เมื่อการเมืองไทยวันนี้ คือเกมเล่นเล่ห์เพทุบาย | สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

วันก่อน ก่อนเข้ารายการวิเคราะห์ข่าวการเมืองที่กำลังยุ่งเหยิงอยู่ขณะนี้ มีบทพูดคุยนอกรอบที่ขำขันผสมขมขื่นของผู้ร่วมรายการ

หนึ่งในผู้สนทนาที่เคยเป็นทั้งนักการเมือง, คนทำสื่อ และวันนี้ร่วมวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองอันสับสนวุ่นวายอยู่ขณะนี้เปรยขึ้นว่า

“การเมืองบ้านเราเป็นอย่างนี้ วิชารัฐศาสตร์ที่สอนๆ กันในมหาวิทยาลัยในบ้านเราไม่ควรจะเรียก Political Science อีกต่อไปแล้วนะครับ ผมว่า”

อาจารย์มหาวิทยาลัยชื่อดังที่ออกทีวีถกแถลงเรื่องการเมืองเป็นประจำท่านหนึ่งหันมามองหน้าแล้วก็ถามด้วยความสงสัยว่า

“อ้าว…ทำไมล่ะ? ทั้งโลกเขาก็เรียก Political Science กันทั้งนั้น”

ท่านผู้นั้นในฐานะอดีตนักการเมืองและวันนี้ผันตัวเองเป็นนักวิเคราะห์การเมืองวันไหนที่ว่างจากการบริหารร้านอาหารยุคใหม่, หัวเราะ แต่ตอบด้วยน้ำเสียงจริงจังว่า

“ก็การเมืองไทยมันมีอะไรเป็น science หรือวิทยาศาสตร์บ้างล่ะครับ, อาจารย์…มันล้วนเป็นเรื่องปั้นน้ำให้เป็นตัว, ใช้เล่ห์เหลี่ยมเพทุบาย, ไม่มีหลักการอะไรเหลืออยู่แล้ว…”

อาจารย์ที่สอนรัฐศาสตร์มาตลอดชีวิตพยักหน้า เห็นด้วยโดยไม่มีข้อโต้แย้ง

“เห็นด้วย…งั้นจะเรียกวิชานี้ว่าอย่างไรล่ะ”

คำตอบทันควันคือ

“เรียกมันว่า Political Art ก็แล้วกัน เพราะสำหรับประเทศไทยการเมืองไม่ใช่ศาสตร์ ไม่มีอะไรเป็นวิทยาศาสตร์ ไร้เหตุไร้ผล หรือมีผลแต่หาเหตุไม่ได้…มันเป็นศิลปะแห่งการทำอะไรก็ได้ขอให้บรรลุเป้าหมายของกลุ่มคนที่มีผลประโยชน์ก็พอ ทำยังไงก็ได้ ไม่ต้องมีกฎมีเกณฑ์ ไม่ต้องมีหลักมีการ ใช้ศิลปะคดเคี้ยวเลี้ยวลดทุกอย่าง โกหกหน้าด้านๆ วันนี้พูดอย่าง พรุ่งนี้แถไปอีกอย่างหน้าตาเฉย จะน่าเกลียดอย่างไรก็ได้ เพียงเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการเท่านั้น…มันไม่ใช่รัฐศาสตร์ มันคือ รัฐศิลป์…”

ว่าแล้วเราต่างก็หัวเราะพร้อมๆ กันด้วยหัวใจที่ห่อเหี่ยวยิ่ง

อาจารย์อาวุโสผู้นั้นสรุปด้วยการบอกว่า “งั้น…ผมขออนุญาตยืมคำของคุณไปใช้นะครับ จะได้ไม่คาดหวังอะไรจากการเมืองไทยอีกต่อไป”

 

ฟังการแลกเปลี่ยนของสองผู้มากด้วยประสบการณ์การเมืองไทยแล้ว ผมก็ขอเสริมว่า

การเมืองไทยวันนี้ไม่อาจจะมีมาตรฐานระดับ “ศาสตร์” หรือ “ศิลป์” ด้วยซ้ำไป

ด้วยคุณภาพต่ำเตี้ยเรี่ยดินที่ทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อยมีคำถามตัวโตๆ ว่าเมื่อให้ไปเลือกตั้งแล้ว ผลการเลือกตั้งชี้ชัดว่าประชาชนต้องการ “ความเปลี่ยนแปลงที่จับต้องได้”

แต่ไฉนเลยการต่อรองหลังการเลือกตั้งจึงกลับไปเป็นการเล่นเกมการเมืองต่อรองเพื่อผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม

โดยไม่สนใจถึง “เจตนารมณ์” ของคนไทยที่รวม 8 พรรคที่ร่วมกันลงนามใน MoU เกือบ 27 ล้านเสียงหรือ 72% ของผู้ใช้สิทธิ

ก่อนที่จะถูกพรรคเพื่อไทยฉีกทิ้งเพื่อข้ามขั้วไปตั้งรัฐบาลกับ “กลุ่มอำนาจเก่า”

การเมืองไทยวันนี้จึงอยู่ในแค่ระดับ Political Machination (อ่านว่า “มาชิเนชั่น) ซึ่งพจนานุกรมแปลว่า การวางแผน, การวางเล่ห์เพทุบาย, แผน, เล่ห์เพทุบาย

เพราะสิ่งที่เราเห็นอยู่ในแวดวงการเมืองหลังการเลือกตั้งขณะนี้ถือเป็นละครน้ำเน่าที่มีสคริปต์หยาบๆ ดิบๆ เท่านั้น

คนดูเห็นตัวละครและลีลาท่าทางผสมวาทกรรมแล้วก็รู้ทันที่ว่าตอนจบจะเป็นอย่างไร

ซึ่งสวนทางกับความคาดหวังของคนที่ซื้อตั๋วเข้ามาดูเพราะมีการรับปากไว้ก่อนหน้านี้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะนำไปสู่การยกระดับของคุณภาพการเมืองหลังจาก 9 ปีที่อยู่ภายใต้กติกาที่ตีกรอบให้ผู้มีอำนาจกำหนดชะตากรรมของประเทศ

โดยที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้มีโอกาสเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด

 

การดีเบตช่วงหาเสียงในหลายๆ เวทีก็ดูเหมือนจะมีการซักถามในประเด็นที่เป็นเนื้อหาสาระที่ดูเหมือนจะเห็นสัญญาณของความคืบหน้าทางคุณภาพการเมืองบ้าง

แต่ท้ายที่สุด ผู้ออกมาดีเบตเป็นเป็น “ฉากละคร” ประชาธิปไตยจอมปลอม

เพราะอำนาจที่แท้จริงของการตั้งรัฐบาลก็ยังอยู่กับกลุ่มอำนาจเดิมที่ยังสามารถชักใยอยู่เบื้องหลัง

คนออกมาดีเบตไม่มีอำนาจ คนมีอำนาจไม่ยอมออกมาดีเบต

ผนวกกับสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) บางกลุ่มบางเหล่าที่ยังมีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรีตามบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

เจตนารมณ์ของประชาชนจากการหย่อนบัตรกลายเป็นเพียง “เชิงอรรถ” แทนที่จะเป็น “แก่นแกนแห่งการเมือง”

การเมืองไทยวันนี้จึงมิอาจจะเรียกได้ว่าเป็น “ศาสตร์” หรือ “ศิลป์”

หากแต่เป็นเกมเล่นเล่ห์เพทุบายตื้นๆ ที่รังแต่จะทำลายความเชื่อมั่นและศรัทธาของประชาชนต่อสิ่งที่อ้างว่าเป็นระบอบ “ประชาธิปไตย” สำหรับคนไทยทุกภาคส่วน

ทำข่าวการเมืองมาหลายสิบปียังไม่เคยเห็นการเมืองไทยที่เป็นอย่างวันนี้

…วันที่หลังเลือกตั้งแล้วกว่าสามเดือนยังตกอยู่ในวังวนของความสับสนอลหม่านยอกซ้อนซ่อนเงื่อนอันเกิดจากรัฐธรรมนูญที่บูดเบี้ยวบิดเบือนเจตนารมณ์ของประชาชน

ไปตั้งวงสนทนาที่ไหนก็ได้รับคำถามว่า : คนรุ่นต่อไปจะมีความหวังอะไรบ้างหรือไม่

หากอำนาจการกำหนดชะตากรรมของประเทศจะตกอยู่ในมือของประชาชนคนไทยจริงๆ หน้าตาของกติกาการบริหารประเทศจะเป็นเช่นไร

“การเมืองเก่า” กำลังจะถูก “การเมืองใหม่” เบียดตกไปอย่างแน่นอน

 

ผลการเลือกตั้งครั้งนี้บอกเราว่าแม้สิ่งที่เราเห็นวันนี้จะเป็นข่าวร้าย แต่เราก็เห็นสัญญาณทางบวกไม่น้อย

นั่นคือความพร้อมของคนจำนวนไม่น้อยที่จะออกมาใช้สิทธิเพื่อจะเลือกเส้นทางของ “ความเปลี่ยนแปลง”

นั่นหมายความถึง “การเมืองใหม่” ที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะเป็นความหวังของ “คนรุ่นใหม่” เท่านั้น

แต่ผลเลือกตั้งสะท้อนว่า “คนทุกรุ่น” ต่างก็ต้องการ “ความเปลี่ยนแปลง” ที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตที่สัมผัสได้อย่างจริงจัง

แม้แต่พรรคการเมืองรุ่นเก่าและเคยยิ่งใหญ่อย่าง “เพื่อไทย” ก็ได้รับ “บทเรียน” ที่เจ็บปวดจากผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง

เป็นบทเรียนที่ตอกย้ำว่าความสำเร็จในอดีตไม่ได้เป็นเครื่องรับรองความสำเร็จในวันนี้หรือวันหน้าอีกต่อไป

ยิ่งพรรคการเมืองที่อิงกับอำนาจเก่าก็ได้รับรู้ถึง “สาร” เสียงดังฟังชัดจากประชาชนว่าพวกเขาไม่อาจจะมอบความไว้วางใจในการบริหารประเทศให้กับ “ผู้มีอำนาจ” แต่ “ไร้วิสัยทัศน์” และไม่ชัดเจนในเรื่อง “คุณธรรม” และ “ความซื่อสัตย์สุจริต” ได้อีกต่อไป

ที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือแม้ว่าคนจำนวนมากที่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งครั้งนี้ต้องการจะส่งสัญญาณว่าต้องการ “ความเปลี่ยนแปลง” แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคำนิยามของคำว่า “ความเปลี่ยนแปลง” ของคนกลุ่มต่างๆ จะมีความละม้ายคล้ายกันหมด

นั่นคือความท้าทายของผู้ที่จะรับช่วงอำนาจรัฐต่อจากนี้ไป

 

ความท้าทายที่จะต้องเปิดช่องทางการสนทนากับผู้คนทุกหมู่เหล่าว่า “ความเปลี่ยนแปลง” ที่สังคมไทยพึงประสงค์เพื่อให้หลุดออกจาก “กับดัก” ที่ทำให้ประเทศไทย “ติดหล่ม” ความล้าหลังและความไร้ประสิทธิภาพนั้นคืออะไร

ในภาพรวม เสียงเรียกร้องของสังคมที่ดังกระหึ่มจากผลการเลือกตั้งคือความต้องการที่จะเห็นความมีส่วนร่วมของผู้คนทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง

“การเมืองเก่า” พิสูจน์แล้วเราล้มเหลวในประเด็นเหล่านี้โดยสิ้นเชิง

“การเมืองใหม่” จึงเป็นความหวังเดียวที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่การที่ปวงชนชาวไทยทั้งมวลสามารถลุกขึ้นเดินหน้าเคียงบ่าเคียงไหล่ไปด้วยกัน

ส่วน “การเมืองใหม่” อันพึงปรารถนา และความท้าทายที่จะมาพร้อมกับวิถีแห่งยุคสมัยนั้นมีรูปร่างหน้าตาและสาระอย่างไร…เป็นการบ้านสำหรับคนไทยทั้งมวล

ที่จะต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการสนทนาอย่างเปิดกว้างและตรงไปตรงมา…สำหรับคนทุกรุ่นทุกวัยทุกแนวคิดอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

โดยไม่มีใคร “ผูกขาด” ความคิดที่กำหนดแนวทางอนาคตของบ้านเมืองแต่เพียงคนเดียวหรือกลุ่มเดียวอีกต่อไป