เปิด 4 รายชื่อ ตัวเต็งนั่ง ผบ.ตร.คนใหม่ 6 ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิคุมเกมแต่งตั้งโยกย้าย

สัญญาณแรงๆ ส่งมายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ใหม่ ให้เร่งทำบัญชี “นายพล” เพื่อเสนอที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ให้เร็วที่สุด แต่การดำเนินการแต่ละขั้นตอนมีเงื่อนเวลา

ขณะนี้ได้เริ่มกระบวนการแต่งตั้ง ตามข้อกำหนด ก.ตร.ว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ 2566 มีผล 17 กรกฎาคมที่ผ่านแล้ว

“บิ๊กเด่น” พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ได้ลงนามประกาศลำดับอาวุโสระดับรอง ผบ.ตร. และจเรตำรวจแห่งชาติ (จตช.) ลงมาถึงรอง ผบก. ตามนัยมาตรา 78 แห่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 เพื่อให้การคัดเลือกแต่งตั้งข้าราชการตำรวจเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง และให้ข้าราชการตำรวจในสังกัดตรวจสอบความถูกต้องของบัญชีลำดับอาวุโสดังกล่าว

หากเห็นว่าข้อมูลการจัดทำลำดับอาวุโสไม่ถูกต้อง ยื่นเรื่องต่อ ตร. (ผ่านทะเบียนพล) ทบทวนได้ภายใน 15 วัน นับแต่วันประกาศลำดับอาวุโส

ฤดูกาลโยกย้ายประจำปีนี้ มีนายพลว่าง 154 ตำแหน่ง ตั้งแต่ ‘เจ้าสำนักโล่เงิน’ บิ๊กเด่น เกษียณอายุราชการ, รอง ผบ.ตร. และเทียบเท่า ว่าง 3 ตำแหน่ง, ผช.ผบ.ตร. 5 ตำแหน่ง, ผบช. 16 ตำแหน่ง, รอง ผบช. 51 ตำแหน่ง และ ผบก. 78 ตำแหน่ง

กางข้อกำหนด ก.ตร.ว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ ได้ระบุชัด การแต่งตั้งระดับรอง ผบ.ตร.-ผบก. ภายในเดือนสิงหาคม ระดับรอง ผบก.-ส.ว. ภายในเดือนพฤศจิกายน

จากซ้ายไปขวา พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์, พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล, พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล

สําหรับขั้นตอนแต่งตั้ง ผบ.ตร.นั้น เป็นตามนายกรัฐมนตรีในฐานะประธาน ก.ตร.คัดเลือกรายชื่อ พล.ต.อ.ดำรงตำแหน่งรอง ผบ.ตร. และจเรตำรวจแห่งชาติ (จตช.) โดยคำนึงถึงอาวุโส ความรู้ความสามารถประกอบกัน เสนอ ก.ตร.เพื่อพิจารณาเห็นชอบ

ตำแหน่งรอง ผบ.ตร. จะให้ ผบ.ตร.เป็นผู้คัดเลือกเสนอ ก.ตร.พิจารณาให้ความเห็นชอบเช่นเดียวกับการแต่งตั้งระดับผู้ช่วย ผบ.ตร. และ ผบช.ก็ให้อำนาจ ผบ.ตร.เช่นเดียวกัน แต่การคัดเลือกรายชื่อได้จากการเสนอแนะของคณะกรรมการพิจารณาการแต่งตั้ง

ส่วนระดับรอง ผบช. และ ผบก.นั้น ผบ.ตร.จะต้องรับฟังความเห็นจาก ผบช. แล้วคัดเลือกรายชื่อเสนอ ก.ตร.พิจารณาให้ความเห็นชอบ ส่วนการแต่งตั้งระดับรอง ผบก.-สว. อำนาจแต่งตั้งเป็นของ ผบ.ตร. และ ผบช.หน่วยต่างๆ

พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ ให้ทัศนะว่า “สถานการณ์เวลานี้ นายกรัฐมนตรีรักษาการ สามารถคัดเลือกแต่งตั้ง ผบ.ตร.ได้ตามกฎหมาย หรือจะให้นายกรัฐมนตรีคนใหม่มาดำเนินการ ก็สามารถทำได้ ถ้าตำแหน่ง ผบ.ตร.ว่างลง ก็สามารถตั้งรอง ผบ.ตร.คนใดคนหนึ่งรักษาราชการไปพลางก่อน หรือให้เป็นการรักษาราชการโดยรอง ผบ.ตร.ที่มีอาวุโสสูงสุดก็ได้”

กรณีที่ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าวถึงการตั้งรอง ผบ.ตร.อาวุโสรักษาการ ผบ.ตร.นั้น อาจเกิดขึ้นได้ หากการจัดตั้งรัฐบาลยืดเยื้อเลยกันยายน แต่ยังหานายกฯ ไม่ได้ก็แต่งตั้ง พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. อาวุโส ทำหน้าที่ไปพลางก่อน

ถ้าจำกันได้สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้สนับสนุน พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ จเรตำรวจแห่งชาติ ขึ้น ผบ.ตร.ต่อจาก พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ที่เกษียณอายุ แต่การประชุมคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ที่นายอภิสิทธิ์เป็นประธานถึง 2 ครั้ง ไม่สามารถตกลงกันได้ นายอภิสิทธิ์จึงมีคำสั่งแต่งตั้ง พล.ต.อ.ปทีป เป็นรักษาการ ผบ.ตร.ในวันที่ 29 กันยายน 2552 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2552 เป็นต้นไป ซึ่ง พล.ต.อ.ปทีป ทำหน้าที่นี้เกือบ 1 ปี

 

ส่วนสถานการณ์แต่งตั้งนายพลสีกากี จะเดินต่ออย่างไร ปัจจัยหนึ่ง ต้องดูการประชุมร่วมรัฐสภา วันที่ 4 สิงหาคม ที่มีนัดหมายโหวตนายกรัฐมนตรี ว่าวันนั้นจะได้เสียงถึง 375 หรือไม่

ถ้าสมมุติว่าได้ชื่อนายกฯ คนที่ 30 เลย ความชอบธรรมที่แต่งตั้งนายพลตำรวจ ของรัฐบาลรักษาการอาจลดลง เพราะดูไม่สง่างาม

แต่ถ้าดีลทางการเมืองยังไม่ลงตัว ยังไม่ได้ชื่อผู้นำประเทศ การประชุม ก.ตร.เพื่อพิจารณาโผนายพลตำรวจ คาดว่าจะมีขึ้น 25 สิงหาคม

 

ธรรมเนียมปฏิบัติทุกปี คือ ถ้าเก้าอี้ ผบ.ตร.ว่าง ก.ตร.จะมีมติตำแหน่งนี้ก่อน หลังจากนั้นพิจารณาวาระ “รอง ผบ.ตร.-ผบก.”

แคนดิเดต ผบ.ตร.เรียงตามอาวุโส อันดับ 1.พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. นรต.รุ่น 40 เกษียณปี 2567 2.พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หรือ “บิ๊กโจ๊ก” หักพาล รอง ผบ.ตร. นรต.รุ่น 47 เกษียณปี 2574 3.พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ “บิ๊กต่าย” พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร. นรต.รุ่น 41 เกษียณปี 2569 และ 4.พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ “บิ๊กต่อ” สุขวิมล รอง ผบ.ตร. รัฐศาสตร์ มธ. “สิงห์แดง” เกษียณปี 2567

สดับตรับฟังจากแวดวงสีกากี ทั้ง 4 พล.ต.อ. ฟอร์มแรงทั่วหน้า พบว่าบางคนทำเป็น “เสือซุ่ม” อยู่

ออกหน้าสื่อ สปอตไลต์ส่องชัดเจน ต้องชิงดำกัน เป็นคู่ “บิ๊กโจ๊ก” กับ “บิ๊กต่อ”

แต่ว่ากันตามความจริงแล้ว ด้วยคุณสมบัติอาวุโสอันดับ 1 “รองรอย” มีสิทธิ์ลุ้น ไม่ได้ทำตัวโลว์โปร์ไฟล์อย่างที่โจษจัน รับผิดชอบงานมั่นคงอย่างเต็มที่ คุณสมบัติไม่มีด่างพร้อย ถ้าคนนั่งหัวโต๊ะ ก.ตร.ชงชื่อนี้ขึ้นมา ไร้คำถาม “อาวุโส”

ขณะที่ “บิ๊กต่าย” ใครๆ เห็นว่าเป็นม้านอกสายตา อีกทั้งเจ้าตัวเอ่ยกับคนใกล้ชิดพอใจในเก้าอี้ที่นั่งอยู่ แต่ฝีมืองานด้านบริหารไม่ธรรมดา อยู่เบื้องหลังวางระบบงาน ตร. เพียบพร้อมเช่นกัน

ถ้าสงครามชิงเก้าอี้เบอร์ 1 สำนักปทุมวัน ร้อนแรง “บิ๊กต่าย” อาจเป็น “ตาอยู่” ก็ได้ ใครจะไปรู้

 

สัญญาณกำหนด “เกมตั้ง ผบ.ตร.คนที่ 14” คือ

1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะนั่งรักษาการจนถึงสิ้นสิงหาคมหรือไม่

2. นายกฯ คนที่ 30 ที่มีดีลจัดตั้งรัฐบาล ประกอบด้วยพรรคการเมืองใดบ้าง ใครนั่งรองนายกฯ คุม ตร. จะเห็นคอนเน็กชั่นโยงถึง “ว่าที่ ผบ.ตร.” ได้

รวมทั้ง 6 ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ จับตาความเห็น พล.ต.อ.เอก ระบุว่า “ในอดีตการแต่งตั้งตำรวจ มักมีข่าวรับทราบกันทั่วไปเสมอมา เป็นระบบอุปถัมภ์ ต้องมีตั๋ว มีการซื้อขายตำแหน่ง ผู้บังคับบัญชาแต่งตั้งคนใกล้ชิด เครือญาติ ใช้ดุลพินิจแต่งตั้งโดยมิชอบ ไม่เป็นธรรม (มีกรณีศาลปกครองกลางมีคำพิพากษา ในคดีหมายเลขดำที่ บ.288/2565 หมายเลขแดงที่ บ.390/2565 พล.ต.ต.วันไชย เอกพรพิชญ์ ฟ้อง ก.ตร.และนายกรัฐมนตรี) มีนักการเมืองแทรกแซงการแต่งตั้ง (ภาพข่าวตำรวจไปขอบคุณรัฐมนตรี) ทำลายขวัญ กำลังใจ ข้าราชการตำรวจดีๆ ที่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ ส่งผลความเสียหายถึงประชาชนผู้รับบริการ”

“บริบทปัจจุบัน กฎหมายกำหนดให้มีองคาพยพที่จะกำกับดูแลอย่างเข้มข้น ให้มีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) คอยกำกับ พิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ของตำรวจ โดยหากผู้บังคับบัญชาฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ มีโทษทั้งทางวินัยและอาญา (มาตรา 33-42 มาตรา 60 มาตรา 87 และมาตรา 150)”

“ผู้มีอำนาจแต่งตั้งและ ก.ตร.จะต้องกำกับ ดูแล พิจารณาดำเนินการ พิจารณาให้ความเห็นชอบ ในการแต่งตั้งโยกย้าย ด้วยความละเอียดรอบคอบเพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ข้าราชการตำรวจทุกนาย”

เพราะฉะนั้น แต่งตั้งโยกย้ายรอบนี้จะวัดกันว่าระบบอุปถัมภ์ และตั๋วต่างๆ จะสั่นคลอนการทำหน้าที่ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ถือคัมภีร์ พ.ร.บ.ตำรวจใหม่ กำกับดูแลให้เป็นไปตามระบบคุณธรรมตามที่กฎหมายกำหนดได้หรือไม่