พรรคก้าวไกล ควรถอยเรื่อง 112 หรือไม่ | กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์

กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์www.facebook.com/bintokrit

ประเด็นเรื่องการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นข้อวิจารณ์หลักท่ามกลางข้อโจมตีมากมายที่พรรคก้าวไกลได้รับจากฝ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองด้วยกันเอง หรือว่า สว. ซึ่งทำให้ท้ายที่สุดยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้มาจนถึงทุกวันนี้ โดยฝ่ายที่คัดค้านการแก้กฎหมายอาญามาตรา 112 อ้างว่าความพยายามในการแก้กฎหมายข้อนี้กระทบกระเทือนต่อสถานะและความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์

ข้อวิจารณ์ดังกล่าวนำมาสู่ความเห็นที่แยกออกเป็นสองฝ่ายคือ

(1) ฝ่ายที่เห็นว่าพรรคก้าวไกลควรถอยเรื่องการแก้กฎหมายมาตรา 112 เพื่อให้พ้นไปจากข้ออ้างที่ฝ่ายตรงข้ามใช้ในการสกัดกั้นพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไม่ให้ได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมทั้งคัดค้านการจัดตั้งรัฐบาล

และ (2) ฝ่ายที่เห็นว่าก้าวไกลไม่ควรถอยเรื่อง 112 แต่ควรยืนหยัดตามแนวทางเดิมที่ได้รณรงค์ไว้กับประชาชนในช่วงหาเสียงของการเลือกตั้งทั่วไป 2566

ฝ่ายที่ (2) ซึ่งสนับสนุนให้พรรคก้าวไกลไม่ลดระดับเพดานของการเรียกร้องเรื่อง 112 ให้เหตุผลว่า ต่อให้ก้าวไกลไม่มีนโยบายเรื่องการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 บรรดาปฏิปักษ์ทั้งหลายก็ยังคงไม่ยอมให้พิธาได้เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ดี

และไม่ยอมให้ก้าวไกลได้เป็นรัฐบาลด้วย

 

ทัศนะของฝ่ายที่ (2) นี้ แม้จะเป็นการคาดการณ์อนาคตซึ่งไม่มีใครสามารถยืนยันได้ว่าจะเป็นไปตามที่คาดหรือไม่ แต่ก็มีความเป็นไปได้สูงมาก

เนื่องจากท่าทีของพรรคการเมืองต่างๆ และ ส.ว.อีกหลายคนได้แสดงออกอย่างเปิดเผยว่าไม่ต้องการให้ก้าวไกลได้เป็นรัฐบาล เพราะแนวทางทางการเมืองไม่ตรงกันในระดับที่ไม่อาจทำงานร่วมกันได้

และบางคนถึงขั้นเห็นว่าแนวทางแบบพรรคก้าวไกลเป็นภัยต่อชาติ เมื่อฝ่ายตรงข้ามกับก้าวไกลปฏิเสธพรรคก้าวไกลโดยภาพรวม ไม่ใช่เพียงแค่การแก้ 112 เท่านั้น

ดังนั้น จึงเปล่าประโยชน์ที่จะถอยเรื่องการแก้กฎหมายอาญามาตรา 112

อย่างไรก็ตาม หากปรากฏสัญญาณชัดว่าถ้าพรรคก้าวไกลยอมถอยเรื่องการแก้กฎหมายอาญามาตรา 112 แล้วฝ่าย สว. และพรรคการเมืองอื่นๆ จะยอมรับให้พรรคก้าวไกลสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ พรรคก้าวไกลก็ควรถอยเรื่อง 112 เสีย เพื่อให้ตนสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จอย่างนั้นหรือ?

คำถามนี้เป็นคำถามสำคัญเนื่องจากมีความผูกพันอยู่กับอัตลักษณ์ทางการเมืองและคำสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน เนื่องจากการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นนโยบายที่พรรคก้าวไกลมีอยู่เพียงพรรคเดียว พรรคอื่นไม่มี

เมื่อประชาชนเลือกพรรคก้าวไกลมาแล้ว จึงอนุมานได้ว่าประชาชนมีเจตจำนงต้องการนโยบายข้อนี้ด้วย

แต่ในขณะเดียวกันก็มีเสียงโต้แย้งจากบางคนว่าการที่ผู้ลงคะแนนเสียงเลือกพรรคก้าวไกลไม่ได้หมายความว่าเขาเห็นด้วยกับทุกนโยบายของพรรค

เขาอาจเห็นด้วยกับนโยบายข้ออื่นที่ไม่เกี่ยวกับ 112 แต่อาจไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข 112 ก็ได้

ข้อโต้แย้งนี้แม้จะจริง แต่ก็ไม่สามารถทำให้พรรคก้าวไกลถอยเรื่อง 112 ได้อยู่ดี ด้วยเหตุผลหลักสองประการ

คือ พันธะทางการเมืองที่พรรคสัญญาไว้กับประชาชน และอัตลักษณ์ของพรรคการเมือง

 

ประการแรก “พันธะทางการเมืองที่พรรคสัญญาไว้กับประชาชน” หากพรรคการเมืองใดๆ หาเสียงกับประชาชนโดยนำเสนอนโยบายชุดหนึ่งซึ่งประกอบไปด้วยแนวนโยบายข้อต่างๆ เป็นจำนวนมาก เมื่อใดก็ตามที่มีคนตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองนั้นไปแล้ว พรรคจะไม่สามารถรู้ได้เลยว่าคนที่โหวตเลือกนั้นเห็นด้วยกับนโยบายข้อใดบ้าง เห็นด้วยทั้งหมด หรือเห็นด้วยแค่เพียงบางข้อ

แต่ในเมื่อเขาได้ตัดสินโหวตเลือกให้พรรคแล้ว พรรคจึงทำได้เพียงอนุมานว่าผู้โหวตเลือกคงจะเห็นด้วยกับนโยบายทั้งหมด

ยกตัวอย่างเช่น หากพรรค A ขายนโยบายต่อประชาชนในแบบชุดนโยบายอันประกอบไปด้วยนโยบาย X นโยบาย Y นโยบาย Z ผู้ลงคะแนนเสียงบางคนอาจชอบทั้งนโยบาย X Y Z แต่บางคนอาจชอบแค่ X หรือ Y หรือ Z ก็ได้ แต่ไม่ว่าผู้ลงคะแนนเสียงจะชอบกี่ข้อก็ตามท้ายที่สุดแล้วเขาได้โหวตเลือกพรรคนี้ แทนที่จะเป็นพรรคอื่น ดังนั้น พรรคจึงทราบแต่เพียงว่าเขาเลือก แต่ไม่ทราบความเห็นเป็นรายนโยบาย ซึ่งทำให้จำเป็นต้องอนุมานไปโดยอนุโลมว่าผู้ลงคะแนนเสียงเห็นด้วยกับนโยบายที่หาเสียงไปทั้งหมด

เพราะฉะนั้น พันธะผูกพันของพรรค A ที่มีต่อชุดนโยบาย X Y Z จึงยังคงอยู่ และผูกมัดพรรคให้ต้องปฏิบัติตามแนวนโยบายทุกข้อต่อไปในฐานะที่เป็นพันธะทางการเมืองที่พรรคได้ให้คำมั่นสัญญาไว้กับประชาชนก่อนลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง

 

ประการที่สอง “อัตลักษณ์ของพรรคการเมือง” กล่าวคือ ในบรรดานโยบายที่พรรคการเมืองต่างๆ นำเสนอต่อประชาชนในการหาเสียงเลือกตั้งนั้น หลายนโยบายมีอยู่ในพรรคการเมืองหลายพรรค หรือไม่ก็คล้ายคลึงกันมาก แตกต่างกันเพียงรายละเอียด

เช่น เรื่องค่าแรงขั้นต่ำเป็นเรื่องที่มีอยู่แทบทุกพรรค ต่างกันแต่เพียงตัวเลขว่าเป็นจำนวนเท่าไหร่ หรือเรื่องสวัสดิการต่างๆ เรื่องสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานต่างๆ เป็นต้น

นโยบายในลักษณะของการพัฒนาพื้นที่และคุณภาพชีวิตนี้เป็นนโยบายที่พรรคการเมืองต่างๆ มีอยู่อย่างซ้ำซ้อนกัน ทำให้ไม่เกิดเอกลักษณ์ว่าแต่ละพรรคมีความแตกต่างกันอย่างไร

ทว่า นโยบายเรื่องการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้น มีเพียงพรรคก้าวไกลที่นำเสนออยู่พรรคเดียว

ดังนั้น เมื่อผู้ลงคะแนนเสียงโหวตเลือกพรรคก้าวไกล พรรคก้าวไกลจึงสามารถคิดได้ว่าผู้ลงคะแนนเสียงมีเจตจำนงหรือความปรารถนาที่จะแก้ไขกฎหมาย 112 ด้วย ซึ่งต่างกับเวลาที่ประชาชนโหวตเลือกพรรคอื่นที่ไม่มีนโยบายใดที่เป็นเอกลักษณ์หรือเป็นอัตลักษณ์ของพรรคเลย พรรคการเมืองนั้นก็จะไม่ทราบว่าผู้คนลงคะแนนเสียงให้ด้วยเหตุผลอะไรกันแน่

เมื่อนโยบายการแก้ไขกฎหมาย 112 เป็นนโยบายที่เป็นเอกลักษณ์หรืออัตลักษณ์ของพรรค และต่อมาประชาชนได้ตัดสินใจลงคะแนนเสียงให้ไปแล้ว พรรคจึงไม่อาจเดินถอยจากนโยบายที่เป็นอัตลักษณ์ของตนได้

ไม่เช่นนั้นก็จะไม่เหลือตัวตนใดที่แตกต่างไปจากพรรคอื่น และผิดไปจากเจตจำนงที่ประชาชนตัดสินใจเลือกให้ในวันลงคะแนน

 

อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขข้อนี้ได้กลายเป็นเดดล็อกทางการเมือง กระทั่งล่าสุดนำมาสู่การที่พรรคเพื่อไทยปล่อยมือจากก้าวไกลและจัดตั้งรัฐบาลผสมที่ปราศจากพรรคก้าวไกล โดยเสนอนายเศรษฐา ทวีสิน ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามข่าว “ชลน่าน ประกาศชัด พท.ขอถอนตัว ไปตั้ง รบ.ใหม่ ยืนยันไม่มีก้าวไกล-ไม่พูดถึง 2 ลุง”

ดังถ้อยความส่วนหนึ่งที่กล่าวไว้ว่า

“ในสถานการณ์เช่นนี้ พรรคเพื่อไทยได้ปรึกษาหารือกับพรรคก้าวไกลขอถอนตัวจากการร่วมมือกันและเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลพรรคร่วมใหม่ เสนอชื่อ ‘นายเศรษฐา ทวีสิน’ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทย และนายเศรษฐา ทวีสิน ขอยืนยันชัดเจนว่า เราจะไม่สนับสนุนการแก้ไขมาตรา 112 และการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะไม่มีพรรคก้าวไกลอยู่ในพรรคร่วม พรรคเพื่อไทยจะใช้ความพยายามรวบรวมเสียง ให้เพียงพอต่อการจัดตั้งรัฐบาลอย่างเหมาะสม และพรรคก้าวไกลจะทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านและยืนยันจะทำงานการเมืองในมิติใหม่ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและพี่น้องประชาชน”

 

ถึงตอนนี้จึงเป็นที่ประจักษ์แน่ชัดแล้วว่าการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อไทยจะไม่มีพรรคก้าวไกลอยู่ร่วมรัฐบาลด้วย ดังเหตุผลที่กล่าวอ้างว่าเพราะปัญหาเรื่องนโยบายการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ของพรรคก้าวไกลนี่เอง

ซึ่งแน่นอนว่าจะมีฐานเสียงของพรรคก้าวไกลจำนวนไม่น้อยที่เสียดาย หรือบางส่วนอาจไม่พอใจที่พรรคก้าวไกลไม่ยอมยืดหยุ่นและปรับลดเพดานของข้อเรียกร้องลงบ้าง อันทำให้พลาดโอกาสการได้เป็นรัฐบาลไปอย่างเจ็บแสบ

แต่ก็อย่างที่ได้อธิบายเหตุผลไว้ข้างต้นแล้วว่า ต่อให้ก้าวไกลถอยเรื่อง 112 แล้วได้เป็นรัฐบาล พรรคก้าวไกลก็ไม่ควรถอยอยู่ดี

ไม่ใช่ว่าเพราะ “เห็นด้วย” หรือ “ไม่เห็นด้วย” กับนโยบายการแก้ไขกฎหมายข้อนี้

แต่เพราะการกระทำเช่นนั้นจะขัดต่อพันธะทางการเมืองที่พรรคได้ให้สัญญาไว้กับประชาชน และทำให้สูญเสียอัตลักษณ์ทางการเมืองของพรรคก้าวไกลไปโดยปริยาย

ทำให้แม้ได้เป็นรัฐบาลหรือร่วมรัฐบาลสำเร็จ แต่ก็จะไม่มีประชาชนคนไหนเชื่อถือการรณรงค์หาเสียงของพรรคในการเลือกตั้งครั้งต่อไปในอนาคต

ซึ่งเมื่อคำนวณหักลบกลบหนี้ดูแล้ว สิ่งที่ได้มาอาจไม่คุ้มค่ากับราคาที่ต้องจ่ายก็ได้