ฤๅ ‘ชาติ’ นั้นจะเป็นเพียงความฝัน : ทบทวน วิเคราะห์ คลี่คลาย วาทกรรม ว่าด้วย ‘การแบ่งแยกดินแดน’ ในรัฐไทย (5)

ตุลวิภาคพจนกิจ | ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

 

ฤๅ ‘ชาติ’ นั้นจะเป็นเพียงความฝัน

: ทบทวน วิเคราะห์ คลี่คลาย วาทกรรม

ว่าด้วย ‘การแบ่งแยกดินแดน’ ในรัฐไทย (5)

 

จินตนากรรมชาติในชุมชนมลายูมุสลิมภาคใต้

ประวัติศาสตร์ของชุมชนหายาก เพราะร่องรอยและหลักฐานการขีดเขียนและพิมพ์ในอดีตมีน้อยหรือแทบไม่มี คนรุ่นหลังจึงอยู่ในความมืด

ประกอบกับโครงสร้างและหลักสูตรการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ของทุกประเทศล้วนให้น้ำหนักและความสำคัญแก่ศูนย์กลางหรือคนที่มีอำนาจ กลายเป็นคติความเชื่อไปโดยไม่สงสัยว่ารัฐศูนย์กลางคือหัวใจของเรื่อง ส่วนชุมชนต่างๆ นั้นเป็นส่วนประกอบ จะรู้หรือไม่รู้ก็ไม่ทำให้ความเข้าใจในประวัติศาสตร์ชาติเปลี่ยนไป

นี่คือปมเงื่อนของการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ชาติในทุกประเทศในโลกที่กำลังเผชิญการท้าทายจากชุมชนเล็กและใหญ่ที่ลุกขึ้นมาอ้างความเป็นประวัติศาสตร์ของตนเองที่เป็นอิสระอย่างสัมพัทธ์กับศูนย์กลาง

ผลลัพธ์ของการวิวาทะในปมเงื่อนนี้ความจริงเป็นเรื่องดีมากกว่าเรื่องร้าย เพราะมันจะขยายและเพิ่มความละเอียดอ่อนในการดำรงอยู่และพัฒนามาของชุมชนที่เป็นส่วนประกอบสร้างอันขาดไม่ได้ของรัฐส่วนกลาง สร้างความรู้ที่มีความจริงทางภววิสัยรองรับมากกว่าปกติ

กล่าวโดยรวมแล้วจะช่วยสร้างนิสัยในการวิเคราะห์วิจารณ์และค้นหาความจริงในสิ่งรอบตัวเราได้เป็นอย่างดี ขจัดอคติทางเชื้อชาติศาสนาและภาษาลงไป

 

ภารกิจแรกในการศึกษาแบบวิพากษ์จึงต้องเริ่มด้วยการให้นิยามความหมายของชาติเสียใหม่

ในที่นี้ผมนำมโนทัศน์ล่าสุด ของอาจารย์เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน ที่เสนอว่า ชาติคือ “กลุ่มคนที่มีสำนึกในการรวมกันเป็นชุมชน ที่มีวัฒนธรรมร่วมกัน อาศัยอยู่ในดินแดนที่แน่นอน และมีอดีตที่ร่วมกัน กับมีโครงการสำหรับอนาคตที่ร่วมกัน รวมทั้งมีการอ้างอิงถึงสิทธิในการปกครองตนเองด้วย”

นิยามนี้แตกต่างจากการสร้างความหมายในอดีต เช่น สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ซึ่งทรงนิยามชาติว่า “คือคณชนหลายๆ คณรวมกันเข้าจนเป็นคณส่วนใหญ่จึ่งได้นามว่าชาติ เพราะฉะนั้นคณทุกๆ คณที่ร่วมชาติกันต้องมีความสามัคคีปรองดองกันในระหว่างคณต่อคณ ชาติจึ่งจะตั้งอยู่เปนอันหนึ่งอันเดียวมั่นคงได้” นั่นคือประกอบด้วยคนหลายคณะซึ่งเป็นสถาบันหรือชุมชน เช่น โรงเรียน สกุลครอบครัว ฯลฯ ทั้งหมดนี้เป็นชุมชนที่รัฐสร้างขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ในสังคมไม่ใช่กำเนิดมาตามธรรมชาติและสภาพแวดล้อม

เมื่อขยายไปเป็นลัทธิชาตินิยมทางการ คณะและบุคคลในชาติไทยยังต้องมีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์และยึดถือในคำสอนของพุทธศาสนาอีกด้วย ถึงจะเป็นคนชาติไทยแท้ (สายชล สัตยานุรักษ์, 10 ปัญญาชนสยาม เล่ม 1 ปัญญาชนแห่งรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ 2557)

นี่คือทฤษฎีสามเส้าของชาตินิยมไทย ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

 

ชุมชนมลายูมุสลิมในภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยก็เช่นเดียวกับชุมชนคนไทยในลุ่มเจ้าพระยาภาคกลาง ที่ก่อรูปขึ้นบนระบบสังคมเกษตรกรรมที่ชุมชนครอบครองเหนือที่ดิน หัตถกรรมและอุตสาหกรรมครัวเรือนไม่สร้างความขัดแย้งกับเกษตรกรรม ภูมิประเทศเอื้อต่อการการค้าแลกเปลี่ยนกับภายนอก

ชาวบ้านมีวิถีชีวิตและคติความเชื่อแบบพื้นบ้านในเรื่องผีบรรพบุรุษและวิญญาณ

ต่อมาเมื่อเมืองใหญ่กว่าที่รับอารยธรรมฮินดูพุทธในการจัดระบบปกครอง เข้ามาครอบงำเหนือชุมชน สร้างบ้านและเมืองเล็กใหญ่ไปทั่ว ประวัติศาสตร์ที่เป็นจารึกศิลาของคนปะตานีจึงเกิดขึ้นราวศตวรรษที่ 7 และตามมาด้วยฮิกายัตปะตานี (Hikayat Patani) หรือพงศาวดารปะตานี

ความเปลี่ยนแปลงอันใหญ่หลวงที่จะมีผลต่อดินแดนตอนใต้นี้คือการเข้ามาและกลายเป็นอัตลักษณ์ของคนมลายูมุสลิมไปคือศาสนาอิสลาม ซึ่งสร้างความแตกต่างจากชุมชนไทยภาคกลางที่ใช้ภาษาพูดเป็นหลัก

ในขณะที่ชุมชนมุสลิมศึกษาพระคัมภีร์อัลกุรอานที่ใช้ภาษาอาหรับเป็นตัวเขียน

จารีตมุขปาฐะพัฒนาร่วมกับภาษาเขียน เป็นวรรณกรรมอาหรับที่สมบูรณ์ที่สุด และเป็นองค์รวมของความรู้ทั้งวิทยาศาสตร์ ธรรมชาติวิทยาและศาสนา

การใช้ภาษาในชีวิตประจำวันและทุกกิจกรรมจึงเป็นหัวใจของความเป็นมุสลิม

และตรงนี้เองที่ชาตินิยมทางการของรัฐไทยจะปะทะกับจินตกรรมชาติของชุมชนมลายูมุสลิม เพราะภาษาคือพื้นฐานของความเป็นชาติ

 

จินตกรรมชาติของรัฐยุคพิบูล

ยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม พ.ศ.2482 เป็นการเปลี่ยนจากรัฐราชวงศ์ก่อนนี้มาสู่รัฐประชาชาติแบบใหม่อย่างมาก มองในด้านดีในแง่ของการเปลี่ยนจากรัฐแบบเก่ามาเป็นรัฐแบบใหม่ ต้องยอมรับว่ารัฐบาลสมัย จอมพล ป.นั้นได้ทำให้เกิดเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้ แต่ที่ไม่เปลี่ยนไปโดยพื้นฐานก็คือทั้งหมดก็เป็นเรื่องของการเมือง หรือการสร้างชาติโดยรัฐผ่านระบบราชการไม่ใช่โดยประชาชนเอง

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ “ชาติตัวใหม่” และต้องเป็น “ชาติไทย” ไม่ใช่ชาติสมัยก่อนที่อ้างอิงกับรัฐราชวงศ์ เพราะฉะนั้น คำว่า “ไทย” นั้นเป็นเชื้อชาติไทย เป็นแรงบันดาลใจ พูดว่าสามารถที่จะจินตนาการขึ้นมาเป็นรัฐอันใหม่ขึ้นมา ไม่อยู่ในจินตนาการอันเก่าได้เลย

เมื่อ 90 ปีที่แล้ว การใช้ภาพความเป็นไทยในตอนนั้นแรงมาก “ความหมายของการเกิดขึ้นของความเป็นไทยตอนนั้นมาพร้อมกับการพยายามทำให้เป็นชาติอันใหม่ (Nation State) มันเป็นเครื่องมือธรรมชาติ” นี่คือการพูดถึงแนวความคิดในสมัยปี 2476 อันนี้เป็นคำสั่งสอนของ พระยาธรรมศาสตร์นาถประนัย

อีกแนวความเชื่อหนึ่งสอนว่า “ชาตินั้นเป็นนามสมมุติ มาร่วมเป็นคน เป็นประเทศมากมาย จึงใช้นามสมมุติมากมาย บุคคลที่ร่วมเกิด ร่วมเป็นประเทศ คือต่อกันมา ที่เรียกว่า ‘ชาติ’ คือรวมคำว่า ‘ชาติไทย’ ชาติมีตัวตน ชาติมีบุญคุณต้องทดแทนก่อน แล้วพลีให้ชาติเป็นที่สอง”

ตรงนี้น่าสนใจครับ เมื่อผมกลับไปอ่านใหม่ก็พบว่า “คณะเก๊กเหม็ง ร.ศ.130” ปี 1912 คณะที่พยายามทำการล้มราชวงศ์เป็นครั้งแรก บอกว่า “เขาต้องทดแทนบุญคุณชาติก่อน ส่วนบุญคุณของพระมหากษัตริย์มาทีหลัง” ดังคำขวัญของคณะ ร.ศ.130 ที่ว่า “เสียชีพดีกว่าเสียชาติ จงมีความกตัญญูต่อชาติและกระทำใจให้เป็นไทย”

สังเกตให้ดีคำว่า “ชาติ” และ “ไทย” สมัยนั้น วางอยู่บนราษฎรเป็นสำคัญ

ภายหลังการปฏิวัติ 2475 มา พระยาพหลพลพยุหเสนา ก็ยังมีแนวความคิดทำนองคณะ ร.ศ.130 เหมือนกัน ตอนที่ให้สัมภาษณ์ คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ว่าทำไมถึงรับเป็นหัวหน้าคณะราษฎรดำเนินการเปลี่ยนแปลง ท่านก็บอกว่า “ต้องทดแทนบุญคุณของชาติ บ้านเมือง”

มองจากปัจจุบัน ความคิดเหล่านั้นก็แปลกเราคงคิดไม่ถึง

หลังจากนั้น การพูดถึงชาติ ก็ยังไม่แน่นอนตายตัว คำว่า “ชาติไทย” กับ “สยาม” ยังใช้เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอยู่ เช่น ช่วงปี 2475-2477 มีการแต่งเพลงชาติหลายเพลง ในเพลงชาติที่แต่งโดยเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ไม่มีการนิยามความหมายชาติไทย แต่มีจุดมุ่งหมายหรืออุดมคติที่ต้องการรุก คือ “สยามอยู่คู่ฟ้า ชาติไทยเป็นไทย ชาติของไทย ให้พ้นภัยตราบสิ้นดินฟ้า” เพราะฉะนั้น เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ใช้คำว่า “ชาติไทย” และ “ไทย” ในความหมายที่แปลว่า “อิสระ” ไม่ได้เรียกว่าคนไทย ท่านกลับใช้คำว่าชาวสยามด้วยเวลาพูดถึงคน

เช่นเดียวกับคนมลายูมุสลิมก็เรียกคนไทยว่า “สีแย” หรือสยาม ไม่เรียกว่าคนไทย

เพลงชาติของขุนวิจิตรมาตรานี้เป็นบทเพลงในยุคที่มีความเป็นชาติแล้ว เป็นบทเพลงที่ขุนวิจิตรมาตรา เป็นคนแต่ง ชื่อเพลงเลือดไทย ปี 2481 ก่อนที่จะเกิดวันชาติ และที่เกิดนี้ก็เพราะ

เลือดไทยไหลรินทารินไว้ชื่อ ให้โลกรู้ร่ำลือว่าเลือดไทยกล้าหาญ

เลือดไทยไหลหลั่งดุจน้ำเต็มฝั่ง ไหลดั่งทองธารท่วมแผ่นดินทอง

บ้านพี่เมืองน้องกันทุกถิ่นฐาน

เลือดเจ้าเอยไหลเลยมานี่ ปรองดองน้องพี่อย่ามีร้าวราน

โลหิตสายเดียวกลมเกลียวกันเอาไว้ อย่าแตกแยกไปเป็นหลายลำธาร

ถือว่าดุเดือดมาก กล่าวอย่างง่ายๆ ว่า เลือดมันไหลออกมาเป็นทางให้เห็นในทุกคนเลย

กล่าวโดยสรุป ผมคิดว่าความเป็นไทยเรานั้น เขาต้องการที่จะหลอมคนทั้งหมดประเทศนี้ ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตามให้เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เดียวเท่านั้น

ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่นโยบายแรกที่รัฐสยามใช้ต่อดินแดนมลายูมุสลิมตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 มาถึงปัจจุบันได้แก่การศึกษาในโรงเรียน เพราะต้องการให้คนมุสลิมเรียนภาษาไทย พูดและเขียนภาษาไทย ไม่ใช่ภาษายาวี