ความอยู่รอดของเผด็จการ และความจำเป็น ของการดึง ‘พรรคประชาธิปไตย’ มาเป็นพวก

ท่ามกลางบริบททางการเมืองไทยหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 จนถึงการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคฝ่ายประชาธิปไตยที่ได้คะแนนเสียงข้างมากอันดับหนึ่งอย่างพรรคก้าวไกลต้องไปเป็นฝ่ายค้าน และพรรคฝ่ายประชาธิปไตยที่ได้เสียงลำดับสองอย่างพรรคเพื่อไทยต้อง “ข้ามขั้ว” ไปจับมือกับพรรคการเมืองที่เคยเป็นนั่งร้านให้กับการสืบทอดอำนาจและกลไกเผด็จการอำนาจนิยมที่ดำรงอยู่หลังการรัฐประหารปี 2557

ในทางวิชาการจะพบว่าไม่ใช้เรื่องแปลกแต่อย่างใด เพราะความอยู่รอดของเผด็จการอำนาจนิยม (authoritarianism) ในศตวรรษที่ 21 ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ด้วยตัวเอง เพราะต้องเผชิญกับความกดดันจากต่างประเทศและความท้าทายจากประชาชนภายในประเทศที่เรียกร้องการเลือกตั้ง

จึงเกิดยุทธวิธีของเผด็จการอำนาจนิยมที่เรียกว่า “การดึงมาเป็นพวก” (co-optation) โดยใช้สถาบันการเมืองของฝ่ายประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นรัฐสภา พรรคการเมือง องค์กรภาครประชาสังคม หรือหน่วยงานอิสระต่าง ๆ มาเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้กับระบอบอำนาจนิยม

การศึกษานี้มาจากงานของ Jennifer Gandhi (2008) ในเรื่อง “สถาบันการเมืองภายใต้เผด็จการ” (Political Institutions under Dictatorship) ว่าระบอบเผด็จการอำนาจนิยมจะดำรงอยู่ได้จะต้องได้รับการยอมทำตามและความร่วมมือจากสถาบันการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยเพื่อจัดการการเจรจาต่อรองในเชิงนโยบาย และเพื่อหาความต้องการของกลุ่มต่าง ๆ จนสามารถสร้างข้อตกลงร่วมกัน จนสุดท้ายทำให้รัฐบาลสามารถมีนโยบายที่ทำงานได้ แม้จะอยู่ในบริบทที่ไม่เป็นประชาธิปไตยมากนักก็ตาม

หรือกล่าวได้ว่าความอยู่รอดของเผด็จการอำนาจนิยมต้องใช้การแข่งขันจากการเลือกตั้ง พรรคการเมืองบางกลุ่ม และกระบวนการประชาธิปไตยบางส่วน “มาเป็นพวก” จึงสามารถดำรงอยู่รอด และใช้นโยบายมาแก้ไขปัญหาปากท้อง เพื่อสร้างความชอบธรรมในการดำรงอยู่ของเผด็จการอำนาจนิยมนั้น

 

สําหรับงานศึกษาในไทยจะพบจากวิทยานิพนธ์และบทความของ จันจิรา ดิษเจริญ (2566) ในเรื่อง “พรรคพลังประชารัฐและการเมืองของการดึงเข้ามาเป็นพวก” ที่ชี้ให้เห็นว่ากลุ่มเผด็จการอำนาจนิยมที่มาจากการรัฐประหารปี 2557 ได้ใช้กลไกการเลือกตั้งปี 2562 และสร้างการเจรทางการเมืองกับกลุ่มทางการเมืองสำคัญในพรรคพลังประชารัฐ ด้วยยุทธวิธีการสร้างเครีอข่าย การวางตำแหน่งทางการเมือง การใช้ทรัพยากรแลกเปลี่ยน การจัดสรรงบประมาณ และการต่อรองด้วยคดีความ จนทำให้เกิดพรรคพลังประชารัฐที่สามารถชนะได้คะแนนเสียงจากประชาชนสูงสุดในการเลือกตั้งดังกล่าว และช่วยจัดตั้งรัฐบาลจนทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็นนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งต่อไป หลังจากการเป็นนายกรัฐมนตรีจากการยึดอำนาจมากว่า 4 ปี

อีกแง่มุมหนึ่งมาจากงานของผู้เขียนเอง (วีระ 2564) ศึกษาการตัดสินใจนโยบายเกษตรกรรมแปลงใหญ่ของรัฐบาลในช่วงปี 2557-2561 ที่อยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการอำนาจนิยม ได้มีกลไกในการดึงกลุ่มองค์กรภาคประชาชนและการรวมกลุ่มของเกษตรกรให้กลาย “มาเป็นพวก” กับกลไกราชการที่ต้องการนโยบายที่ส่งผลสำเร็จอย่างรวดเร็วในการเข้าไปให้ความชอบธรรมผ่านผลสำเร็จของนโยบาย (policy performance) กับรัฐบาลหลังการยึดอำนาจปี 2557 ที่ล้มนโยบายจำนำข้าว และเปลี่ยนมาใช้กระบวนการรวมกลุ่มของเกษตรกรและการช่วยปัจจัยการผลิตแทน

บนฐานคิดว่าแม้จะไม่มีความชอบธรรมจากการเลือกตั้งเพราะรัฐประหารมา แต่หากมีนโยบายที่ชัดเจนก็พอจะต่ออายุรัฐบาลให้ชอบธรรมต่อไปได้

 

ด้วยเหตุนี้ การมองเผด็จการแบบเดิมที่ดูเพียงการตัดสินใจของผู้นำหรือรัฐบาลเผด็จการจึงอาจไม่เพียงพอ แต่จำเป็นต้องทำความเข้าใจภาพรวมของการจัดเรียงสถาบันทางการเมืองดังกล่าวในองค์รวม ทำให้เห็นได้ว่าการใช้อำนาจในกระบวนการนโยบายของรัฐในระบอบการปกครองที่เปลี่ยนผ่านจากอำนาจนิยมมาสู่ประชาธิปไตย มีลักษณะเฉพาะที่สำคัญ

ต้องพิจารณาตั้งแต่การจัดตั้งรัฐบาล การพัฒนาเศรษฐกิจ และการกำหนดนโยบายต่างๆ ในระบอบที่เป็นประชาธิปไตย “ไม่เต็มใบ” จะสามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่นก็ต้องสร้างความสัมพันธ์ในการตกลงร่วมกันกับสถาบันทางการเมืองที่มีอยู่ในระบอบประชาธิปไตย อย่างรัฐสภา (ที่มีบางกลุ่มยึดโยงกับฝ่ายเผด็จการอำนาจนิยม) พรรคการเมือง (ที่ถูกดึงมาเป็นพวกกับฝ่ายเผด็จการอำนาจนิยม) และกลุ่มทางสังคม (ที่ถูกดึงมาทำงานร่วมกับฝ่ายเผด็จการอำนาจนิยม)

หากนำบทเรียนนี้มามองสถานการณ์การเมืองไทยปัจจุบันที่อยู่ในระหว่างการจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว แม้แกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลจะมาจากพรรคเพื่อไทยที่ต่อสู้เรื่องประชาธิไตยมากว่าสองทศวรรษ

แต่ต้องไม่ลืมว่าการจัดตั้งดังกล่าวอาจเป็นเพียงกระบวนการหนึ่งของฝ่ายอำนาจนิยมที่พยายาหาพรรคฝ่ายประชาธิปไตย “มาเป็นพวก” เพื่อรักษาความอยู่รอดให้กับเผด็จการที่แฝงตัวอยู่ตั้งแต่รัฐประหารปี 2557 ถึงปัจจุบัน

การต่อสู้ของฝ่ายประชาธิปไตยจึงต้องระวังเกมอันตรายที่ถูกวางไว้ให้เดินว่าเส้นทาง “ข้ามขั้ว” นี้ จะช่วยให้สร้างประชาธิปไตยได้จริง หรือสุดท้ายอาจเป็นเพียงการ “ถูกจับไปเป็นพวก” เดียวกับเผด็จการอำนาจนิยม

 


เอกสารอ้างอิง

Gandhi, Jennifer (2008) Political Institutions under Dictatorship, Cambridge : Cambridge University Press.

จันจิรา ดิษเจริญ (2566) “พรรคพลังประชารัฐ และการเมืองของการดึงเข้ามาเป็นพวก”. วารสารรัฐศาสตร์สาร, 44 (1).

วีระ หวังสัจจะโชค (2564) “ความสัมพันธ์ระหว่างโครงการเกษตรแปลงใหญ่กับระบอบการเมืองช่วง พ.ศ.2557-2561 : กรณีศึกษาโครงการเกษตรกรรมแปลงใหญ่ในภาคตะวันออก ประเทศไทย” วารสารรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์, 12 (2) : 1-22.