กีฬาในร่ม (6)

ญาดา อารัมภีร

ท้าวธฤตราษฎร์ไม่ทรงเห็นด้วยกับสกาพนันครั้งนี้เนื่องจากเกรงคำครหาว่ารู้เห็นเป็นใจเล่นงานปาณฑพทั้งห้า

ก่อนหน้านี้เพื่อขจัดความบาดหมางของทั้งสองฝ่าย ท้าวธฤตราษฎร์ได้ทรงแบ่งพระราชอาณาจักรกึ่งหนึ่งให้ฝ่ายปาณฑพมีนครอินทรปรัสถ์เป็นเมืองหลวง ฝ่ายเการพมีนครหัสตินาปุระ

ความเคียดแค้นชิงชังสะท้อนผ่านทุกถ้อยคำที่ทุรโยธน์กราบทูลพระบิดา ดังปรากฏใน “สงครามมหาภารตคำกลอน” ว่า

“ด้วยปาณฑพหลานยาทั้งห้าคน ซึ่งจุมพลปรานีแบ่งที่ทาง

แสนโอหังตั้งแข็งเหมือนแมงป่อง ซึ่งลำพองผันผกกระดกหาง

เห็นผู้คนยกยอทำข้อกาง บัดนี้สร้างกรุงไกรออกใหญ่โต

หัสดินบุรีเคยมีชื่อ บัดนี้หรือย่อมเยาว์กว่าเขาโข

ทั้งปราสาทราชฐานตระการโอ! ล้วนแต่โสภายิ่งทุกสิ่งไป

ท้องพระคลังคั่งคับด้วยทรัพย์สิน ดังเมืองอินทร์ลอยมาก็ว่าได้

ข้ามหน้าเราเหลือแสนน่าแค้นใจ ข้าบาทไม่อยากอยู่ให้ดูแคลน”

ทุรโยธน์คิดจะใช้สกาพนันทวงแผ่นดินคืนจากยุธิษฐิระ พี่ใหญ่ของเหล่าปาณฑพ โดยเชิญมาเล่นสกาด้วยกัน

“เล่นสะกาท้าเติมซึ่งเดิมพัน ซึ่งหมายมั่นว่าชะนะทุกกระดาน

เอาด้วยกลจนกว่าข้าพระบาท ได้คืนราชสมบัติพัสถาน

ซึ่งตบแต่งแบ่งขาดพระราชทาน มาสู่ร่มสมภารดังเดิมมา” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

 

ท้าวธฤตราษฎร์ตรัสเตือนสติลูกชายว่าอย่าปล่อยให้ไฟแห่งความโกรธเผาผลาญญาติพี่น้องให้ทุกข์ระทม ควรโอนอ่อนผ่อนผันให้พวกเขามีความสุข จึงจะเป็นวิถีที่ถูกต้อง การมุ่งร้ายญาติเท่ากับสร้างศัตรูทำลายตนเอง อีกทั้งไม่ควรเล่นการพนันด้วยจุดประสงค์ทุจริตเช่นนี้

“อนึ่งเรื่องการพะนันอันธพาล อย่ามาขานชื่อให้พ่อได้ยิน

มันมีแต่แส่เพาะความเคราะห์ร้าย พาฉิบหายย่อยยับแห่งทรัพย์สิน

ฟังแสยงเยี่ยงตนเปื้อนมลทิน เหมือนกลากกินหูเหืองฟังเรื่องมัน

พ่อแสนเบื่อเหลือจะอนุญาต เพราะขยาดแหยงจิตให้คิดพรั่น

ถามวิทูรดูบ้างเห็นต่างกัน หรือเป็นอันเห็นพ้องลองบรรยาย”

‘วิทูร’ ผู้เป็นทั้งอาของทุรโยธน์ฝ่ายเการพและฝ่ายปาณฑพ ดำรงตำแหน่งมหามุขมนตรีแห่งกรุงหัสตินาปุระ กราบทูลท้าวธฤตราษฎร์ว่า

“ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้ามีความเห็นว่า เป็นการไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะปล่อยให้องค์ทุรโยธน์และศกุนิดำเนินการตามแผนนี้ เพราะการพนันนั้นได้ชื่อว่าเป็นอบายมุขอันจะนำไปสู่ความหายนะและความร้าวฉานกันระหว่างพี่น้อง”

(“มหาภารตยุทธ” กรุณา – เรืองอุไร กุศลาสัย แปลและเรียบเรียง)

 

ทุรโยธน์ผู้ร้อนเร่าด้วยไฟริษยาหาได้ละความพยายามไม่ ทรงย้ำว่าความรุ่งโรจน์เรืองอำนาจแห่งนครอินทรปรัสถ์ของเหล่าปาณฑพเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของนครหัสตินาปุระโดยตรง ซึ่งเป็นความกังวลลึกๆ ของท้าวธฤตราษฎร์อยู่แล้ว

คำรบเร้าของทุรโยธน์ประสบผลในที่สุด ท้าวธฤตราษฎร์ทรงตกลงให้เชิญเจ้าชายปาณฑพมาเล่นสกาพนัน ณ นครหัสตินาปุระตามแผนการอันแยบยลของศกุนิที่ ‘จัดเต็ม’ เพื่อปาณฑพโดยเฉพาะ

ดังที่ศกุนิเคยแย้มถึงแผนนี้ให้ทุรโยธน์รู้กันสองคนว่า

“ยุธิษเฐียร, พระองค์ก็ทรงเห็น เธอชอบเล่นสกามาแต่ไหน

เชิงสกาข้าบาทขยาดใคร อาจเอาชัยด้วยอุบายเป็นก่ายกอง

เอาโลหะถ่วงไว้ในลูกบาศก์ ถึงสามารถมือดีไม่มีสอง

ก็แพ้ขาดอาจล่อให้ต่อรอง ยั่วให้กองเดิมพันขันทวี

เจ้าปาณฑพมือดีแต่ทีเซ่อ ถึงแม้เธอดีอย่างไรเราไม่หนี

ล่อให้เธอมีชัยจนได้ที แล้วขยี้เสียให้แย่เหลือแต่ตัว

จักให้ถึงถือกะลาเป็นยาจก บ้านเมืองตกเป็นของเราเอาให้ทั่ว

เมื่อเห็นความโง่เขลายิ่งเมามัว จึงค่อยยั่วเย้าใจให้พะนัน

ถ้ามีชัยคืนถิ่นทั้งสินทรัพย์ ถ้าแพ้ขับเนรเทศจากเขตต์ขัณฑ์

ให้ซัดเซเตร่ไปในอรัญ สิบสองพรรษากาลคงลาญชนม์”

เมื่อพระบิดาอนุญาต ทุรโยธน์ก็ดำเนินการทันที

“แล้วจึงเชิญปาณฑพครบทั้งห้า เสด็จมายังนิเวศน์ ณ เขตต์ขัณฑ์

เล่นสะการ่าเริงเชิงพะนัน ตามเยี่ยงฉันญาติเชื้อเพื่อสำราญ”

ฝ่ายยุธิษฐิระหรือยุธิษเฐียร

“ทรงรับเชิญทุรโยธน์โปรดกระไร มอบกรุงไกรแก่มหาเสนาบดี

ชวนมารดามหิษีและสี่น้อง พร้อมด้วยผองเสนาสง่าศรี

เสด็จจากอินทรปรัสถ์สวัสดี ถึงบุรีหัสดินดังจินดา”

 

ท้าวธฤตราษฎร์และพระประยูรญาติมาต้อนรับพร้อมหน้า ยุธิษฐิระหรือยุธิษเฐียรคิดว่าเล่นสกากับทุรโยธน์เชื่อมสัมพันธ์ฉันญาติ ขณะที่อีกฝ่ายมองว่าแข่งกับศัตรูคู่อาฆาต จึงวางอุบายไว้ล่วงหน้าทั้งตัวสกาและผู้เล่น แทนที่จะเป็นทุรโยธน์ที่ฝีมือสูสีกัน กลับเป็นศกุนินักพนันพันธุ์แท้มากด้วยฝีมือและเล่ห์เหลี่ยม ผลก็คือ

“แสนสงสารบพิตรยุธิษเฐียร ไม่ทราบเสี้ยนศึกร้ายหมายประหาร

เขาถ่วงลูกบาศก์ไว้ด้วยใจพาล ทุกกระดานภูบดีไม่มีชัย

ปรึกษาพี่น้องกันว่าวันร้าย จึงฉิบหายปี้ป่นทนไม่ไหว

จึงหยุดพักพ้นวันเปนจัญไร เล่นวันใหม่ก็ไม่สมอารมณ์ปอง

ยิ่งทรงแพ้พาให้ใจกระหาย หมดเสียดายทรัพย์สินสิ้นทั้งผอง

มีเท่าใดใฝ่หาเอามากอง จนเงินทองสิ้นองค์ทรงเดือดดาล”

ยิ่งเล่นยิ่งเสีย สติสัมปชัญญะสูญสิ้น ยุธิษฐิระหรือยุธิษเฐียรพลันตกอยู่ในสภาพผีพนันเข้าสิง

“พระพักตร์มืดหมดอายหมายชนะ ไม่เลือกละม้ารถคชสาร

ทรงปลดเปลื้องเครื่องทรงอลงการ ตีประมาณค่าเติมเป็นเดิมพัน

ก็แพ้เขาเบาองค์แทบทรงคลั่ง ไม่หยุดยั้งหฤทัยคิดใฝ่ฝัน

เอาสมบัติในพระคลังตั้งพะนัน …………………………………………”

พนันแพ้ต้องแก้มือ เมื่อสิ้นทรัพย์สินเพชรนิลจินดาก็เอาสารพัดสิ่งที่มีเป็นเดิมพัน ตั้งแต่พาหนะ เครื่องทรง สมบัติในท้องพระคลัง รวมไปถึงนครอินทรปรัสถ์ล้วนตกเป็นของทุรโยธน์

จะหยุดไว้หรือไปต่อ ฉบับหน้าอย่าพลาด •

 

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร