เพ็ญสุภา สุขคตะ : “ล้านนาศึกษา” ใน “ไทยศึกษาครั้งที่ 13” (10) 500 ปี วรรณกรรมทีปนีของพระสิริมังคลาจารย์

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ดร.บาลี พุทธรักษา ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาบาลี สํานักตําราและวิชาการ มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ ได้เปิดประเด็นเรื่อง “วรรณกรรมทีปนีที่โดดเด่นในล้านนาของพระสิริมังคลาจารย์ ในพุทธศตวรรษที่ 21”

เนื่องในโอกาสที่ พ.ศ.2560 เป็นวาระครบ 500 ปีแห่งการแต่งคัมภีร์บาลีเรื่อง “เวสฺสนฺตรทีปนี” วรรณกรรมอธิบายคําศัพท์และความในแนวอรรถกถาเรื่องแรกของ “พระสิริมังคลาจารย์” แห่งวัดสวนขวัญ (หรือวัดตําหนัก) เชียงใหม่

มหาเถระรูปเดียวกันนี้ ยังได้แต่งเรื่อง จักกวาฬทีปนี สังขยาปกาสกฎีกา และ มังคลัตถทีปนี อีกด้วย

ดร.บาลี พุทธรักษา จึงนําเสนองานหลายชิ้นในชุดทีปนี เพื่อรำลึกถึงวาระ 5 ศตวรรษ มหาปราชญ์แห่งล้านนาท่านนี้ แม้ว่าทุกเรื่องมิได้แต่งในปีเดียวกันทั้งหมด

 

ทีปนี เริ่มต้นที่ลังกา

การเขียนงานแนว “ทีปนี” ไม่ได้เริ่มที่อินเดีย แต่เริ่มที่ลังกา คำว่า “ทีปนี” หมายถึง หนังสือประเภทอธิบายคํา ข้อความ หรือข้อธรรมะอย่างแจ่มแจ้ง

งานทีปนีเล่มแรกของโลกคือ คัมภีร์ปรมัตถทีปนี แต่งเมื่อพุทธศตวรรษที่ 11 โดยพระเถระชาวอินเดียใต้ชื่อ พระธัมมปาละ หนึ่งในคณะสงฆ์กลุ่มเดียวกันกับ “พระพุทธโฆษาจารย์” ที่เดินทางจากอินเดียสู่ลังกา เพื่อไปทำการปริวรรตคัมภีร์ที่เขียนด้วยภาษาสิงหลมาเป็นภาษาบาลี

งานทีปนีชิ้นถัดมาคือ “สารัตถทีปนี” ถือเป็นทีปนีชั้นที่ 3 ที่เรียกว่า ฎีกา แต่กลับไม่ใช้คำว่า ฎีกา ลงท้าย (ทีปนีมี 3 ชั้น ชั้นที่ 1 คือแต่งขยายความจากพระไตรปิฎก ชั้นที่ 2 ขยายความจากอรรถกถา และชั้นที่ 3 อธิบายความจากฎีกา) แต่ต่อมางานวรรณคดีฎีกา จะใช้คำลงท้ายว่า คัณฐี

สารัตถทีปนี ต่อมาได้กลายเป็นต้นเค้าของ Pali Dictionary Propre Name

 

500 ปี เวสสันตรทีปนี

เวสสันตรทีปนี แต่งในปีฉลู จุลศักราช 879 ตรงกับ พ.ศ.2060 ในรัชสมัยของพระเมืองแก้ว เป็นงานทีปนีล้านนาเล่มแรกของพระสิริมังคลาจารย์

ลักษณะงานเหมือนทีปนีลังกาทุกประการ เพราะท่านเคยไปศึกษาที่ลังกา

ท้ายเรื่องมีการระบุแหล่งนิคามที่ท่านเคยอาศัยในลังกาว่า “กุรุคาเม” พร้อมชื่อพระอาจารย์ของท่านว่า “พุทธวีระ”

พระสิริมังคลาจารย์ เป็นพระภิกษุชาวล้านนา ผู้มีความเชี่ยวชาญงานเขียนแนวทีปนีระดับอรรถกถาจารย์ ขั้นน้องๆ พระพุทธโฆษาจารย์ และพระธัมมปาละ

เวสสันตรทีปนี เริ่มต้นด้วยบท ปณามกถา (คาถาไหว้พระรัตนตรัย) อารัมภกถา (คาถาที่อธิบายว่าทิศทางการเขียนจะเป็นอย่างไร) และเนื้อหา 13 ปริจเฉท

อารัมภกถา ประกอบด้วย นิทาน 3 เรื่อง ตามลำดับจากที่ไกลมาที่ใกล้

ทูเรนิทาน (แปลว่าไกล) เรื่องเริ่มตั้งแต่อดีตพุทธเจ้าองค์แรกที่มีการตัสพยากรณ์คือทีปังกร จนถึงชาติของพระเวสสันดร แล้วสิ้นพระชนม์จนจุติบนสวรรค์ชั้นดุสิต

อวิทูเรนิทาน (แปลว่าไม่ไกล) จากดุสิตสวรรค์สู่ครรภ์สิริมหามายา ประสูติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ เสด็จออกบรรพชา จนถึงประทับใต้โคนไม้ศรีมหาโพธิ

สันติเกนิทาน (แปลว่าใกล้) กล่าวถึงตอนตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธะ โปรดเวไนยนิกรเรื่อยมาจนถึงเสด็จ ดับขันธปรินิพพาน ณ โคนไม้สาละ

จากนั้นเป็นการกล่าวถึงประวัติพระเวสสันดร 13 กัณฑ์ ตามที่เราทราบกันดี เริ่มจากกัณฑ์ทศพร และจบลงที่กัณฑ์สุดท้ายคือ นครกัณฑ์

ถามว่า พระสิริมังคลาจารย์ตอนเขียนเรื่องนี้ท่านคิดอะไรเองขึ้นมาใหม่หรือไม่ คำตอบคือ ท่านเขียนตามรูปแบบ (pattern) ของพระไตรปิฎก และอรรถกถา เดิมทุกประการ ไม่ได้เปลี่ยน/แทรก/ดัดแปลงอะไรเลย

เพียงแค่หาชุดคำขยายมาอธิบายคำศัพท์ที่ยากๆ บางคำเท่านั้น เช่น เมื่อพูดถึง “สตฺถา” ท่านก็อธิบายว่า สเทวกํ โลกํ สาสตีติ แปลว่าผู้สอนสัตว์โลกทั้งหลาย

ดร.บาลี ให้ข้อสรุปว่า เวสสันตรทีปนี มีความยาว 19 ผูก เปรียบได้ดั่งงานวิจัย หรือวิทยานิพนธ์แนวทีปนีเล่มแรกของพระสิริมังคลาจารย์ ที่ทำตามแบบแผนของทีปนีลังกาทุกขั้นตอน ภาษาที่ใช้อยู่ในระดับพระฎีกาจารย์ หรือพระอรรถกถาจารย์ ซึ่งคนรุ่นหลังควรยกย่องในความอุตสาหะวิริยะอย่างเอกอุของท่าน

พบว่าท่านใช้เอกสารอ้างอิง หรือบรรณานุกรมที่เป็นคัมภีร์ทั้งสิ้นจำนวนมากถึง 93 ฉบับ

 

จกฺกวาฬทีปนี มีอิทธิพลต่อความเชื่อชาวล้านนา

หลังจากรจนาเวสสันตรทีปนีได้ 3 ปี พระสิริมังคลาจารย์ได้แต่งจักกวาฬทีปนี ใน พ.ศ.2063 พบว่าท่านเริ่มมีความเชี่ยวชาญหรืออาวุโสแก่กล้าขึ้น สามารถสร้างโครงเรื่องเอง เพราะไม่มีต้นแบบของพระไตรปิฎกหรืออรรถกถาชิ้นไหนที่ชื่อว่า จักวาฬสุต (สูตร) สำหรับเป็นแนวทาง

จักกวาฬทีปนี มีความยาว 10 ผูก ดร.บาลี เคยทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนวสอบชําระและแปล เรื่องจักกวาฬทีปนี กัณฑ์ที่ 5 (ภูมินิทฺเทโส) เมื่อปี 2523

ลักษณะเด่นของทีปนีชิ้นนี้คือ การอ้างเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในอินเดีย มาสอดแทรกสลับกับเนื้อหาเป็นระยะๆ ตลอดทั้งเล่ม ทำให้เราทราบความเชื่อหรือคติชนวิทยาของชาวอินเดีย

งานชิ้นนี้มีผลต่อความเชื่อด้านจักรวาลวิทยาของชาวล้านนาอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องทวีปทั้ง 4 เห็นได้จากความนิยมในการสร้างวิหาร 4 ทิศล้อมพระเจดีย์ตอนกลาง ที่ชาวล้านนาเปรียบเทียบวิหารทั้ง 4 ว่าเป็นเช่นทวีปทั้ง 4 ได้แก่ อุตตรกุรุทวีป-ทิศเหนือ, บูรพวิเทหทวีป-ทิศตะวันออก, ชมพูทวีป-ทิศใต้ และ อมรโคยานทวีป-ทิศตะวันตก

ดร.บาลี ได้ชี้ถึง “แนวคิดที่โดดเด่น” ที่ปรากฏในจักกวาฬทีปนี ถึง 5 ข้อ

ข้อแรก กรณีของมนุษย์ที่ขึ้นไปครองเทวโลก นั่นคือจักรพรรดิมันธาตา อุตส่าห์ได้รับอนุญาตจากท้าวสักกะ แบ่งเมืองบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ให้ครองครึ่งหนึ่ง กลับเกิดความโลภอยากครองคนเดียวทั้งหมด วางแผนจะกำจัดท้าวสักกะ เพียงแค่คิดก็เกิดอกุศลจิต ทำให้ตกลงมาตาย ณ เมืองราชคหะ เป็นแง่คิดที่ว่า “ตัณหา” เป็นเครื่องทำลายคน

ข้อสอง ตำนานชีวิตคู่ระหว่างมนุษย์กับสัตว์ หรือมนุษย์กับอมนุษย์ เช่นเจ้าหญิงแต่งงานกับราชสีห์ มีโอรสเป็นพระเจ้าสีหพาหุ ถูกลอยแพจากอินเดียใต้ปล่อยเกาะยังลังกาทวีป ได้นางยักขินีมาเป็นภรรยา ต่อมาเป็นต้นวงศ์ของพระเจ้าวิชัยกุมาร เชื้อสายสิงหฬ เป็นนิทานที่ซ่อนการดูถูกเหยียดหยามชาติพันธุ์ของคนพื้นเมืองไว้ให้ต้องตีความ

ข้อสาม กรณีของ “อุตตรกุรุทวีป” ที่กล่าวว่าเป็นทวีปในอุดมคติ มนุษย์ทุกคนถือศีล 5 บริสุทธิ์ ทำให้ธรรมชาติบริบูรณ์ ผู้คนอายุยืนหมื่นปี มีต้นกัลปพฤกษ์ที่ใครอยากได้อะไรก็ไปสอยเอานั้น เป็นเวลาไล่เลี่ยกันกับที่ชาวอังกฤษได้แต่งหนังสือเรื่อง Uthopia โลกแห่งอุดมคติด้วยเช่นกัน

ข้อสี่ เรื่องสถานภาพของสตรี เจ้าหญิงโคปิยา ผู้เป็นธิดาแห่งศากยวงศ์ กรุงกบิลพัสดุ์ มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าว่าอยากเป็นเพศชาย เหตุที่นางได้ฟังเทศน์บ่อย พบว่าผู้หญิงไม่อาจบรรลุปัจเจกโพธิญาณ และสัมมาสัมโพธิญาณได้ กล่าวคือ สตรีไม่สามารถเป็นพระพุทธเจ้าได้ และสตรีไม่สามารถเป็นท้าวสักกะได้

ดร.บาลีตั้งคำถามว่า แนวคิดเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเพศ การตระหนักถึงความไม่เท่าเทียมทางเพศ เริ่มมีขึ้นแล้วในสังคมเชียงใหม่ ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 21 แล้วใช่หรือไม่?

ข้อสุดท้าย ประเด็นเรื่องการประเมินความน่าเชื่อถือของคัมภีร์ การจะตัดสินว่าคัมภีร์เล่มไหนแต่งถูกแต่งผิดนั้น ท่านสิริมังคลาจารย์ให้แนวทางไว้ มีอยู่ใน ปัพพตนิทเทส กัณฑ์ที่ 2 โดยยกตัวอย่างว่า เขาสิเนรุมีเขาวงแหวนล้อมรอบ 7 ชั้น แต่คัมภีร์เล่มต่างๆ วางตำแหน่งของรอบเขาขัดแย้งกัน 2 กลุ่ม กลุ่มแรก คัมภีร์จันทสุริยคติทีปนี กับชินาลังการ ได้กล่าวว่า เทือกเขาวงแหวนจากรอบในสุดที่ชิดเขาสิเนรุออกไปสู่วงแหวนด้านนอก มีลําดับดังนี้ ยุคนธร-อิสินธร-กรวิก-สุทัสสนะ-เนมินธร-วินตกะ และอัสสกัณฑ์ ซึ่งขัดแย้งกับอีกกลุ่มหนึ่ง คือคัมภีร์เนมิราชชาดก ที่เรียงว่า อัสสกัณฑ์-วินตกะ-เนมินธร-ยุคนธร-อิสินธร-กรวิก และสุทัสสนะ

พระสิริมังคลาจารย์เห็นด้วยกับแหล่งอ้างอิงกลุ่มหลัง เพราะนำมาจากพระไตรปิฎกที่เป็นพระพุทธพจน์ย่อมมีน้ำหนักความน่าเชื่อถือมากกว่าการอ้างคัมภีร์อรรถกถาหรือฎีกา

 

มังคลัตถทีปนี คู่มือนักเทศน์

พระสิริมังคลาจารย์แต่งเรื่องนี้ พ.ศ.2067 เป็นผลงานชิ้นสุดท้าย ถือเป็นคัมภีร์คู่มือสำหรับนักเทศน์ นักเผยแผ่ศาสนา ใช้กลวิธีในการแต่งหลายชั้นเชิง ลูกเล่นแพรวพราว

มังคลสุต หรือมงคล 38 ประการ เป็นเรื่องที่มีอยู่แล้วทั้งในพระไตรปิฎกและในอรรถกถา ทุกคนทราบเนื้อหากันดี จึงดูเหมือนว่างานชิ้นนี้ไม่น่าจะมีอะไรใหม่

ทว่า มังคลสุตของเดิมไม่มีการสาธกยกตัวอย่าง จุดเด่นของมังคลัตถทีปนีจึงอยู่ที่พระสิริมังคลาจารย์ได้นำนิทานเรื่องต่างๆ ที่ดึงมาจากอรรถกถา และปกรณ์วิเสสหลายแหล่ง มาใช้ประกอบ จึงเกิดอรรถรสอ่านสนุก งานชิ้นนี้กลายเป็น “หลักสูตรพระปริยัติธรรมบาลีแห่งสยามประเทศ” มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 จวบปัจจุบัน

ทุกวันนี้พระมหาเปรียญตั้งแต่ประโยค 3 ถึง 9 ทุกรูปต้องผ่านการเรียนงานเล่มนี้ จึงจะสามารถเทศน์สอนชาวบ้านได้ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ พระนักการศึกษาต้องมีมังคลัตถทีปนีเป็นครูเล่มแรก

ยกตัวอย่าง ลีลาการเขียนของท่านสิริมังคลาจารย์ ด้วยมงคลข้อแรก อเสวนาจ พาลานัง การไม่คบคนพาล ให้คบแต่บัณฑิต หากเป็นคัมภีร์พระไตรปิฎก และอรรถกถา มีแต่คำสอนเฉยๆ ไม่มีนิทานประกอบ

ท่านสิริมังคลาจารย์ได้หานิทานมาใส่ในมงคลข้อแรก ว่าด้วยเรื่อง นกแขกเต้า 2 ตัว ตัวพี่ชื่อ สัตติคุมพะ แปลว่าพุ่มหอก ตัวน้องชื่อ บุปผกะ แปลว่าดอกไม้ นกตัวพี่อาศัยอยู่กับโจร 500 ส่วนตัวน้องอยู่กับฤๅษี 500

วันหนึ่งนกตัวพี่บินมาที่ห้องนอนพระราชา รำพึงออกมาว่า จะต้องเรียกโจรมาฆ่าพระราชาเพื่อเอาแก้วแหวนเงินทอง

พระราชาตกใจตื่นรีบขึ้นราชรถหนีไปถึงกุฏิของเหล่าฤๅษี พบนกแขกเต้าผู้น้อง รำพึงออกมาว่า ข้าแต่มหาราช พระองค์เสด็จมาดีแล้ว มิได้เสด็จมาร้าย พระราชาฟังแล้วชื่นใจ จึงได้ข้อคิดกับตัวเองว่า นกสองตัวซึ่งดูภายนอกเหมือนกัน แต่ทำไมจึงพูดต่างกัน

เป็นเพราะผู้ที่อยู่กับโจรก็ย่อมคิดเหมือนโจร ผู้ที่อยู่กับฤๅษีก็ย่อมมีจิตใจคล้ายฤๅษี เป็นภาพสะท้อนถึงสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ หากอยู่กับคนดีก็ดีตาม หากอยู่กับคนชั่วโอกาสที่จะชั่วก็สูง

ด้วยเวลาอันจำกัด วิทยากรจึงไม่อาจนำเสนอรายละเอียดเรื่อง สังขยาปกาสกฎีกา (ว่าด้วยหน่วยชั่งตวงวัด) ได้ ดร.บาลี พุทธรักษา กล่าวสรุปว่า

ใครที่อ่านมังคลัตถทีปนีจนแตกฉาน ก็จักกลายเป็นนักเทศนาได้หมดทุกคน ความเป็นสุดยอดแห่งทีปนีล้านนา ที่รจนาโดยพระสิริมังคลาจารย์ อยู่ที่คัมภีร์เล่มสุดท้าย มังคลัตถทีปนีเล่มนี้นี่เอง