รัฐบาลยำรวมมิตร…สกัดประวิตรเป็นนายกฯ | มุกดา สุวรรณชาติ

มุกดา สุวรรณชาติ

1.แผนทำลาย 2 พรรคใหญ่ ถือว่าสำเร็จ

แผนสกัดพรรคก้าวไกล โดยกลุ่มอำนาจเก่า ไม่ยอมให้ ส.ว.ยกมือหนุน ในขณะเดียวกัน ก็ไปยุยงพรรคเพื่อไทยว่า ถ้าก้าวไกลไม่ผ่าน ก็ให้พรรคเพื่อไทยเสนอนายกฯ แทน พวกเขาจะมาช่วยสนับสนุน

เมื่อเพื่อไทยให้ก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้าน ตามแรงบีบของ ส.ว. ถือว่าอำนาจเก่าชนะขั้นแรก แต่เสียงสนับสนุนก็หายไป 150 เสียง เหมือนยืนขาเดียว

ดังนั้น เพื่อไทยก็ต้องไปหาเสียงหนุนจากพรรครัฐบาลเดิม ไม่ว่าจะเป็นภูมิใจไทย พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ หรือประชาธิปัตย์ (ปชป.) มาผสมเพื่อให้มีเสียงในสภาผู้แทนฯ 270-280 และพรรคเหล่านั้นก็จะต่อรองเรียกร้อง ขอดูแลกระทรวงต่างๆ (แต่วันไหนที่ไม่พอใจก็สามารถล้มรัฐบาลได้ไม่ยาก แค่มีบางพรรคการเมืองถอนตัว รัฐบาลก็ล้มแล้ว)

ผลกระทบทางการเมืองคือ เพื่อไทยจะถูกตราหน้าว่า ร่วมกับเผด็จการ พายเรือให้โจร กลุ่มอำนาจเก่าคิดว่า ต่อไป เพื่อไทยก็จะตกต่ำ เดินตามเส้นทางที่ ปชป.เคยเดินหลังร่วมกับเผด็จการ

ไม่ว่าเพื่อไทยจะจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จหรือไม่ ตอนนี้ก็โดนด่าทุกวัน

 

2.เพื่อไทยกลัวฟ้าผ่า แต่ไม่กลัวแผ่นดินไหว
ก้าวไกลถูกสลัดทิ้ง แต่ยังเหลือมวลชน

เมื่อก้าวไกลส่งไม้ต่อให้กับพรรคเพื่อไทย ซึ่งคนที่รับไม้ก็จะเป็น เศรษฐา ทวีสิน ถ้าเป็นไปตามข้อตกลงทั้ง 8 พรรคฝ่ายประชาธิปไตยก็ยังคงรักษาคำมั่นกันไว้ก็จะมี 312 เสียง แต่เพื่อไทยตัดสินใจทิ้งก้าวไกล เพราะถ้าเก็บไว้ก็ไม่ได้เสียง ส.ว.และพรรคร่วมรัฐบาลเดิม งานนี้ถือว่าเพื่อไทยเลือกเส้นทางเดิน โดยคิดว่าปลอดภัยที่สุด

ส่วนก้าวไกลเล่นเกมเสี่ยง ยืนยันเปลี่ยนโครงสร้างการเมือง ต้องการรักษาชื่อเสียงและฐานมวลชน ดังนั้น จึงไม่ได้ทั้งตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ประธานสภา และการเป็นรัฐบาล ที่ต้องระวังคือ การถูกยุบพรรค แต่มวลชนหลายล้านยังอยู่กับก้าวไกล

ก้าวไกลมองว่า… ข้างหน้า อนาคตงดงาม แม้ไฟลุกลามจะแผดเผา

 

3.เสียสัตย์เพื่อตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว
คือยุทธศาสตร์การถอยของเพื่อไทย

การฝ่าฟันแรงบีบต่างๆ เพื่อตั้งรัฐบาลในครั้งนี้ พรรคเพื่อไทยต้องเสียสัตย์เพื่อตั้งรัฐบาล

แต่แกนนำพรรคก็ประเมินแล้วว่าเกมที่เดินทั้งหมดนี้จะทำให้สามารถเป็นรัฐบาลได้และไม่ต้องถูกยุบพรรค

แม้ชื่อเสียงทางการเมืองจะต้องหดหายลงไปมาก แต่แกนนำพรรคก็เลือกแล้ว ว่านี่เป็นวิธีการดีที่สุดในขณะนี้

เพราะวันที่มี ส.ส.มากที่สุดเกินครึ่งและไม่มี ส.ว.มาเลือกนายกฯ ยังฝ่าแรงบีบของอำนาจเก่าไปไม่ไหว วันนี้มี ส.ส.เพียงแค่ 141 คน พวกเขาจึงคิดว่ายุทธศาสตร์นี้ดีที่สุดแล้ว

แต่การตั้งรัฐบาลข้ามขั้วก็ไม่ง่ายเพราะต้องอาศัยเสียง ส.ว. และพรรคร่วมรัฐบาลเดิม และยังมีคนอื่นอยากเป็นนายกฯ

 

4.ประวิตรคิดเป็นนายกฯ…
เพื่อไทยชิงธง ร่วมภูมิใจไทย

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมามีการสกัด เศรษฐา ทวีสิน เรื่องคุณสมบัติ โดยการขุดค้ยหาข้อเสียต่างๆ มาโจมตี

ถ้าพรรคเพื่อไทยไม่สามารถตั้ง เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีได้สำเร็จ จะเป็นการเปิดโอกาสให้พรรคร่วมรัฐบาลเก่า เสนอแคนดิเดตนายกฯ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ โดยมี ส.ว.เข้าร่วมสนับสนุนจนมีคะแนนเกิน 376 แม้ในวันตั้งนายกฯ จะคล้ายกับเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย แต่พวกเขาเตรียมการหา ส.ส.ให้ย้ายข้างมาสนับสนุนให้มี ส.ส.เกิน 260 เสียงในโอกาสต่อไป ไม่ว่าจะใช้วิธีการใดๆ ก็ตาม ซึ่ง ส.ส.ย้ายข้างเหล่านั้น ก็จะมีข้ออ้างว่าตั้งรัฐบาลไม่ได้ ประเทศหยุดชะงัก พวกเขาจำเป็นต้องสนับสนุนพรรคที่สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้

ดังนั้น เพื่อไทยจึงชิงธงการนำจัดตั้งรัฐบาล โดยดึงภูมิใจไทยเข้ามาเป็นแกนร่วมจัดตั้งรัฐบาล จุดประสงค์ก็เพื่อชิงการนำและตัดกำลังพรรคร่วมรัฐบาลเดิมอย่างสำคัญ เพราะเอาพรรคที่เสียงมากที่สุดมาร่วมกับตัวเองและโชว์ว่าตัวเองมีเสียงรวมกัน 212 เสียง และได้หาเสียงสนับสนุนสำรองไว้จากพรรคอื่นรวมแล้วเกิน 250 และจากนี้ไปจะเริ่มดึงพรรคอื่นๆ เข้า

แผนนี้ดูดี แต่ไม่ง่าย ต้องใช้การต่อรองที่ราคาแพง

ถ้าพิจารณาดูช่วงเวลาจะพบว่ายังมีอีกหลายวันเพราะจะต้องรอศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาในวันที่ 16 สิงหาคม ดังนั้น ยังไม่รู้ว่าจะมีการพลิกเกมไปอย่างไรบ้าง?

 

5.เพื่อไทยจะต้องจ่ายอะไรบ้าง

ช่วงเวลาที่เนิ่นนานออกไปนี้ถ้า พล.อ.ประวิตรยังไม่ยอมถอยก็จะเป็นโอกาสทองของพรรคที่เข้าร่วม ทุกพรรคจะต่อรองเอาเก้าอี้รัฐมนตรี ดังนั้น นักวิเคราะห์จึงประเมินว่างานนี้ถ้าเพื่อไทยจะได้นายกรัฐมนตรีจะต้องแลกเปลี่ยนกับทุกพรรคและทุกกลุ่มที่มาร่วมรัฐบาล ดังนั้น กระทรวงที่หมายมั่นปั้นมือว่าจะเข้าบริหารก็อาจจะไม่ได้ดั่งที่หวังเพราะต้องแจกจ่ายไปให้กับพรรคการเมืองต่างๆ ที่เข้ามาร่วม

ถ้าจะเอากระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทยไว้ หมายความว่ากระทรวงใหญ่อื่นๆ เช่น เกษตรฯ คมนาคม สาธารณสุข ศึกษาธิการ พลังงาน ก็ต้องปล่อยออกไปทั้งหมด

นอกจากนี้ ยังต้องรักหนูและเลี้ยงดูงูเห่า เพราะเพื่อไทยวางเกมไม่ให้มีชื่อ 2 ลุงปรากฏในรัฐบาล แต่ก็พยายามจะให้ ส.ส.ของแต่ละพรรค โหวตนายกฯ ให้คนของเพื่อไทย ซึ่งแน่นอนว่างานนี้ไม่มีของฟรี งานนี้เป็นการย้อนศรพรรคร่วม ซึ่งกำลังใช้กล้วยมาล่อลิง แต่เพื่อไทยต้องใช้ตำแหน่งไปล่องู

ราคาที่ต้องจ่ายทางการเมือง คือความแตกแยกในพรรค และในหมู่มวลชน

 

6.เอาคนของพรรคลุงมาร่วม
เพื่อเพิ่มเสียง ส.ว.

ถ้าจะให้เสียงถึง 375 ต้องมีการดึงเอา ส.ว.มาช่วยโหวตนายกฯ ให้ด้วย ใครหรือกลุ่มใดดึง ส.ว.มาช่วยโหวตให้มากเท่าใด ก็จะต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีได้มากเท่านั้น

ส.ว.ที่เป็นกลุ่มก้อนมาจากสาย 2 ลุง

แต่ถ้าประวิตรยังคิดจะแข่งนายกฯ กับเพื่อไทย ก็อาจจำเป็นต้องเลือกเอากลุ่มของรวมไทยสร้างชาติ งานนี้ลุงตู่อาจหักหน้าลุงป้อม ถ้าลุงป้อมไม่ยอมถอย

เกมชิงอำนาจครั้งนี้ ส.ว.เปลืองตัวที่สุด ในการรับใช้นาย ต้องเป็นผู้ร้ายในสายตาคนทั้งชาติแม้จะได้ทำตามแผนที่วางเอาไว้ตั้งแต่ปี 2560 ปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นเนื่องจากการร่างรัฐธรรมนูญ การนำกฎหมายพ่วงเข้าไปให้ประชาชนโหวตในประชามติและนำมาใช้จริงเพื่อสกัดกั้นระบอบประชาธิปไตย

การร่างรัฐธรรมนูญครั้งใหม่ไม่แน่ว่าจะมีวุฒิสภา ถึงมีก็ต้องผ่านการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน ต่อไปการมี ส.ว.แต่งตั้ง ก็จะถูกมองว่าเป็นภัยต่อประชาธิปไตย

ก่อนจะหมดวาระ นี่เป็นงานสุดท้าย ส.ว.บางกลุ่ม บางคน ลงแรงไปเยอะ ได้อะไร?

 

7. สร้างรัฐบาลสมานฉันท์ ยำรวมมิตร…
ใช้การร่างรัฐธรรมนูญใหม่เบิกทาง

รัฐบาลใหม่ประกอบไปด้วยพรรคการเมืองเกือบทั้งหมดยกเว้นก้าวไกล และพรรคเล็กบางพรรค ตามแผนของเพื่อไทย คือ ตั้งรัฐบาลยำรวมมิตรเตรียมใช้รัฐธรรมนูญเป็นตัวเบิกทางการเมือง

ยุทธศาสตร์ของเพื่อไทยไม่ยอมปะทะอำนาจเก่าเพราะกลัวจะถูกยุบพรรค ในขณะที่ก้าวไกลไม่ยอมหลีกเลี่ยงการปะทะ

แต่เพื่อไทยก็จำเป็นจะต้องแก้รัฐธรรมนูญเพราะมีผลต่อระบอบประชาธิปไตยในระยะยาว และเป็นผลดีต่อทุกพรรคการเมือง ที่สำคัญเป็นคำมั่นสัญญากับประชาชน ซึ่งเรื่องนี้น่าจะลดทอนความไม่พอใจของประชาชนลงได้ระดับหนึ่ง

การแก้รัฐธรรมนูญจะต้องใช้เวลาพอสมควรเพราะจะต้องมีการลงประชามติ และจะต้องมีการเลือกตั้ง ส.ส.ร.จากประชาชน จากนั้นจึงจะมีการประชุมเพื่อร่างรัฐธรรมนูญ กระบวนการทั้งหมดกว่าจะเสร็จเป็นรัฐธรรมนูญคงจะใช้เวลาประมาณ 2 ปีเป็นอย่างน้อย

ถ้าหากว่าประชาชนต้องการให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ที่คิดว่าจะดีกว่าก็จะต้องให้เวลารัฐบาลนี้อย่างน้อย 2 ปี หรืออาจจะถึง 3 ปี

เพื่อไทยหวังว่าการนำรัฐบาลยำรวมมิตรฝ่าวิกฤตต่างๆ น่าจะทำได้ดีกว่ารัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา และถ้าพอมีผลงานบ้างก็จะสามารถกู้ชื่อเสียงของพรรคเพื่อไทยให้ทันกับการเลือกตั้งครั้งต่อไป แบบนี้ถือว่าเสมอตัว

แต่งานนี้ถ้าเพื่อไทยทำไม่สำเร็จ แล้วกลายเป็นแค่พรรคร่วม ถือว่าเสียหายย่อยยับ สู้ถอยไปเป็นฝ่ายค้านอิสระจะเสียหายน้อยกว่า