ความท้าทายบนทางแพร่ง : พรรคเพื่อไทยกับรัฐบาลผสมใหม่

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ | สุรชาติ บำรุงสุข

 

ความท้าทายบนทางแพร่ง

: พรรคเพื่อไทยกับรัฐบาลผสมใหม่

 

“ไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใด ที่ประเทศจะต้องมีการปฏิวัติหรือการรัฐประหาร ถ้าประชาชนมีความเชื่อมั่นในสถาบันทางการเมืองและความเป็นธรรมของกระบวนการทางการเมือง โดยเฉพาะเชื่อว่าการเลือกตั้งจะเป็นเครื่องมือของการเปลี่ยนรัฐบาล”

Alfred Stepan

Arguing Comparative Politics (2001)

 

หนึ่งในความสำเร็จที่คณะรัฐประหาร 2557 ได้สร้างทิ้งไว้ และเป็น “มรดกอำนาจนิยม” อย่างมีนัยสำคัญที่เอื้อให้เกิดการสืบทอดอำนาจของคณะทหารจนถึงปัจจุบัน คือการร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นการกำหนดกติกาการเมืองของประเทศในแบบที่ “ไม่สากล”

กล่าวคือ เป็นการออกแบบรัฐธรรมนูญเพื่อให้ผู้นำรัฐประหารเดิมได้เป็นรัฐบาล และขัดขวางไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามได้เป็นรัฐบาล

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่นักวิเคราะห์การเมืองไทยทุกคนรู้ดีว่า หากพรรคฝ่ายค้านก่อนการเลือกตั้ง 2566 เป็นผู้ชนะแล้ว การจัดตั้งรัฐบาลจะเป็นปัญหาในตัวเองอย่างมาก และอาจจะต้องสะดุดลงจนสามารถกลายเป็น “วิกฤตใหญ่” ได้ไม่ยาก

เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 นั้น ถือกำเนิดขึ้นเพื่อการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร 2557 และปูทางไปสู่การจัดตั้ง “ระบอบไฮบริด” (Hybrid Regime) หรืออาจจะเรียกอีกแบบว่า “ระบอบพันทาง” ที่เป็นการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองแบบ “ครึ่งๆ กลางๆ” เพราะไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มรูป เท่าๆ กับที่ไม่เป็นเผด็จการเต็มตัวในแบบรัฐบาลทหาร

ในทฤษฎีรัฐศาสตร์นั้น ระบอบไฮบริดเป็นรูปแบบของระบอบอำนาจนิยมสมัยใหม่ ที่ไม่ใช่ระบอบทหารในแบบของคณะรัฐประหารในแบบเดิม และถูกมองว่าเป็นระบอบที่ทำให้การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยไม่อาจเดินไปข้างหน้าในอนาคตได้จริง

สิ่งที่กล่าวในข้างต้นนี้คือความสำเร็จของ “นักร่างรัฐธรรมนูญ” ที่ได้ทำหน้าที่ให้กับคณะรัฐประหารมาอย่างดี และผลงานในปัจจุบันคือ การสร้าง “วิกฤต” ในการเมืองไทย อันเป็นผลจากการออกแบบกติกาที่บิดเบี้ยวนั่นเอง

 

มีชัย แต่ไม่ชนะ!

ด้วยวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งระบอบไฮบริดให้กับคณะรัฐประหารเดิม รัฐธรรมนูญที่ถูกออกแบบโดยรัฐบาลทหารจะต้องเป็นหลักประกันว่า ถ้ารัฐบาลสืบทอดอำนาจต้องพ่ายแพ้การเลือกตั้ง แต่ฝ่ายค้านที่เป็นผู้ชนะแล้ว พวกเขาจะไม่มีทางที่จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เลย ด้วยการให้อำนาจแก่วุฒิสภาในการเป็นผู้ลงเสียงร่วมกับสภาล่างในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ซึ่งโอกาสที่พรรคการเมืองจะ “ชนะขาด” ในสภาล่าง โดยไม่ต้องพึ่งเสียงของสภาสูงนั้น เป็นไปไม่ได้เลย…

ไม่ว่าจะอย่างไร ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะเอาชนะเสียงวุฒิสภา โดยเฉพาะเมื่อผนวกกับการนำเอาประเด็นกฎหมาย “มาตรา 112” เข้ามาเป็นประเด็นส่วนหนึ่งในข้อถกเถียงทางการเมืองในปัจจุบัน เพราะจะเกิดกระแสต้านจากคนอีกส่วนในสังคมอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม ด้วยการออกแบบกลไกการเมืองในปัจจุบันนั้น เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่าวุฒิสภาก็คือหนึ่งใน “แกนกลาง” ของการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารที่เห็นได้ชัดเจน ไม่ต่างจากรัฐธรรมนูญ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และการจัดตั้งพรรคทหาร

กล่าวคือ ปัจจัยทั้ง 4 ประการเช่นนี้ทำให้การเมืองหลังการเลือกตั้ง 2562 (ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังรัฐประหารนั้น) อยู่ภายใต้การควบคุมของคณะรัฐประหารเดิมอย่างแน่นอน แม้จะมีความท้าทายบางประการเกิดขึ้น แต่ก็ไม่อยู่ในฐานะที่เป็น “ภัยคุกคามใหญ่” ต่อการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งแต่อย่างใด

ฉะนั้น ในภาพรวมแล้ว สิ่งเหล่านี้ล้วนถูกออกแบบเพื่อให้เกิดการ “ชะลอตัว” ของกระบวนการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง ที่ชัยชนะในการเลือกตั้งจะไม่ให้ผลตอบแทน ที่นำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลได้ตามเสียงจากการเลือกตั้งนั้น

ในสภาพเช่นนี้ ผลการเลือกตั้งที่เป็นชันชนะของฝ่ายค้าน จึงเป็นดัง “จุดเริ่มต้น” ของวิกฤตการเมืองที่จะเกิดตามมา เพราะไม่เพียงพรรคที่ชนะอันดับ 1 ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ด้วยกลไกรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจวุฒิสภาในการลงเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีเท่านั้น หากยังเกิดคดีทางการเมืองที่จะให้ผู้นำพรรคฝ่ายค้านต้องหลุดออกไปจากกระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีในรัฐสภาด้วย

อันส่งผลให้ “รัฐบาลผสมพรรคฝ่ายค้าน” ต้องเผชิญกับอุปสรรค และทำให้การจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปได้ยาก และเปิดโอกาสให้ผู้นำเก่าอยู่ในอำนาจได้ต่อไปอีก เพราะรัฐบาลรักษาการจะอยู่ในอำนาจต่อไปจนกว่าจะเกิดรัฐบาลใหม่ขึ้น จึงส่งผลให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีอำนาจรักษาการได้นานขึ้น

และพรรคที่ชนะการเลือกตั้งกลับตกอยู่ในสถานะ “มีชัย แต่ไม่ชนะ” เพราะไม่สามารถดำเนินการจัดตั้งรัฐบาลได้ตามหลักการของระบบรัฐสภา

 

จัดรัฐบาลผสม?

สภาวะที่เกิดขึ้นเช่นนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเข้มแข็งของระบอบไฮบริด ที่เป็นผลสืบเนื่องจากการรัฐประหาร 2557 และเมื่อกลไกรัฐธรรมนูญและวุฒิสมาชิกได้ทำภารกิจในการชะลอการเปลี่ยนผ่าน และทำให้การจัดตั้ง “รัฐบาลผสมของพรรคฝ่ายค้าน” ต้องประสบปัญหาอย่างมาก ดังเช่นที่ปรากฏเป็นข่าวไปแล้ว และภาวะเช่นนี้ทำให้หลายฝ่ายมีความกังวลว่า จะเกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้น และอาจนำไปสู่วิกฤตการณ์การเมืองไทย

หลังจากเราเห็นถึงบทบาทของวุฒิสภาแล้ว กลไกอีกส่วนที่จะทำหน้าที่ต่อมาคือ “พรรคทหาร” ที่มีทั้งพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ซึ่งต้องก้าวเข้ามามีบทบาทเป็นส่วนหนึ่งของการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ให้ได้ โดยอาจจะชักจูงให้วุฒิสภายอมรับการจัดตั้ง “รัฐบาลผสมฝ่ายค้าน/ฝ่ายรัฐบาล” หรือด้วยการรวมเสียงในสภาล่างให้ได้มากพอ โดยไม่คำนึงถึงปัจจัยของความเป็นพรรคทหาร ที่เป็นเส้นแบ่งทางการเมืองในแบบเดิม

และถ้าไม่เอาพรรคดังกล่าวเข้าร่วมแล้ว ก็อาจจะไม่ได้รับเสียงสนับสนุนเพียงพอในการจัดตั้งรัฐบาลผสม นัยสำคัญของการเข้าร่วมรัฐบาลเช่นนี้ ย่อมเป็นดัง “การต่ออายุรัฐบาลไฮบริด” ในอีกแบบ

ดังนั้น เมื่อพรรคฝ่ายค้านคือพรรคเพื่อไทยที่เข้ามาเป็น “แกนนำ” ในการจัดตั้งรัฐบาลจากปัญหาที่เกิดขึ้นกับพรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทยดูจะพิจารณาปัญหาโดยให้น้ำหนักกับเวลาของการเป็นรัฐบาลให้ได้เร็วที่สุด เพื่อ “เป็นโอกาส” ของประเทศ ที่จะต้องมีรัฐบาล และถูกอธิบายเพิ่มเติมว่า จะเป็นการทำให้การ “ยืดอายุขัย” ของรัฐบาลรักษาการของ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องสิ้นสุดเร็วขึ้น

ซึ่งแนวทางของการดำเนินการคือ การดึงพรรคที่มีสถานะเป็น “พรรคทหาร” เข้าร่วมการจัดตั้งรัฐบาลผสมด้วย

แต่การกระทำเช่นนี้อาจมีราคาแพงที่ต้องจ่ายอย่างมาก เพราะการกำเนิดของ “รัฐบาลผสมพรรคฝ่ายค้าน/พรรคทหาร” จะกลายเป็นปัญหาในตัวเองกับพรรคเพื่อไทยในอีกแบบ และอาจเป็นปัจจัยที่ทำลายความน่าเชื่อถือของพรรคเพื่อไทยในการเป็นพรรคใน “สายประชาธิปไตย” เพราะจะถูกมองว่า พรรคได้ตัดสินใจยอมละทิ้งความเป็นกลุ่มพลังในสายประชาธิปไตยไปแล้ว

ซึ่งจะส่งผลต่อการสร้าง “ความเป็นตัวตน” ของพรรคในระยะยาว ทั้งที่พรรคเคยเป็น “เสาหลัก” ของฝ่ายประชาธิปไตยมาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็น “เสาหลัก” ในการต่อสู้ของพี่น้องชาวเสื้อแดงในปี 2553 มาแล้ว

 

บริบทการเมืองปัจจุบัน

เนื่องจากการเมืองที่ถูกแบ่งฝ่ายในบริบทของสังคมไทยปัจจุบันนั้น เห็นถึงความชัดเจนในการต่อสู้ระหว่าง “พรรคฝ่ายค้าน vs พรรคทหาร” และพรรคฝ่ายค้านหาเสียงบนความเชื่อมโยงกับการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย เชิดชูกระแสเสรีนิยม ขณะเดียวกันก็ต่อต้านรัฐบาลทหารที่สืบทอดอำนาจ

และการสืบทอดอำนาจเช่นนี้ มีพรรคทหารเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญ โดยการนำเสนอแนวคิดแบบอนุรักษนิยม และเชิดชูกระแสจารีตนิยม ซึ่งดูจะเป็นแนวทางที่แตกต่างกันอย่างมากในมิติความคิดทางการเมือง

ดังที่กล่าวแล้วว่าในเงื่อนไขของการเมืองแบบไฮบริดนั้น เราอาจกล่าวได้ว่าพรรคทหารคือ “เสาค้ำ” ของ “ระบอบประยุทธ์” ที่ทำให้ผู้นำรัฐประหารเดิมยังคงมีอำนาจได้ต่อไปอีกหลังการเลือกตั้ง 2562 จนถึงปัจจุบัน

ซึ่งการตัดสินใจดึงพรรคดังกล่าวเข้ามาเป็นรัฐบาลผสมนั้น ทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่าการเป็นรัฐบาลรอบนี้ไม่น่าจะมีอายุยืนยาว โดยเฉพาะการมีเงื่อนไขของการแก้รัฐธรรมนูญมาเป็นตัวเร่งอีกด้วย

ดังนั้น 4 ปีที่ผ่านมาของการต่อสู้ในระบบรัฐสภา จึงเป็นภาพของการต่อสู้ระหว่างพันธมิตรของพรรคที่ประกาศตัวอยู่ในสายของ “ปีกประชาธิปไตย” กับพรรคอีกส่วนที่รวมกัน โดยมี “พรรคทหาร” เป็นแกนกลาง ซึ่งการต่อสู้เช่นนี้ทำให้เกิด “พันธมิตรพรรคฝ่ายค้าน” ตั้งแต่ก่อน จนมาถึงหลังเลือกตั้ง และเป็นความคาดหวังของผู้คนในสังคมที่ไม่ตอบรับกับรัฐประหารและการสืบทอดอำนาจว่า พรรคในปีกนี้จะเป็นทางเลือกของการสร้าง “การเมืองใหม่” ที่จะทำให้ระบอบไฮบริดถึงจุดสิ้นสุดลง…

แน่นอนว่า ผู้คนที่ไม่ตอบรับกับ “ระบอบประยุทธ์” ไม่ว่าจะอยู่ใน “สีการเมือง” อะไรก็ตาม ล้วนมีความหวังในเรื่องนี้อย่างมาก

ความพยายามในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งที่ 2 ของทางพรรคเพื่อไทย ย่อมไม่ใช่เรื่องผิดที่พยายามจะดึงพรรคต่างๆ เพราะในเงื่อนไขของความเป็นรัฐบาลผสม จะต้องหาทางดึงพรรคการเมืองอื่นให้เข้ามาร่วมให้ได้ เพื่อเอาชนะอุปสรรคจากการออกเสียงของวุฒิสภา

แต่เมื่อเกิด “ภาพสุดขั้ว” ที่เห็นการเปิดตัวของพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของสูตร “รัฐบาลผสมพรรคฝ่ายค้าน/พรรคทหาร” แล้ว หลายฝ่ายที่ต่อสู้กับ “ระบอบประยุทธ์” มา ย่อมรู้สึกว่าทางเลือกของการจัดตั้ง “รัฐบาลผสมใหม่” เช่นนี้ อาจเป็นสิ่งที่รับไม่ได้

โดยเฉพาะ ผู้นำของพรรคทหารคือ ผู้นำการทำรัฐประหารในการล้มรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยในปี 2557

 

ความท้าทาย

หลายฝ่ายที่ร่วมในการต่อต้าน “ระบอบรัฐประหาร” ที่แปรรูปเป็น “ระบอบประยุทธ์” หลังการเลือกตั้ง 2562 นั้น ย่อมไม่ต้องการเห็นการ “ผสมพันธุ์ใหม่” ที่ทำให้ระบอบนี้อยู่ต่อไปได้ แม้จะไม่มีการอยู่ของตัวบุคคลที่เป็นผู้นำรัฐประหารแล้ว แต่พรรคทหารก็คือ ตัวสัญลักษณ์ของความเป็นตัวแทนระบอบนี้ที่ชัดเจน

ถ้าคำตอบของ “รัฐบาลผสมใหม่” คือการเข้าร่วมของพรรคทหารแล้ว ก็จะกลายเป็นการสืบทอดระบอบไฮบริดในอีกแบบ อีกทั้งหากคิดในทางกลับกัน จึงเป็นเสมือนหนึ่ง “ระบอบประยุทธ์” ได้เชิญพรรคเพื่อไทยเข้าร่วมรัฐบาล ซึ่งหลายคนที่เคยร่วมต่อสู้กันมาย่อมอดคิดเป็นห่วงไม่ได้ว่า การตัดสินใจเช่นนี้คือ การ “ทำลายความน่าเชื่อถือ” จนอาจกลายเป็น “วิกฤตศรัทธา” ต่อพรรคเพื่อไทยในอนาคตหรือไม่

เพราะสังคมยังต้องการเห็นพรรคเพื่อไทยเป็น “เสาประชาธิปไตย” เสาหนึ่งของการเมืองไทย…

การเลือกเส้นทางเดินครั้งนี้ จึงเป็นความท้าทายต่อพรรคเพื่อไทย และมีผลต่อการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของไทยอย่างยิ่ง!