ทัศนะที่เปลี่ยนไป จากเวียงจันทน์ถึงปักกิ่ง

เมื่อ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา สถาบันอุษาคเนย์ศึกษา (ISEAS – Yusof Ishak Institute) องค์กรวิชาการอิสระของสิงคโปร์ เผยแพร่บทวิเคราะห์ที่น่าสนใจอย่างยิ่งของโจแอนน์ ลิน นักวิจัยอาวุโสด้านการเมืองและความมั่นคง ประจำศูนย์อาเซียนศึกษา ของสถาบัน

บทวิเคราะห์ดังกล่าว ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงในทัศนะ ความคิด ความเข้าใจที่คนลาวมีต่อจีนโดยเฉพาะ โดยอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่ได้จากคำตอบแบบสอบถามในการสำรวจความคิดเห็นของสถาบัน บวกกับผลจากแบบสำรวจความคิดเห็นอื่นๆ โดยเฉพาะจากสถาบันโลวี องค์กรวิชาการอิสระของออสเตรเลีย

บทสรุปที่สำคัญของโจแอนน์ ลิน ก็คือ ทัศนะที่คนลาวมองจีน เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเห็นได้ชัดเจนมากที่สุดในช่วงระหว่างปี 2022-2023 จีนยังคงมีอิทธิพล “อย่างมีนัยสำคัญ” ต่อลาวอยู่ก็จริง แต่ก็ไม่ได้เป็น “หุ้นส่วน” ที่ “สำคัญที่สุด” ในหลายๆ ด้านอีกต่อไป

“ลาวมีความเป็นกลางมากกว่าที่สื่อรายงานหรือมากกว่าที่บรรดานักวิเคราะห์ทางวิชาการโดยทั่วไปกล่าวอ้าง” โจแอนน์ ลิน ระบุ

 

ในข้อมูลที่ได้จากการสำรวจของสถาบันซึ่งจัดทำทุกปี แต่สรุปผลทุกๆ 5 ปี แสดงให้เห็นว่า อิทธิพลในเชิงเศรษฐกิจของจีนต่อลาวลดลงต่อเนื่อง เห็นชัดเจนที่สุดในช่วงการสำรวจระหว่างปี 2022-2023 ที่อิทธิพลทางเศรษฐกิจที่จีนมีต่อลาวลดฮวบลง จาก 86.4 เปอร์เซ็นต์ เหลือเพียง 20.6 เปอร์เซ็นต์

ในขณะที่อิทธิพลเชิงการเมืองและยุทธศาสตร์ของจีนในลาวลดลงจาก 75 เปอร์เซ็นต์ เหลือเพียง 30.8 เปอร์เซ็นต์ในช่วงเวลาเดียวกัน

จำนวนผู้ตอบแบบสอบถามที่แสดง “ความกังวล” ต่ออิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนในลาว เพิ่มจาก 65.8 เปอร์เซ็นต์ เป็น 72.7 เปอร์เซ็นต์ สวนทางกับที่สัดส่วนของผู้ตอบแบบสอบถามแสดงความเห็น “ยินดีต้อนรับ” อิทธิพลทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯในลาวเพิ่มพรวดจาก 0 เปอร์เซ็นต์ เป็น 50 เปอร์เซ็นต์

ลาวยังคงมองจีนในฐานะเป็นผู้นำด้านการค้าเสรีของโลกอยู่ต่อไป แต่ในแง่ของความชื่นชอบลดสัดส่วนลงอย่างเห็นได้ชัด จาก 61.4 เปอร์เซ็นต์ในปี 2022 เหลือเพียง 14 เปอร์เซ็นต์ในปี 2023 ต่ำกว่าอาเซียน (เพิ่มจาก 6.8 เปอร์เซ็นต์ เป็น 26.2 เปอร์เซ็นต์) และสหภาพยุโรปหรืออียู (จาก 6.8เปอร์เซ็นต์ เป็น 25.2 เปอร์เซ็นต์)

ในแง่ของความเป็นผู้นำที่จะธำรงกฎระเบียบระหว่างประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศ ความเชื่อมั่นของคนลาวต่อประเทศจีนในแง่นี้ลดลงอย่างต่อเนื่องตลอด 4 ปี จาก 26.1 เปอร์เซ็นต์ในปี 2020 เหลือเพียง 5.6 เปอร์เซ็นต์ในปี 2023 อียูได้รับความเชื่อมั่นสูงสุดจากคนลาวที่ 29 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มจาก 13.6 เปอร์เซ็นต์ในปี 2022

เมื่อถามว่า ถ้าหาก “อาเซียน” ต้องเลือกยืนข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ประเทศที่เลือกควรเป็นชาติใด ในช่วงระหว่างปี 2020-2022 คำตอบของผู้ตอบส่วนใหญ่จากลาวเลือก “จีน” แต่ในปี 2023 มี 58.1 เปอร์เซ็นต์เลือกสหรัฐ อีก 41.1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ยังคงเลือกจีน

ในการสำรวจปี 2023 เมื่อถามว่า อะไรเป็นเหตุให้ภาพประทับเชิงบวกต่อจีนแย่ลง 56.7 เปอร์เซ็นต์ระบุว่า “เพราะจีนแทรกแซงกิจการภายในของประเทศของฉัน” และอีก 43.3 เปอร์เซ็นต์เลือกตอบว่า “เพราะจีนใช้เครื่องมือเชิงเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวเป็นการลงโทษต่อทางเลือกในการกำหนดนโยบายต่างประเทศ” ของลาว

 

โจแอนน์ ลิน หยิบเอาข้อมูลจากดัชนีอำนาจอิทธิพลในเอเชียประจำปี 2023 ที่จัดทำโดยสถาบันโลวี (Lowy Institute Asia Power Index 2023) มาชี้ให้เห็นว่า จีนไม่ได้เป็นชาติที่มีอิทธิพลสูงสุดในลาวอีกแล้วในหลายๆ ด้าน อาทิ การค้าและการลงทุน, การทูต, การหารือด้านกลาโหม, การค้าอาวุธ เรื่อยไปจนถึง “ซอฟต์เพาเวอร์” อย่างเช่นความสนใจในการสืบค้นผ่านอินเตอร์เน็ต, การไหลเวียนของสื่อมวลชนต่างชาติและการเป็นเป้าหมายการเดินทางท่องเที่ยว

ที่น่าสนใจก็คือ “ไทยกลายเป็นประเทศที่มีอิทธิพลสูงสุดในทัศนะของคนลาวในแง่ของการค้าและการลงทุน ควบคู่ไปกับอิทธิพลเชิงซอฟต์เพาเวอร์อีกหลายด้าน รวมทั้งการสนใจสืบค้นผ่านอินเตอร์เน็ตและการเป็นเป้าหมายในการเดินทางท่องเที่ยว”

ส่วนรัสเซียเข้ามาแทนที่จีนในฐานะประเทศที่มีอิทธิพลสูงสุดในการจัดหาอาวุธ ขณะที่เวียดนามมีอิทธิพลสูงสุดต่อลาวในแง่ของการเจรจาหารือด้านกลาโหมและการไหลเวียนของสื่อมวลชน

 

โจแอนน์ ลิน สรุปไว้ในตอนท้ายของบทวิเคราะห์ว่า อำนาจอิทธิพลของจีนต่อลาวได้รับการคาดหมายว่าจะขยายเพิ่มมากขึ้นอันเป็นผลมาจากความเชื่อมโยงในทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศทั้งสองที่ขยายตัวมากขึ้น

แต่ในเวลาเดียวกัน การแข่งขันกันในเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ก็กดดันให้ลาวขยับตัวเข้าหาความเป็นกลางมากขึ้น

หรือไม่ก็หันมาพึ่งพาอาเซียน หรือชาติสมาชิกอาเซียน (ไทย-เวียดนาม) หรือมหาอำนาจระดับกลางอย่างอียู, ออสเตรเลีย,ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เพิ่มมากขึ้น

โจแอนน์ ลิน เชื่อว่า ความเป็นตัวของตัวเองของลาวจะชัดเจนมากยิ่งขึ้นเมื่อรับภารกิจเป็นประธานอาเซียนในปี 2024 นี้