สำคัญสูงสุด การยึดมั่นในรีตทั้งของอินเดียและจีนจึงไม่เพียงจะสะท้อนฐานภาพเชิงจริยธรรมเท่านั้น

หากแต่ยังได้นำไปสู่สายสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง โดยผ่านสิ่งที่เรียกว่าสัมพันธ์ และกวานซี่

แน่นอนว่า รีตที่เป็นส่วนสำคัญของสถาบันทางวัฒนธรรมนี้ได้คงระบบวรรณะและชนชั้นเอาไว้ ที่มีผู้กระทำและผู้ถูกกระทำก็จริง แต่ความเหลื่อมล้ำนี้อยู่มาได้ก็เพราะลึกลงไปในระบบความสัมพันธ์ที่ว่า ได้ก่อให้เกิดผู้อุปถัมภ์และผู้รับอุปถัมภ์ขึ้นมาด้วย

จนกลายเป็นระบบความสัมพันธ์ที่ได้รับการยอมรับ และอยู่สืบเนื่องยาวนานมาจนทุกวันนี้

การปฏิเสธระบบความสัมพันธ์นี้ในปัจจุบันนั้น เป็นเพราะตัวระบบได้บั่นทอนการเติบโตของการเมืองในระบอบประชาธิปไตยและเศรษฐกิจเสรีนิยม อันเป็นระบบความสัมพันธ์ใหม่ที่มาจากตะวันตก

ซึ่งจนแล้วจนรอด การปฏิเสธดังกล่าวก็ยังมิอาจทำลายระบบความสัมพันธ์ที่ว่านี้ลงได้

เหตุฉะนั้น หากวัฒนธรรมคือระบบความสัมพันธ์แล้ว การคงอยู่ของระบบนี้ก็คือ การคงอยู่ทางวัฒนธรรมในระดับสถาบันไปด้วย และการคงอยู่นี้ก็คือ การคงอยู่ของรีต

 

จากเงื่อนปัจจัยสถาบันทางการเมืองและสถาบันทางวัฒนธรรมของอุษาวิถีดังกล่าว ได้ทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ทั้งสองสถาบันมีฐานะไม่ต่างกับอนุศาสนีย์ที่แยกขาดจากกันไม่ได้

เป็นสองสถาบันที่จะต้องอยู่ควบคู่กันไปตลอดเวลานับพันปีที่ผ่านมา เงื่อนปัจจัยทั้งสองได้ฝังรากลึกลงไปไม่เพียงแต่ในสังคมอินเดียและจีนเท่านั้น หากหลังจากนั้นต่อมายังได้เข้าไปมีบทบาทอยู่ในอาณาบริเวณเอเชียใต้ เอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

จนมีอิทธิพลทางการเมืองอยู่ในอาณาบริเวณดังกล่าวมานับร้อยนับพันปี

อย่างไรก็ตาม เงื่อนปัจจัยทั้งสองเริ่มถูกท้าทายจากนักล่าอาณานิคมตะวันตก นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 18-19 เรื่อยมาทั้งในอินเดียและจีน ในฐานะแหล่งที่มาของเงื่อนปัจจัยทั้งสอง หรือในอาณาบริเวณที่เงื่อนปัจจัยทั้งสองแผ่อิทธิพลไปถึง

 

ค.อุษาวิถีกับรากฐานวัฒนธรรมแห่งยุคสมัย

จากสภาพแวดล้อมทางประวัติศาสตร์ในด้านการเมือง เศรษฐกิจ หรือวัฒนธรรม และเงื่อนปัจจัยด้านสถาบันทางการเมืองและสถาบันทางวัฒนธรรม จากที่กล่าวมาโดยตลอดในหัวข้อนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า สังคมตะวันออกหรือเอเชียจัดเป็นสังคมที่มีรากฐานอารยธรรมเป็นของตนเองอย่างแท้จริง

อารยธรรมนี้มีรากฐานเฉพาะอย่างที่แตกต่างไปจากอารยธรรมตะวันตก จากพัฒนาการอันยาวนานนับหลายพันปี อารยธรรมนี้ได้ตกผลึกเป็นวัฒนธรรมที่ฝังแน่นอยู่ในสำนึกทางสังคมของคนเอเชียอย่างเหนียวแน่นมั่นคง

อารยธรรมดังกล่าวนำไปสู่ปฏิบัติการทางสังคมในมิติต่างๆ จนมีวิถีเฉพาะตนขึ้นมา และคำว่า อุษาวิถี ก็จัดอยู่ในการเรียกขานเพื่ออธิบายผลึกทางวัฒนธรรมที่ว่านั้น

เพื่อให้ภาพความเข้าใจเป็นไปอย่างกระชับชัด การศึกษาในที่นี้จะเสนอลักษณะร่วมของสิ่งที่เรียกว่า อุษาวิถี เป็นลำดับถัดไป