ศึกมวลชนแดง-เหลือง-ส้ม | วงค์ ตาวัน

วงค์ ตาวัน

ปัญหาจากการจัดตั้งรัฐบาลล่าสุด ทำให้พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลซึ่งได้ ส.ส.มาเป็นอันดับ 1 และ 2 แบบใกล้เคียงกัน เริ่มเสียดสีกันมาตลอด จนสุดท้ายต้องปิดฉากความสัมพันธ์กันอย่างสิ้นเชิง นำมาสู่บรรยากาศการตอบโต้กันไปมาระหว่างมวลชนที่สนับสนุนทั้ง 2 พรรค จนเรียกกันว่าเป็นศึกแดงกับส้ม เสื้อแดงกับเสื้อส้ม

ที่น่าสนใจก็คือ ขั้วตรงข้ามทางการเมืองของเสื้อส้มนั้น จริงๆ คือเสื้อเหลือง เพราะแนวคิดทางการเมืองระหว่าง ต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประเทศอย่างจริงจัง จึงตรงกันข้ามกับแนวคิดอนุรักษนิยมทางการเมือง

เสื้อเหลืองกับเสื้อส้มนั้น ขัดแย้งกันด้วยจุดยืนอย่างชัดแจ้ง

แต่ไปๆ มาๆ เมื่อเพื่อไทยกับก้าวไกลงัดกันเองจากเกมการตั้งรัฐบาล ทำให้มวลชนเสื้อแดงกับเสื้อส้ม ซัดกันนัวเนียในโลกโซเชียล ผสมโรงด้วยเสื้อเหลือง ที่เข้ามาร่วมสนับสนุนเสื้อแดงในการถล่มเสื้อส้ม

วันนี้พันธมิตรทางการเมืองจึงเป็นเหลืองกับแดง จับมือกันซัดใส่กับฝ่ายส้มอย่างดุเดือด

กลายเป็นมุขสนุกในสังคมไทย ใครจะเชื่อว่า วันหนึ่งเหลืองกับแดงก็สามารถมาช่วยกันได้ หันมารักกันได้ เพื่อจะไม่เอาส้ม!

อีกนั่นแหละ เอาเข้าจริงๆ มีเสื้อแดงจำนวนไม่น้อย ที่กลายไปเป็นเสื้อส้ม เป็นผลพวงจากการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา

เมื่อมวลชนเสื้อแดงที่เคยรักเพื่อไทย เริ่มรู้สึกขัดอกขัดใจกับพรรคที่เคยเชียร์ ในด้านความตรงไปตรงมา เทียบไม่ได้เลยกับก้าวไกล ดุเดือดดุดันกล้าคิดการเปลี่ยนแปลงมากกว่า

ทำให้แดงจำนวนไม่น้อยเลย หันมาเป็นส้ม เมื่อรวมกับกระแสความตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ จึงทำให้ก้าวไกลชนะเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 1 โดยมีมวลชนสีส้มขยายตัวไปอย่างกว้างขวาง โดยเสื้อแดงนั่นแหละส่วนหนึ่งที่เปลี่ยนสีเสื้อเป็นส้ม

อย่างไรก็ตาม เสื้อแดงที่ยืนหยัดกับเพื่อไทยก็ยังมีอยู่ไม่น้อย พร้อมๆ กับเริ่มเปิดสงครามกับสีส้มในโซเชียล ปกป้องพรรคตัวเอง ต่อต้านอีกพรรคอย่างไม่มีใครถอย

จนกระทั่งเกิดกรณีเสื้อเหลืองหันมาร่วมกับเสื้อแดง ทำให้สงครามระหว่างกองเชียร์ การต่อสู้กันระหว่างสี เพิ่มดีกรีร้อนแรงมากขึ้น

ศึกมวลชนเสื้อสี จึงเป็นปรากฏการณ์ทางการเมือง เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งตลอดเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา

 

จุดเริ่มต้นของมวลชนเสื้อสีนั้น เกิดขึ้นในปี 2548-2549 ที่เกิดม็อบขับไล่ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น อันที่จริงชนวนมาจากคนกันเอง คนเคยร่วมมือกัน ต่อมาเกิดปัญหาไม่สามารถเปิดสถานีโทรทัศน์ได้ เพราะรัฐบาลกลัวจะเข้าข่ายผิดกฎหมาย ทำให้คนใกล้ชิดกันพูดกันไม่รู้เรื่อง

จึงไปก่อม็อบเสื้อเหลือง เพื่อขับไล่ทักษิณ

เหตุที่เป็นเสื้อเหลือง ชูอุดมการณ์อนุรักษนิยมการเมือง เพราะเชื่อว่ามีแต่อำนาจของเครือข่ายขุนศึกขุนนางเท่านั้น ที่จะหยุดทักษิณได้ ขจัดทักษิณได้ เพราะเป็นนายกฯ ที่มีประชาชนสนับสนุนอย่างกว้างขวาง เลือกตั้งกี่ครั้งก็มีแต่ได้คะแนนนิยมเพิ่มขึ้น

กลุ่มเสื้อเหลืองจึงเกิดขึ้น ปลุกอุดมการณ์อนุรักษนิยมขวาจัดให้ลุกฮือ เพื่อสร้างความชิงชังต่อทักษิณให้มากที่สุด จึงกลายเป็นข้อกล่าวหาทางการเมืองที่ทำให้ทักษิณถูกตัดสินจากฝ่ายอนุรักษนิยมการเมือง ต้องโดนรัฐประหารและอยู่ในประเทศไทยไม่ได้

หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เพื่อโค่นทักษิณ จึงส่งผลให้เกิดกลุ่มเสื้อแดงขึ้นมาบ้าง เพื่อต่อต้านคณะรัฐประหาร รวมทั้งต่อต้านฝ่ายเสื้อเหลือง

ต่อมาการเลือกตั้งปี 2550 พรรคพลังประชาชน ที่สืบต่อจากไทยรักไทย ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง เสื้อแดงจึงเคลื่อนไหวเพื่อรักษารัฐบาลจากการเลือกตั้ง ขณะที่เสื้อเหลืองก็กลับมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลที่ถือว่าเป็นเครือข่ายทักษิณ

เสื้อแดงและเสื้อเหลือง ยืนอยู่ในขั้วตรงข้ามทางแนวคิด ระหว่างฝ่ายประชาธิปไตย กับฝ่ายอนุรักษนิยมการเมือง

แต่ที่ต่างกันคือ เสื้อแดงถูกปราบอย่างรุนแรงในปี 2553 จนกลายเป็นเหตุการณ์ 99 ศพ เพราะเครือข่ายอำนาจฝ่ายอนุรักษนิยม ขุนศึกขุนนาง มุ่งขจัดทักษิณ ล้มยิ่งลักษณ์ และมวลชนเสื้อแดงอย่างไม่ปรานีปราศรัย

อย่างไรก็ตาม แม้จะถูกปราบโหดด้วยกระสุนจริง ในปี 2553 แต่เสื้อแดงก็ยังไม่สูญสลาย ยังรวมตัวและให้การสนับสนุนพรรคเพื่อไทย

จนกระทั่งเกิดพรรคอนาคตใหม่ พรรคคนรุ่นใหม่ ได้รับเลือกตั้งในปี 2562 ประสบความสำเร็จอย่างไม่มีใครคาดคิด เป็นพรรคอันดับ 3

แล้วอนาคตใหม่ก็โดนบดขยี้ไม่ต่างจากพรรคฝ่ายทักษิณ จนโดนยุบพรรค มีพรรคก้าวไกลมาทดแทน แล้วในการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคมนี่เอง ทำให้สีส้มแผ่กว้างไปทั้งแผ่นดิน พรรคก้าวไกลชนะเป็นอันดับ 1 อย่างเหลือเชื่อ

*แต่สุดท้ายเครือข่ายอำนาจเก่ายอมไม่ได้ ลงเอยก็ไม่ได้เป็นนายกฯ ไม่ได้เป็นรัฐบาล!*

 

ปรากฏการณ์ที่พรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้งล่าสุด ทำให้พลังสีส้มแผ่กว้างไปทั่ว เมื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไปปรากฏตัวที่ไหน มีมวลชนเสื้อส้มไปต้อนรับอย่างล้นหลาม เสื้อส้ม ด้อมส้ม กลายเป็นคำฮิตติดปาก

ด้วยผลจากการจัดตั้งรัฐบาล ที่ก้าวไกลได้สิทธิ์ก่อน แต่ไม่อาจผ่านด่าน ส.ว.ได้ จึงต้องส่งมอบสิทธิ์ให้เพื่อไทย แต่จังหวะดังกล่าวก็เต็มไปด้วยความขัดแย้งระหว่าง 2 พรรค

ส่งผลให้มวลชนเสื้อแดงกับเสื้อส้มและด้อมส้ม เปิดสงครามกันอลหม่านในโซเชียล แล้วไปๆ มาๆ เสื้อเหลืองก็เข้ามาร่วมแจม เชียร์เสื้อแดงและเพื่อไทย

อันที่จริงแล้วข้อเรียกร้องของแฟนๆ 2 พรรคนั้น ขัดแย้งกับสภาพธรรมชาติของพรรคการเมืองทั้งสอง

ก้าวไกลคือพรรคคนรุ่นใหม่ มีอิสระเสรี ต่อสู้ทางการเมืองแบบเดินหน้าชน ขณะที่พรรคเพื่อไทย เป็นพรรคการเมืองที่มี ส.ส.ในแนวการเมืองเก่ามากมาย แต่จุดเด่นของเพื่อไทยที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้นำฝ่ายประชาธิปไตย เพราะมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนอย่างกว้างขวาง และมีแนวนโยบายเก่งกาจด้านเศรษฐกิจ ปากท้องประชาชน ทำให้คนรากหญ้าเห็นคุณค่าของประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง

แต่จะให้ทั่วทั้งพรรคของเพื่อไทย กล้าชน กล้าเดินหน้าตรงไปตรงมาแบบก้าวไกล ย่อมเป็นไปไม่ได้

ข้อเรียกร้องให้เพื่อไทยจับมือกับก้าวไกลในนาม 8 พรรคให้เหนียวแน่น เป็นรัฐบาลไม่ได้ ก็เป็นฝ่ายค้านด้วยกัน ยื้อการตั้งนายกฯ ไปอีก 10 เดือน รอให้ ส.ว.หมดอำนาจ อะไรเหล่านี้

สำหรับเพื่อไทยแล้ว ถ้าพลาดในเกมตั้งนายกฯ ก็จะเสียโอกาสไปให้ขั้วพรรครัฐบาลเดิมทันที จากนั้นรัฐบาลเสียงข้างน้อยก็จะกลายเป็นเสียงข้างมากไม่ยาก

**เพราะ ส.ส.ในขั้ว 8 พรรคที่เป็น ส.ส.แบบการเมืองเก่า จะรู้สึกไม่พอใจกับการทิ้งโอกาสเป็นรัฐบาล จากนั้นการเปิดฟาร์มงูเห่าจะเป็นไปอย่างคึกคักยิ่ง**

วันนี้เมื่อเพื่อไทยกับก้าวไกลแยกทางกันแล้ว มวลชนเสื้อแดงกับเสื้อส้มก็เต็มไปด้วยอารมณ์เดือดระอุ แถมมีเสื้อเหลืองเข้ามาอีก

ความขัดแย้งของมวลชนต่างสีเสื้อ เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2549 หรือ 17 ปีมาแล้ว จนบัดนี้ก็เพิ่มสีสันดุเดือดมากขึ้นไปอีก เพียงแต่เปลี่ยนจากชุมนุมประจันหน้ากัน มาเป็นสงครามในออนไลน์

แต่ก็น่าคิดว่า เพราะการเกิดมวลชนสีเสื้อต่างๆ จึงทำให้พลังของฝ่ายประชาชนเกิดความแตกแยกกัน จนไม่อาจรวมตัวเป็นหนึ่งเดียวเพื่อประกาศความต้องการแบบ 2516 แบบ 2535 อีกแล้ว!