ภควัทคีตา ในปากคำของออปเพนไฮเมอร์

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ในภาพยนตร์เรื่อง “Oppenheimer” ที่กำกับฯ โดยหนึ่งในยอดฝีมือแห่งยุคสมัยอย่าง คริสโตเฟอร์ โนแลน (Christopher Nolan) ซึ่งเป็นหนังเล่าเรื่องชีวประวัติที่เกี่ยวกับการสร้างระเบิดปรมาณูของ เจ. โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ (J. Robert Oppenheimer, พ.ศ.2447-2510, แสดงโดย ซิลเลียน เมอร์ฟี [Cillian Murphy]) นักฟิสิกส์ชาวอเมริกัน เชื้อสายยิว-เยอรมัน ผู้ถูกเรียกว่าเป็น “บิดาแห่งระเบิดปรมาณู” (father of the atomic bomb) นั้น มีฉากร่วมรักกันระหว่างออปเพนไฮเมอร์ กับชู้รักคนหนึ่งของเขาคือ จีน แทตล็อก (Jean Tatlock, แสดงโดย ฟลอเรนซ์ เพิกห์ [Florence Pugh])

ส่วนที่ผมหยิบเอาฉากรักในหนังน้ำดีเรื่องนี้ขึ้นมาพูดถึงนั้นเป็นเพราะว่า ในระหว่างที่มีบรรเลงเพลงรักกันอยู่นั้นเอง ทั้งคู่ก็ได้หยิบเอาหนังสือภาษาสันสกฤตขึ้นมาอ่านกันเหมือนเป็นการพักครึ่ง

(ในหนัง แทตล็อกถามว่า ในหนังสือเป็นตัวอักษรอะไร ออปเพนไฮเมอร์ตอบว่า สันสกฤต แต่ที่จริงแล้วคือ อักษรเทวนาครี ที่เขียนเป็นภาษาสันสกฤต ทำนองเดียวกับตัวอักษรโรมัน ที่ใช้เขียนภาษาอังกฤษ จนเรามักจะเรียกแบบง่ายๆ ว่าอักษรอังกฤษ)

และฉากตอนนี้กลายเป็นประเด็นดราม่าในอินเดีย จนหนังเกือบจะโดนแบนไม่ให้ฉายในประเทศ เพราะหนังสือเล่มที่ถูกหยิบขึ้นมาอ่านนี้นี้ก็คือ “ภควัทคีตา” ซึ่งบรรดาพ่อพราหมณ์เขานับเนื่องเป็นคัมภีร์ที่สำคัญเล่มหนึ่งในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูที่มีคนนับถือกันให้เพียบในประเทศของชาวภารตะนั่นแหละครับ

 

กล่าวโดยสรุป อะไรที่เรียกว่า “ภควัทคีตา” ก็คือ ปกรณ์ที่แต่งขยายออกมาจาก “มหาภารตะ” ซึ่งเป็นหนึ่งในตำนานสำคัญสองเรื่องที่พ่อพราหมณ์เขานับว่าเป็น epic ในศาสนา (ในอินเดียแปลคำ “epic” ว่า “อิติหาสะ” ไม่ใช่ “มหากาพย์” เหมือนอย่างไทยเรา เพราะคำหลังนี้ในสำเนียงซาวด์แทร็กของเขาคือ “มหากาวยะ” แปลว่า กาพย์ หรือร้อยกรองที่ยิ่งใหญ่ไพเราะประมาณนั้น)

ส่วนเนื้อความในภควัทคีตานั้น เล่าถึงช่วงต้นของมหาสงครามที่ทุ่งกุรุเกษตร อันเป็นฉากไคลแมกซ์ของมหาภารตยุทธ

ในคราวนั้น “อรชุน” ซึ่งพอจะเรียกอย่างกล้อมแกล้มได้ว่าเป็นพระเอกในท้องเรื่อง (แต่ตายก่อนพี่ชายคือ ยุธิษเฐียร ในตอนจบ แถมยังไม่ใช่อวตารของพระนารายณ์อย่าง “พระกฤษณะ” ที่ก็เป็นอีกหนึ่งตัวละครที่สำคัญที่สุดในเรื่อง) อยู่บนรถศึกก่อนเข้าสงครามแล้วเกิดลังเลใจว่า ขุนศึกฝ่ายศัตรูนี่ก็ญาติๆ ตนเองทั้งนั้น จนไม่อยากเข่นฆ่าใครขึ้นมา

สารถีที่ขับรถให้อรชุนในตอนนั้นคือ “พระกฤษณะ” (อย่างที่บอกว่าเป็นนารายณ์อวตาร) จึงได้ปลุกปลอบขวัญอรชุน พร้อมอธิบายถึง “หน้าที่” ของแต่ละ “วรรณะ” อันเป็นสิ่งที่พระเจ้าลิขิต จนพวกพราหมณ์-ฮินดูต้องยึดถือปฏิบัติ และหน้าที่ของวรรณะกษัตริย์อย่างอรชุน ณ ขณะจิตนั้นก็คือ การรณรงค์สงครามนั่นเอง

พูดง่ายๆ อีกทีก็ได้ว่า ฆ่าญาติไปก็ไม่บาป เพราะเป็นการทำตามหน้าที่ตามชาติกำเนิดของตนเอง ที่พระเป็นเจ้าบัญญัติเอาไว้

อรชุนฟังไปก็ชักเคลิ้มและฮึกเหิม จนสุดท้ายก็พร้อมที่จะเข้าไปรบพุ่งกับบรรดาศัตรู ซึ่งก็คือญาติๆ ของตนเองในที่สุด แต่เขาก็ยังอยากแน่ใจว่า พระกฤษณะนั้นเป็นอวตารของพระนารายณ์จริงหรือเปล่า? ก็เลยขอร้องให้พระกฤษณะแสดง “วิศวรูป” คือรูปของเทพเจ้าสูงสุดออกมาให้ตนเห็น และพระกฤษณะก็ตอบรับ พร้อมกับได้เผยรูปนั้นออกมาจริงๆ (คือรูปที่ออปเพนไฮเมอร์พูดถึงในบทหนัง แต่ถูกแทตล็อกขัดเอาไว้ จึงพูดไม่จบ)

จนในที่สุดอรชุนก็ร่วมเข้ารบในสงครามครั้งนั้น

พระกฤษณะแสดง “วิศวรูป” แก่อรชุน

เรื่องราวข้างต้นเป็นหลักใหญ่ใจความสำคัญในภควัทคีตา ซึ่งเป็นหนังสือที่ถูกยกย่องว่า แต่ด้วยโศลกสันสกฤตที่ไพเราะเพราะพริ้งเป็นที่สุด และพวกฝรั่ง โดยเฉพาะในยุโรปก็เห่อเอามากๆ โดยเฉพาะในช่วงหลังจากอินเดียถูกปกครองในอังกฤษ และต่อเนื่องมาจนถึงยุคสมัยหลังจากนั้น ที่หมายรวมถึงยุคที่ออปเพนไฮเมอร์มีชีวิตอยู่ด้วย

ในชีวิตจริงของออปเพนไฮเมอร์เอง ก็มีหลักฐานว่าให้สัมภาษณ์อ้างอิงถึงภควัตคีตา หลังจากที่ญี่ปุ่นโดนเจ้าระเบิดปรมาณูที่มีชื่อว่า Little Boy กับ Fat Man บอมบ์ไปทั้งที่ฮิโรชิมา และนางาซากิแล้วนะครับ

ตัวของออปเพนไฮเมอร์นั้น พูดชัดเจนเลยแหละว่า เขาสร้างระเบิดนิวเคลียร์ขึ้นเพราะทำตามหน้าที่ของตน และสร้างมันเพื่อยุติสงคราม แน่นอนว่าบางครั้งที่สัมภาษณ์เค้าก็อ้างถึงภควัทคีตาด้วย ซึ่งก็เจ้าประโยคที่มีอยู่ในหนังเรื่องนี้เลยจริงๆ ว่า

“Now I am become Death, the destroyer of worlds” (ในพลันนั้นข้าได้กลายเป็นความตาย ผู้ทำลายล้างทั้งพหุโลก)

เกี่ยวกับเรื่องนี้ที่จริงแล้ว ออปเพนไฮเมอร์นั้นเข้าใจผิด หรือไม่ก็แกล้งทำให้ผิด เพราะประโยคข้างต้นนี้อยู่ในภควัทคีตา บรรพที่ 11 โศลกที่ 32 โดยในต้นฉบับภาษาสันสกฤตนั้น ท่อนที่ว่า “กลายเป็นความตาย” เขียนว่า “กาโล สะมี” โดย “กาโล” ก็คือ “กาล” หรือ “เวลา” ประโยคนี้ผู้สนใจภควัทคีตาส่วนใหญ่จึงแปลว่า “ในพลันนั้นข้าได้กลายเป็นกาลเวลา” ต่างหาก

อนึ่ง คำว่า “กาฬ” (ซึ่งออกเสียงคล้ายกับคำว่า “กาล”) แปลว่า “ความตาย” ได้ ดังนั้น จึงเป็นไปได้เช่นกันว่า ออปเพนไฮเมอร์จะอ่านผิด แปลผิด หรือแม้กระทั่งเข้าใจผิด

อย่างไรก็ตาม การที่ผู้กำกับฯ อย่างโนแลนได้นำเอาประโยคที่ออปเพนไฮเมอร์ให้สัมภาษณ์ มาใส่ในฉากที่เขากับสาวผู้เป็นสาวกกลุ่มคอมมิวนิสต์ในสหรัฐในเวลานั้นอย่างแทตล็อกก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง (ผมไม่ได้อ่านหนังสือ American Prometheus ที่หนังเรื่องใช้เป็นข้อมูลหลักในการเขียนบท จึงไม่รู้ว่าในหนังสือเล่มดังกล่าวเล่าว่าระหว่างที่ทั้งสองเริงรักกันนั้น ได้พูดประโยคนี้หรือเปล่า?)

เพราะบทหนังในเรื่องได้เผยต่อในทันทีว่า แทตล็อกนั้นศึกษามาทางด้านจิตวิทยา ดังนั้น ออปเพนไฮเมอร์จึงแกล้งแซวเธอทันใดในทำนองว่า วันๆ เธออ่านแค่หนังสือของ ซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud, พ.ศ.2399-2482) หรือไง?

ส่วนเธอก็ตอบกลับมาทันควันเช่นกันว่า ไม่ใช่ ออปเพนไฮเมอร์จึงถามไปอีกทีว่า หรือว่าอ่าน คาร์ล ยุง (Carl Jung, พ..ศ. 2418-2504) คราวนี้แทตล็อกตอบกลับว่า ตัวเธอนั้นชื่นชอบในเรื่องจิตวิเคราะห์เอามากๆ

ความตรงนี้น่าจะไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง แต่เป็นบทที่ถูโนแลนเพิ่มเข้ามา เพื่อแทรกความเห็นของตัวเองเอาไว้ เพราะได้อ้างชื่อนักจิตวิทยาชื่อดังระดับโลกถึงสองคน ที่สำคัญก็คือ ในส่วนงานของฟรอยด์นั้น ได้เคยเสนอเรื่อง “Sex Drive” คือแรงขับทางเพศ การที่โนแลนเลือกให้ทั้งคู่ร่วมรักกันในแบบ “woman on top” จึงเป็นสัญลักษณ์ของแรงขับทางเพศ ที่ผู้หญิงเป็นฝ่ายชี้นำ

ในขณะที่ข้อเสนอที่สำคัญของยุงนั้น กล่าวถึงพลังของเทพปกรณ์ นิทาน ตำนาน ความเชื่อ วัฒนธรรมต่างๆ ที่ส่งผลต่อจิตไร้สำนึกในเรื่องที่เขาเรียกว่า “collective unconscious” แน่นอนว่า เรื่องราวในภควัทคีตาที่ทั้งสองคนอ่านนั้น ก็มีพลังในแบบที่ยุงหมายถึงด้วย

ดังนั้น ผมจึงไม่คิดว่า ทั้งบทสนทนา และการนำเอาข้อความในภควัทคีตามาอ้างถึงในฉากการร่วมรักนี้ จะเขียนขึ้นอย่างไม่มีความหมาย แต่มีเจตนาจะบอกอะไรบางอย่างเสียมากกว่า

 

มีประวัติอ้างไว้ด้วยว่า ในระหว่างที่ออปเพนไฮเมอร์คบหาอยู่กับแทตล็อกนั้น พวกเขาทั้งสองได้ร่วมกันศึกษาภาษาสันสกฤต และได้อ่านภควัทคีตาด้วยกันจริงๆ ซึ่งก็น่าเชื่อถืออยู่พอสมควร เพราะในบทสัมภาษณ์ของออบเพนไฮเมอร์หลังจบสงครามโลกครั้งที่ 2 ลงนั้น ก็อ้างถึงคัมภีร์เล่มนี้อยู่เห็นๆ อย่างน้อยตัวเขาเองก็ต้องได้อ่านแน่

ทั้งยังน่าสนใจด้วยว่า บิดาของตัวเขานั้นเป็นชนชาวยิวที่อพยพจากเยอรมนีเข้ามาอยู่ในสหรัฐอเมริกา เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า ในหมู่ชาวยุโรปนั้น ก็เป็นพวกเยอรมันนี่แหละครับที่คลั่งไคล้ในภาษาสันสกฤตมากกว่าชนกลุ่มอื่น โดยเฉพาะในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ ชื่อโครงการทดลองสร้างระเบิดปรมาณูของของออปเพนไฮเมอร์คือ “Trinity” นั้นหมายถึง “ตรีเอกานุภาพ” ตามหลักของคริสต์ศาสนาแบบโรมัน-คาทอลิก อันประกอบไปด้วย พระบุตร พระจิต และพระบิดา ซึ่งเป็นพระเจ้าเช่นเดียวกันทั้งหมดนั้น ก็เชื่อกันว่าได้รับแรงบันดาลใจในการตั้งชื่อมาจากบทกวีของกวีชาวอังกฤษอย่าง จอห์น ดอนน์ (John Donn, พ.ศ.2114-2174) ซึ่งเขาก็อ่านมันมาตั้งแต่ครั้งที่คบหากับแทตล็อก (บางข้อเสนออ้างว่า ทั้งคู่อ่านด้วยกัน) และต่อเนื่องมาจนถึงช่วงที่ทำโครงการทดลองระเบิดปรมาณู

การที่นักวิชาการฝรั่ง ในยุคอาณานิคมนั้น เคยนำเอาแนวคิด “หลักตรีเอกานุภาพ” ว่าพระภาคทั้งสามของพระเจ้านั้นเป็นหนึ่งเดียวกัน ไปใช้อธิบายแนวคิดเรื่อง “ตรีมูรติ” คือพระเจ้าผู้เป็นใหญ่ทั้ง 3 ของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู อันได้แก่ พระพรหมผู้สร้าง, พระนารายณ์ผู้รักษา และพระอิศวรผู้ทำลาย ว่าเป็นแนวคิดในทำนองว่าเป็นพระเจ้าหนึ่งเดียวกัน ก็น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

เพราะดูเหมือนว่า ระเบิดปรมาณูของออปเพนไฮเมอร์นั้น ก็คือพระเจ้าในภาคของ “ผู้ทำลาย” (Destroyer) ตามอย่างที่เขาได้อ้างถึงข้อความในภควัทคีตา หลังสงครามโลกครั้งนั้นได้จบสิ้นลงแล้ว ไม่ว่าออปเพนไฮเมอร์จะตั้งใจบิดเบือนคำว่า “กาล” ให้แปลว่า “ความตาย” (กาฬ) หรือเข้าใจผิดจริงๆ ก็ตาม •

 

On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ