ขอแสดงความนับถือ/ฉบับประจำวันที่ 15-21 ธันวาคม 2560

ขอแสดงความนับถือ/[email protected]

ไม่น่าเชื่อ แต่ก็ต้องเชื่อ

ด้วยความฉับไวแห่งการเสนอ และรับรู้

ด้วยความฉับไวของการ “ค้นข้อมูล” และสามารถเข้าหาแหล่งข้อมูลได้ในพริบตา

ด้วยความฉับไวของการแพร่กระจายข้อมูล

และด้วยความฉับไวของการแสดงออกและการมีปฏิกิริยา

ทำให้การยกมือบังแสงแดดของบุคคลชั้นนำประเทศ

กลายเป็นจำเลยของการถูก “สืบสวนสอบสวน” ด้วยเครือข่ายโซเชียลมีเดีย ที่สร้างผลกระทบต่อบุคคลนั้นอย่างรุนแรง

ประหนึ่ง ถูกเปลือยเปล่ากลางแดด

สั่นสะเทือนจากสิ่งที่ “ไม่เป็นเรื่อง” อย่างน่าเหลือเชื่อ

นี่คือฤทธิ์เดช ของ “ยุคดิจิตอล” โดยแท้

ปรากฏการณ์ข้างต้น ทำให้ “พิมพ์ดีด” ที่กลายเป็นของ “โชว์” บนโต๊ะไปเรียบร้อยมาหลายปีแล้ว

เห็นทีต้องเพิ่ม “ป้ายแขวน” ว่าเป็น “โบราณวัตถุ” เร็วยิ่งขึ้นไปอีก

หากอ่าน “พิมพ์ดีดกับการพิชิตดินแดน” ที่นำเสนอตอนแรกในคอลัมน์ วิช่วลคัลเจอร์ ของ ประชา สุวีรานนท์

“พิมพ์ดีด” เคยแสดงฤทธิ์เดชอันไม่น่าเชื่อมาแล้วเช่นกัน

ปี พ.ศ.2435 พิมพ์ดีด ในฐานะอุปกรณ์คมนาคมแบบหนึ่ง

ถูกนำเข้ามาสยาม ภายหลังจากการวางรางรถไฟและสายโทรเลขไม่นาน

ขณะนั้น สยามกำลังมุ่งไปสู่ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ด้านระเบียบบริหารแผ่นดิน

การติดต่อสื่อสารระหว่างกรุงเทพฯ หรือศูนย์กลางอำนาจแบบใหม่กับมณฑลต่างๆ ต้องการประสิทธิภาพในการสื่อสารอย่างสูง

และพิมพ์ดีดได้เป็นส่วนหนึ่งตอบสนองการมี “ประสิทธิภาพ” นั้น

เพราะตัวพิมพ์ที่จดจารโดยเครื่องจักร

ได้สร้างความน่าเชื่อถือได้มากกว่าลายมือ

ได้ทำให้เอกสารราชการ ไม่เพียงแต่ดูดี แต่ยังมีอาญาสิทธิ์เหนือกว่าหนังสือท้องตราหรือใบบอก และประกาศความเหนือกว่าเครือข่ายแบบดั้งเดิม

ได้เสริมความแข็งแกร่งให้แก่เครือข่ายการสื่อสารหรือคมนาคม

และได้เป็น “หน้าตา” ของระบบราชการ หรือระเบียบบริหารแผ่นดินแบบใหม่

สร้างความเป็นชุดเดียวกันและเคร่งครัดในมาตรฐานการสะกดมากกว่าลายมือ

ที่สำคัญผลิตเอกสารได้รวดเร็ว และจำนวนมาก

ประชา สุวีรานนท์ ระบุว่า หลังจากเกิดวิกฤต ร.ศ.112 ซึ่งเป็นกรณีพิพาทกับฝรั่งเศส ทำให้สยามต้องเสียดินแดนเป็นครั้งใหญ่ และนับเป็นการเสียเนื้อที่ครั้งใหญ่ที่สุด

ทำให้สยามต้องเรียนรู้ความสำคัญของความเร็วจากเทคโนโลยีและอุปกรณ์คมนาคม

เพราะนอกจากความเร็วของรถไฟและโทรเลข ที่ทําให้กองทัพที่อยู่ห่างไกลทราบ “เหตุการณ์ต่างๆ” และสามารถส่งกองทหารเข้ามาควบคุมสถานการณ์ได้ทันเวลา รวมทั้งทำให้ผู้บัญชาการทหารสามารถออกคําสั่งถึงแนวหน้าทุกหน่วยได้โดยไม่ต้องไปถึงสนามรบแล้ว

ความเร็วในการพิมพ์และกระจายเอกสาร ยังเป็นอีกหัวใจที่ทำให้เกิดการรับรู้และเป็นมาตรฐานเดียวกัน

ทำให้พิมพ์ดีดมีบทบาทที่สำคัญไม่แพ้สายโทรเลขหรือหัวรถจักรไอน้ำ

นั่นคือทะยานออกไปเพื่อป้องกันและพิชิตดินแดนอันห่างไกล

พิมพ์ดีดดำรงความสำคัญมากว่าร้อยปี

จนไม่กี่สิบปี อาจจะประมาณปี 2530 เป็นต้นมา พิมพ์ดีดก็ทยอยลดบทบาทลง

การหายไปของร้านขายพิมพ์ดีด

การหายไปของโรงเรียนสอนพิมพ์ดดี คือสัญญาณอันชัดเจน

และที่สุด เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ ก็ได้ “กลืนกิน” พิมพ์ดีดเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของอุปกรณ์

ซึ่งแม้จะเป็นสิ่งสำคัญอยู่

แต่พิมพ์ดีด ในฐานะ “อุปกรณ์การพิมพ์เอกเทศ” แทบจะสูญสลายไปแล้ว

วันนี้ เราลืมผู้ประดิษฐ์พิมพ์ดีดภาษาไทยคือ เอ็ดวิน ฮันเตอร์ แม็กฟาร์แลนด์ หมอสอนศาสนาชาวอเมริกันไปแล้ว

ลืมบริษัทสมิธ พรีเมียร์ (Smith Premier) ในซีราคิวส์ สหรัฐอเมริกา ที่ผลิตต้นแบบเครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทยขึ้น เขาออกแบบและวางตำแหน่งตัวอักษรไทยที่จะใช้บนเครื่องพิมพ์ดีดได้สำเร็จในรัชกาลที่ 5 ไปเรียบร้อย

แต่นี่มิใช่เวลาแห่งการคร่ำครวญ

หากแต่เป็นเวลาแห่งการปรับตัวให้เท่าทันและเรียนรู้ใหม่

โลกดิจิตอล กลืนกิน และทำลาย อะไรต่อมิอะไรไปมากมาย

ไม่เว้น คนที่อยู่ในอำนาจ ด้วย!