จับตาเอลนีโญ ภัยแล้งลาม ข้าวลดขั้นวิกฤต | ศัลยา ประชาชาติ

ก่อนหน้านี้หลายคนคงไม่ยากจะเชื่อว่า จะเกิด “ภัยแล้งในฤดูฝน” จากปรากฏการณ์เอลนีโญได้อย่างไร ถ้าหากบอกว่าเป็นลานีญาอย่างที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 3 ปีก่อนยังฟังน่าจะมีโอกาสมากกว่า

ในการประชุมติดตามสถานการณ์ภัยแล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญ พร้อมกับการตั้งวอร์รูมของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และรองนายกรัฐมนตรีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

เป็นเครื่องสะท้อนถึงสัญญาณความรุนแรงของเอลนีโญรอบใหม่ได้เป็นอย่างดี

 

ปรากฏการณ์เอลนีโญเป็นรูปแบบสภาพอากาศที่เกิดขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อน เกิดจากกระแสลมที่กำลังอ่อนและเปลี่ยนทิศทางพัดจากด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกไปด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอุณหภูมิผิวน้ำทะเลของมหาสมุทรแปซิฟิกอุ่นขึ้น

มีผลทำให้เกิดภาวะร้อนแล้ง แต่หากกระแสลมที่เปลี่ยนแปลง ส่งผลให้อุณหภูมิเย็นลง และฝนตกอย่างมากจะเกิดปรากฏการณ์ต่างขั้วที่เรียกว่า ลานีญา

ย้อนไปเมื่อ 26 เมษายน 2566 นักวิชาการจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ออกมาเตือนว่าไทยมีโอกาสจะเกิดภาวะเอลนีโญอีกครั้งในช่วงปลายปี 2566 ซึ่งนับว่าเป็นการเกิดขึ้นในรอบ 8 ปีของไทยนับจากที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2015-2016

โดยมีโอกาสจะเกิดในระดับความรุนแรง “ปานกลาง” ระดับ 0.5-1.0 ไปจนถึงรุนแรงมากในระดับ 1.5 จากระดับความรุนแรงทั้งหมดที่มี 4 ระดับ ตั้งแต่ 0-2 พร้อมคาดการณ์ว่าเอลนีโญรอบนี้จะกินเวลานานถึง 3 ปี

กระทั่งเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2566 องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐ (NOAA) ออกมาประกาศอย่างเป็นทางการว่า เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญแล้วในฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก

ซึ่งนับเป็นวัฏจักรที่จะเกิดขึ้นทุก 2-7 ปี สอดรับกับข้อมูลขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ที่ชี้ว่ามีโอกาส 80% ที่จะเกิดเอลนีโญในสิ้นเดือนกันยายน 2566

ในส่วนของไทย ทางกรมอุตุนิยมวิทยาออกมาระบุว่า สถานการณ์เอลนีโญในไทย ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-เดือนกรกฎาคม อยู่ในระดับปานกลางที่ 0.8 เมื่อเทียบกับปี 2558/2559 ซึ่งเป็นปีที่ภัยแล้งรุนแรงที่สุดโดยปีนั้นอยู่ที่ 1.2

 

ล่าสุดปริมาณน้ำฝนสะสมในช่วง 7 เดือนแรก (มกราคม-กรกฎาคม) ปี 2566 “ต่ำกว่า” ระดับปกติในทุกพื้นที่

ซึ่งกรมชลประทานได้ประเมินปริมาณน้ำฝนของไทยออกมาแล้วพบว่า เฉลี่ยลดลงจากเดิม 5% เมื่อเทียบกับปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 30 ปี

รวมถึงคาดว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนของปีนี้จะ “น้อยกว่า” ปี 2565 อยู่ถึง 50% จะต้องรอจนกว่าจะถึงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน จะมีการประเมินสถานการณ์อีกครั้ง

แน่นอนว่าสถานการณ์ดังกล่าวสร้างแรงกดดันต่อ “แผนบริหารจัดการน้ำ”

ซึ่งหลักการสำคัญ กรมชลประทานยึดมั่นว่าจะต้องให้ความสำคัญกับน้ำอุปโภคบริโภคเป็นอันดับแรก ลำดับถัดมาจะเป็นการใช้น้ำด้านอื่นๆ เช่น การเกษตร การผลิต และด้านพาณิชย์

ประเด็นนี้ เชื่อมโยงแผนการผลิต การเพาะปลูกข้าวและพืชผลทางการเกษตรอื่นๆ ในพื้นที่ชลประทาน โดยได้มีการสั่งชะลอแผนการผลิตข้าวถึง 4 ล้านไร่จากทั้งหมด 8 ล้านไร่ เพื่อรอติดตามสถานการณ์น้ำก่อน

ทางกรมการข้าว ได้ประเมินสถานการณ์ปริมาณข้าวไว้ว่า ผลผลิตข้าวไทยปี 2566 น่าจะ “น้อยกว่า” ปี 2565 โดยนาปรังปีนี้คาดว่า ผลผลิตข้าวจะลดลงเหลือ 6.59 ล้านตัน เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ได้ 7.7 ล้านตัน ส่วนโดยนาปีเดิมที่ 26.6 จะลดลงมาอยู่ที่ 25.7 ล้านตัน หรือคิดเป็น 3.27%

ในด้านการส่งออกข้าวภายหลังจากภาวะเอลนีโญ มาบวกกับความตึงเครียดของสงครามรัสเซีย-ยูเครน สร้างความระส่ำระสายต่อการค้าข้าวโลกอย่างมาก โดย “อินเดีย” ซึ่งถือเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลกครองส่วนแบ่งตลาดถึง 40% ได้ประกาศมาตรการระงับการส่งออกข้าวขาวตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาข้าวในตลาดส่งออกปรับสูงขึ้น 100 เหรียญสหรัฐ/ตัน

ในเวลาเพียงแค่สัปดาห์เดียว และราคาข้าวสารปรับขึ้นจาก 14,000-15,000 บาท เป็น 18,000 บาท

 

อย่างไรก็ตาม ผลจากเอลนีโญเหมือนเหรียญสองด้าน ด้านหนึ่งอาจจะเป็นโอกาสที่ดีของส่งออกข้าว ที่อาจจะได้รับอานิสงส์หากตลาดแอฟริกาซึ่งเป็นตลาดที่มีการบริโภคข้าวจากอินเดียหันมาซื้อข้าวไทย

“จะเป็นปีทองที่ชาวนาไทยได้ราคาข้าวเปลือกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ หากยังสามารถผลิตข้าวได้”

แต่อีกด้านหนึ่งประเทศไทยต้องหา “จุดสมดุล” เพราะในขณะที่ราคาข้าวเปลือกสูงขึ้น เกษตรกรได้ประโยชน์มากขึ้น แต่ผู้บริโภคข้าวสารบรรจุถุงก็อาจจะได้รับผลกระทบจากราคาข้าวที่แพงขึ้นเช่นกัน จึงต้องจับตาทิศทาง “ตลาดข้าวถุง” ปลายไตรมาส 3 ก่อนที่ผลผลิตข้าวนาปีจะออก ว่าจะสามารถ “ตรึงราคา” ไว้ได้นานเพียงใด

ไม่ใช่เพียงแต่พืชเศรษฐกิจอย่างข้าวเท่านั้นที่จะได้รับผลกระทบจากเอลนีโญ แต่ยังมีพืชเกษตรชนิดอื่นๆ ทั้งอ้อย มันสำปะหลัง หรือแม้แต่ผลไม้จากอย่างทุเรียน ต่างก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน

ซึ่งจากสถานการณ์ผลผลิตเกษตรและอาหารมีแนวโน้มลดลงทั่วโลก สวนทางกับทิศทางราคาสินค้าเกษตรและอาหารที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้น เวิลด์แบงก์ออกรายงานเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาว่า ทั่วโลกมีโอกาสที่จะเผชิญกับ “อัตราเงินเฟ้อ” ที่พุ่งสูงขึ้นกว่า 5% และโดยเฉพาะในในประเทศมากกว่า 50 % ของกลุ่มประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลางทั่วโลกอาจจะต้องเผชิญกับเงินเฟ้อระดับ 2 ดิจิตจากวิกฤตราคาอาหารโลกในครั้งนี้

โดยมีการคำนวณคาดการณ์ความเสียหายจากเอลนีโญต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจทั่วโลกไว้ 80.5 ล้านล้านบาทในช่วงเวลา 5 ปี ระหว่าง ปี 2566-2570 อีกด้วย

 

ด้านการลงทุน นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มองว่า ภัยแล้งนอกจากจะกระทบต่อโอกาสส่งออกแล้วยังกระทบต่อการบริโภคภายในประเทศที่ตอนนี้เริ่มมีสัญญาณ “ที่ไม่ดีด้วย”

ขณะที่ในภาคการลงทุนโดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) นั้น ทาง กกร.ได้หารือร่วมกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำใน EEC เพื่อจัดทำ Water Balance ของแต่ละอ่างเก็บน้ำใหม่ และ “ทบทวนแผนบริหารจัดการน้ำล่วงหน้า” เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือผลกระทบจากสถานการณ์เอลนีโญ และสร้างความมั่นคงระยะยาว

ความเสียหายต่อเศรษฐกิจภาพรวม ยังเป็นประเด็นที่ภาคเอกชนให้ความสำคัญติดตามอย่างใกล้ชิด โดยในที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2566 นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทยในฐานะประธาน กกร. ระบุว่า กกร.ประเมินผลกระทบจากภัยแล้งครั้งนี้ อาจสร้างมูลค่าความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยสูงถึง 53,000 ล้านบาท ในช่วงปลายปี 2566 ถึงครึ่งแรกของปี 2567

ความท้าทายหลังจากนี้ ต้องมาลุ้นว่า War Room กระทรวงพาณิชย์ตั้งขึ้นมา นำโดย นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วยรองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นรองประธาน และผู้แทนส่วนราชการทั้งกระทรวงพาณิชย์กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงการคลัง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) และส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาคเอกชนและเกษตรกรที่เกี่ยวข้องที่จะต้องประเมินตัวเลขทุก 1-2 สัปดาห์ จะสรุปแนวทางตัดสินใจเรื่องสำคัญต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ต่อไปอย่างไร

เช่นเดียวกับความท้าทาย ที่ยังต้องมาลุ้นว่า การประชุมวางแผนบริหารจัดการน้ำ กรมชลประทาน ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ถือเป็นนัดขี้ชะตา “น้ำใช้” ของปี 2567 หากไทยสามารถกักเก็บน้ำช่วงนี้ได้ 20,000 ล้านลูกบากศ์เมตร (ลบ.ม.) เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มี 16,000 ล้าน ลบ.ม. จะเป็นไปตามเป้าหมายของกรมชลประทาน แต่ในกรณีที่มี “น้ำน้อย” ก็จะกระทบกับการปลูกข้าวในฤดูนาปรัง 2567 รอบแรกที่จะเริ่มในต้นปี 2567 ทำให้ผลผลิตข้าวนาปรังรอบใหม่ มีโอกาสลดลงไปราว 3-4 ล้านตัน

และยิ่งไปกว่านั้น คือ ความท้าทายในการสร้างรายได้ของภาคเกษตรว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรวางไว้หรือไม่ว่าจีดีพีภาคเกษตรปีนี้จะขยายตัว 1.5-2.5% เพราะเพียงแค่ไตรมาส 2 ปี 2566 (เมษายน-มิถุนายน) จีดีพีเกษตรก็มีอัตราขยายตัวเพียง 0.3%

 

ท่ามกลางปัจจัยมากมายทั้งที่พร้อมประดังประเดทุบภาคเกษตรของไทย ไม่ว่าจะเป็นราคาปัจจัยการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นหลังสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ต้นทุนการผลิตและเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลต่อกำลังซื้อและการลงทุนของเกษตรกร ความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่จะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกอาจจะไม่ฟื้นตัวตามที่คาดการณ์ไว้

และที่สำคัญไทยยังต้องมาลุ้นว่า “รัฐบาลใหม่” จะคลอดตามกำหนดเดือนสิงหาคมนี้

หรือจะมาทันทำหน้าที่วางแผนนโยบาย กำหนดมาตรการ และอนุมัติงบประมาณทัน “ภาวะเอลนีโญ” ที่จะมาถึงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้หรือไม่