คนปลิดชีวิตเพราะความจน เป็นปัญหาของศตวรรษที่แล้ว : ทำไมชนชั้นนำถึงไม่แก้ไข

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาข่าวครอบครัวที่ยากจนปลิดชีวิตตนเองและลูกน้อยด้วยความยากจน ไม่มีเงินเรียนหนังสือ รอคอยทุนและโอกาสที่ไม่เคยได้รับ

ปัญหานี้วนเวียนมาปีละหลายครั้ง วนซ้ำเป็นร้อยปี

เรื่องราวน่าสลดใจที่ดึงผู้คนให้เสียน้ำตา ทุกคนรับรู้เรื่องนี้ แต่เหตุใดยังมีเด็กที่ต้องตายเพราะไม่มีเงินเรียนหนังสือทั้งๆ ที่การแก้ไขเรื่องนี้เป็นสิ่งที่แก้ไขได้ไม่ยากเย็นนัก

ในเบื้องต้นสิ่งที่ผมอยากย้ำให้เห็นภาพความยากจนที่สังคมสร้างขึ้นเป็นมูลเหตุให้เกิดสิ่งที่น่าเศร้า มากกว่าอุปนิสัยส่วนตัว

คนจนมีทางเลือกในชีวิตน้อยกว่าคนรวยหลายเท่า

ไม่มีใครอยากจน ไม่มีใครอยากมีทางเลือกในชีวิตแค่ว่าอยู่อย่างแร้นแค้นหรือตาย

เราอาจผุดความคิดที่ว่าทำไมไม่ขยันกว่านี้ อดทนกว่านี้ หรือหาลู่ทางในการใช้ชีวิตที่ก่อให้เกิดรายได้มากกว่านี้

แต่ทางเลือกในชีวิตของแต่ละคนไม่เท่ากัน นอกจากนี้ คนที่ยากจนเมื่อมีปัญหาพวกเขาไม่สามารถส่งเสียงให้รัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนใจได้

และหน่วยงานรัฐก็ไม่รู้จะสนใจทำไมเพราะพวกเขาก็คิดว่าเป็นเรื่องปกติเพราะปัญหาของคนจนก็มีแทบทุกวัน

ส่วนปัญหาของคนรวยนานๆ เกิดที พวกเขาต้องสนใจให้ความสำคัญมากกว่าเป็นธรรมดา

และคนจนเมื่อมีปัญหาก็ไม่มีเครือข่ายหรือคนรู้จักที่มีทรัพยากรพอจะช่วยเหลือได้ อันต่างจากคนรวย

และเมื่อคนจนดำเนินการชีวิตผิดพลาด พวกเขาจะถูกตีตราทันทีไม่ค่อยมีใครเห็นอกเห็นใจนัก

โดยสรุปแล้วสังคมเป็นต้นเหตุในการผลักให้พวกเขาเผชิญกับปัญหาต่างๆ เพียงลำพัง ตั้งแต่ต้นเรื่องจนกระทั่งถึงปลายเรื่อง

 

คําถามสำคัญ เหตุใดจึงไม่มีการแก้ไข ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องที่ยากเย็นมาก

การทำให้คนมีข้าวกิน ได้เรียนหนังสือฟรี มีอาชีพที่มั่นคง มันก็เป็นสิ่งที่คนกลุ่มหนึ่งได้อยู่แล้ว ได้มาเป็นสิบเป็นร้อยปี ไม่ต้องรอการปฏิวัติเทคโนโลยี หรือการสร้างนวัตกรรมที่ซับซ้อน

ทำไมชนชั้นนำที่มีอำนาจและทรัพยากรล้นเหลือถึงไม่ทำ

ทำไมพวกเขาถึงปล่อยให้คนตายด้วยเหตุผลซ้ำๆ เหมือนเมื่อศตวรรษที่แล้ว แม้จะเป็นเรื่องพื้นฐานที่พูดกันหลายครั้งแล้ว แต่ผมขอสรุปซ้ำอีกครั้งหนึ่ง

1. พวกเขาไม่มีปัญหากับการช่วยคนจนที่น่าสงสาร แต่พวกเขามีปัญหากับการกำจัดความยากจน พวกเขาสามารถซื้อข้าวกล่องเลี้ยงคน 100 คนได้ แต่พวกเขาไม่สามารถที่จะลดหนี้ให้ชาวนาทั้งหมด ปลดหนี้ กยศ. หรือเงินเลี้ยงเด็กถ้วนหน้า พวกเขากลัวว่าอำนาจอุปถัมภ์ที่พวกเขาผูกขาดจะขาดสะบั้นลงเมื่อคนธรรมดาตระหนักถึงสิทธิพื้นฐานของตน

2. ดังนั้น พวกเขาจึงไม่เชื่อเรื่องการให้สวัสดิการโดยไม่มีเงื่อนไข สวัสดิการที่ออกแบบโดยรัฐจึงเต็มไปด้วยความซับซ้อน หลักเกณฑ์ การพิสูจน์ความจน เพื่อให้แน่ใจว่าทรัพยากรของพวกเขาจะไม่ถูกใช้เกินพอดีแก่กลุ่มคนจน

3. พวกเขาหากินกับทรัพยากรของรัฐ การก่อสร้าง การลงทุน การลดหย่อนภาษี การกดค่าแรง การทำให้คนไร้อำนาจ

ดังนั้น ฟังดูไม่มีเหตุผลที่พวกเขาจะนำชิ้นเนื้อที่พวกเขากินกันอยู่ทุกวัน แบ่งให้คนข้างล่างกิน และทำให้คนข้างล่างสามารถถามท้าทายถึงชิ้นเนื้อชิ้นถัดไป

 

เมื่อพิจารณาถึงจุดนี้เราจะพบว่า ปัญหาตรงนี้เป็นส่วนที่ซ้อนทับกันทั้งในทางเศรษฐศาสตร์คือ การแบ่งสรรทรัพยากร ปัญหาด้านปรัชญาคือการถกเถียงเรื่องคุณค่าและความสำคัญของความเท่าเทียม รวมถึงประเด็นทางการเมือง การจัดวางความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างชนชั้น

ดังนั้น เราจึงเห็นว่าความเลวร้ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับครอบครัวคนจนจึงไม่ใช่ “การตัดสินใจผิดพลาด” เชิงนโยบาย แต่เป็น “ความตั้งใจ” ที่พวกเขารู้อยู่แล้วว่าการคงไว้ซึ่งโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมแบบนี้ ก็ต้องมีคนฆ่าตัวตายจากความจนอย่างน่าสยดสยองเวียนวนเวียนมา แต่พวกเขาก็สามารถเบนความสนใจของประชาชนได้ด้วยการทำให้ภาระในชีวิตของพวกเขาหนักอึ่งจากสังคมที่ไร้สวัสดิการต่อไป

ดังนั้น หนทางสำคัญสำหรับเรื่องนี้ สามารถแก้ไขได้อย่างง่ายดาย โดยกระดุมเม็ดแรกที่ไม่จำเป็นต้องมีการดีเบต หรือกดเครื่องคิดเลขหาความเป็นไปได้ แต่คือการพัฒนาระบบเงินเลี้ยงเด็กถ้วนหน้า ไม่น้อยกว่า 2,000 บาทต่อเดือนทันที เพื่อพยุงประคองชีวิตของเด็กน้อยทุกคนให้ไม่มีใครต้องจบชีวิตลงด้วยความยากจน อันเป็นสาเหตุอันล้าสมัยจากเมื่อศตวรรษที่แล้ว

เมื่อเด็กทุกคนสามารถประคองชีวิตให้พ้นจากความยากจนได้ คือการฟื้นความฝันของคนรุ่นใหม่ทุกคน สร้างจินตนาการถึงสังคมที่เท่าเทียมมากขึ้น

นอกจากสามารถเก็บชีวิตของผู้คนไว้ได้แล้ว ยังเป็นบันไดก้าวสำคัญสู่ประชาธิปไตย