ปิดจ๊อบ…มหากาพย์ ซี 8 โกงเงินตกเขียวเด็ก

นายอรรถพล สังขวาสี ปลัด ศธ.

ปิดจ๊อบมหากาพย์ ซี 8 กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โกงเงินเด็กตกเขียว!

ล่าสุด ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิพากษาให้นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของสำนักงานปลัด ศธ. และได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบงานกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต มีโทษจำคุก 93 ปี 279 เดือน สำหรับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นน้องชาย มีความผิดฐานผู้สนับสนุน ให้ลงโทษจำคุก 34 ปี 102 เดือน และจำเลยที่ 3 อดีตลูกจ้าง ศธ. มีความผิดฐานผู้สนับสนุน ให้ลงโทษจำคุก 3 ปี 18 เดือน ไม่รอการลงโทษ

และให้จำเลยทั้งสามคน ร่วมกันชดใช้เงินให้กับผู้เสียหาย ที่ยังไม่ได้ชดใช้คืนจำนวน 64 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย โดยในวันอ่านคำพิพากษา จำเลยทั้ง 3 รายได้เข้าฟังคำพิพากษาด้วย

และถูกจำคุกตามคำสั่งศาลทันที…

 

ย้อนกลับไป กองทุนเสมาพัฒนาชีวิต เริ่มต้นในปี 2537 ใช้งบฯ ประเดิมจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จำนวน 600 ล้านบาท

ต่อมามีการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลและเงินบริจาคสบทบเข้ามาหมุนเวียน วัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส และเด็กที่อยู่ในภาวะยากลำบาก เช่น กำพร้า ยากจน โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงเพื่อไม่ให้เข้าสู่ตลาดแรงงานก่อนวัยอันควร หรือถูกล่อลวงให้ไปค้าประเวณี หรือเด็กตกเขียว สนับสนุนการศึกษาให้เด็กที่จบมัธยมศึกษาตอนต้นและ ม.ปลาย หรือเทียบเท่าที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้มีโอกาสได้เรียนต่อ

เริ่มต้นที่ภาคเหนือตอนบน 8 จังหวัด และขยายให้ทุนกับสถาบันการศึกษาที่สอนด้านพยาบาล โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ กลุ่มโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ และกลุ่มวิทยาลัยพยาบาล

การตรวจสอบครั้งนี้ ค้นพบโดยข้าราชการชั้นผู้น้อย จากกลุ่มตรวจสอบภายในของสำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) ซึ่งทำการตรวจสอบบัญชีงบประมาณ 2560 ตามปกติ แต่ไปพบพิรุธจากเอกสารการจัดทำบัญชีกองทุน และรายงานการเงินประจำปีงบประมาณ 2560 พบว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบกองทุน คือ สำนักส่งเสริมกิจการการศึกษา สำนักงานปลัด ศธ. ไม่ปฏิบัติตามระเบียบ ศธ. ว่าด้วยกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต พ.ศ.2550

คือ ระบบกำหนดให้ผู้รับทุนเปิดบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคาร โดยใช้คำว่า “กองทุนเสมาพัฒนาชีวิตของ…(ชื่อผู้รับทุน)”

แต่พบว่ามีการเปิดบัญชีในนามสถานศึกษา มีการอนุมัติจ่ายเงินให้วิทยาลัยบรมราชชนนีต่างๆ แต่ใช้หมายเลขบัญชีเดียวกัน

และหลักฐานการเบิกจ่ายเงินของทุนการศึกษาหลักสูตรพยาบาลศาสตร์แห่งหนึ่ง ที่ชื่อเจ้าของบัญชีเงินฝากธนาคาร ไม่ตรงกับชื่อผู้รับทุน เฉพาะปี 2560 เป็นเงินกว่า 12,800,000 บาท

นำมาสู่การตรวจสอบย้อนหลัง ทำให้พบว่ามีการยักยอกเงินทุนการศึกษาเด็กเกิดขึ้น นานถึง 10 ปี ตั้งแต่ปี 2551 ถึงเดือนมีนาคม 2561

เป็นการโอนเข้าบัญชีส่วนตัว พรรคพวก ญาติพี่น้องถึง 88,816,640 บาท!

 

หากพิจารณาตามขั้นตอนการจ่ายเงินกองทุน เริ่มจากสถานศึกษาส่งรายชื่อเด็กเพื่อเสนอขอรับทุนมายังสำนักส่งเสริมกิจการการศึกษา ข้าราชการทำรายชื่อ ระบุบัญชีส่งให้ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบ ส่งเข้าที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนที่มีปลัด ศธ.เป็นประธาน พิจารณาว่าจะอนุมัติกี่ราย ใครบ้าง ก่อนเสนอผู้บริหารอนุมัติเห็นชอบ

จากนั้นฝ่ายปฏิบัติ ได้แก่ กองคลัง สำนักอำนวยการ ของ สป.ศธ. ก็จะดำเนินการเบิกจ่ายตามขั้นตอน หากขั้นตอนเป็นไปตามนี้ วิธียักยอกเงินที่น่าเป็นไปได้คือ จะต้องมีการเปลี่ยนเอกสารแนบท้ายใบขออนุมัติจ่ายเงิน ทำให้คนเซ็นอนุมัติไม่รู้ว่ามีการเปลี่ยนเอกสารก่อนถึงธนาคาร ธนาคารเองก็ไม่รู้ โอนเงินเข้าบัญชีตามเอกสาร (ปลอม)

กรณีนี้ กลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตในช่วงปี 2561รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ในขณะนั้น ถึงกับเต้น เพราะถือเป็นเรื่องใหญ่ที่สังคมจับตามอง…

สั่งการให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง และลงโทษไล่ออกจากราชการ ข้าราชการซี 8 ที่เกี่ยวข้อง

ขณะเดียวกัน ยังแจ้งความเอากับข้าราชการรายดังกล่าวและพวก พร้อมส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อตรวจสอบ

ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ท. ได้สอบสวนข้อเท็จจริงและพิจารณาชี้มูลความผิดทางอาญากับผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าวและส่งสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริง เพื่อให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องคดีอาญา…

กระทั่งวันที่ 25 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้อ่านคำพิพากษา สรุปว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดจำนวน 35 กรรม เป็นความผิดตามมาตรา 157 มาตรา 162(4) ของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 123 / พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 รวมทุกกระทงความผิดให้ลงโทษจำคุก 93 ปี 279 เดือน สำหรับจำเลยที่ 2 มีความผิดฐานผู้สนับสนุน ให้ลงโทษจำคุก 34 ปี 102 เดือน และจำเลยที่ 3 มีความผิดฐานผู้สนับสนุน ให้ลงโทษจำคุก 3 ปี 18 เดือน

ศาลไม่รอการลงโทษ และให้จำเลยทั้งสามคนร่วมกันชดใช้เงินให้กับผู้เสียหาย ที่ยังไม่ได้ชดใช้คืนจำนวน 64 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย โดยในวันอ่านคำพิพากษา จำเลยทั้ง 3 รายได้เข้าฟังคำพิพากษาด้วย และถูกจำคุกตามคำสั่งศาลทันที

 

งานนี้ นายอรรถพล สังขวาสี ปลัด ศธ. กล่าวว่า ขั้นตอนจากนี้ ศธ.เตรียมใช้มาตรการทางปกครอง ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 เพื่อดำเนินการยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าหน้าที่ และผู้ทุจริตโดยตรง

ทั้งนี้ การทุจริตดังกล่าว จำเลยที่ 1 ให้การสารภาพว่า ดำเนินการแต่เพียงผู้เดียว ดังนั้น จึงไม่เกี่ยวข้องกับผู้บังคับบัญชา

แต่จะเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่การเงิน ที่เกี่ยวข้องกับกองทุนในขณะนั้น โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินการลงโทษทางวินัยผู้ที่เกี่ยวข้องไปแล้ว

แต่เมื่อศาลมีคำพิพากษาออกมา ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด จะต้องถูกดำเนินการทางการปกครอง เพื่อร่วมชดใช้ความเสียหายต่อไป

จากนี้ ศธ.จะต้องเสนอเรื่องทั้งหมดให้กระทรวงการคลังตรวจสอบ เพื่อดูรายละเอียดว่า แต่ละคนจะต้องชดใช้ค่าเสียหายรายละเท่าไร” ปลัด ศธ.กล่าว

ปัจจุบันได้มีการปรับปรุงระบบการบริหารจัดการกองทุน โดยให้กองบริหารการคลัง สำนักงานปลัด ศธ. ดูแล บริหารจัดการเงินกองทุนเสมาฯ และส่งเงินถึงเด็กโดยตรง ปัจจุบัน มีเงินหมุนเวียนกว่า 500 ล้านบาท ใช้ดอกผลปีละ 8-12 ล้านบาทในการให้ทุนการศึกษานักเรียน จำนวน 200 ราย

ถือเป็นคดีตัวอย่าง ให้ข้าราชการทุกคนทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต โดยเฉพาะหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลเด็กและเยาวชนทั่วประเทศอย่างกระทรวงศึกษาธิการ

ที่ควรต้องสำนึกไว้เสมอว่า เงินทุกบาท ทุกสตางค์ที่ได้มาจากภาษีประชาชน ควรใช้เพื่อพัฒนาอนาคตของชาติ ไม่ใช่ให้ใครมาโกงกิน! •