ภาระอย่างใหม่ของ ‘ประชาชน’ | เมนูข้อมูล

ใครที่ติดตามการเมืองในมุมของการแสดงอารมณ์ของประชาชน จะพบว่ามีความเป็นไปที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย

หลังเลือกตั้ง ที่เกิดขึ้นคือความดีอกดีใจพุ่งกระฉูด หนึ่งคือภาพของเพื่อนประชาชนออกมาใช้สิทธิกันล้นหลาม และเลือกฝ่ายประชาธิปไตยให้ชนะอย่างถล่มทลาย

ช่วงจัดแรกของการร่วมพรรคประชาธิปไตย 312 เสียงเพื่อจัดตั้งรัฐบาลยิ่งไปกันใหญ่ ความอิ่มเอมใจปรากฏอยู่ทั่วในการแสดงออกของประชาชน ถึงขนาดไชโยโห่ร้องว่า “ได้กลิ่นความเจริญ” ด้วยความหวังสูงยิ่งจะได้เปลี่ยนแปลงชีวิตจากการครอบงำบัญชาการของ “ขบวนการแช่แข็งประเทศ” เสียที

แต่แล้วจากนั้น ความรู้สึกโดยรวมก็ค่อยๆ เหี่ยวลง เพราะเริ่มเห็นชัดขึ้นเรื่อยๆ ว่า “อำนาจประชาชน” ไม่มีความหมายในประเทศที่ถูกออกแบบไว้เพื่อรองรับ “ขบวนการผูกขาดอำนาจ” เท่านั้น

พรรคการเมืองส่วนใหญ่พร้อมที่ทำในสิ่งที่ทำให้ “อำนาจประชาชน” ไร้ค่า

ไม่เว้นแม้แต่พรรคที่พากันไปเลือกเข้ามาด้วยความเชื่อมั่นว่าไม่มีวันทรยศต่อประชาชน ถึงที่สุดก็ยังมีพฤติกรรมในทางที่ปล่อยให้ประชาชนมองดูด้วยความตื่นตะลึงว่าเป็นไปได้ ในความรู้สึกที่หดหู่จากความสิ้นหวัง

ไม่ว่าจะเลือกอย่างไร ทุกอย่างมาจบที่เหมือนเดิม ถูกครอบงำด้วย “ขบวนการผูกขาดอำนาจ” อยู่ดี

 

อันเป็นเรื่องน่าคิดไม่น้อยว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไม “พรรคการเมือง” และ “พรรคการเมือง” ซึ่งอำนาจได้มาจากความไว้วางใจของประชาชน กลับพากันตัดสินใจอย่างไม่เห็นความสำคัญของ “เจตจำนงประชาชน” กันอย่างพร้อมเพรียง

เปลี่ยนอารมณ์ของประชาชนจากความเริงรื่นชื่นปีติ มาเป็นหดหู่ สิ้นหวังกันง่ายๆ อย่างนั้น ทำไม

เมื่อเร็วๆ นี้ “สวนดุสิตโพล” สำรวจเรื่อง “พฤติกรรมประชาธิปไตยของคนไทย ณ วันนี้” คำถามหนึ่งน่าเป็นคำตอบได้แม้ไม่ตรงนักคือ “ประชาชนคิดว่าอะไรเป็นอุปสรรคของการมีพฤติกรรมประชาธิปไตยของคนไทย”

โดยแต่ละคนเลือกได้หลายคำตอบ ผลที่ออกมา
อันดับ 1 คือถูกแทรกแซง ควบคุมอำนาจ ละเมิดสิทธิเสรีภาพ 70.57%,
อันดับ 2 การแบ่งขั้ว ความขัดแย้งทางการเมือง 65.59%,
อันดับ 3 ทัศนคติ ความคิด มุมมอง ความรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตย 63.55%,
อันดับ 4 กฎหมายไม่เป็นธรรม 63.26%,
อันดับ 5 ผู้มีอำนาจทางการเมือง 62.96%

จากคำตอบนี้หมายความว่า ไม่ใช่ประชาชนไม่รู้ว่าปัญหาประชาธิปไตยของประเทศอยู่ตรงไหน

และนั่นหมายถึงการแสดงออกในผลเลือกตั้งย่อมต้องการให้ “นักการเมือง” และ “พรรคการเมือง” ที่ฝากความหวังไว้ เข้าไปเพื่อขจัดปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้อำนาจประชาชนมากำหนดความเป็นไปประเทศ

ผลการเลือกตั้งที่ฝ่ายประชาธิปไตยได้รับชัยชนะท่วมท้นจึงสร้างความสุขด้วยเกิดความหวังว่าเจตนารมณ์ของประชาชนจะได้รับการสนองตอบ

ยิ่งเห็นความกระตือรือร้นกันคึกคักในการตั้งรัฐบาลร่วมกันของพรรคการเมืองที่เทคะแนนให้ ยิ่งยิ้มย่อมผ่องใสกับความสำเร็จที่ร่วมกันทำ

ใครจะไปนึกว่าที่สุดแล้ว ทุกอย่างเหมือนสร้าง “ปราสาทราย” พังทลายได้ในพริบตา เมื่อถูกคลื่นจาก “อำนาจเดิม” สาดเข้าใส่

ความหวังจมหายไปในความมืดกันหมด ไม่เว้นแม้แต่จากพรรคที่ร่วมแรงร่วมใจต่อสู้ร่วมกันมายาวนาน

เพื่อโอกาสในอำนาจ ยังสะบัดทิ้งความหวังของประชาชนอย่างเหมือนไม่มีเยื่อใยในไมตรีที่มีต่อกันมาเนิ่นนาน

เป็นการเมืองที่ให้บทเรียนครั้งสำคัญ ว่าต่อไปนี้ “ความไว้วางใจจะต้องถูกตีความใหม่”

เป็นโจทย์ให้ประชาชนหาคำตอบด้วยการต้องรื้อความคิดใหม่ทั้งหมด ว่าจะจัดการอย่างไร

หากต้องการให้ความฝันและความหวังเป็นจริง

แค่ความไว้วางใจใน “พรรคการเมือง” ที่ร่วมต่อสู้มา น่าจะไม่เพียงพอแล้ว